life

ภาพของหอสูงทรงหยดน้ำที่ยืนตระหง่านท่ามกลางความเวิ้งว้างและแห้งแล้งของแผ่นดินอีสาน กับอาคารทรงเตี้ยผนังทรงลูกคลื่นที่โดดเด่นในพื้นที่ลับตาแห่งที่ราบลุ่มภาคกลาง ต่างก็เป็นสถาปัตยกรรมแปลกตาที่มีจุดร่วมคือเอกลักษณ์แห่งงานก่ออิฐทั้งหลัง

ผลงานจากการตกตะกอนความคิดของ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกที่ตั้งใจเติมความหมายให้งานออกแบบสร้างคุณค่าแก่สังคมมากกว่าการเป็นเพียงอาคารกันแดดหลบฝน

และด้วยอิฐทุกก้อนที่เขาตั้งใจชุบชีวิตขึ้นใหม่นี้เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ชื่อของเขาก้าวไปอยู่บนเวทีโลกในฐานะคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Royal Academy Dorfman Award ซึ่งเป็นรางวัลจากราชบัณฑิตยสถานด้านศิลปะแห่งสหราชอาณาจักร (Royal Academt of Arts) ประจำปี 2019 มาครอง

Bangkok Project Studio
ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา
ผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio

และในปีเดียวกันนั้นเอง อาจารย์บุญเสริมของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม ประจำ พ.ศ. 2562 มาเป็นเกียรติอีกหนึ่งรางวัล

“รางวัลไม่ใช่สิ่งพิเศษ แต่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ” คือบางทัศนะที่เขามีต่อรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ ที่สามารถร่ายยาวอีกเป็นหางว่าว ซึ่งต่อให้ไม่จำเป็นต้องมีรางวัลใดมาการันตี คุณค่าที่ปรากฏในอาคารแต่ละหลังที่ออกแบบโดย Bangkok Project Studio ที่อาจารย์บุญเสริมก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ก็บ่งบอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมได้ดีอยู่แล้ว

การจ้างงานชาวบ้านในอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ที่เคยเผาอิฐไม่กี่ก้อนให้กรมศิลปากรนำไปซ่อมโบราณสถาน ให้เผาอิฐหลักแสนก้อนเพื่อขนมาก่อสร้างสถาบันกันตนา การเอาขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาผสมคอนกรีตเพื่อทำเป็นวัสดุที่ทนทานต่อน้ำทะเล ในการสร้างบ้านฉางทาวน์ฮอลล์ในจังหวัดระยอง ซึ่งถือเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่และลดการใช้คอนกรีตไปในตัว

และงานช้างประจำปีนี้อย่าง Surin Elephant World หรือโครงการโลกของช้าง บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์  ที่เพิ่งเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมได้เมื่อต้น พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่สร้างงานให้คนในชุมชนระหว่างการก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังเป็นการชวนทั้งช้างและชาวกูย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านตากลาง และใช้ชีวิตผูกพันกับช้างมานานหลายร้อยปี ให้กลับคืนสู่บ้านเกิด หลังจากต้องไประหกระเหเร่ร่อนตระเวนหางานทำทั่วประเทศตามภาพที่เราคุ้นตามานานหลายสิบปี

หลายครั้งระหว่างการสนทนาที่อาจารย์บุญเสริมย้ำถึงการนำเงินภาษีประชาชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในฐานะสถาปนิก เขาอาสารับหน้าที่ผู้ออกแบบให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างระบบเศรษฐกิจภายในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ไปจนถึงจังหวัด โดยใช้สามัญสำนึกในการทำงานเป็นสำคัญ

Bangkok Project Studio

งานของคุณมักเป็นงานที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับสิ่งแวดล้อม พื้นฐานคุณเป็นคนรักสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วหรือเปล่า

(ตอบทันที) ไม่เลย ผมไม่ใช่นางสาวไทย ผมแค่รู้ในบทบาทของตัวเองว่าเราทำได้แค่ไหน สิ่งที่ผมพูดไม่ได้จะเปลี่ยนแปลงโลก คงจะหลงตัวเองเกินไปถ้าจะบอกว่าวิชาชีพนี้สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพียงแต่ช่วยบรรเทาได้ หน้าที่หลักๆ ของผม คือ กระตุ้น ถ่ายทอด ชี้ให้สังคมตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างงานที่ผมทำและทำอยู่ เช่น ป่าชายเลนก็กำลังชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการทำลายสภาพแวดล้อมป่าชายเลน งานโลกของช้างชี้ให้เห็นว่าการที่พวกเราคิดว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางนั้นไม่ถูกต้องอีกต่อไป งานออกแบบสถาบันกันตนาเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต วัฒนธรรม องค์ความรู้ ที่นอกจากจะเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาแก่เด็กในด้านฟิล์มแอนิเมชั่นแล้ว เราต้องทำให้เด็กตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ด้วย โรงเรียนต้องสอนเรื่องเหล่านี้ด้วย ไม่งั้นคุณจะไม่มีวันเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังปฏิบัติอยู่ ส่วนโปรเจคท์ร้านอาหารต่างๆ ในอยุธยาก็เป็นความตั้งใจของเจ้าของ ซึ่งเป็นคนอยุธยาที่อยากทำให้บ้านเกิดกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ซึ่งผมว่าก็เป็นเจตนาที่ดี

ตอนนี้คุณมีโปรเจคท์ในความดูแลทั้งหมดกี่โปรเจคท์

ไม่ได้นับครับ เพราะทำสลับกันไปมา โปรเจคท์ที่กำลังทำอยู่ที่มีอยู่ใน commissioner แล้วก็มีผลงานที่จะจัดแสดงในงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale Korat 2020 ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ผมเป็นตัวแทนประเทศไทยในการออกแบบไทยพาวิลเลียนที่ Venice Biennale ซึ่งจะจัดขึ้นในเมืองเวนิซ ประเทศอิตาลีในปีหน้าเช่นกัน นี่คือเงินภาษีประชาชน แน่นอนผมภูมิใจอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ในฐานะศิลปินชื่อบุญเสริมที่ได้รับเชิญไปแสดงงาน แต่ในฐานะตัวแทนประเทศไทย

Bangkok Project Studio
รางวัลที่อาจารย์บุญเสริมเคยได้รับ

งานนี้ถือเป็นการต่อยอดจากการได้รับรางวัล Royal Academy Dorfman Award หรือเปล่า

แม้รางวัล Royal Academy Dorfman Award จะเป็นตัวต่อยอดให้หลายๆ เรื่อง ทั้งความสนใจจากสื่อมวลชน ทั้งงานอื่นๆ ที่ตามมา แต่ไม่ใช่ว่าได้รางวัล Royal Academy Dorfman Award แล้วจะได้งาน เป็นคนละเรื่องกัน การได้รับรางวัลนี้ทำให้รัฐบาลเห็นคุณค่าของงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม เมื่อไรก็ตามที่รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนคุณค่าก็จะเป็นการพัฒนาวิชาชีพ และพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ได้เป็นการพัฒนาเพื่อคนคนเดียว เพียงแค่คนคนนี้จะเป็นตัวคูณในการพัฒนาให้กับคนอื่นๆ ต่อไป

นอกจากรางวัล Royal Academy Dorfman Award ยังมีรางวัลศิลปาธรอีกหนึ่งรางวัลที่สำคัญมาก กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ให้รางวัลและเป็นผู้สนับสนุน เมื่อเป็นผู้สนับสนุนเขาก็อยากให้ศิลปินศิลปาธรทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อสังคม หรือเพื่อสาธารณชนบ้าง ซึ่งเขาไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ผมทำงานในสาขาอาชีพนี้อยู่แล้ว ผมก็จะยังเดินหน้าทำงานต่อเนื่องในลักษณะนี้ โชคดีคือ แม้ชื่อของผมจะอยู่ในข่ายสถาปัตยกรรม แต่ทางคณะกรรมการในสาขาศิลปกรรมมองว่างานของผมมีความเป็น artistic สูง จึงเลือกให้จัดแสดงในงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale Korat 2020 ซึ่งครั้งนี้น่าจะสนุก เพราะเป็นการจับคู่แบทเทิลกัน ทุกคนจึงต้องยิ่งทำงานออกมาให้ดี เพื่อจะได้เป็นหน้าตาของประเทศตัวเอง เหมือนกับที่ผมย้ำเสมอว่าการนำเงินภาษีประชาชนมาสร้างงานจะต้องทำแล้วกระตุ้นพื้นที่นั้นๆ ให้ประชาชนทุกคนมีความภาคภูมิใจและมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ใช่เฉพาะที่โคราช แต่ผมหมายถึงทั้งประเทศไทย

Bangkok Project Studio
โมเดล The Cultural Courtyard พิพิธภัณฑ์โลกของช้าง จังหวัดสุรินทร์

ซึ่งคุณมีวิธีคิดแบบนี้ตั้งแต่ตอนออกแบบสถาปัตยกรรมโลกของช้างที่ทำเพื่อคนสุรินทร์มาก่อนหน้านี้แล้ว

ใช่ครับ งานนี้เป็นงบของจังหวัด เงินภาษีประชาชนทั้งหมดต้องกลับคือสู่เขา ไม่ใช่ไปอยู่ในกระเป๋าใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แบบนั้นไม่เกิดประโยชน์ งานดีไซน์ของผมจึงไม่เลือกใช้วัสดุหายาก ใช้วัสดุที่ใครทำก็ได้ อย่างอิฐที่เป็นวัสดุท้องถิ่น ใช้แรงงานชาวบ้านในพื้นที่ให้มากที่สุด เพราะการใช้แรงงานคือการจ้างงาน ดังนั้น เงินไปถึงมือชาวบ้านร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าผมเลือกใช้วัสดุที่ไม่ใช่ท้องถิ่นตรงนั้นก็ต้องใช้ know how ใช้เทคโนโลยี เงินก็ไม่ถึงมือชาวบ้านแต่จะไปถึงอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผิดต่อวัตถุประสงค์ของผม ที่อยากออกแบบให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างระบบเศรษฐกิจต่างๆ ภายในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ไปจนถึงจังหวัด

Bangkok Project Studio
Elephant Museum
Photo: Pirak ANURAKYAWACHON, Spaceshift Studio

ยากไหมกับการโน้มน้าวให้หน่วยงานราชการเข้าใจงานออกแบบอาคารด้วยอิฐล้วนๆ

ถ้าพูดถึงเจ้าของโครงการอาจจะเป็นเรื่องยากช่วงแรกๆ เราต้องให้เวลากับมัน บางโปรเจคท์เห็นปุ๊บแล้วไม่ใช่ว่าจะเข้าใจได้ทันที ไม่เฉพาะเจ้าของโครงการ แม้แต่นักการศึกษา นักวิชาการ คนธรรมดาก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจว่าการมีสถาปัตยกรรมแบบนี้ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่นั้น สัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจะอยู่รอดได้อย่างไร ผมใช้เวลาอยู่ที่นั่นมา 5 ปี เพื่อทำความเข้าใจพวกเขาก่อน ไม่อย่างนั้นผมจะออกแบบได้ยังไง แต่ในความเข้าใจนั้นเราก็ต้องเข้าใจในความเป็นธรรมชาติของข้าราชการ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ผมก็ต้องใช้พลังงานและข้อมูลอย่างหนักในการโน้มน้าวให้เขาเชื่อให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเขาอาจจะเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง แต่วันนี้ผมเชื่อว่าเขาเชื่อ เพราะเขารู้สึกภูมิใจที่ทุกคนพูดถึงในแง่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาท ถือเป็นกรณีศึกษาหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ

ผมคงการันตีไม่ได้ว่าเอางานบุญเสริมไปทำสิ แล้วจะดี ไม่มีใครรู้ผลลัพธ์หรอกครับ แต่ผมมีเจตนาที่ดี ผมใส่เต็มที่ และคิดให้มันดีที่สุดเท่าที่สมองผมจะมีในตอนนั้น ผมมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขา ส่วนเขาจะรับหรือไม่รับ เขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็เป็นอีกเรื่อง ผมคงไม่สามารถถือป้ายไปอธิบายทุกวัน แต่ถ้าคุณไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม คุณจะรู้ว่าอาคารแบบนี้ในโลกมันแทบจะไม่มี ก็เลยกลายเป็นที่สนใจ ทำให้คนในพื้นที่ตื่นตัว คนนอกพื้นที่อย่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดก็ตื่นตัว สื่อมวลชนเองทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจ

Bangkok Project Studio

Bangkok Project Studio

อะไรคือจุดเริ่มต้นของแนวคิดการออกแบบเพื่อชุมชน

ผมเริ่มคิดแบบนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ช่วงนั้นสถานการณ์แย่ไปหมด และถือเป็นจุดพลิกผันจริงๆ ที่ทำให้ผมฉุกคิด เนื่องจากเศรษฐกิจที่กำลังจมดิ่ง งานของผมก็ไม่มีใครเอา ผมเลยพยายามศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ทดลองทำหลายๆ อย่าง ก่อตั้ง Bangkok Project Studio ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2546 แต่กว่าจะได้เริ่มงานออกแบบชิ้นแรกอย่างสถาบันกันตนา ที่ได้เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2551 จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2554

Bangkok Project Studio
สถาบันกันตนา
Photo: Pirak ANURAKYAWACHON, Spaceshift Studio

ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีนั้นเป็นการปรับแบบมาเรื่อยๆ จนทำให้ผมได้เรียนรู้ว่างบประมาณหลักอย่างแรงงานกับการเลือกใช้วัสดุเป็นต้นทุนที่สำคัญ ถ้าเราทำทั้งสองอย่างนี้ให้เชื่อมต่อกันได้ก็จะทำให้เกิดงาน Social Design ได้ ผมจึงใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนผลักดันกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังในโรงงานทำอิฐที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งก่อนหน้าที่ผมจะเข้าไปจ้างให้พวกเขาทำอิฐมาป้อนส่งผม โรงอิฐพวกนี้ขายของไม่ได้เลย เพราะเป็นโรงงานทำอิฐแฮนด์เมดแบบโบราณที่ทำอิฐให้กรมศิลปากรนำไปใช้ซ่อมโบราณสถานเท่านั้น และผมอยากรู้ด้วยว่าอิฐที่ใช้ทำโบราณสถานที่มีอายุยาวนาน 400-500 ปี จะพลิกกลับนำมาสร้างให้เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยได้ไหม ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในวิธีการอนุรักษ์วัสดุหรือองค์ความรู้บางอย่างให้ยังคงอยู่ต่อไป อย่างอิฐป่าโมกถ้าไม่มีคนใช้ ต่อไปก็ไม่มีคนผลิต ในที่สุดความรู้ในการทำอิฐแบบโบราณก็จะสูญหายไป ผมยังจำได้ตอนไปดูเขาผลิตอิฐครั้งแรกๆ เขาเหยียบโมลด์ไม้ซึ่งเก่ามากจนโมลด์แทบจะหัก เพราะเคยผลิตแต่น้อย แค่ไม่กี่ก้อนส่งให้กรมศิลปากรเอาไปใช้ พอมาสร้างสถาบันกันตนาล่อไปเกือบหกแสนก้อน ชาวป่าโมกเองก็คงประหลาดใจอยู่เหมือนกัน

Bangkok Project Studio
สถาบันกันตนา
Photo: Pirak ANURAKYAWACHON, Spaceshift Studio

คุณต้องทำความรู้จักวัสดุที่เลือกใช้เพิ่มเติมมากแค่ไหน เพราะเป็นวัสดุที่ไม่ได้เอามาใช้กันบ่อยๆ

ผมใช้หลักพื้นฐานของความเข้าใจ เช่น ผมรู้ว่าอิฐทำจากอะไร มีกระบวนการผลิตอย่างไร มีคุณสมบัติอะไรบ้าง รู้ถึงข้อดีข้อด้อยในการใช้งาน ควรนำมาก่อสร้างในลักษณะอย่างไรถึงจะเหมาะสม ด้วยความที่แรงงานที่เรามีไม่ใช่แรงงานฝีมือ เพราะเมืองไทยไม่มีแรงงานฝีมือทางด้านสถาปัตยกรรม ช่างฝีมือส่วนใหญ่อยู่ในงานหัตถกรรม งานผลิตภัณฑ์มากกว่า ผมเลยต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานจากแรงงานธรรมดาให้เป็นแรงงานฝีมือ ทำให้ในความเป็นจริงแล้ว ผมไม่ใช่ architect แต่เป็น architectural worker หรือที่ภาษาสมัยพ่อผมใช้คำว่า ช่างแบบ พ่อผมเคยเป็นช่างไม้มาก่อน เขามักเรียกคนออกแบบว่าช่างแบบ ตอนหลังพ่อผันตัวมาเป็นผู้รับเหมา เพราะอยากให้ลูกเมียมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขามีความเป็นศิลปินสูง

Bangkok Project Studio

แล้วดีไหม การมีความเป็นศิลปินในตัว

ผมว่าเขาก็มีอุดมการณ์ คนเราทำงานต้องมีอุดมการณ์ มันเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ไม่ว่าเราจะผิดหวัง หรือดีใจ ก็ยังมาจากอุดมการณ์ ไม่ได้มาจากการที่คุณโลภ คุณอยากจะมี อยากจะเป็นให้ได้ อุดมการณ์มันเหนือกว่าของพวกนี้

“ผมไม่ใช่นางสาวไทย ผมแค่รู้ในบทบาทของตัวเองว่าเราทำได้แค่ไหน สิ่งที่ผมพูดไม่ได้จะเปลี่ยนแปลงโลก คงจะหลงตัวเองเกินไปถ้าจะบอกว่าวิชาชีพนี้สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพียงแต่ช่วยบรรเทาได้ หน้าที่หลักๆ ของผม คือ กระตุ้น ถ่ายทอด ชี้ให้สังคมตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”

 

อุดมการณ์ของคุณในตอนนี้คืออะไร

สิ่งที่ผมทำอยู่ตอนนี้คืออุดมการณ์ งานของผมเป็นงานสำหรับสาธารณชน เป็นสมบัติของสาธารณชน ประชาชนสามารถได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ผมสร้าง งานของผมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้

Bangkok Project Studio
Wine Pavilion
Photo: Pirak ANURAKYAWACHON, Spaceshift Studio

แปลว่าแต่ละโปรเจคท์ที่คุณเลือกทำต้องเป็นงานสาธารณะเท่านั้น?

บางโปรเจคท์เป็นโปรเจคท์ส่วนตัว เช่น Wine Pavillion ซึ่งเป็นร้านอาหารในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนในตำบลบ้านรุน ซึ่งเดิมเคยเป็นหมู่บ้านที่มีแต่คนแก่อาศัยอยู่ พอมีร้านอาหารแห่งนี้เกิดขึ้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตรงนั้น เจ้าของเขาเจตนาดีมาก เขาก็ชวนคนละแวกนั้นมาทำงานที่นี่หมด ทำให้ลูกหลานชาวบ้านรุนมีงานทำ ไม่ต้องเข้าไปหางานในเมือง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าไม่ได้โลภมากก็อยู่ได้สบายๆ

Bangkok Project Studio
Wine Pavilion Photo: Pirak ANURAKYAWACHON, Spaceshift Studio

ชื่อของบุญเสริม เปรมธาดา จึงกลายเป็นตัวแทนของสถาปนิกที่เด่นเรื่องการโชว์เนื้อแท้ของวัสดุไปโดยปริยาย

ผมว่ามันเป็นรูปธรรมที่คนทั่วไปเข้าถึงและรับรู้ได้ ผมใช้อิฐคืออิฐ ไม้คือไม้ ถ้าจะมีส่วนเสริมนิดหน่อยก็เป็นในเรื่องโครงสร้าง แต่หลักๆ แล้วต้องสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศของท้องที่นั้นๆ แม้ผมจะสร้างด้วยอิฐทั้งหลัง คนอาจจะไม่ได้เห็นอิฐ แต่เห็นแสงแดดร้อนๆ ที่พิพิธภัณฑ์ช้าง แดดที่ฉายแสงจนทอดเงาทาบลงมาบนเนินดินในคอร์ทยาร์ดลานวัฒนธรรม เป็นต้น เพราะผมต้องการสร้างบรรยากาศผ่านวัสดุ เพื่อทำให้คนเข้าใจได้ง่าย เมื่อเข้าไปในสถานที่นั้นๆ แล้วจะรู้สึกถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้น ก่อเป็นความทรงจำ แล้วนำไปบอกต่อ เช่น คุณไปไวน์พาวิลเลียนมา แล้วเห็นการก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง คุณไม่รู้หรอกว่านี่เป็นไม้อัดหรือไม้อะไร แต่คุณเกิดความรู้สึกและจดจำได้ จนเป็นภาพความทรงจำ นำไปเล่าให้เพื่อนฟังว่าฉันเคยไปอาคารหลังนี้ที่อยุธยา มันมืดๆ ทำจากไม้อะไรก็ไม่รู้ นั่นคือความทรงจำ ไม่ใช่เข้าไปในสถาปัตยกรรมที่สวยงาม แต่จำอะไรไม่ได้เลย ความทรงจำจะทำให้คนพูดถึงและอยากมาเยี่ยมเยือนด้วยตัวเอง พอคนมาเที่ยวเยอะๆ ก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว

ดังนั้น แม้จะงานออกแบบเพื่อเอกชน แต่ถ้าเป็นเอกชนที่มีเจตนาที่ดี ผมว่าสถาปัตยกรรมก็ทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนได้

Bangkok Project Studio
Wine Pavilion
Photo: Pirak ANURAKYAWACHON, Spaceshift Studio

อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ คือศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์ป่าชายเลนสวางคนิวาส จังหวัดสมุทรปราการ ตอนนี้ความคืบหน้าเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ผมทำเสร็จไปแล้วเฟสนึง กำลังดำเนินการเฟสสอง โครงการนี้อยู่ในพื้นที่ของสถานพักฟื้นสวางคนิวาสของสภากาชาดไทย ซึ่งก่อสร้างมานานกว่า 60 ปี ต่อมาเมื่อมีการสร้างหมู่บ้านเพิ่มขึ้น สร้างร้านอาหารริมทะเล หรือแม้แต่การทำคันหินเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้ป่าชายเลนแถบนั้นถูกทำลายเกือบหมด ระบบนิเวศน์เริ่มเสื่อมโทรม จึงมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์ป่าชายเลนขึ้นมา ซึ่งก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องของป่าชายเลนก่อนเริ่มออกแบบสถาปัตยกรรมในพื้นที่ตรงนั้น ด้วยความที่ผืนดินหายไปเยอะ ทำอย่างไรให้แผ่นดินกลับมา ผมก็ต้องสร้างตะกอนของดิน หลักการคือ ทำฝาย (check dam) เมื่อมีอะไรมาปักมาขวาง ดินก็จะมาเกาะจนเกิดตะกอน เกิดระบบนิเวศน์ขึ้นมา เมื่อมีดินก็มีต้นไม้ ผมก็ใช้โครงสร้างของเสาเข็ม ฐานราก และตอม่อต่างๆ เป็นตัวช่วย ตอนนี้เฟสแรกที่ทำเสร็จก็มีหอยมาเกาะเต็มไปหมดแล้ว

Bangkok Project Studio

ต้องเข้าใจว่าศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์ป่าชายเลนไม่ใช่แค่ปลูกป่าอย่างเดียว แต่ต้องทำให้คนซาบซึ้งไปกับความงามของป่า เกิดความตระหนักว่าทำไมต้องมีป่า การอนุรักษ์ไม่ใช่การแค่มานั่งเปิดหนังสือแล้วครูสอนว่าต้องมีป่านะ ถ้าไม่มีป่าฝนจะไม่ตก โลกจะร้อน อุณหภูมิจะสูง ไม่มีใครเกตหรอกครับ ต้องให้แต่ละคนมาเห็นความงามของป่าด้วยตัวเอง เมื่อคุณเห็นความงาม คุณก็จะซาบซึ้ง พอคุณซาบซึ้งของงามๆ สวยๆ คุณก็อยากจะอนุรักษ์ ไม่ต้องไปสอนอะไรมาก

Bangkok Project Studio
Brick Observation Tower
Photo: Bangkok Project Studio

“การสร้างงานศิลปะ คุณต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ก่อน ซึ่งก็หมายถึง ความรู้สึกทั้งหลายแหล่ ประสาทสัมผัสทั้งหมด ตาเห็น จมูกได้กลิ่น หูได้ยิน ผิวหนังต้องสัมผัสอุณหภูมิ จิตใจต้องมีอารมณ์”

 

Bangkok Project Studio
ภาพจำลองกิจกรรมโปรยลูกยางจาก Brick Observation Tower
Photo: Bangkok Project Studio

นี่คือบทบาทใหม่ที่ผมอยากจะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของมนุษย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังมีเฟสสองที่ผมต้องทำนิทรรศการ ซึ่งผมให้ความสำคัญกับการมีสิ่งก่อสร้างในป่าว่ามีประโยชน์อย่างไร ตอนคุณเริ่มเดินไปบนทางเดินที่ผมสร้างขึ้น คุณจะเริ่มเห็นถึงการมีอยู่ของสิ่งก่อสร้างที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม เดินเข้าไปอีกสักพักนึงจะค่อยๆ เห็นป่าที่โตขึ้นจนในที่สุดจะไม่เห็นสิ่งก่อสร้างของผมแล้ว เช่นเดียวกับโลกของช้าง เมื่อคุณขึ้นไปบนทาวเวอร์ ซึ่งลมแรงประมาณ 25-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คุณก็แค่โปรยลูกยางให้มันปลิวไปตกไกลๆ เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่เราใช้แรงลมจากธรรมชาติช่วยแพร่กระจายพันธุ์ไม้ให้ได้มากที่สุด อาจจะได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ก็ไม่มีอะไรเสียหาย ผมแค่ลองใช้วิธีการง่ายๆ ในการทำความเข้าใจกับธรรมชาติ สิ่งที่ธรรมชาติต้องการ และสิ่งที่ขับเคลื่อนโดยธรรมชาติ

Bangkok Project Studio

ในฐานะอาจารย์ อะไรคือสิ่งที่คุณปลูกฝังให้ลูกศิษย์ 

ผมสอนความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน เหมือนที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ปลูกฝังพวกเรามา ว่าในการสร้างงานศิลปะ คุณต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ก่อน ซึ่งก็หมายถึง ความรู้สึกทั้งหลายแหล่ ประสาทสัมผัสทั้งหมด ตาเห็น จมูกได้กลิ่น หูได้ยิน ผิวหนังต้องสัมผัสอุณหภูมิ จิตใจต้องมีอารมณ์ พอคุณมีความรู้สึก คุณก็จะสร้างงานด้วยความรู้สึก คุณเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์โลกของช้าง แน่นอนคุณต้องรู้สึกร้อน เพราะป่าถูกถางออกไปหมดนั่นเอง 

มีโปรเจคท์อะไรที่คุณอยากทำอีกบ้าง

ตอนนี้ผมกลับไปใช้เทคนิคการทำงานเหมือนสมัยเป็นเด็ก ที่ผมชอบเอาดินสอมาวาดบนกระดาษหนังสือพิมพ์ ตอนนี้ผมก็เอาสีเทียนสีชอล์คมาสเก็ตช์งานบนกระดาษรีไซเคิล แล้วรวบรวมเก็บไว้ในแฟ้มผลงาน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็อาจจะเอามาทำเป็นรูปเล่ม แล้วมอบให้กระทรวงวัฒนธรรม

Bangkok Project Studio

การที่คุณได้รับรางวัลศิลปาธรจากกระทรวงวัฒนธรรมถือเป็นพันธะผูกพันที่ต้องทำงานตอบแทนหรือเปล่า

ผมคิดว่าเมื่อมีโอกาส เราควรใช้โอกาสให้เหมาะสม รางวัลไม่ใช่สิ่งพิเศษ แต่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ ในเมื่อเขาให้เกียรติเราในการมอบรางวัล เราก็ให้เกียรติเขาด้วยการทำงานตอบแทนบ้าง อันนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งผมรู้สึกอย่างนั้น และผมเองไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร ก็ใช้ความรู้ที่มีทำไป ถ่ายรูปไป อีกอย่างก็เหมือนเป็นการสร้างแรงกระเพื่อม ปลุกคนในประเทศให้ตื่นตัวกับศิลปะมากขึ้น ผมยกตัวอย่างประเทศในแถบอเมริกาใต้ อย่างชิลี หรือเม็กซิโก ที่ก็มีลักษณะประเทศไม่ต่างจากเรา ทั้งเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ภูมิอากาศ ฯลฯ แต่เขาตื่นตัวกับการทำหนังสือรวบรวมผลงานมาก รวมถึงการไขว่คว้าหาความรู้จากนอกประเทศของตัวเอง รู้จักเปรียบเทียบ วิจารณ์ และเผยแพร่ผลงาน ผมรู้สึกว่างานสถาปัตยกรรมอเมริกาใต้ดีกว่าอเมริกาเสียอีก และผมอยากให้เกิดบรรยากาศแบบนั้นขึ้นในประเทศไทย