life

(เด็ก) ทุกคนมีความสามารถในการวาดติดตัวมาตั้งแต่เกิด

หากสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้มีอุปกรณ์วาดเขียนใกล้มือพร้อมหยิบจับมาใช้ เด็กอายุราว 12-18 เดือนจะเริ่มวาดหรือสร้างร่องรอย (mark-making) ของเขาด้วยตัวเองบนโลกใบนี้ หรือต่อให้ไม่มีอุปกรณ์ โดยธรรมชาติ ถ้าเห็นรอยฝ้าบนกระจก แก้วน้ำ ผืนผิวที่มีฝุ่นเขรอะ หรือพื้นดิน มนุษย์ตัวน้อยก็พร้อมจะสร้างร่องรอยของเขาเองบนพื้นผิวนั้น

ความสามารถวาดเขียนจึงเป็นสิ่งที่ติดตัวเราทุกคนมาตั้งแต่เกิด

โดยในขั้นแรกเริ่มมาจากการขยับแขนขาและเด็กเห็นปฏิกิริยาอะไรบางอย่าง เช่น ยื่นมือไปแตะโดนรถของเล่นแล้วรถขยับ ยื่นขาไปเตะบอลแล้วบอลกลิ้ง ขูดขีดแล้วเกิดร่องรอย เด็กก็จะจำแล้วทำซ้ำเพื่อสำรวจและเรียนรู้

พฤติกรรมเช่นนี้เรียกว่า locomotor scribble เป็นพฤติกรรมที่เกิดขี้นในช่วง pre-presentational หมายถึง สิ่งที่เด็กลงมือสร้างหรือทำไปโดยไม่มีความหมายหรือสื่อถึงอะไร

ดูเผินๆ อาจรู้สึกว่า ไม่เห็นจะมีอะไรสำคัญ ก็แค่เด็กเตะๆ ขีดๆ เขียนๆ ไปวันๆ

แต่ความจริงคือ เมื่อเด็กทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนเรียนรู้ว่าการกระทำเหล่านี้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของวัตถุหรือร่องรอย เด็กจะเริ่มเข้าใจว่า การกระทำมีผลที่ตามมา และนำวิธีคิดนี้ไปปรับใช้กับสถานการณ์อื่นต่อไปได้

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากๆ ของพฤติกรรมนี้ก็คือมันถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่น

การเล่นคือความสนุก เป็นวิธีการเติมเต็มตัวเอง (self-fulfilling) และมักจะทำให้เกิดการตระหนักรู้ในตัวเอง (self-awareness) ด้วย มากกว่านั้น อีดิธ เตรมอร์ (Edith Kramer) ศิลปินและนักศิลปะบำบัดชาวออสเตรียยุคบุกเบิก ได้เปรียบเทียบการเล่นของคนในวัยเด็กกับสัตว์ในวัยเดียวกันว่า

อีดิธ เตรมอร์

“ความสำคัญของการเล่นของสัตว์ คือการทำความคุ้นเคยกับธรรมชาติและเผ่าพันธุ์ของมันเอง ได้ฝึกซ้อม ‘social signaling’ ในกลุ่มของมัน”

หมายความว่า การเล่น คือวิธีการเรียนรู้ทักษะสังคมในกลุ่มที่ตัวเองอาศัยอยู่ของทั้งคนและสัตว์

โดยเฉพาะเด็กๆ ลำดับขั้นในการเรียนรู้จากการเล่น จะเริ่มต้นด้วยความสงสัยจากความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นำไปสู่การทดลองทำสิ่งต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา เมื่อเกิดบ่อยครั้ง จะกลายเป็นทักษะต่างๆ ที่เด็กนำไปปรับใช้กับสถานการณ์อื่นๆ ต่อไป

แต่ข้อสำคัญที่สุดคือ การเล่นของเด็กจะต้องไม่ได้รับผลที่รุนแรงตามมา เช่น การลงโทษ

ดังนั้น เวลาเห็นเด็กเล่น หรือทดลองทำอะไรบางอย่าง แสดงว่าเขากำลังสำรวจโลกของเขาอยู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการการวาดรูปของเด็กด้วย

เตรมอร์อธิบายว่า เด็กเริ่มจากขีดเส้นแบบเดิมซ้ำๆ จากนั้นจะเริ่มทดลองขีดเส้นแบบใหม่ แล้วจะทำซ้ำจนเกิดการเรียนรู้ว่า เขียนคนละแบบก็เกิดเส้นที่แตกต่าง จึงลองเอาเส้นหลายแบบมาผสมกัน จนสำเร็จเป็นรูปใหม่ เด็กๆ จะสร้างสิ่งซ้ำและสร้างสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ ศิลปะ การเล่น และการเรียนรู้ จึงเกี่ยวข้องกันเสมอ

ส่วนการขีดเขียนอย่างไม่มีความหมายที่เกิดในช่วง pre-presentational นั้น ถึงแม้ว่าเด็กอาจจะยังไม่มีความสามารถวาดสิ่งที่มีเรื่องราวหรือมีความหมายได้ แต่ขณะที่เด็กคนนั้นสร้างร่องรอยบางอย่าง เจ้าตัวอาจจะเริ่มสังเกตเห็นความเหมือนระหว่างสิ่งที่กำลังสร้างสรรค์กับสิ่งที่พบเจอในชีวิตจริง สถานการณ์เช่นนี้ เรียกว่า fortuitous realism คือเริ่มจากขีดเขียนอย่างไม่ได้คิดอะไร แต่เมื่อทำบ่อยๆ จะเริ่มเชื่อมโยงกับความจำได้ว่าคล้ายกับสิ่งที่เคยเห็นมาก่อน

แปลว่า ภาพที่เด็กขีดเขียนหรือวาดเริ่มมีความหมายเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงบางอย่าง และการเล่นที่มีสัญลักษณ์เข้ามาเกี่ยวข้องก็สามารถทำให้นักศิลปะบำบัดทำงานกับจิตใต้สำนึกหรือสิ่งที่อยู่ภายในใจของเด็กได้

แล้วในฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู พี่เลี้ยง และคนที่ใกล้ชิดกับเด็ก พวกเขาทำอะไรได้บ้าง

คำตอบที่แสนธรรมดาที่สุดคือ การอยู่กับเด็ก ซึ่งอาจจะรู้สึกเหนื่อยกับความซุกซน หรืออาจรู้สึกหงุดหงิดกับการเล่นของเขา สิ่งที่ควรทำหลังจากนั้นจึงต้องเป็นการทำใจให้เย็น พยายามทำความเข้าใจ และสนับสนุนเด็กๆ เขาจะได้รู้สึกปลอดภัยที่จะเล่นหรือสำรวจโลกของตัวเอง เพราะการขีดเขียนและการเล่นของเขา อาจมีความหมายบางอย่างที่ซ่อนไว้ รอให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ทำความเข้าใจเช่นกัน

อ้างอิง

  • Caroline Case, Tessa Dalley. Working with Children in Art Therapy (London: Psychology Press. 1990)
  • Tessa Dalley. Art As Therapy: An Introduction to the Use of Art as a Therapeutic Technique (London: Tavistock Publications. 1984)
  • Exploring your mind. A Child’s Drawing: Stages and Development. https://bit.ly/3mzomjN
  • Thomas Lynch Ph.D. Social Signaling. https://bit.ly/3kpnNaj