life

“Youth is not forever.

Games don’t have age limits,

Being a child is not so bad,

Everything we do has its benefits.”

“วัยเยาว์ไม่ได้เป็นนิรันดร์

การละเล่นไม่จำกัดอายุ

การเป็นเด็กไม่ใช่เรื่องแย่

ทุกสิ่งที่เราทำล้วนมีผลลัพธ์ที่ดีจากมัน”

นั่นคือบทเปิดของบทกวีชื่อ Growing Up Takes Time โดย Miracle Carrington ที่โพสต์ไว้บนเว็บไซต์ hellopoetry.com …ชีวิตหนึ่งคล้ายการเดินทาง เราหลีกหนีวันเวลาที่จะพาให้เราเติบใหญ่อย่างอัตโนมัติไม่พ้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก้าวไปสู่ห้วงเวลาข้างหน้าเสมอ วัยเยาว์ไม่ได้อยู่กับเราชั่วนิรันดร์ คำถามคือ เราจะเติบโตอย่างไร? ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน? และเลือกคนนำทางเช่นใด?

“ก่อนหน้านี้ เราทำงานการศึกษาทางเลือกมา 6 ปี และพบว่าครูส่วนใหญ่ไม่มีความคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งมันจะทำให้ส่งต่อความคิดไปไม่ถึงตัวเด็ก เราเลยอยากนำเสนอว่า บ้านกางใจมีแนวคิดเลี้ยงเด็กให้เกิดความคิดเชิงวิพากษ์ เช่น เราไม่ควรบอกเด็กว่าเขาจำเป็นต้องรักใคร หรือแม้กระทั่งเด็กควรตั้งคำถามถึงความเชื่อต่างๆ เช่น ศาสนา ได้ ทุกอย่างในโลกนี้มันไม่มีอะไรตายตัว”

นั่นคือแนวคิดของสถานที่เรียนรู้ชื่อ ‘บ้านกางใจ’ โดย ครูไนซ์ –  กะวิตา พุฒแดง ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กเล็กแห่งนี้ขึ้นมา ด้วยรูปแบบการเรียนรู้แบบ co-learning space ชวนผู้ปกครองและเด็กมาออกแบบประสบการณ์ที่พวกเขาจะเติบโตไปด้วยกัน ผ่านการเปิดพื้นที่ขนาดใหญ่ทางความคิด เพื่อให้เด็กและครอบครัวมีโอกาสค้นลึกลงไปในเสียงเล็กๆ กลางใจของตัวเอง ผ่านสภาพแวดล้อมที่ดี คนนำทางที่ใจกว้างและไม่มีการตัดสินว่าสิ่งใดผิดหรือถูก

 

นิทาน จินตนาการ การตีความ และการเริ่มต้น

“การเรียนรู้ผ่านการเล่นที่หลากหลายด้วยการจุดประกายจากนิทานภาพนานาชาติ ผ่านวิธีการเล่าสุดสร้างสรรค์”

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในโบรชัวร์ของบ้านกางใจ เริ่มต้นจากในรั้วมหาวิทยาลัยที่ครูไนซ์ได้พบกับนิทานเชิงเปรียบเทียบผ่านเรื่องราวง่ายๆ ของนักเขียน-นักจิตวิทยาชาวอาร์เจนตินา ฆอร์เฆ่ บูกาย (Jorge Bucay) ที่ทำให้เธอค้นพบว่า นิทานคือสื่อสร้างสรรค์และเป็นวิธีการส่งต่อชุดความคิดและความรู้สู่เด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ตอน ม.ปลาย ใครถามเราว่าอยากประกอบอาชีพอะไร เราจะตอบว่า แม่ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าแม่เป็นอาชีพในฝัน ตอนเข้ามหาวิทยาลัย เราเรียนคณะอักษรศาสตร์ก็จริง แต่เราอ่านเรื่องพัฒนาการเด็กและจิตวิทยาเด็กเยอะมาก

“ตอนเรียนปีสุดท้าย เรามีโอกาสไปทำค่ายอาสากับน้องๆ ชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเขาจะมีความเจ็บปวดจากสงครามมา ตอนนั้นเราไปช่วยกันสร้างบ้านดิน ตอนที่ออกกิจกรรม เราถามน้องๆ ว่า อยากทำอะไร น้องๆ ก็จะบอกว่าอยากไปทะเล เราเลยจัดอีเวนต์ไปทะเลกัน ซึ่งในอีเวนต์นั้นเราก็คิดกิจกรรมเพื่อให้น้องสนุก โดยเสนอให้มีนิทานก่อนนอน หยิบเรื่องของ ฆอร์เฆ่ บูกาย มาดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นสำหรับเด็ก และให้เพื่อนๆ ของเราแสดงละครเวทีประกอบ ตอนนั้น พออ่านนิทานจบ มีน้องคนหนึ่งวิ่งมาหา บอกว่าขอนิทานเล่มนี้กลับไปให้น้อง เพราะน้องเขายังเล็ก มาเข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้ ตรงนี้เลยเป็นการจุดประกายความหวังในตัวเรา ว่าเรามีศักยภาพด้านนี้ เพราะตอนเล่าเรารู้สึกว่าเราเป็นตัวเอง มีอิสระ มีภาษาการเล่าในรูปแบบของเราเอง”

ในหน้าท้ายๆ ของหนังสือ ‘จะเล่าให้คุณฟัง’ (DEJAME QUE TE CUENTE) ของ ฆอร์เฆ่ บูกาย ที่ครูไนซ์ได้อ่านตอนเรียนมหาวิทยาลัยนั้น มีข้อความเขียนไว้ว่า “นิทานแต่ละเรื่องที่คุณเพิ่งอ่านจบ เป็นเพียงก้อนหิน จะสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดงก็ตาม นิทานเหล่านี้ เขียนขึ้นเพื่อบอกตำแหน่งหรือนำทางเท่านั้น การค้นหาลงไปในความลึกซึ้ง ของนิทานแต่ละเรื่อง เพื่อให้พบเพชรซึ่งถูกซ่อนไว้——ถือเป็นหน้าที่ของฅนแต่ละฅนเอง”

ซึ่งนั่นก็ตรงกับแนวคิดการออกแบบการเรียนรู้ของบ้านกางใจ หลังจากครูไนซ์จบออกมาจากมหาวิทยาลัย ไปทำงานวงการโทรทัศน์และโฆษณา สานฝันการเป็นครูของตัวเองด้วยการไปเป็นครูในสถานศึกษาทางเลือกต่างๆ ก่อนตัดสินใจออกมาสร้างโรงเรียนของตัวเอง พร้อมกับศึกษาปริญญาโทด้าน Learning Science and Education ควบคู่ไปด้วย

“เรารู้สึกว่าจุดแข็งของเราคือการเล่านิทาน เพื่อให้เด็กกับตัวเราเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น สมมติเด็กคนหนึ่งทำร้ายเพื่อน เราไม่จำเป็นต้องมาบอกเลยว่าห้ามทำร้ายเพื่อน แต่เราจะมีนิทานที่มีสัญลักษณ์บางอย่างอยู่ในนั้น เพื่อให้เด็กค่อยๆ เข้าใจผ่านวุฒิภาวะในวัยของเขา”

อุปกรณ์หลักของ ‘บ้านกางใจ’ จึงเป็น ‘นิทาน’ ที่จะต่อยอดไปสู่กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอื่นๆ เช่น การทำอาหาร การทำงานศิลปะ หรือการออกแบบการเล่นด้วยตัวเอง โดยวิธีการเล่าก็จะมีน้ำเสียงที่แตกต่างออกไปตามลักษณะของเด็กแต่ละกลุ่ม

นิทานภาพที่มีอยู่ในบ้านกางใจมากถึง 500-600 เล่ม

 

หัวใจที่กางเปิดกว้างของทั้งเด็กและครอบครัว และเสียงเล็กๆ ตรงกลางหัวใจ ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน

“เราต้องอยู่กับเด็ก ณ ช่วงเวลานั้น เรารู้สึกว่าทฤษฎีอะไรก็ตามมันเขียนขึ้นเมื่อสิบปียี่สิบปีที่แล้ว และเขียนผ่านมุมมองและสิ่งแวดล้อมที่อาจไม่เหมือนกัน แต่เมื่อเรามองเด็กเป็นมนุษย์ คุยกับเขาและอยู่กับเขาจริงๆ ในช่วงเวลานั้น มันทำให้เราเข้าใจ ณ วินาทีนั้นว่าท่าทีที่เขากำลังแสดงออกมันมีนัยยะอะไรซ่อนอยู่ ว่าเขาต้องการอะไร”

บ้านกางใจจะทำงานกับเด็กจริงๆ ราว 10-20% ที่เหลือจะเป็นการทำงานร่วมกันกับครอบครัวของเด็กในแบบ co-learning ที่ดึงพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการเติบโตของลูกๆ

“เราพบว่าปัญหาของเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่อยู่ที่พ่อแม่ที่มักแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คล้ายพ่อแม่เห็นแต่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือน้ำ โดยไม่พยายามทำความเข้าใจใต้ภูเขาน้ำแข็งว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สุดท้ายเขาเลยแก้ปัญหาไม่ถูกจุด”

ครูไนซ์ยังแสดงความคิดว่า พ่อแม่ในสังคมตอนนี้อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือหนึ่ง—กลุ่มที่เสพข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กเยอะมาก แต่กลับดึงข้อมูลมาใช้จริงไม่ได้ และสอง—พ่อแม่ที่พยายามแก้ปัญหาไปพร้อมกับเด็ก แต่หาหนทางไม่เจอ เพราะขาดประสบการณ์ ดังนั้นก่อนเด็กจะมาเริ่มต้นเรียนรู้กับบ้านกางใจ ครูไนซ์จะตั้งต้นพูดคุยกับพ่อแม่ เพื่อหาเป้าหมายในการพัฒนาเด็กร่วมกัน รวมถึงค้นหาความกังวลที่พ่อแม่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้พ่อแม่ตระหนักว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก

“แต่เราจะฟังพ่อแม่แค่ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งเราจะค้นหาจากการสังเกตตัวเด็กจริงๆ เพราะพ่อแม่มักจะมองจากมุมผู้ใหญ่ ซึ่งสุดท้ายอาจกลายเป็นการโยนปัญหาลงสู่ตัวเด็ก เป้าหมายของบ้านกางใจจึงเป็นการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่แค่คิดว่าอยากแก้เรื่องเด็กเสียงดังเวลาออกไปร้านอาหาร แต่ไม่เคยมองว่าก่อนออกไปร้านอาหารเกิดอะไรขึ้นกับตัวเด็กบ้าง เราจึงต้องย้อนกลับมาดู และกระตุ้นให้พ่อแม่ทบทวนตัวเอง ว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในร่องรอยของการเรียนรู้ของเด็ก ส่วนครูจะเป็นแค่ตัวประกอบ เพราะที่สุดแล้วพระเอกนางเอกในชีวิตของเด็ก คือพ่อแม่”

ทั้งนี้ ครูไนซ์บอกว่า ด้วยโลกของผู้ใหญ่ที่ห่างหายจากความเป็นเด็กมานาน มีประสบการณ์ของโลกผู้ใหญ่มากดทับ จนลืมเสียงเล็กๆ ภายใน (inner voice) ตัวเอง เธอจึงหยิบนิทานมาใช้เป็นเครื่องมือเช่นกัน เพื่อทำให้ผู้ใหญ่สามารถค้นลึกลงไปในหัวใจตัวเอง และทำความเข้าใจเด็กได้ดีขึ้น

ดังนั้นเมื่อเข้ามาสู่บ้านกางใจ นอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้แล้ว ครอบครัวของเด็กก็จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยเฉพาะในเรื่องการเคารพบทบาทของกันและกันซึ่งครูไนซ์เน้นย้ำว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด “ลูกไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ตาม ลูกมีสิทธิออกความคิดเห็น และพ่อกับแม่ก็มีสิทธิเป็นผู้ฟัง เพราะเมื่อเราจับมือกันแน่นทั้งครอบครัว เมื่อเจอปัญหา การแก้ปัญหาก็จะลื่นไหลมากขึ้น”

การเมืองและเด็ก

“เราว่าเรื่องการเมืองมันแยกจากเด็กยากมากเลย หลายคนจะพยายามป้อนข้อมูล ความเชื่อ ความศรัทธาบางอย่างให้เด็กโดยไม่รู้ตัว แต่ก็มีเหมือนกันสำหรับผู้ปกครองบางคนที่เขาเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดเองเมื่อถึงเวลาที่เขาเติบโตแล้ว เช่น เขาจะรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องให้เด็กเลือกศาสนาตั้งแต่เด็ก”

นั่นเองที่แม้จะเป็นโรงเรียนอนุบาล ครูไนซ์ก็มุ่งมั่นที่จะเปิดกว้างทางความคิด และพร้อมเป็นผู้นำทางให้เด็กๆ ได้ริเริ่มตั้งคำถาม มากกว่าจะเป็นผู้ตัดสินว่า การกระทำใดเป็นเรื่องผิดหรือถูก ด้วยคำถามที่เป็นคำถามปลายเปิด ที่มีคำตอบและความเป็นไปได้มากมาย

“เรารู้สึกว่าโรงเรียนอนุบาลหลายโรงเรียนทำบนพื้นฐานของพาณิชย์ โดยบางครั้งคนทำไม่ได้มีความรักเด็กจริงๆ ด้วยซ้ำ เขาอาจมองว่ามันเป็นธุรกิจที่ง่าย จ้างพี่เลี้ยงแบบไหนก็ได้ เพราะเด็กเล็กพูดไม่รู้เรื่อง ไปฟ้องใครไม่ได้ บางคนมาเป็นครูอนุบาลเพียงเพราะรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่มั่นคง และไม่จำเป็นต้องเก่งมาก”

“ส่วนวิธีการสอนบางครั้ง ก็จะมองเด็กเป็นแค่วัตถุ เช่น เขาใช้กิจกรรมบางอย่างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อนิ้วมือ แต่สุดท้ายเขาไม่ได้ทำงานกับตัวเด็กจริงๆ นี่คือข้อจำกัดที่โรงเรียนทั่วไปเลือกจะใช้หลักสูตรแกนกลาง และคิดว่ามันใช้ได้สำหรับเด็กในวัยนั้นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้”

วิธีการสอนของบ้านกางใจจึงเป็นการเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่แค่จากหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่เป็นการเรียนรู้จากทุกจังหวะของการใช้ชีวิต แม้กระทั่งการกินข้าวบนโต๊ะอาหารก็ส่งต่อความรู้ได้

“ความรู้ของเรามันอาจจะล่องหน เราไม่ได้ย่อยแบบ 1 2 3 4 แต่เราอยากให้เด็กซึมซับมันไปกับทุกกิจกรรมในชีวิต เราไม่ได้อยากส่งชุดความรู้ให้เด็กเป็นตัวตั้ง แต่เราอยากให้เด็กเห็นโลกที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้มากมาย เราอยากให้เขามีความเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจโตขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย เราแค่คิดว่าถ้าเขามีช่วงวัยอนุบาลที่แข็งแรง เขาจะได้มีภูมิคุ้มกันในการทักทายโลกมากขึ้น เรารู้สึกว่าที่เพื่อนๆ ของเราภูมิคุ้มกันในชีวิตไม่แข็งแรง เพราะตอนเด็กเขาไม่ถูกสอนให้ตั้งคำถาม เราเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาที่สนับสนุนให้เด็กมีรากแข็งแรงด้วยการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วงวัยเด็กคือช่วงสำคัญที่สุดสำหรับหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่ง”

“Growing up isn’t always easy,

It comes with rules and responsibility.

Everybody looks to the future,

Hoping to find it in a brochure.”

“การเติบโตมักไม่ง่าย

มันมาพร้อมกฎและความรับผิดชอบ

ทุกคนต่างมองหาอนาคต

และหวังว่าจะค้นพบมันในโบรชัวร์”

ท่อนหนึ่งในบทกวีชื่อ Growing Up Takes Time ของ Miracle Carrington ว่าไว้แบบนั้น

บ้านกางใจ หมู่บ้านยูนิวิลล่า 1 ซอย 9 บ้านเลขที่ 98 10120 โทร.082-442-5292  fb.com/bankangjai