©ulture

ยามสายของบ่ายวันเสาร์ภายใต้บรรยากาศแห่งความขี้เกียจที่ปกคลุมท่วมห้องนอน สมาร์ทโฟนถูกหยิบขึ้นมาไถดูสัพเพเหระของชีวิตใครต่อใคร และความเป็นไปของโลกใบนี้

กระทั่งสายตาไปสะดุดเข้ากับข้อความบนหน้าเพจเฟสบุ๊ก ที่สะกดให้นิ้วโป้งหยุดการเคลื่อนไหว 

“Peter Fernandes นักข่าววัยเกษียณ ได้มีส่วนร่วมไขปริศนาคดีเด็กหนุ่มคนหนึ่งถูกฆ่าในห้องน้ำใต้ทางรถไฟสถานี Matunga Road ในมุมไบ ที่ที่ลือกันว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของเหล่าโฮโมเซ็กชวล ร่วมกับเพื่อนสนิท Jende สารวัตรสอบสวนคดีนี้ 

ปีเตอร์ได้เข้าไปสู่โลกแห่งเกย์ที่เขาไม่คุ้นเคย โลกที่เขาสงสัยว่า Sunil ลูกชายของเขาอาจจะมีส่วนร่วมด้วย หลังจากที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าสุนิลไปเดินขบวนต่อต้านคำตัดสินของศาลเรื่องของเกย์ จนหนังสือพิมพ์ยังลงคำจำกัดความลูกเขาว่า gay activist…” 

WorldAtTheCorner

อ่านถึงบรรทัดนี้ พลันสายตาก็ไล่ไปเจอภาพปกหนังสือที่มีชายสองคนนั่งเคียงกันบนโขดหินริมทะเลที่มีคลื่นลูกโตซัดสาดเป็นฉากหลัง พาดด้วยอักษรสีแดงฉาน Murder in Mahim นวนิยายของ Jerry Pinto นักเขียนชาวอินเดีย ที่แม้จะไม่ได้เป็นนักเขียนที่รู้จัก แต่แค่คำว่า Mahim ก็ทำหน้าที่แฟล็ชแบ็คความทรงจำโดยอัตโนมัติ ในฐานะสถานีรถไฟที่อยู่ใกล้สลัมที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนครมุมไบ ซึ่งผู้เขียนบทความนี้เคยไปเยือนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว 

มุมไบไม่เคยเป็นเมืองโปรด ไม่เคยอยู่ในใจ และแทบไม่เคยนึกถึง แต่หนังสือเล่มนี้กลับดลใจให้อยากทำความรู้จักเบื้องลึกเบื้องหลังมหานครแห่งนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในขณะนี้ ที่โลกไม่อนุญาตให้ผู้คนเดินทางระหว่างประเทศ การซื้อหนังสือมาอ่านจึงเป็นตัวเลือกที่ทำให้การท่องเที่ยวผ่านจินตนาการทำงานได้ดีที่สุด 

และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ความขี้เกียจถูกสลัดทิ้ง และการออกเดินทางไปยังร้านหนังสือ World At The Corner สถานที่ขายหนังสือเล่มดังกล่าว จึงได้เริ่มต้นขึ้น

WorldAtTheCorner

เราต่างออกเดินทางเพราะหนังสือ 

ท่ามกลางผู้คนขวักไขว่ในย่านเสาชิงช้า ที่เต็มไปด้วยร้านอาหารเก่าแก่ มีของอร่อยดึงดูดผู้คนให้ออกมาเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หากใครเดินเข้าไปในซอยมหรรณพ 1 แล้วเห็นบ้านไม้สีส้มสดใสในรั้วสีขาวริมหัวมุมถนนเปิดประตูอยู่ แนะนำให้เดินเข้าไปทำความรู้จักโลกทั้งใบที่จุอยู่ในร้านหนังสือ World At The Corner แห่งนี้

ทันทีที่ผลักบานประตูเข้าไป เสียงทักทายของ ก้อย – สีวิกา และณัฐ ประกอบสันติสุข จะดังขึ้นทักทายอาคันตุกะผู้มาเยือนโดยอัตโนมัติ พี่น้องคู่นี้คือนักเดินทางสายวัฒนธรรมตัวกลั่น พี่สาวเป็นนักเขียนอิสระ พร้อมกับทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการส่วนตัวของน้องชายผู้เป็นช่างภาพแฟชั่นชื่อดัง ทำให้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และการเดินทางของพวกเขากลายเป็นเรื่องเดียวกัน จนทั้งคู่แทบจะตัวติดกันตลอด 24 ชั่วโมง

WorldAtTheCorner
ณัฐ และสีวิกา ประกอบสันติสุข
เจ้าของร้านหนังสือ World At The Corner

 

และนอกจากทั้งคู่จะสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหมือนกันแล้ว ความหลงใหลในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หนังสือ และการเดินทางที่สั่งสมในตัวของก้อยและณัฐเป็นเวลาหลายทศวรรษ ก็ถึงเวลาตกตะกอนโดยพร้อมเพรียง 

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ทั้งคู่ตกลงใจว่าถึงเวลาเปิดร้านหนังสือเป็นของตัวเองเสียที โดยนำรสนิยมของความเป็นนักเดินทางเชิงวัฒนธรรมมาเป็นเข็มทิศหลักในการเลือกหนังสือเข้ามาขาย และเรียกขานที่นี่ด้วยชื่อ World At The Corner ที่บอกความหมายของสถานที่แห่งนี้ได้ครบถ้วนในใจความ

WorldAtTheCorner

การท่องเที่ยวผ่านร้านหนังสือก็เป็นจุดประสงค์แรกของการมีร้านนี้ขึ้นมาเหมือนกัน 

ณัฐตอบรับต่อความจำนงของแขกผู้มาเยือน ที่ปรี่ไปยังห้องหนังสือทางปีกซ้ายของตัวบ้านทันทีที่มาถึง เพราะบริเวณนั้นมีชั้นหนังสือจากนักเขียนทั่วโลกเรียงรายรอให้เลือกสรร โดยทางร้านใช้วิธีจำแนกหนังสือตามทวีปต่างๆ ในโลกเป็นหลัก แล้วค่อยแยกเป็นชั้นวางตำราสอนทำอาหาร หนังสือเด็ก หนังสือภาพ ฯลฯ ในมุมอื่นๆ ของห้อง 

เราสองคนไม่ค่อยชอบและไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเที่ยวหลายประเทศในเวลาเพียงไม่กี่วัน จะไปกับทัวร์หรือไม่ไปกับทัวร์ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ ความรู้สึกของการไปเที่ยว 7 วัน 5 ประเทศทำให้แทบไม่เห็นอะไรและไม่ได้อะไรเลย เพราะจริงๆ แล้วแต่ละประเทศ แม้ว่าจะอยู่ใกล้กันก็ตาม เขาก็มีคาแร็กเตอร์ของตัวเอง เหมือนไทยกับลาวก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ในขณะที่คนต่างชาติมองเข้ามาก็มักจะบอกว่าไทย-เขมร หรือ ไทย-ลาว นั้นคล้ายๆ กัน แต่ที่จริงแล้วไม่เหมือนกันเลย ซึ่งก็จะเป็นลักษณะนี้ในทุกชาติทุกทวีปเขาขยายความเพิ่มเติมถึงมุมมองต่อการเดินทาง

WorldAtTheCorner

พวกเราจึงเป็นคนชอบเที่ยวแบบไปอยู่ในสถานที่นึนานๆ และการท่องเที่ยวของเราก็มักจะเริ่มต้นด้วยแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือต่วยตูน สารคดี หรือนวนิยายก็แล้วแต่ ซึ่งเนื้อหาที่อ่านไปก่อนก็จะทำให้เรามีภาพในหัวที่เป็นส่วนตัวอยู่แล้ว ทำให้เมื่อเราไปยืนอยู่บนถนนสายนึง หรือบริเวณจัตุรัสกลางเมืองสักแห่ง แล้วเรามักเกิดอาการยืนอึ้งโดยไม่มีใครเข้าใจว่าเราอึ้งอะไร เพราะในสมองก็จะวาดภาพเอาไว้ว่า นี่คือที่ที่เราเคยเห็นภาพตามที่เขาบรรยายไว้ พอมาเห็นของจริงแล้วมันเป็นแบบนี้ณัฐเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นถึงทุกครั้งที่ภาพในหัวมาชนกับภาพแห่งความเป็นจริง สมทบด้วยความคิดเห็นของพี่สาว ผู้เป็นเหมือนต้นหนในการวางแผนการเดินทางทุกทริป

WorldAtTheCorner

ประสบการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปัจเจก แม้จะมีความชอบเดียวกัน เดินทางไปด้วยกัน แต่ภาพที่แต่ละคนเห็นหรืออ่านมาก็ให้แง่มุมบางอย่างที่ต่างกัน ดังนั้น เวลาไปด้วยกันบางทีณัฐอาจจะอยากไปที่นี่ แต่พี่อยากไปอีกที่นึง ด้วยความสนใจเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป 

และบ่อยครั้งที่เราเลือกหนังสือมาอ่านโดยดูจากแบ็กกราวด์ของหนังสือ เช่น เรื่องนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน ยิ่งถ้าเกิดในประเทศแปลกๆ จะยิ่งชอบ เช่น จะมีอยู่วัยนึงที่ อกาธา คริสตี้ ชอบเขียนถึงคดีสืบสวนสอบสวนที่เกิดขึ้นในประเทศแปลกๆสีวิกาอ้างถึงนักเขียนในดวงใจของทั้งคู่ 

เช่น Murder in Mesopotamia”  

หรือ They Came to Baghdad ตอนเด็กๆ ก็สงสัยว่าแบกแดดคืออะไร ทำไมชื่อถึงน่าฟังจังเลยสองพี่น้องต่อบทสนทนากันแบบไม่มีช่วงเว้นวรรค ก่อนที่พี่สาวจะเล่าต่อถึงครั้งหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวประเทศซีเรีย

WorldAtTheCorner

ตอนออกจากเมืองอเล็ปโป (เมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศซีเรีย ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ) คนขับรถบอกว่า เขาจะแวะให้ที่นึง ตรงไหนก็ได้ ซึ่งพี่เคยอ่านเจอว่าเรื่องของเมืองโบราณอายุ 3,000 ปี ที่เคยมีห้องสมุดอักษรลิ่มอยู่ในเมืองนี้ แต่ตอนนี้อักษรลิ่มทั้งหมดถูกย้ายไปเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์แล้ว เมืองนี้จึงถูกทิ้งร้างเอาไว้เหลือแต่ซากปรักหักพัง คนขับรถเองก็บอกแล้วว่า มันไม่มีอะไรให้ดูเลยนะ แต่พี่ก็ยังยืนยันที่จะไป พอไปถึงก็ไม่มีอะไรเลยจริงๆ มีแต่ซากเมืองที่พอจะเหลือขอบเขตให้เห็นอยู่บ้างว่าเมืองนี้เคยเป็นวงกลม แต่จะมีอยู่จุดหนึ่งที่ติดป้ายเอาไว้ว่า ตรงนี้เคยเป็นห้องสมุดอักษรลิ่ม พี่ก็ไปยืนจินตนาการถึงภาพในอดีตที่จะต้องเป็นเชลฟ์แล้วใส่พวกก้อนหินอักษรลิ่มเข้าไป ฟินมากสีวิกาเล่าด้วยรอยยิ้ม

WorldAtTheCorner

เราเลยอยากให้หลายๆ คนลองเดินทางด้วยความรู้สึกแบบนี้ดูบ้าง อ่านหนังสือแล้วนึกภาพตาม สมมติว่าคุณไปเที่ยวพีระมิด แล้วไม่ได้อ่านหนังสือไปก่อน ก็อาจจะบอกว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่หินก้อนโตๆ วางเรียงกัน แต่ถ้าคุณเคยอ่านนิยายหรืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับพีระมิดก่อนไป พอเข้าไปปุ๊บ คุณก็จะตื่นตาตื่นใจกับบางช่องประตูที่เคยมีการขนพระศพเข้าไปทางนั้น หรืออ่านการ์ตูน คำสาปฟาโรห์ แล้วนึกถึงบางฉากในเรื่องออกตอนได้เห็นสถานที่จริง ก็จะทำให้คุณสนุกกับการเดินอยู่ในนั้นได้เป็นชั่วโมงๆ 

ณัฐย้ำถึงความสนุกของการเริ่มต้นออกเดินทางจากตัวหนังสือ ที่เป็นเหมือนการลากเส้นต่อจุดไปเรื่อยๆ จากลูกค้าที่สนุกกับการเลือกซื้อหนังสือจากร้านต่างๆ ทั่วโลก กลายมาเป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระในกรุงเทพฯ ประเทศไทย

WorldAtTheCorner

ไม่มีหลักสูตรเรียนลัดในการทำร้านหนังสือ 

หนังสือที่ขายดีมากช่วง pandemic คือ cookbook” ณัฐเล่าให้ฟังขณะกำลังเปิดอ่านหนังสือ The German Cookbook เพื่อรีวิวลงเพจของร้าน 

ตอนนี้เราเลยสั่งตำราอาหารมาขายเยอะขึ้น เพราะคนสนใจ และเราเลือกที่จะสั่งเข้ามาหลากหลาย ทั้งอาหารพม่า อาหารฟิลิปปินส์ ฯลฯ ซึ่งการสั่งหนังสือจากเอเจนซี่ต่างๆ มาขาย เราก็เริ่มต้นจากศูนย์ เคยแต่เดินเข้าร้านหนังสือเพื่อเลือกซื้อหนังสือที่ตัวเองต้องการ พอมาเริ่มทำร้านเองจึงค้นพบว่ามีหนังสือแปลกๆ เยอะแยะไปหมด เฉพาะคุกบุ้กเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีมากมายขนาดนี้

WorldAtTheCorner

แต่เนื่องจากว่าเราทุนน้อย ทำให้เรายังมีเอเจนซี่ที่สั่งหนังสือด้วยไม่ได้กว้างขวางมากนัก เลยเป็นข้อจำกัดว่าบางเอเจนซี่ก็ติดต่อกับแค่บางสำนักพิมพ์ ไม่ได้ติดต่อกับทุกสำนักพิมพ์ที่เราต้องการ ทำให้เราก็ต้องพยายามขวนขวายหาเอเจนซี่ที่กว้างขวางขึ้นสีวิกาเสริมถึงสิ่งที่ต้องเรียนรู้ในแต่ละวันของการเป็นผู้ประกอบการร้านหนังสือ 

ในช่วงเริ่มต้นของการปลุกปั้น World At The Corner ทั้งคู่เลือกจะทำความรู้จักโลกของผู้ประกอบการร้านหนังสือ ด้วยการไปร่วมมหกรรมหนังสือระดับโลกที่ปักกิ่ง ประเทศจีน และเดลีแห่งอินเดีย แน่นอนว่าปริมาณหนังสือนับล้านเล่มทำให้พวกเขาตื่นตาตื่นใจ และตื่นเต้นกับการได้เลือกซื้อหนังสือดีๆ กลับมาอ่าน 

แต่น่าเสียดายที่หนังสือดีเป็นจำนวนมากไม่สามารถสั่งมาขายในเมืองไทยได้

WorldAtTheCorner

หนังสือที่ขายในอินเดียราคาถูกมาก เพราะเขาได้ลิขสิทธิ์มาจากต้นสังกัด แล้วพิมพ์เองภายในประเทศ ซึ่งมีข้อตกลงเรื่องลิขสิทธิ์ว่า ห้ามส่งออก ขายได้เฉพาะในประเทศเท่านั้น เช่นเดียวกับที่อียิปต์ ซึ่งมีสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษดีมากๆ แต่บางเล่มระบุเอาไว้เลยว่าขายได้เฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลางเท่านั้น ซึ่งถ้าเราต้องการสั่งมาขายจริงๆ ต้องติดต่อผ่านทางตัวแทนจัดจำหน่าย เช่น Bloomsbury หรือ Hachette ทำให้เมื่อบวกกับค่าขนส่งเข้าไปอีก ทำให้กว่าหนังสือจะเดินทางมาถึงร้านเราก็ถูกแปลงหน่วยเป็นดอลลาร์ และมีราคาที่สูงกว่าราคาบนปกสีวิกาแถลงถึงเหตุผลที่ในบางครั้งลูกค้าไม่เข้าใจว่า ราคาที่ระบุเป็นรูปีคิดเป็นเงินไทยแค่ไม่กี่บาท แต่ทำไมราคาขายถึงเพิ่มขึ้นมาอีกหลายร้อย

WorldAtTheCorner

ปัญหาของร้านเราในตอนนี้ คือค่าขนส่งหนังสือแพงมาก ค่าหนังสือยังไม่สูงเท่ากับค่าส่ง ซึ่งเราก็ยังหาวิธีแก้ไม่ได้ เพราะถึงจะให้สั่งจากหลายสำนักพิมพ์รวมกัน แล้วส่งทีเดียว ก็ยังแพงอยู่ดีด้วยมวลของตัวหนังสือเอง ยังไม่นับการสั่งยิบสั่งย่อยที่แต่ละเจ้าต่างคนต่างส่ง ยิ่งไปกันใหญ่ ธุรกิจร้านหนังสืออิสระจึงไม่สามารถทำเงินได้แน่ๆ และเราเองก็ไม่ได้คิดว่านี่คือธุรกิจด้วยซ้ำไป ดังนั้น ผมก็เลยเปิดร้านแค่วันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เพื่อเอาเวลาที่เหลือไปทำงานหาเลี้ยงชีพ พอจะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้บ้างช่างภาพมือเก๋าเล่าอย่างตรงไปตรงมาถึงการเริ่มต้นที่ไม่ง่าย 

สีวิกาขยายความเพิ่มถึงคาแร็กเตอร์ของหนังสือที่ทางร้านเลือกมาขาย 

ที่ร้านของเราจะไม่เน้นหนังสือใหม่หรือเก่า แต่เลือกจากเนื้อหาที่เหมาะกับกลิ่นอายของร้าน เช่น สำหรับงานของนักเขียนดังๆ บางคน ถ้าเนื้อหาเล่มนั้นไม่ตรงกับร้านหนังสือของเรา เราก็ไม่เลือกมาขาย เพราะเราไม่ได้เลือกจากความป็อปปูลาร์ของเขาอย่างเดียว แต่เราเลือกเรื่องที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของร้านด้วย” 

WorldAtTheCorner

ไม่ใช่ว่าเราไม่สนใจ แต่ทั้งหมดทั้งมวลมาจากเหตุผลของความไม่ต้องการเป็นหนี้ ในเมื่อร้านหนังสือไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เราก็ต้องไม่กู้เงิน เพราะถ้าเราเป็นหนี้ แม้แต่ตัวเราเองก็อยู่ไม่ได้ อย่าว่าแต่ร้านหนังสือเลย เพราะฉะนั้นร้านเราจึงสั่งหนังสือแค่ปีละ 3 ครั้ง เราจึงไม่สามารถตามหนังสือใหม่ได้ทัน อย่างหนังสือของเปาโล โคเอลโญ (Paulo Coelho) ออกทุกสามเดือน หรือคาสุโอะ อิชิกูโร (Kazuo Ishiguro) (นักเขียนสัญชาติอังกฤษ เชื้อสายญี่ปุ่น คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม 2017) ที่เดี๋ยวก็มีหนังสือออกใหม่อีกแล้ว ฉันจะสั่งยังไงทันณัฐเล่าพลางหัวเราะให้กับทางเลือกในการแก้ปัญหาของพวกเขา 

นอกจากนี้ หนังสือแต่ละเรื่องที่เห็นว่ามีอยู่เพียง 1-2 เล่มบนชั้น ก็มีจำนวนแค่นั้นจริงๆ ด้วยเหตุผลของการไม่สามารถสต็อคหนังสือได้ เนื่องจากตัวร้านเป็นบ้านไม้เก่าอายุร่วมร้อยปี หากสั่งหนังสือมากักตุนเป็นจำนวนมาก ตัวบ้านจะรับน้ำหนักไม่ไหว 

อีกอย่างคือ เราต้องการให้หนังสือมีความหลากหลาย เลยเลือกจะสั่งแต่ละเล่มในจำนวนน้อย แต่สั่งมาหลายๆ เรื่องดีกว่าสีวิกาชี้แจงเพิ่มเติม พร้อมกำชับว่า มาร้านนี้ตาดีได้ ตาร้ายเสีย หมายตาเล่มไหนไว้ ควรรีบซื้อทันที

WorldAtTheCorner

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ทำให้การไล่สายตาไปยังแต่ละชั้นวางหนังสือ ที่แยกออกเป็นงานเขียนจากฝั่งละตินอเมริกา แอฟริกา อินเดีย ยุโรป ฯลฯ ละลานตาไปด้วยหนังสือหลากหลายจากนักเขียนที่คัดสรรมาแล้วว่าเป็นนักเขียนในแต่ละท้องถิ่นจริงๆ 

เรามักจะเลือกผลงานของนักเขียนที่เป็นคนของประเทศนั้นๆ เช่น ไมเคิล ออนดัทเจ (Michael Ondaatje) ซึ่งเป็นชาวแคนาดาที่เกิดและโตในศรีลังกา ฉะนั้นเขาก็จะมีวิธีคิดแบบฝรั่งที่อยู่ในศรีลังกามาตั้งแต่เด็ก ส่วนนักเขียนอย่าง นะญีบ มะห์ฟูซ (Naguib Mahfouz) ซึ่งเป็นคนอียิปต์ เกิดในไคโร เขาก็จะมีแนวคิดทางการเมืองและความคิดเห็นเกี่ยวกับบ้านเมืองอีกอย่างนึง ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจน เพราะส่วนใหญ่นักเขียนดังๆ ก็มักจะต้องไปใช้เวลาในสถานที่ที่ตัวเองอยากจะเขียนถึงเป็นเวลานาน ไม่ใช่อยู่กรุงเทพฯ แล้วไปเขียนวิจารณ์อเมริกา

WorldAtTheCorner

ณัฐเล่าถึงเกณฑ์การคัดเลือกหนังสือเข้ามาขาย พร้อมกับออกตัวว่าแม้จะมีประสบการณ์อ่านหนังสือมากพอสมควร แต่ก็ไม่ได้รู้จักรายละเอียดของนักเขียนทุกคน การเลือกงานของนักเขียนประจำชาตินั้นๆ ซึ่งย่อมรู้จักประเทศของตัวเองดีที่สุด มาขาย จึงเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดสำหรับพวกเขา 

เมื่อเราเลือกหนังสือแบบนี้ การเรียงหนังสือโดยแบ่งตามทวีปจึงง่ายกว่าการเรียงตามอักษร A-Z หรือเรียงตามประเภทวรรณกรรม ซึ่งทั้งหมดเกิดจากประสบการณ์ในการไปร้านหนังสือของเราทั้งสองคน ที่ขนาดอ่านหนังสือมาเยอะพอสมควรแล้ว บางทียังไปยืนงงเป็นไก่ตาแตกในร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่พอแยกหนังสือตามหมวด A, B, C,… ปุ๊บ ก็จะรวมใครก็ไม่รู้ เรื่องอะไรก็ไม่รู้ และประเทศอะไรก็ไม่รู้เข้าด้วยกัน เดินเลือกไปได้สัก 3 เชลฟ์ เราก็เริ่มเวียนหัวกันแล้ว ส่วนถ้ามาร้านเรา ชัวร์ๆ เลยว่าชั้นนี้ทั้งชั้นเกี่ยวกับแอฟริกา ก็เลือกไปสิว่าอยากอ่านงานของทวีปอะไร

WorldAtTheCorner

เพราะร้านหนังสือคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ 

World At The Corner ไม่ได้ขายแค่หนังสือ โดยในห้องทางปีกขวาของตัวบ้านเป็นโซนขายของทำมือกระจุกกระจิกจากแต่ละประเทศที่สีวิกาและณัฐเคยไปเยือน นอกจากนี้ยังมีโปสการ์ดจากฝีมือการถ่ายภาพของทั้งคู่ ที่เสริมอรรถรสให้ที่นี่กลมกล่อมในความเป็นโลกทั้งใบมากยิ่งขึ้น 

ตอนแรกเลย พวกเราฝันถึงการทำร้านหนังสือแบบบาร์นส์ แอนด์ โนเบิล (Barnes and Noble)” ณัฐขยายความถึงความฝันตั้งต้นในการทำร้านหนังสือ 

นึกถึงบรรยากาศของ traffic ภายในร้านที่มีคนนั่งอ่านหนังสือ ยืนเลือกหนังสือ อีกโต๊ะนึงกำลังประชุมคุยงานกัน มีห้องกินกาแฟ แต่หลังจากขายหนังสือมาได้ปีนึง ผมก็ค้นพบว่าไลฟ์สไตล์คนไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น คนกินกาแฟไม่อ่านหนังสือ คนอ่านหนังสือไม่กินกาแฟ ดังนั้น จะไม่มีวันเกิด traffic แบบนั้นขึ้นแน่ๆ ซึ่งผมก็เข้าใจ และไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องที่ผิด หรือดูถูกใคร

WorldAtTheCorner

WorldAtTheCorner

ต้องเคลียร์กันก่อนว่าผมเล่าจากประสบการณ์ของการเปิดร้านมาหนึ่งปี จึงพอจะเข้าใจไลฟ์สไตล์ที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งก็ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่เราทำร้านของเราแค่นี้ เลยไม่ต้องเครียด ถ้าผมเกิดอยากจะได้ traffic แบบในฝัน แต่ไปไม่ถึง ผมก็จะต้องพบกับความกลุ้มใจ ทำไมคนไม่มาที่ร้าน ทำไมขายไม่ได้ กู้เงินมาทำร้านใหญ่ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกสารพัด 

คราวนี้พอเราไม่เครียดเรื่องตัวเลข ซึ่งไม่ได้ไม่เครียดเพราะขายดีนะ แต่ไม่เครียดเพราะไม่เกิดหนี้ ทีนี้เราก็จะสบายๆ ขายได้ก็ดี มีคนมานั่งคุยด้วยก็สบายใจ มีคนมาที่ร้านแล้วอยากให้แนะนำหนังสือ… แฮปปี้มาก มีคนมาตามหาหนังสือ… ชอบที่สุดเลย!ณัฐไล่ระดับความพึงใจในฐานะเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ ที่จะมีสถานะเป็น sanctuary หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะตัวของพวกเขาในวัยหลังเกษียณ

WorldAtTheCorner

 จริงๆ แล้วความตั้งใจในการเปิดร้านนี้ คืออยากจะให้เป็น sanctuary ของตัวเองตอนรีไทร์ ผมอยากจะอยู่ในที่ที่ผมแฮปปี้ ซึ่งผมคิดว่าผมอยู่ร้านหนังสือแล้วตัวเองแฮปปี้ แค่ได้เดินไปเดินมาในร้าน ไม่ต้องมีใครซื้อ ผมก็แฮปปี้แล้ว ดังนั้น เมื่อผมต้องการแบบนั้น ผมต้องอยู่เอง ผมถึงจะรู้จักมัน ซึ่งกว่าที่ผมจะทำระบบ ISBN ของหนังสือในร้านได้ กว่าจะคิดราคาเป็น ชินกับการสั่งหนังสือ ชินกับความต้องการของลูกค้า มันใช้เวลาเหมือนกัน ซึ่งถ้าผมจ้างพนักงาน ผมก็จะไม่มีวันรู้เรื่องเหล่านี้เลย เพราะผมก็จะปล่อยให้เขาทำงาน แล้วร้านนี้ก็จะไม่ใช่ร้านของเรา”  

คนในวัยพี่หลายๆ คนเลิกอ่านหนังสือไปแล้ว เพราะสายตามองเห็นตัวหนังสือไม่ชัด และเวลาก็ไม่มี ดังนั้น แค่การที่มีลูกค้ามานั่งคุยกันถึงหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ เราก็ตื่นเต้นกับการได้รู้จักเรื่องราวใหม่ๆ ซึ่งทำให้แต่ละวันสนุกขึ้นมาได้สีวิกาปิดท้ายถึงความสุขในทุกๆ วันที่ร้านหนังสือเปิดทำการ

WorldAtTheCorner

World At The Corner บ้านเลขที่ 1 ซอยมหรรณพ 1 ใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า กรุงเทพฯ โทร 089-699-7074 facebook.com/worldatthecorner 

เปิดบริการวันศุกร์ – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 19.00 น.