©ulture

เมื่อนึกไม่ออกว่าจะกินอะไร ก๋วยเตี๋ยวอาจเป็นคำตอบแรกของใครหลายๆ คน เพราะหาซื้อง่าย ใช้เวลาปรุงไม่นาน แถมยังได้สารอาหารครบทั้ง ๕ หมู่

หากมองย้อนกลับไปในฐานะอาหารที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน ก๋วยเตี๋ยวไม่เพียงสะท้อนวัฒนธรรมการกินและวิถีชีวิตในสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถสะท้อนให้เห็นความร่ำรวยทางภาษาและความเป็นมาของคำไทย

เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

หากก๋วยเตี๋ยวรสอร่อย ๑ ชาม เกิดจากการปรุงด้วยวัตถุดิบคัดสรรต่างที่มา

คำไทยแต่ละคำในชามก๋วยเตี๋ยว ที่เราทุกคนใช้เรียกใช้สั่งอย่างคุ้นเคย ล้วนเกิดขึ้นเพราะการคิดและหยิบยืมมาจากภาษาต่างถิ่นเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ก๋วยเตี๋ยวทุกชาม คือ ผลรวมความหลากหลายของคำไทย ที่ชวนให้เราตั้งคำถามทำนองว่า ทำไมถึงเรียกอาหารจากประเทศจีนชามนี้ว่าก๋วยเตี๋ยว แล้วชื่อเรียกสิ่งต่างๆ ในชามก๋วยเตี๋ยวมาจากไหน

แน่นอนว่า คำตอบต่อไปนี้ไม่มีผลต่อรสชาติ แต่เป็นความพิเศษที่จะทำให้คนไทยอย่างเราๆ ทั้งคนกินก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารโปรด และคนขายก๋วยเตี๋ยวเป็นอาชีพ ได้เข้าใจถึงจุดเริ่มต้นของคำไทยที่ใช้เรียกก๋วยเตี๋ยวและสิ่งที่อยู่ในชาม โดยไม่มีใครต้องจ่ายเงินหรือคิดราคาเพิ่ม

ก๋วยเตี๋ยว
คำไทยยืมมาจากคำจีน

ก๋วยเตี๋ยว ออกเสียงคล้ายคำว่า 粿條 (kóe-tiâu) ในภาษาจีนหมิ่นใต้ หรือภาษาจีนหมิ่นหนาน เป็นสำเนียงที่ใช้พูดทางตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน และบริเวณใกล้เคียง

ก๋วยเตี๋ยวเดินทางมาถึงไทยผ่านชาวจีนแต้จิ๋วและชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศเป็นกลุ่มแรกๆ

คำไทยที่ยืมมาจากภาษาจีนส่วนใหญ่จึงได้รับอิทธิพลมาจากการค้า การใช้ชีวิต รวมถึงความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมของชาวจีน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ยังกำหนดให้คำว่า ก๋วยเตี๋ยว สามารถสะกดได้อีกแบบ คือ ก๊วยเตี๋ยว

ตะเกียบ
คำไทยยืมมาจากคำเขมร

คนเอเชียต่างคุ้นชินการใช้ตะเกียบคีบอาหาร เพราะตะเกียบฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมการกินของภูมิภาคเอเชียตะวันออก

แม้ว่าตะเกียบถือกำเนิดจากประเทศจีน แต่คำนี้คนไทยกลับยืมคำเขมรมาใช้

ตะเกียบ ในภาษาไทยจึงมีเสียงและความหมายคล้ายคำว่า ตงฺเกียบ (ต็องเกี๊ยบ) ในภาษาเขมร แปลว่า คีม ปากคีม หรือสิ่งที่ใช้คีบ สันนิษฐานว่าเขมร น่าจะรับเอามาจากคำจีนอีกทอดหนึ่ง 

คำไทยแผลง ตงฺเกียบ เป็น ตะเกียบ เอาไว้เรียกเครื่องใช้สำหรับคีบอาหารเข้าปาก

ผัก เนื้อ ชาม ช้อน
คำไทยแท้ ไม่ได้ยืมมาจากใคร

ทั้งผักและเนื้อในก๋วยเตี๋ยว เป็นคำไทยแท้ทั้งคู่

ส่วนช้อนและชาม เคยเข้าใจผิดกันว่าเป็นคำไทยยืมมาจากคำเขมร ความจริงแล้ว คือ คำไทยแท้แต่เดิมที่เขมรยืมไปใช้ต่างหาก

ทั้ง ๔ คำเป็นภาษาไทดั้งเดิม (Proto-Tai language) หรือภาษาบรรพบุรุษที่เกิดจากการสืบสร้างขึ้นของกลุ่มภาษาไท ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาคำเมือง ภาษาไทใหญ่ ภาษาไทลื้อ และภาษาไทดำ

ถั่วงอก
คำไทยยืมมาจากภาษามอญ

ถั่วงอกเป็นผักที่นิยมใส่ในก๋วยเตี๋ยว สามารถกินได้ทั้งแบบลวกสุก และแบบกินแกล้มดิบๆ

ถั่วงอก มาจากคำว่า ถั่วหงอก ในภาษามอญ

ปัจจุบัน ภาษามอญ เป็นภาษาชนกลุ่มน้อย ใช้เฉพาะชาวมอญที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่าและประเทศไทย ส่วนการเขียนใช้ระบบตัวอักษรของพม่าเขียนแทน

น้ำซุป
คำไทยยืมมาจากคำอังกฤษ

น้ำในก๋วยเตี๋ยว เรียกได้ทั้งน้ำแกง และน้ำซุป

คำว่า ซุป ยืมมาจาก soup ในภาษาอังกฤษ หมายถึง น้ำที่ได้จากการต้มเคี่ยวเนื้อสัตว์ กระดูกสัตว์ หรือผัก

หลายคนอาจสับสนกับคำว่า ซุบ

ซุบ เป็นคำไทยถิ่นอีสาน แม้จะออกเสียงเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน เพราะเอาไว้เรียกอาหารประเภทผักต้มตำคลุกกับพริกเผา หอมเผา และอื่นๆ เช่น ซุบหน่อไม้

กระเทียมเจียว
คำไทยยืมมาจากคำเขมรและคำจีน

กระเทียมเจียวหอมๆ ที่ใส่ในก๋วยเตี๋ยว ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ กระเทียม และ เจียว

กระเทียม มาจากคำว่า ขฺทึมส (ขฺตึมซอ) และ ខ្ទឹម (ขฺทึม) ในภาษาเขมร ก่อนแผลงเสียงมาเป็น กระเทียม ในภาษาไทย

ส่วน เจียว มาจากคำว่า ในภาษาจีน

ทั้งสำเนียงแต้จิ๋วและจีนกลาง ออกเสียงเดียวกันว่า เจียว หมายถึง ไหม้เกรียม กรอบแห้ง เมื่อคำไทยยืมมาใช้ จึงหมายถึง ทอดในน้ำมัน

หากสังเกตวิธีการประกอบอาหาร ก็พอจะบอกใบ้ให้รู้ได้ว่า เจียว ไม่ใช่คำไทย

เพราะอาหารไทยดั้งเดิม ใช้วิธีปิ้งและย่างเท่านั้น ส่วนวิธีทอดด้วยน้ำมันร้อนๆ โดยใช้กระทะและตะหลิว ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนทั้งหมด

จับกัง
คำไทยยืมมาจากคำจีน

ปกติคำว่า จับกัง หมายถึง กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน หรือคนงานรับจ้างทำงานใช้แรงแบกหาม

จับกัง มาจาก 杂工 ในภาษาจีน 

สำเนียงแต้จิ๋ว อ่านว่า จับกัง ส่วนสำเนียงจีนกลาง อ่านว่า จ๋ากง

แต่ถ้าใช้กับก๋วยเตี๋ยว เกิดเป็นคำใหม่ว่า ก๋วยเตี๋ยวจับกัง หรือบะหมี่จับกัง ใช้สื่อความหมายถึง อาหารราคาถูกสำหรับคนทำงานผู้มีรายได้น้อย เพราะให้ปริมาณเยอะพูนชาม เป็นคำเปรียบเปรยทำนองว่า ยิ่งออกแรงทำงานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องกินเยอะๆ ให้อิ่มท้อง

พิเศษ
คำไทยยืมมาจากคำสันสกฤต

ถ้ากินก๋วยเตี๋ยวธรรมดาไม่อิ่ม ก็ต้องสั่งพิเศษ เพิ่มเงินอีกหน่อย แต่อยู่ท้อง

พิเศษ มาจากคำว่า विशेष (วิเศษ) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ดีกว่าปกติ มากกว่าปกติ

ลักษณะสำคัญของภาษาสันสกฤต คือ สามารถสลับตัวอักษรระหว่าง พ พาน และ ว แหวน ได้ โดยยังคงความหมายเหมือนเดิม เช่น พิเศษ วิเศษ สุพรรณ สุวรรณ พิทยา วิทยา

แต่คงไม่มีใครสั่งแม่ค้าว่า ก๋วยเตี๋ยววิเศษ ๑ ชาม การใช้งานจริง จึงต้องสังเกตบริบทและความเหมาะสมเป็นสำคัญ

อ้างอิง

  • กาญจนา นาคสกุล. แบบการเสริมสร้อยในภาษาไทยและเขมร. https://bit.ly/3hHJctZ
  • กฤช เหลือลมัย. เจียว (焦) ไข่ เมื่อคำจีนกลายเป็นคำไทย คำ “เจียวไข่” มาจากไหน. https://bit.ly/3g4hvep
  • สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. คำไทย ใครทำ: หากหลาย คือไทยแท้. https://bit.ly/2DegZfa
  • สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ตะเกียบ. https://bit.ly/2DhgeSz
  • สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ซุบ-ซุป. https://bit.ly/2D9rPmW