©ulture

ชาชัก ภาษามลายูเรียกว่า “teh tarik”

“teh” แปลว่า ชา

“tarik” แปลว่า ดึงหรือชัก

ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน

แต่ที่น่าสงสัยคือ การชัก…

“ชักไปทำไม?”

เท่าที่สืบค้นได้ “ชาชัก” ถือกำเนิดในคาบสมุทรมลายูช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือราว 70 ปีก่อน

ว่ากันว่าเป็นเมนูที่เจ้าของร้านขายน้ำหน้าสวนยาง ซึ่งเป็นผู้อพยพเชื้อสายอินเดียมุสลิม ชงเสิร์ฟให้คนงาน ก่อนจะได้รับความนิยมจนกลายเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของมาเลเซีย

ส่วน “การชัก” ที่ดูเผินๆ เหมือนการโชว์สกิลเพื่อเรียกแขก จริงๆ แล้วมีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง…

ชาชัก teh tarik
(Photo: flickr)

1. ชัก = ลดอุณหภูมิ

เพราะชาที่เพิ่งชงเสร็จใหม่ๆ ร้อนเกินกว่าจะดื่ม คนชงจึงเทชากลับไปกลับระหว่างกาสองใบ เพื่อให้ชาเดินทางผ่านอากาศและเย็นลงจน “ร้อนกำลังดี” ซึ่งเป็นอุณหภูมิในการดื่มที่ดีที่สุด

2. ชัก = เพิ่มความอร่อย

เพราะการชักจะช่วยผสมชาและนมให้ “เนียน” และได้รสที่ “นุ่ม” กว่าการชง ตรงนี้นักดื่มสายลึกเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการเทเบียร์หรือไวน์ ที่มีวิธีการเฉพาะ เพื่อจะดึงรสชาติที่ดีที่สุด

ถ้าพูดโดยสรุปก็คือ ถ้าจะทำชานม ชงคือดี แต่ถ้าชักคือเฟอร์เฟ็ก!

ส่วน “ชาชัก” จะอร่อยกว่า “ชาชง” จริงหรือเปล่า?

เป็นเรื่อง ‘ลิ้น’ ใครลิ้นมัน

แต่ถ้าใครอยากหาคำตอบ วิธีที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการเดินออกไปซื้อชาชักหรือชานมสักแก้ว แล้วก็ “ซด” ให้รู้แล้วรู้รอด

แล้วก็จะพบคำตอบว่า…

อ่าห์~ ชื่นใจ.

FACT BOX:

มาทำ “ชาชัก” กันเถอะ! ถึงแม้ชาชักจะมีต้นกำเนิดจากคาบสมุทรมลายู แต่คนไทยหลายคนรู้จักและกินชาชักจากร้านขายน้ำที่ชงและชักโดยคนไทยมุสลิม จะว่าหาซื้อง่ายก็ง่าย จะว่าหาซื้อยากก็ยาก แต่ที่แน่ๆ หาซื้อง่ายกว่าชาเย็น (แบบไม่ต้องชัก) ดังนั้นใครอยากกิน “ชาชัก” ลองทำเองดูสักแก้ว ก็น่าสนุกดีนะ

ชาชัก นมข้นหวาน ตรามะลิ

ส่วนผสม

  • น้ำ 240 มล. ประมาณ 1 แก้ว
  • ชาดำ 1 ถุง (ถุงชา)
  • นมข้นหวาน 4 ช้อนชา

ชาชัก นมข้นหวาน ตรามะลิ

วิธีทำ

1. นำชาดำใส่น้ำเดือด แช่ไว้ 5 นาที

2. เติมนมข้นหวาน แล้วคนให้เข้ากัน

3. เตรียมกาอีกใบ พร้อม “ชัก”

4. เริ่ม “ชักชา” จนเกิดฟองบนเครื่องดื่ม

5. เทแล้วดื่ม

 

ชาชัก teh tarik
cheer!!!

 

อ้างอิง: