ทุกคนเคยผ่าน ‘วัยหนุ่มสาว’ ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีความฝัน ความทะเยอทะยาน และแสดงจุดยืนของตัวเองออกมาได้เต็มที่
แต่ก็ยังมีคนหนุ่มสาวบางกลุ่มที่ใช้ชีวิตกับความเจ็บปวดที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เนื่องจากสภาพสังคมที่เป็นอยู่
ความเจ็บปวดเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดผ่านนิทรรศการภาพถ่าย We Will Have Been Young โดยช่างภาพจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 12 คน
ในจำนวนนั้นมีภาพถ่ายจากช่างภาพ 4 คน ที่สะกิดต่อมความเจ็บปวดในตัวเรา
นั่นคือความเจ็บปวดจาก เสรีภาพในโรงเรียน / ความสัมพันธ์ / รูปลักษณ์และความป่วยไข้ / ครอบครัว
เราหวังว่าภาพถ่ายเหล่านี้ จะทำให้เราระลึกได้ว่า วันหนึ่งเมื่อเราเดินผ่านวัยหนุ่มสาวมาแล้ว เราจะไม่ลืมความเจ็บปวดที่เคยเจอ
เพื่อจะไม่ส่งต่อความเจ็บปวดนั้นให้กับคนวัยหนุ่มสาวรุ่นต่อมา
ความเจ็บปวดจาก ‘เสรีภาพ’ ในโรงเรียน
Watsamon Tri-yasakda (วรรษมน ไตรยศักดา), ไทย
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” เป็นคำถามที่เรามักโดนทวงถามอยู่บ่อยครั้ง
แต่ทำไมไม่มีใครถามว่า “ตอนนี้อยากเป็นอะไร” บ้างล่ะ
ตลอดชีวิตในรั้วการศึกษา เราถูกกำหนดให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ต้องแต่งกายให้เป็นตามเพศสภาพโดยกำเนิด
ไม่ว่าจะเป็นทรงผม เสื้อผ้า หรือรองเท้าที่ต้องเรียบร้อยตลอดเวลา
เครื่องแบบนักเรียนจึงกลายมาเป็นตัวแทนความเป็นเอกภาพ และอำนาจที่ทำให้เกิดลำดับชั้น
‘7465’ รหัสนักเรียนเป็นตัวแทนตัวตนที่ถูกปิดกั้นในการแสดงออกความหลากหลายทางเพศ
เพื่อต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์และสิทธิที่แสดงความเป็นตัวตนได้อย่างอิสระ
ความเจ็บปวดจาก ‘รูปลักษณ์และความป่วยไข้’
Amrita Chandradas, สิงคโปร์
“ผมยาวนุ่มพริ้ว ปลิวอย่างสลวย” คำที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้หญิง
เรื่องราวของผมมักปรากฏอยู่ตามสื่อโฆษณา ขวดแชมพูในห้องน้ำ หรือร้านบาร์เบอร์ที่เราผ่านเป็นประจำ
หากวันหนึ่ง.. ‘ผม’ ที่เคยเป็นตัวกำหนดความเป็นหญิงสาวได้หายไป จะเกิดอะไรขึ้น ?
ชาน ซี ติง (Chan See Ting) หญิงสาวผู้กล้าหาญ ได้เปิดเผยว่าเป็นโรค ‘Alopecia Areata’ ซึ่งทำให้ผมร่วงเกือบทั้งหัว แม้ว่าโรคนี้ไม่ได้ทำให้เธอถึงแก่ชีวิต แต่มันส่งผลกระทบต่อจิตใจและความมั่นใจในตัวเอง
ถ้าหากเราเชื่อว่า ‘ผม’ มีความเชื่อมโยงกับความเป็นผู้หญิงและตัวตนของเรา
ความเจ็บปวดจาก ‘ความสัมพันธ์’
Alvin Lau, มาเลเซีย
ช่วงเริ่มต้นของยุคมิลเลเนียม การสื่อสารระหว่างผู้คนกลายเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะทางโซเชียลมีเดีย วิดีโอคอล หรือการนัดเดทออนไลน์
ถึงเทคโนโลยีจะสร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิต แต่มันก็ยิ่งทำให้เราสับสนกับความสัมพันธ์เหล่านั้นว่ามันคือรักแท้ หรือแค่ความสัมพันธ์ชั่วคราว
ความเจ็บปวดใน ‘ครอบครัว’
Dennese Victoria, ฟิลิปปินส์
การถ่ายภาพสารคดีหรืองานโฆษณา เราจะเจอความกดกันในการทำให้ภาพออกมาตรงตามต้องการของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นผู้จ้างงาน แต่ในฐานะช่างภาพที่ทำงานอยู่หลังกล้องถ่ายภาพครอบครัวนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง
เพราะบางครั้งเราต้องกำกับให้ผู้คนมองไปที่มุมใดมุมหนึ่ง จากนั้นก็ให้เขายิ้ม ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้อยากทำเหมือนการเชิญชวนให้เสแสร้ง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้คนๆ นั้นได้เลือกที่จะมีความสุขหรือทุกข์อย่างน้อยก็ในภาพถ่าย แม้ความจริงของครอบครัวจะตรงกันข้ามก็ตาม
สำหรับคุณ ความเจ็บปวดคืออะไร?
สำหรับเรา ความเจ็บปวดคือช่วงเวลาในอดีตและปัจจุบัน ที่ทำให้มนุษย์เติบโตเพื่อไปสู่อนาคต
อนาคตที่เราจะไม่ส่งต่อความเจ็บปวดเดิมๆ ให้กับคนรุ่นต่อไป
นิทรรศการ We Will Have Been Young จัดที่ River City Bangkok Galleria 3 ชั้น 2 ตั้งแต่วันนี้ – 20 มีนาคม 2020 รายละเอียดเพิ่มเติม https://rivercitybangkok.com/blog/2020/01/we-will-have-been-young