life

“เมื่อกี้จะพูดอะไรก็ไม่รู้ ลืม!”

“เมื่อกี้จะทำอะไรน้า จำไม่ได้”

“ช่วงนี้ไม่รู้เป็นอะไร สมองไม่ค่อยแล่น”

“สายตามันล้าๆ แบบบอกไม่ถูก”

“ทำไมนอนไม่ค่อยหลับเลย”

หากคุณหรือคนรอบตัวพูดประโยคเหล่านี้บ่อยๆ อาจไม่ได้หมายความว่าแก่ขึ้น 

แต่เป็นอาการ ‘Brain Fog Syndrome’ หรือภาวะ ‘สมองล้า’ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกวัย    

Brain Fog เป็นอาการที่สมองของเราคล้ายมีเมฆหมอกหนาๆ ปกคลุมตลอดเวลา เกิดจากภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัว เพราะสมองถูกใช้งานอย่างหนักเป็นระยะเวลานาน พักผ่อนน้อย หรือใช้สายตาทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป

common ชวนทำความรู้จัก Brain Fog มากขึ้น พร้อมเตรียมตัวรับมือหรือแก้ไขยามเมื่อหมอกลงสมองของเรา

Brain Fog

วันสมองล้าเมื่อหมอกลง 

หมอกลง หลายคนอาจรู้สึกตื่นเต้น แต่หากหมอกลงสมองอาจทำให้ไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร 

บางคนอาจสงสัยว่า ตัวเองเคยเป็นคนความจำดีมาก เรียนรู้เร็ว สมองไว เป็นคนครีเอทีฟ จัดการปัญหาทุกอย่างได้อยู่หมัด 

แต่วันนี้กลับมีความจำที่แย่ลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น เช่น จำไม่ได้ว่ากินอะไรไปเมื่อวาน หรือยกหูโทรศัพท์โทรไปหาเพื่อน แต่เมื่อเพื่อนรับสายกลับนึกไม่ออกว่าต้องการคุยเรื่องอะไร

รวมทั้งเกิดอาการนอนไม่หลับ ไร้ความคิดสร้างสรรค์ ปวดหัวบ่อยๆ หงุดหงิดง่าย สมาธิสั้นถึงสั้นมาก ไร้ความคิดสร้างสรรค์ จนถึงขั้นไม่อยากไปทำงาน 

Brain Fog

อาการเหล่านี้มักเกิดในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตการทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์และไลฟ์สไตล์ติดสมาร์ทโฟน เกือบ 24 ชั่วโมง ซึ่งเต็มไปด้วยคลื่นแม่เหล็กที่รบกวนการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง

การทำงานแบบ multitasking ที่ต้องให้ความสนใจหลายอย่างในเวลาเดียวกัน คือส่วนสำคัญที่ทำให้สมองเกิดการสลับปรับเปลี่ยนไปมาจนเมื่อยล้า โดยเฉพาะเมื่อใช้เทคโนโลยี

Brain Fog

เช่น เช็คอีเมลพร้อมกินข้าว คุยโทรศัพท์ขณะนั่งทำงานตรงหน้า คุยแชทเรื่องต่างๆ พร้อมกันหลายห้อง หรือการจำเรื่องต่างๆ หลายอย่างในเวลาเดียวกันมากเกินไป 

นอกจากนี้ ความเครียดต่างๆ รอบตัวและการนอนดึกยังทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ไม่ดีเท่าที่ควร 

รวมไปถึงอาหารการกินที่ไม่ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย

เรียกได้ว่าอาการ Brain Fog เกิดจากไลฟ์สไตล์ที่ผิดเพี้ยนและเร่งรีบของคนทำงานหนักล้วนๆ 

อย่าปล่อยให้หมอกลงจนสมองเสื่อม

ถึงแม้ว่า Brain Fog จะไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรงและไม่นำพา

แต่ความน่ากลัวของภาวะนี้มีไม่น้อย  

เพราะเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการเสียสมดุลของสารสื่อประสาท ซึ่งมีผลให้ประสิทธิภาพต่างๆ ของสมองแย่ลง 

หากสะสมไว้ระยะยาวอาจกลายเป็นสาเหตุของโรคหลายอย่าง เช่น โรคกระเพาะ โรคอ้วน โรคเบาหวาน

ดังนั้นควรอัพเกรดสมองให้สดชื่นด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต และเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งแรกที่ควรทำและลงมือทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอใคร

จัดระเบียบและลดเวลาการใช้สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอนอย่างน้อย 30 นาที

Brain Fog

จัดการความเครียด เมื่อรู้ตัวว่าใช้สมองหนักจนเมื่อยล้า อย่าฝืนทำงานต่อ ควรลุกเดิน อ่านหนังสือ หรือฟังเพลงเพื่อคลายเครียด

นอนหลับให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน และควรนอนให้หลับสนิท ฝึกการเข้านอนให้เป็นเวลา ไม่เกินเที่ยงคืน เพื่อเพิ่มพลังสมองให้สดชื่นอย่างเต็มที่

Brain Fog

ลดการทำงานแบบ multitasking จัดตารางการทำงานใหม่โดยโฟกัสให้งานเสร็จเรียบร้อยทีละอย่าง ไม่ควรทำหลายอย่างพร้อมกัน เพราะอาจทำให้สมองใช้งานหนักจากการคิดหลายเรื่องพร้อมๆ กัน

ดูแลเรื่องอาหารการกินที่มีประโยชน์อย่างจริงจัง และบำรุงสมองด้วยสารอาหารที่ดีต่อสมองอย่าง น้ำมันปลา สารสกัดจากแปะก๊วย ผักผลไม้อื่นๆ ที่เป็นแหล่งสร้างสารต้านอนุมูลอิสระในสมอง เช่น ลูกพรุน กระเทียม

Brain Fog
ฝึกสมาธิโดยหายใจลึกๆ วันละครึ่งชั่วโมง ช่วยลดความเครียดและทำให้มีสมาธิมากขึ้น พร้อมความจำที่ดีขึ้น และลองฝึกความจำด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นปริศนาอักษรไขว้ หมากรุก หรือหางานอาสาสมัครที่ได้ฝึกการใช้สมองหรือพบเพื่อนใหม่ๆ

Brain Fog
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองโดยตรง ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่สุดในการเอาชนะภาวะ Brain Fog และยังกระตุ้นให้สมองสร้างเซลล์ใหม่ด้วย

Brain Fog

หากใครที่รู้สึกว่าช่วงนี้สมองไม่แล่น ลองจัดและปรับชีวิตใหม่ดูนะ แล้วจะพบว่าสมองหลังเมฆหมอกย่อมสดใสเสมอ.

อ้างอิง