©ulture

เหม เวชกร คือใคร?

 

ตามประวัติที่พอจะสืบค้นได้ เหม เวชกร มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๖ – ๒๕๑๒ ตั้งแต่ประเทศไทยยังมีชื่อว่า ‘สยาม’ ในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ผ่านยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกระทั่ง ถนอม กิตติขจร ขึ้นสู่อำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี

เหม เวชกร เป็นทั้งศิลปินนักวาดภาพมือฉมังจนได้รับฉายา “จิตรกรมือเทวดา” นักประพันธ์เรื่องผี นักเล่นไวโอลิน และครูของเด็กๆ ที่สนใจการวาดภาพ

 

เหม เวชกร
ภาพวาดสีน้ำบนกระดาษ
(photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)

 

คนใกล้ชิดบอกว่า เหม เวชกร เป็นคนเพื่อนเยอะและกินเหล้าเก่ง

“ผมเป็นลูกศิษย์ครูเหมคนเดียว ที่วาดรูปไม่เป็น แต่ได้มาอย่างหนึ่งคือกินเหล้าเก่ง…” ใหญ่ นภายน อดีตหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเคยรับใช้ใกล้ชิด เหม เวชกร ระลึกอดีต

 

ใหญ่ นภายน
ใหญ่ นภายน

แต่ถึงอย่างนั้น เหม ก็รักการทำงานมากกว่าดื่มเหล้า

เคยมีคนคำนวณว่า ภาพที่ เหม เวชกร วาดตลอดช่วงชีวิต น่าจะมีมากถึง (หรือมากกว่า) ๔๗,๐๘๕ ภาพ

อาจฟังดูเกินจริง แต่ถ้าคิดจากช่วงเวลาที่เขียนภาพราว ๔๓ ปี คูณกับมาตรฐานการทำงานที่วาดเฉลี่ย ๓ ภาพต่อวัน ก็จะรู้ว่าจำนวนนั้นไม่ใช่เรื่องที่กล่าวขึ้นลอยๆ

แต่สิ่งที่น่าสนใจในตัว เหม เวชกร นอกจากจำนวนผลงาน คือเขาเป็นนักวาดภาพชื่อดังยุคหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ ที่ไม่เคยเรียนหลักสูตรการวาดภาพ

แต่สร้างชื่อและผลงาน จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

เหม เวชกร
สีน้ำบนกระดาษ
(photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)

 

เหม เวชกร เกิดวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๖ ในตำบลพระราชวัง อำเภอและจังหวัดพระนคร มีช่วงชีวิตวัยเด็กที่ค่อนข้างอาภัพ พ่อ-หม่อมราชวงศ์หุ่น ทินกร และแม่-หม่อมหลวงสำริด พึ่งบุญ แยกทางตั้งแต่เขาอายุ ๘ ขวบ เป็นเหตุให้ เหม ต้องย้ายไปอยู่กับลุง (หม่อมราชวงศ์แดง ทินกร)

 

พระยายมราช หรือ ปั้น สุขุม
พระยายมราช หรือ ปั้น สุขุม

 

เนื่องจากลุงทำงานกับพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้กำกับดูแลการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ทำให้เหมมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับช่างชาวอิตาเลียน เป็นลูกมือบดสี ส่งพู่กัน และได้เรียนวิชาหัดขีดเขียนในช่วงเวลาหนึ่ง

 

พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตสมาคม ภาพถ่ายทางอากาศ ชุด วิลเลี่ยม ฮันท์
(photo: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

เหม เวชกร ผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่นมาอย่างซัดเซพเนจร แม้แต่นามสกุล ‘เวชกร’ ก็ได้มาจากนามสกุลของครอบครัวขุนประสิทธิ์เวชกร (แหยม เวชกร) อดีตแพทย์ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เคยรับเขาไว้อุปถัมภ์

ช่วงนั้นเหมทำงานสารพัด เป็นเด็กอู่เรือของคนจีนกวางตุ้ง ลูกเรือโยงขึ้นล่องแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง ช่างเครื่องในงานสร้างเขื่อนพระราม ๖ กรมทดน้ำ (กรมชลประทาน) ที่อำเภอท่าหลวง จังหวัดสระบุรี และช่างเขียนในกรมตำราทหารบก

แม้จะมีหน้าที่เขียนภาพประกอบตำราวิชาทหาร แต่ช่วงนั้นเหมดูจะสนใจดนตรีมากกว่า โดยเฉพาะเครื่องสาย

 

เหม เวชกร
(photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)

 

เหมเคยเล่าว่าช่วงนั้นเขาหายใจเข้าออกเป็นดนตรี ฝีมือลายมือเข้าขั้นจนได้ร่วมวง รับงานจ้าง และเล่นบรรเลงในโรงหนังในยุคหนังเงียบ

“พี่เหมมีชื่อทางเครื่องสาย เขามีลูกไม้ลูกเล่นทางไวโอลิน ใครล้มเขาไม่ได้…”

 

แช่มชื่น เวชกร ภรรยาเหม ในวัย ๙๖ ฟื้นความหลังในนิตยสาร สารคดี ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๑๘๘ ตุลาคม ๒๕๔๓

 

เหม เวชกร กับภรรยา แช่มชื่น เวชกร
เหม เวชกร กับภรรยา แช่มชื่น เวชกร
(photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)

 

เหม เวชกร คงจะเอาดีทางดนตรีตลอดชีวิต ถ้าในราว พ.ศ.๒๔๗๑ ภาพยนตร์ที่มีเสียงไม่เข้ามาฉายในสยาม

เมื่อหนังมีเสียงในฟิล์ม หนังเงียบเริ่มกลายเป็นสิ่งล้าสมัย อาชีพนักดนตรีในโรงหนังก็เช่นกัน

เหมในวัยใกล้สามสิบจึงหันเหจากงานดนตรี มาเพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัวด้วยการเขียนภาพ

แม้จะร้างมือจากการเขียนภาพไปบ้าง แต่มีหลักฐานบันทึกว่า เหมก็คือเหม

ใน พ.ศ.๒๔๗๒ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระดมช่างเขียนครั้งใหญ่ เพื่อซ่อมแซมภาพ รามเกียรติ์ ในพระระเบียงรอบอุโบสถวัดพระแก้ว เพื่อบูรณะวัด เนื่องในโอกาสฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี ที่จะมาถึงในปี ๒๔๗๕

ช่างเขียนจำนวนมากต่างตบเท้าเข้ามาสมัครและทดสอบฝีมือ สุดท้าย เหม คือหนึ่งในช่างเขียนเกือบ ๗๐ คนที่ได้รับเลือก

 

โดย เหม มีโอกาสได้เขียนภาพ ‘พระรามแผลงศรล้างมังกรกัณฐ์ ถูกมังกรกัณฐ์ตาย’ ในห้องที่ ๖๙

 

ภาพพระรามแผลงศรล้างมังกรกัณฐ์ ผนังระเบียงคด ห้องที่ 69 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ภาพพระรามแผลงศรล้างมังกรกัณฐ์ ผนังระเบียงคด ห้องที่ 69 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ภาพพระรามแผลงศรล้างมังกรกัณฐ์ ผนังระเบียงคด ห้องที่ 69 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ภาพพระรามแผลงศรล้างมังกรกัณฐ์ ผนังระเบียงคด ห้องที่ 69 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ภาพพระรามแผลงศรล้างมังกรกัณฐ์ ผนังระเบียงคด ห้องที่ 69 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

ต่อมาช่วงปลาย พ.ศ.๒๔๗๔ เหม เวชกร เริ่มสร้างชื่อกับอาชีพช่างเขียน

เมื่อเขาตัดสินใจสร้างชีวิตและเส้นทางอาชีพใหม่ กับเพื่อนอีกสองคน (เวช กระตุฤกษ์ เจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ และเสาว์ บุญเสนอ อดีตทหารกองหนุนที่อยู่ระหว่างหางาน แต่พอมีฝีมือในการแต่งเรื่อง) ร่วมกันก่อตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ ‘คณะเพลินจิตต์’ ที่พิมพ์ขายนิยายเล่มเดียวจบ

โดย เหม เวชกร รับหน้าที่ในการเขียนภาพปก และ เสาว์ บุญเสนอ อาสาแต่งเรื่อง

 

เหม เวชกร
ปกหนังสือที่จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์คณะเพลินจิตต์
(photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)

 

หนังสือเล่มแรกของคณะเพลินจิตต์ ‘ขวัญใจนายร้อยตรี’ วางขายวันเถลิงศกใหม่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕  ราคาเล่มละ ๑๐ สตางค์

หลังจากนั้น นิยายของคณะเพลินจิตต์ ซึ่งเป็นความบันเทิงราคาถูก ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนจุดกระแส ‘นิยาย ๑๐ สตางค์’ และเกิดสำนักพิมพ์ “คณะ” ต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

บางเรื่องที่ขายดีอย่าง ชีวิตต่างด้าว มียอดพิมพ์สูงถึง ๒๔,๐๐๐ เล่ม

นอกจากเนื้อหาเชิงรักหวาน ซึ้งโศก ตลก บู๊ หน้าปกหนังสือในยุคการพิมพ์แยกสี ยังเป็นสิ่งดึงดูดใจผู้อ่าน

และส่งให้ชื่อ เหม เวชกร ช่างเขียนที่กำลังสร้างชื่อ เป็นที่รู้จัก

 

เหม เวชกร
สีน้ำบนกระดาษ
(photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)
(photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)
(photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)

 

ติดตามชีวิต เหม เวชกร ฉากต่อไปที่ เหม เวชกร ตอนที่ 2: ช่างเขียนแห่งยุค หลัง พ.ศ.๒๔๗๕