©ulture

ธาตุแท้ของมนุษย์เป็นเช่นไร ?

เหตุใดมนุษย์หนึ่งคนถึงสามารถโกรธ เกลียด เคียดแค้น และทำลายชีวิตอีกฝ่ายให้พังทลายได้อย่างง่ายดาย

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์

บ้านหลังสวยและสวนทุเรียนเป็นดั่ง ‘วิมานรัก’ ของ เสก (เต้ย – พงศกร เมตตาริกานนท์) และ ทองคำ (เจฟฟ์ – วรกมล ซาเตอร์) คู่รักเกย์ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ทองคำใช้เงินเก็บก้อนสุดท้ายปลดจำนองที่ดินมาครอบครองจนได้ และลงทุน ลงแรงช่วยกันทำสวนทุเรียน และหวังจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเคียงข้างกันตลอดไป

วิมานรักถึงคราวพังทลาย เมื่อเสกประสบอุบัติเหตุและจากโลกใบนี้ไป ทิ้งให้ทองคำอยู่ดูแลสวนทุเรียนอยู่เบื้องหลังเพียงลำพัง เวลานั้นเอง แม่แสง (สีดา พัวพิมล) แม่ของเสก, โหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) ลูกบุญธรรมของเธอ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในสวนทุเรียนแห่งนี้ และยังพา จิ่งนะ น้องชายของโหม๋ (เก่ง หฤษฎ์ บัวย้อย) เข้ามาทำสวนทุเรียนด้วย ท้ายที่สุดศาลตัดสินให้ที่ดินผืนนี้ตกเป็นของแม่ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกของเสกโดยชอบธรรม โหม๋ก็เริ่มมีความหวังว่าเธอจะได้ครอบครองที่ดินแห่งนี้เช่นกัน

ทองคำ ผู้ทุ่มทั้งเงิน แรงกายให้กับสวนแห่งนี้ กลับไม่เหลืออะไรเลย เขาจึงพยายามหาทางเอาสวนทุเรียนคืนมาให้ได้ ทำให้ต่างฝ่ายต่างต่อสู้ ฟาดฟัน และสงครามแย่งชิง ‘วิมานหนาม’ ก็เริ่มต้นขึ้น

บอส – นฤเบศ กูโน ผู้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์เผยว่าเขาเลือก ‘ทุเรียน’ เพราะเป็นผลไม้ที่ปลูกยาก ใช้เวลานานถึง 5 ปี และมีราคาแพงที่สุดในบรรดาผลไม้ทั้งหมด เขาใช้ฉากหลังเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกทุเรียนเลยแม้แต่น้อย และยังเป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดในประเทศไทย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้สวนทุเรียนเป็นเหมือนบ่อเงิน บ่อทองที่ใครต่างก็อยากจะครอบครอง

ความจนและชนบทที่ว่างเปล่าไร้ความหวัง ยิ่งทำให้ภาพของ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ชัดขึ้นทุกมิติ ตัวละครทุกตัวล้วนเจ็บปวดแสนสาหัส ทำให้พวกเขาปกปิดความอ่อนแอ เปราะบาง ด้วยหนามแหลมคมที่สร้างขึ้นมา

 

รักเราและสมรสไม่ ‘เท่าเทียม’

“แต่งงานกันนะ” เป็นคำหมั้นหมายแค่เพียงลมปากของเสกที่ให้กับทองคำเท่านั้น สังคมไม่เคยมองเห็นและยอมรับความรักของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย 

ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะมี ‘สมรสเท่าเทียม’ คู่รักเพศเดียวกันนั้นไร้สิทธิ์ ไร้เสียง ไม่สามารถจดทะเบียนกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวได้ว่าความเหลื่อมล้ำข้อนี้เป็นต้นเหตุแห่งหายนะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเรื่องวิมานหนามเลยก็ว่าได้ 

ภาพยนตร์ชวนให้เห็นการที่สังคมยังคงเลือกปฏิบัติต่อคู่รัก LGBTQIA+ โดยเฉพาะการสมรสที่ไม่ถูกยอมรับ ซึ่งนำมาซึ่งการเสียสิทธิ์หลายอย่างของคู่รัก ทั้งการเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาล การมีสิทธิ์ในการได้รับมรดก การทำธุรกรรมต่างๆ ร่วมกัน ต่อให้ความรักนั้นจะจริงแท้แค่ไหน โลกก็ยังมองไม่เห็น นอกจากจะเจ็บปวดที่ต้องเสียคนรักไป ทองคำยังถูกบีบให้อับจนหนทาง และทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาทวงสิ่งที่เขาควรจะได้รับคืนมา

 

หญิงชาวไทยใหญ่ในสังคมชายเป็นใหญ่ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอชีวิตของคู่ชายรักชายอย่างชัดเจน และในขณะเดียวกันก็เล่าถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศในมุมของ ‘ผู้หญิง’ ได้คมคายไม่แพ้กัน ผ่านตัวละคร ‘โหม๋’ ลูกสาวบุญธรรมที่แม่แสงเก็บมาเลี้ยง 

‘โหม๋’ อุทิศชีวิตทั้งหมดของเธอให้กับการดูแลแม่เลี้ยงพิการ เธอทำอาชีพปลูกกะหล่ำแปลงเล็กๆ พอได้เศษเงินประทังชีวิต โดนคนรักหลอกให้หวังลมๆ แล้งๆ จนกระทั่งรู้ตัวอีกที เธอสูญเสียโอกาสในชีวิตไปมากมาย ก็ติดอยู่ในวังวนแห่งความยากจนไปตลอดกาล 

ชีวิตในชนบทว่าลำบากแล้ว เกิดเป็นผู้หญิงชาติพันธุ์ในชนบทยิ่งลำบากกว่า ชาติพันธุ์มีสังคมที่เข้มแข็งและมีประเพณีที่ยึดถือกันเฉพาะในกลุ่ม ซึ่งค่านิยมบางประการนั้นยังคงกดขี่เพศหญิงอย่างมาก เช่น ในสังคมชาวม้ง หลังจากแต่งงานผู้หญิงจะต้องออกจากบ้านไปอยู่บ้านสามี และถือว่าตัดขาดจากครอบครัวของตัวเองและการนับถือความเชื่อที่เคยมีมา การหย่าร้างถือเป็นความล้มเหลว เธอจะไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีพื้นที่ทางศาสนาอีกต่อไป สังคมบีบให้ผู้หญิงต้องอดทน อดกลั้น ไม่มีปากมีเสียง เพื่อรักษาสถานะของครอบครัวเอาไว้ 

ไม่ใช่ว่าไม่อยากหนี แต่แรงกดดันทั้งจากสังคมและความจนอันไม่มีที่สิ้นสุด คอยฉุดรั้งให้เธอต้องจำใจใช้ชีวิตเช่นนั้นต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเสกได้จากไป การพังทลายของระบอบชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำเธอไว้ได้อันตรธานหายไป เธอก็เริ่มมีหวังอีกครั้งเมื่อที่ดินของเสกตกเป็นของแม่ เธอหวังว่าจะได้ชีวิตที่ถูกขโมยไปกลับคืนมา

แม้จะใช้กลยุทธ์อันแยบยลในการเข้าสู้เพื่อแย่งชิงสวนทุเรียน แต่ท้ายที่สุดแม่ก็มองว่าเธอเป็นเพียงหญิงรับใช้คนหนึ่ง ไม่มีใครมองว่าสิ่งที่เธอทำนั้นมีค่า แต่กลับมองว่าเป็นสิ่งที่เธอควรจะทำในฐานะลูกสาวและผู้หญิง โหม๋ไร้แต้มต่อในการสู้ในศึกครั้งนี้ ทำให้เธองัดเอาไม้ตายสุดท้ายมาใช้เพื่อให้ได้วิมานแห่งนี้มาครอบครอง ยิ่งอ่อนแอหนามของเธอก็ยิ่งกล้าแกร่งและแหลมคมจนละทิ้งความเป็นมนุษย์ไปเสียสิ้น  

 

ความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ครอบครัว

“ของของลูกก็เหมือนของของแม่ ชีวิตลูกก็เป็นของแม่” 

ความสัมพันธ์ของแม่แสงและเสกทำให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมนั้นเริ่มต้นขึ้นจากในบ้าน เป็นสิ่งที่น่าสงสัยว่าทำไมเสกถึงทิ้งแม่ผู้พิการให้อยู่กับโหม๋เพียงลำพังอย่างลำบากในกระท่อมกลางเขาแบบนั้น เขารักแม่จริงหรือไม่ ? หรือมองว่าแม่เองก็เป็นคนหนึ่งที่จ้องจะเอาผลประโยชน์จากเขาเช่นกัน ? 

ภาพยนตร์ไม่ได้เปิดเผยว่าตัวของเสกนั้นเผชิญเรื่องราวอย่างไร แต่แสดงออกผ่านแม่แสงที่เชื่อว่าเธอเป็นเจ้าของชีวิตลูก ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า “ลูกคือสมบัติของแม่ ของของลูกก็คือของของแม่”

แม้ว่าแม่แสงจะร่างกายพิการ แต่เธอกลับถือไพ่เหนือกว่าทุกคนโดยใช้สถานะ ‘แม่’ ผู้ได้รับมรดกโดยตรงจากลูกชาย แม่แสงจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ตัดสินว่าเรื่องจะดำเนินไปอย่างไรต่อไป แน่นอนว่าเรื่องกฎหมายเธอชนะขาด และเธอเองก็มองว่าตนมีอำนาจเหนือลูก การตายของเสกอาจทำให้อำนาจที่แม่กดไว้ได้แผ่ขยายออกมาในแบบที่ใครก็ไม่อาจต้านทานได้ เธอค่อยๆ ยึดพื้นที่ในบ้านทีละน้อยอย่างไม่เกรงใจใครโดยมีความเชื่อที่ว่าของของลูกก็คือของของเธอ ใช้อำนาจของสายเลือดบีบบังคับคนรอบข้างให้จนมุม สร้างชนวนสงครามในวิมานแห่งนั้น 

 

เมื่อปราศจากคมหนาม เราต่างเปราะบางและอ่อนแอ

ตัวละครค่อยๆ ไล่ระดับการฟาดฟันไปเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่สายตา คำพูดเสียดแทงใจ การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ที่จ้องจะกำจัดอีกฝ่าย จนกระทั่งสุดท้ายทุกคนเผยให้เห็นสันดานดิบ หยิบหนามแหลมออกมาทำลายอีกฝ่ายจนสิ้นซาก 

อิมมานูเอล คานธ์ (Immanuel Kant) นักคิดและนักปรัชญาชาวเยอรมันเชื่อว่าคนเรานั้นมีสัญชาตญาณรู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราเมื่อเรารักชีวิตตัวเอง เราจะเห็นคุณค่าของชีวิตอื่นๆ เมื่อเราเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก เราจึงมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และจะไม่ทำให้ใครเจ็บปวด

แต่สิ่งที่ทำให้คนเราสามารถเข่นฆ่าอีกฝ่ายได้อย่างเลือดเย็นคือ ‘ความเชื่อที่ต่างกัน’ โหม๋ ทองคำ และแม่แสงต่างมีความเชื่อคนละชุดที่ไม่มีวันมาบรรจบกัน ทองคำมองเห็นเพียงโลกที่เขาและเสกมีร่วมกัน โหม๋เองก็เห็นแต่ความทุ่มเทและหยาดเหงื่อของตัวเองที่มอบให้แก่แม่ ส่วนแม่ก็มองเห็นแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ทำให้ทั้งสามเกิดความขัดแย้งกัน และมองอีกฝ่ายเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด

‘จิ่งนะ’ น้องชายของโหม๋เป็นผู้อยู่นอกเกมของทั้งสามคนและเป็นตัวละครที่เข้ามาทำให้คนดูได้พักจากสถานการณ์ตึงเครียดให้พอได้หายใจหายคอบ้าง จิ่งนะเป็นตัวแทนของคนที่ปราศจากหนามแหลมและจริงใจ และภาพยนตร์ก็ทำให้เห็นว่าสุดท้ายแล้ว มนุษย์ที่ไร้คมหนามที่จะต่อสู้ก็ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงครั้งนี้ไปตามระเบียบ

สงครามการแย่งชิงครั้งนี้ทำให้เกิดความสูญเสียมากมาย แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ ‘ความว่างเปล่า’ 

ภาพยนตร์ชี้ให้เห็นถึงบทสรุปอันเป็นรูปธรรม ผ่านตัวละคร ‘ปลัด’ สามีใหม่ของโหม๋ ซึ่งโกยเงินค่าสินสอดทั้งหมดไป เป็นคนที่ลอยตัวที่สุดในเรื่องนี้ หากย้อนกลับไปตอนต้นเรื่อง ทองคำไปปรึกษาทนายเรื่องที่ดิน และทนายได้บอกกับเขาว่า “สุดท้ายถ้าไม่มีใครรับมรดก ที่ดินผืนนี้จะตกเป็นรัฐ” แสดงให้เห็นว่าแม้ทองคำลงแรงไปเท่าไหร่ โหม๋จะสู้ยิบตาแค่ไหน สุดท้ายคนที่มีสิทธิ์เหนือทุกอย่างคือรัฐ ซึ่งเป็นอำนาจใหญ่ที่กุมชะตาชีวิตของคนทั้งหมดไว้ 

ปลัดซึ่งเป็นคนของรัฐเป็นสัญญะที่ทำให้เห็นว่าพวกเขาต่างก็เป็นเหยื่อของระบบที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจที่กำหนดชะตาชีวิตของทุกคนอยู่ เป็นอำนาจที่บิดเบี้ยวและไม่เคยเห็นความสำคัญของปัจเจกบุคคลมาตั้งแต่แรก ทั้งความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมทางเพศ ความจนเรื้อรัง ทั้งหมดล้วนเกิดจากรัฐ และก็เป็นรัฐอีกที่ได้ผลประโยชน์ทุกอย่างไป นับเป็นต้นเหตุแห่งความบิดเบี้ยวทั้งหมดราวกับติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก 

ทุเรียนที่ปอกเปลือกแล้วเนื้อในจะอ่อนนุ่ม เปรียบได้กับคนเราที่แท้จริงแล้วนั้นเปราะบาง อ่อนแอ และเห็นอกเห็นใจกัน แต่เราทำร้ายกัน เพราะแต่ละคนล้วนเป็นเหยื่อ เผชิญความเลวร้ายในแบบของตัวเอง ท้ายที่สุดแล้วภาพยตร์เรื่องนี้อาจกำลังบอกเราว่าศัตรูที่น่ากลัวที่สุดอาจไม่ใช่คนที่เรากำลังต่อสู้อยู่ แต่อาจเป็นอำนาจที่ใหญ่กว่านั้นที่กำลังผลักให้เราต้องต่อสู้กันเอง

 

อ้างอิง 

  • Indigenous Media Network. 4 เรื่องเล่าจากผู้หญิงชนเผ่า ในวันที่สิทธิของสตรีชนเผ่าจะเบ่งบาน. https://bit.ly/4dQJiNn

 

FACT BOX

  • วิมานหนาม (The Paradise Of Thorns) ภาพยนตร์จากค่าย GDH และ ใจ สตูดิโอ กำกับโดย บอส-นฤเบศ กูโน นำแสดงโดย เจฟฟ์ - วรกมล ซาเตอร์ และ อิงฟ้า วราหะ
  • ปัจจุบันภาพยนตร์เรื่องวิมานหนามทำรายได้ทั่วประเทศทะลุ 100 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว