©ulture

“อย่าพยายาม”

แม้จะตายไปและเหลือทิ้งไว้แค่ข้อความสั้นๆ บนป้ายหลุมศพ แต่บางครั้ง กวีก็ยังทำหน้าที่ของการเป็นกวีได้หมดจด

Photo: Magnolia Pictures / courtesy Everett Collection

มีนาคม 1994 นักเขียนและกวีคนสำคัญชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันนาม ชาร์ลส์ บูเคาว์สกี (Charles Bukowski) เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเม็ดเหลือดขาวในวัย 73 ปี ทิ้งผลงานไว้ทั้งนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์กว่า 60 เล่ม บนป้ายหลุมศพของเขาสลักไว้ทั้งชื่อจริง ปีเกิด ปีที่เสียชีวิต รวมถึงรูปตัวการ์ตูนนักมวยลายเส้นง่ายๆ (ถูกนำมาดัดแปลงเป็นหน้าปกของนิยายกึ่งอัตชีวประวัติชื่อ Ham on Rye) ที่บ่งบอกเป็นนัยว่าชีวิตของบูเคาว์สกีผ่านการต่อสู้ดิ้นรนมามากมายเพียงใด แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นมันยังมีข้อความสั้นๆ ที่สลักไว้ว่า “DON’T TRY” หรือ “อย่าพยายาม” ถ้อยคำนี้กินความหมายทั้งลึกและกว้างไม่ต่างอะไรกับบทกวี ที่สรุปแนวคิดในการทำงานสร้างสรรค์และการใช้ชีวิตของ ‘นักเขียนเอกแห่งชีวิตอเมริกันชั้นล่าง’ ที่นิตยสาร Times ขนานนามให้แก่บูเคาว์สกีไว้ในปี 1986 ออกมาครบถ้วนในประโยคเดียว

“อย่าพยายาม”

คือประโยคที่บูเคาว์สกีเขียนไว้ในกวีบทหนึ่งของเขา เป็นแนวคิดที่บูเคาว์สกียึดมั่นมาตลอดการทำงาน และปรากฏอยู่ในจดหมายบางฉบับ เช่น จดหมายถึงเพื่อนนักเขียน จอห์น วิลเลียม คอร์ริงตัน (John William Corrington) ในปี 1963 ที่บูเคาว์สกีเล่าถึงเหตุการณ์ เมื่อถูกถามว่าเขามีเคล็ดลับอย่างไรในการทำงานเขียน โดยบอกว่า 

“คุณต้องไม่พยายาม นี่คือสิ่งสำคัญมากๆ อย่าพยายาม ด้วยหวังว่าคุณจะสร้างสรรค์ เป็นอมตะ หรือกระทั่งเพื่อรถหรูอย่างคาดิลแลคสักคัน คุณต้องเฝ้ารอ และถ้ามันไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณต้องรอต่อไปอีกสักพัก เหมือนกับแมลงเมายาที่เกาะอยู่บนผนัง คุณรอให้มันมาหาคุณ และเมื่อมันเข้าใกล้มากพอ คุณจึงเริ่มขยับไปหามัน ตบมัน ฆ่ามัน หรือถ้าคุณชอบแมลงตัวนั้น คุณก็แค่ทำให้มันเป็นสัตว์เลี้ยงของคุณ”

สิ่งที่บูเคาว์สกีบอกกล่าวนั้นใกล้เคียงกับภาวะ flow หรือการดิ่งจมสู่โลกของการงานที่เราจะรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมันอย่างไม่อาจแยกขาด ภาวะที่แรงบันดาลใจไหลบ่าออกมาเป็นงานสร้างสรรค์อย่างไม่ต้องฝืนและพยายาม และเป็นสิ่งที่เขาอธิบายออกมาด้วยสำบัดสำนวนงดงามในจดหมายถึงเพื่อนกวีอีกคนอย่าง วิลเลียม แพคการ์ด (William Packard) ในปี 1990 ที่ต่อมาถูกบรรจุอยู่ใน On Writing หนังสือรวมรวมจดหมายโต้ตอบระหว่างบูเคาว์สกีกับมิตรสหาย ความว่า

“เมื่อทุกอย่างดูจะเป็นไปอย่างยอดเยี่ยม มันไม่ใช่เพราะคุณเลือกจะเขียนมัน แต่เป็นเพราะงานเขียนเลือกคุณต่างหาก มันคือช่วงเวลาที่คุณบ้าคลั่งกับมัน ช่วงเวลาที่โสตประสาท และโพรงจมูกของคุณทนทุกข์ ช่วงเวลาที่ความทรมานฝังลึกอยู่ในซอกเล็บ มันคือห้วงขณะที่เราไม่หลงเหลือความหวังใด นอกจากการลงมือเขียน”

Photo: pyxis.nymag.com

ความคิดของบูเคาว์สกีกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียน หรือแม้กระทั่งผู้คนที่กำลังไม่มีความสุขกับการพยายามอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อจะทำหรือกลายเป็นอะไรสักอย่าง ในจดหมายฉบับเดียวกันเขายังเขียนไว้อีกว่า “เราทำงานหนักเกินพอดี เราพยายามมากเกินไป” และกล่าวย้ำด้วยวรรคทองของตนว่า

“อย่าพยายาม อย่าบีบคั้นตัวเองในการทำงาน มันอยู่ตรงนั้น จ้องเขม็งมายังเรา ปวดแปลบเพราะต้องการจะกระโจนออกจากมดลูกที่ถูกปิดตาย มีหนทางมากมายเหลือเกินสำหรับการเขียน และทั้งหมดนั้นก็เป็นของฟรี เราไม่จำเป็นต้องได้รับการชี้นำ”

และแนวคิดนี้ก็ปรากฏอยู่ในบทกวีอีกหลายชิ้น เช่น so you want to be a writer? ที่มีบางท่อนว่า 

 

“ถ้ามันไม่ระเบิดออกมาจากตัวคุณ 

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จงอย่าเขียน 

นอกเสียจากมันหลั่งไหลออกมาอย่างไร้การไต่ถาม จากหัวใจ

จากความนึกคิด จากริมฝีปาก จากความกล้าหาญ

จงอย่าเขียน

ถ้าคุณต้องนั่งลงเป็นชั่วโมงๆ

จ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์

หรือโก่งตัวสู่เครื่องพิมพ์ดีด

เพื่อควานหาถ้อยคำ

จงอย่าเขียน…”

 

และ

 

“…ถ้าคุณต้องรอเพื่อให้มันแผดเสียงคำรามออกจากตัวคุณ

จงรออย่างอดทน…”

 

และ

 

“…จงอย่าเขียน

นอกเสียจากมันพุ่งพรวด

ออกจากจิตวิญญาณประหนึ่งจรวด

นอกจากการดำรงอยู่จะชักนำคุณไปสู่ความบ้าคลั่ง หรือ

การฆ่าตัวตาย หรือฆาตกรรม

จงอย่าเขียน

จนกว่าดวงอาทิตย์ในตัวคุณ

จะแผดเผาคุณจากภายใน

จงอย่าเขียน

เมื่อถึงเวลาอันแท้จริง

และถ้าคุณถูกเลือก

มันจะถะถั่งออกมา

และสิ่งนั้นจะดำเนินต่อไป

กระทั่งคุณตาย และมันตายดับลงในตัวคุณ”

 

การไม่พยายามคาดคั้น หรือคาดหวังกับผลลัพธ์นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่พูดง่าย เป็นอุดมคติสวยสดงดงาม แต่มันกลับทำได้ยาก และน่าหมั่นไส้อยู่ไม่น้อย เมื่อนักเขียนที่ดูเหมือนจะเปี่ยมด้วยพรสวรรค์อย่างบูเคาว์สกี เคยแสดงความคิดเห็นไว้อย่าอหังการว่า “การเขียนกวีนั้นง่ายแสนง่ายพอๆ กับการกินอาหาร หรือการกระดกเบียร์สักขวด”

Photo: www.beatdom.com

 

แต่จริงๆ แล้วชีวิตของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ก็กลับซ่อนไว้ด้วยเรื่องราวของ ‘การพยายาม’ มากมายไม่ต่างจากใครหลายคน…  บูเคาว์สกีเคยลาออกจากวิทยาลัยทั้งที่ยังเรียนไม่จบ ด้วยหวังว่าจะกลายมาเป็นนักเขียนและกวีที่มีคนยอมรับ เขาเขียนเรื่องสั้นออกมาเป็นร้อยๆ เรื่อง แต่กลับได้รับพิจารณาตีพิมพ์แค่ไม่กี่เรื่อง กระทั่งเขาถูกความหมดหวังกัดกินจนพังพินาศ เขาจึงตัดสินใจหยุดเขียน ผันตัวไปทำงานอื่นๆ เช่น พนักงานไปรษณีย์เป็นเวลาเกือบ 10 ปี นั่นคือช่วงปีที่เขาเรียกมันว่า ’10 ปีแห่งความเมามาย’ แต่แล้วหลังจากป่วยหนักจนเกือบตาย หลังจากออกจากโรงพยาบาลมาได้ บูเคาว์สกีจึงกลับมาเขียนอีกครั้ง ในจดหมายถึง วิต เบอร์เน็ตต์ (Whit Burnett) บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งนิตยสารวรรณกรรมชื่อดังอย่าง Story บูเคาว์สกีบอกเบอร์เน็ตต์ว่า

“ตอนนี้ผมอายุ 34 ปี ถ้าผมไม่สามารถประสบความสำเร็จในตอนที่ผมอายุ 60 ปีได้ ผมก็แค่ให้เวลาตัวเองได้หยุดอีกสัก 10 ปี”

และใช่ การกลับมาสู่โลกวรรณกรรามในวัย 34 ปี ไม่ได้ทำให้บูเคาว์สกีประสบความสำเร็จทันทีทันใด เขาเป็นนักเขียนตกอับ ผู้ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์อยู่เนืองนิจ ต้องกลับไปทำงานประจำเป็นพนักงานไปรษณีย์ ทว่าครั้งนี้ บูเคาว์สกีไม่หยุดเขียน และคำว่า ‘อย่าพยายาม’ นั้นก็ฉายชัดให้เห็นถึงความคิดเบื้องลึกในปรัญชาการใช้ชีวิตของเขา เมื่อการไม่พยายามไม่ใช่ขั้วตรงข้ามของการลงมือทำ แต่มันคือการเลิกสนใจจะกลายเป็นใครที่เขาไม่ได้เป็น

“ผมจะเขียนแม่งจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย ไม่ว่าใครจะคิดว่ามันดีหรือไม่ ให้จุดจบเสมือนการเริ่มต้น ผมหมายมั่นเช่นนี้ สามัญและล้ำลึกเยี่ยงนั้น”

อีกยาวนานหลายปีหลังจากนั้น บูเคาว์สกีถูกพูดถึงและดูเหมือนจะเข้าใกล้การเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ เขาต้องใช้เวลานานหลายปีกับการต่อสู้ ดิ้นรน และพยายามในการเป็นนักเขียนและกวี กระทั่งสามารถยืนบนขาของตัวเองได้โดยไม่ต้องทำงานเป็นพนักงานไปรษณีย์ หรือพูดอีกแง่ …ไม่ต้อง ‘พยายาม’ อีกต่อไป เมื่อล่วงเลยวัย 50 ปีมาแล้ว

Photo: cdn.substack.com

 

ทั้งนี้ เขายังได้แสดงความคิดเห็นถึงโลกวรรณกรรมไว้อีกว่า “ผมคิดว่านักเขียนจำนวนมากเมื่อเข้าสู่โลกวรรณกรรมมาสักพัก พวกเขาจะฝึกฝนมากเกินไป ระมัดระวังมากเกินควร พวกเขากลัวที่จะสร้างความผิดพลาด แน่นอน คุณทอยลูกเต๋า และบางครั้งคุณได้คะแนนต่ำสุด (snake eyes) แต่ผมกลับชอบความดิบและหย่อนยาน บทกวีที่ยอดเยี่ยมสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่คุณหมกมุ่นอยู่กับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่กวี ผมรู้ บางทีผมก็เขียนงานขยะ ทว่าด้วยการปล่อยให้มันลื่นไหล ด้วยการตีกลองสนับสนุนแนวคิดแบบนั้น น้ำเนื้อหวานหยดของเสรีภาพจึงยังคงอยู่”

ซึ่งนั่นก็ตรงกับความคิดเห็นของผู้เฝ้ามองบูเคาว์สกีมาตลอดอย่างภรรยาหม้ายของเขา ลินดา บูเคาว์สกี  (Linda Bukowski) 

ระหว่างการพูดคุยกับ ไมค์ วัตต์ (Mike Watt) นักดนตรีและมือเบสชื่อดังชาวอเมริกันเมื่อปี 2005 เธอเล่าให้เขาฟังถึงเบื้องหลังของประโยค “อย่าพยายาม” หรือ “DON’T TRY” ที่เริ่มต้นมาจากหนังสือรวบรวมประวัติบุคคลสำคัญในอเมริกาชื่อ Who’s Who In America ที่มีประวัติของบูเคาว์สกีรวมอยู่ด้วย โดยเธอบอกว่า เมื่อบรรณาธิการขอให้บูเคาว์สกีเขียนเกี่ยวกับปรัชญาการใช้ชีวิตของตน ในขณะที่คนอื่นเขียนถ้อยคำยืดยาวราววิทยานิพนธ์ บูเคาว์สกีกลับแสดงตัวตนและความเป็นคนขบถของตัวเองออกมา ด้วยการใส่ก็ข้อความสั้นๆ ลงไปแค่ “อย่าพยายาม”

ซึ่งลินดาบอกว่า เธอไม่เห็นด้วยหากผู้คนจะตีความว่ามันคือการขี้เกียจ เอนหลังพิงไหล่ไม่ทำอะไรเลย แต่สำหรับเธอมันคือการทำอะไรก็ตามอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างที่สามีของเธอเป็นมาตลอดชีวิต จนทำให้ทั้งผลงานและวิถีชีวิตของเขา (*บางด้าน—เพราะอีกหลายด้านมันก็มีมุมมืดซ่อนอยู่มากมาย ทั้งเรื่องเหล้า ยา หรือเซ็กซ์) กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของผู้อื่น

“ถ้าคุณใช้เวลาพยายามจะทำอะไรสักอย่าง มันหมายความว่าคุณไม่ได้กำลังทำมันอย่างแท้จริง”

ดังนั้น “DON’T TRY”

 

อ้างอิง

  • Charles Bukowski. On Writing.
  • Charles Bukowski. So You Want To Be A Writer?.
  • PROFESSORWU. One letter from Charles Bukowski will make you want to quit your job and become a writer. https://bit.ly/3oTDckY
  • openculture.com. “Don’t Try”: Charles Bukowski’s Concise Philosophy of Art and Life. https://bit.ly/3cO7e7m