“ฝุ่นมันเยอะมาก หายใจปกติ ไม่ใส่อะไรป้องกัน มันแสบคอ แสบจมูก”
มองไกลออกไป… คือม่านฝุ่นสีเทาขมุกขมัวบดบังตึกสูงในกรุงเทพมหานคร
เมืองหลวงที่มีสโลแกนจากหน่วยงานสักแห่งว่า “กรุงเทพฯ ชีวิตดีดีที่ลงตัว” แต่ตอนนี้กลับมีสภาพอากาศแย่ที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก
วันนี้ (25 ม.ค.) กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศในเขต กทม. และปริมณฑลว่า เป็นวันที่มีมลพิษมากที่สุดในรอบปี
หลังตรวจพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพิ่มขึ้นและเกินมาตรฐานถึง 24 จุด
PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน และมีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 20 เท่า ซึ่งสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ผ่านการหายใจ และส่งผลร้ายแรงต่อมนุษย์
หากย้อนหลังไป 3 ปีก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ พ.ศ.2558–2560 หลายคนอาจไม่รู้ว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศเป็นมลพิษ ‘เกินค่ามาตรฐาน’ ขององค์การอนามัยโลกและค่ามาตรฐานของไทย โดยการวัดค่าของกรีนพีซจากสถานีต่างๆ ทั่วประเทศ
“ฝุ่นมันเยอะมาก หายใจปกติไม่ใส่อะไรป้องกัน มันแสบคอ แสบจมูก” โบ๊ท พนักงานบริษัทแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิพูดถึงสิ่งที่เขาต้องเผชิญในชีวิตประจำวันที่ไม่ปกติ
หากวันไหนสภาพอากาศปิด ไม่มีลมพัดผ่าน สภาพอากาศในวันนั้นยิ่งเลวร้ายมากกว่าเดิม
“สุขภาพมันเสียไปแล้ว มันเสียไปเลย มันแก้ไม่ได้” นำ้เสียงของโบ๊ทเศร้าและเจ็บปวดเหมือนคนไร้หนทาง
มองไกลออกไป… ฝุ่นละอองยังคงปกคลุมเมืองนี้อยู่อย่างหนาแน่น ภาพตรงหน้าดูคล้ายกับเมืองสีเทา เมืองที่ไม่มีใครรู้ว่าปัญหา PM2.5 จะจางหายไปเมื่อไหร่ 1 เดือน 1 ปี หรืออาจมากกว่านั้น
คณะกรรมการควบคุมมลพิษคงเล็งเห็นแล้วว่า อากาศของกรุงเทพฯ กำลังเข้าขั้นวิกฤต เมื่อวาน (24 ม.ค.) จึงมีมติให้ปรับระดับความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และแนวทางปฏิบัติใหม่
ถ้าหากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีค่าเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่ามาตรฐาน ต่อเนื่องยาวนาน จะมีการประชุมเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา แล้วเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา “ในการสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง”
ไม่มีใครรู้ว่า ‘อย่างใดอย่างหนึ่ง’ จากมันสมองของรัฐบาลจะเป็นอะไร จะฝากผีฝากไข้ได้มากน้อยแค่ไหน คงเป็นคำถามที่เราน่าจะตอบตัวเองได้ในใจ
ใจที่รู้ว่า อีกไม่นาน ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ และเราทุกคนยังไม่เริ่มลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง
กรุงเทพฯ จะไม่ใช่แค่เมืองสีเทา แต่เราจะไม่มีอากาศหายใจ .