life

The Writer’s Room
No. 09

ห้องของบ้านหลังสุดท้ายในแผ่นดินอื่น และโต๊ะไม้ที่รอต้อนรับทุกคนของเจมส์ บอลด์วิน
นักเขียนผลัดถิ่น ผู้สร้างรรค์งานเขียนเป็นอาวุธต่อสู้กับอคติในใจคน

ในยุคสมัยที่สังคมอเมริกันแบ่งแยกเชื้อชาติและกีดกันผู้คนต่างสีผิวอย่างรุนแรง โดยเลือกปฏิบัติกับคนผิวดำเยี่ยงสัตว์ ไม่ใช่ในฐานะมนุษย์เท่ากัน วามยากจนข้นแค้น ความเป็นอยู่อัตคัดขัดสน สังคมแวดล้อมแออัด และการตกอยู่ในสถานะจำเลย เพราะไม่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นมนุษย์เท่ากันจากคนผิวขาว ทั้งหมดคือสภาพชีวิตที่ยิ่งกว่าติดลบของคนผิวดำในช่วงเวลานั้น

เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin) เด็กชายผิวดำผู้เกิดมาในครอบครัวสายเลือดทาสมาจากบรรพบุรุษชาวแอฟริกัน เติบโตขึ้นและใช้ชีวิตอยู่ในฮาร์เลม (Harlem) ซึ่งเป็นย่านพักอาศัยเฉพาะคนผิวดำในนครนิวยอร์ก

ตั้งแต่บอลด์วินจำความได้ เขาและผู้คนรอบตัว ต่างตกอยู่เบื้องล่างของความอยุติธรรมที่บั่นทอนความเป็นคนลงทุกเมื่อเชื่อวัน ลำพังแค่ประคองชีวิตไร้หลักมั่นคงให้อยู่รอดปลอดภัยจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นเป้านิ่งให้กระทำรุนแรง หรืออาจโหดร้ายถึงขั้นโดนกล่าวหาว่าเป็นอากร เพียงเพราะสีผิวที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ก็นับว่ายากลำบากมากแล้ว ฉะนั้น คนผิวดำส่วนใหญ่จึงก้มหน้ายอมรับชะตากรรมอย่างไม่เต็มใจนัก เพราะไม่อยากสร้างปัญหาให้ชีวิตลำบากไปมากกว่าเดิม

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนผิวดำในอาร์เลม / Photo: Helen Levitt via https://www.jamesmaherphotography.com/street_photography/helen-levitt/

แต่บอลด์วินกลับเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยยอมจำนนและไม่ทนจำยอมต่อการกดขี่เช่นนี้ เขาจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมคืนให้แก่ตัวเองและคนผิวดำทุกคนด้วยวิธีอันชาญฉลาด นั่นคือ ‘การเขียน’ ซึ่งไม่อาจเรียกว่าพรสวรรค์ เพราะเป็นพรแสวงที่เขาหมั่นเรียนรู้และเริ่มต้นสั่งสมด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก

เด็กชายบอลด์วินผู้กำลังเข้าสู่วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เลือกใช้เวลาเกือบตลอดวันนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดทั้งภายในโรงเรียนและภายในชุมชน หรือที่ไหนก็ตามที่มีหนังสือให้อ่าน เพราะเขาทนไม่ได้กับความเข้มงวดไร้เหตุผลของพ่อเลี้ยงผู้เคร่งครัดในหลักศาสนา บอลด์วินจึงรู้สึกสบายใจทุกครั้ง หากได้ใช้เวลาว่างระหว่างวันไปกับการอ่าน

Photo: Richard Avedon via https://www.newyorker.com/magazine/1962/11/17/letter-from-a-region-in-my-mind

การอ่านทำให้บอลด์วินสนใจหัดเขียน ไม่นานการเขียนกลายเป็นสิ่งน่าหลงใหลสำหรับเขา กระทั่งคุณครูวิชาคณิตศาสตร์ที่โรงเรียน สังเกตเห็นความสามารถในตัวบอลด์วิน จึงสนับสนุนให้เขาฝึกเขียนอย่างต่อเนื่อง และเสนอให้บอลด์วินขณะอายุเพียง 13 ปี เป็นบรรณาธิการประจำ The Douglass Pilot หรือหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน เปิดโอกาสให้เขาร่วมตีพิมพ์ผลงานเขียนชิ้นแรกในชื่อ Harlem – Then and Now

หลังจากเรียนจบในปี 1942 บอลด์วินในวัย 18 ปี ไม่ได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เพราะต้องหางานทำเพื่อจุนเจือค่าใช้จ่ายในครอบครัว แม้ชีวิตต้องดิ้นรน แต่บอลด์วินไม่เคยลืมการเขียนที่เขารักและทำได้ดี ในปี 1943 เขาจึงตัดสินใจ ว่าต่อจากนี้จะใช้ชีวิตบนลำแข่งของตัวเอง

บอลด์วินย้ายเข้ามาเช่าอพาร์ทเม้นท์อยู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านกรีนนิช (Greenwich Village) ในแมนฮัตตั ที่สำคัญ ยังเป็นย่านโปรดปรานของบรรดาศิลปินและนักเขียน พวกเขาส่วนใหญ่เลือกมาพักอาศัยละแวกนี้ ทำให้บอลด์วินได้รู้จักศิลปินคนสำคัญมากมาย โดยเฉพาะบัวฟอร์ด ดิเลนีย์ (Beauford Delaney) จิตรกรผิวดำ ผู้เป็นทั้งต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้บอลด์วินเชื่อมั่นในตัวเองว่า คนผิวดำก็เป็นศิลปินได้ และมาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) นักแสดงผิวขาวเจ้าของรางวัลออสการ์ ผู้เป็นเพื่อนสนิทของบอลด์วิน เพราะทั้งคู่เชื่อในความเท่าเทียมของมนุษย์ ไม่ว่าจะมีสีผิวใด ทุกคนย่อมมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากัน 

ด้านหน้าอพาร์ทเม้นท์ที่บอลด์วินเคยเช่าอยู่ (ถ่ายปี 2018) / Photo: Andrew Ruppenstein via https://www.hmdb.org/m.asp?m=126178
ป้ายรับรองสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สลักไว้บนผนังด้านหน้าอพาร์ทเม้นท์ที่บอลด์วินเคยเช่าอยู่ระหว่างปี 1958-1961 (ถ่ายปี 2018) / Photo: Andrew Ruppenstein via https://www.hmdb.org/m.asp?m=126178

บอลด์วินพยายามสร้างเส้นทางสู่นักเขียนอาชีพ ควบคู่กับการทำงานอื่นๆ เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเอง เขาจึงใช้เวลาหลังเลิกงานหรือเวลาว่าง เขียนเรื่องราวต่างๆ ทั้งบันทึกส่วนตัว ข้อเขียนเชิงสารคดี และบทวิพากษ์วิจารณ์สังคม

โดยช่วงแรกๆ เขาไม่ได้มีรายได้มากพอสำหรับซื้อโต๊ะและเก้าอี้ใหม่เพื่อใช้นั่งเขียนงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ กลายเป็นว่า บอลด์วินมักจะคว่ำตัวลงบนฟูกแล้วนอนเขียนงานอย่างสบายใจ อาจดูแปลกท่าไปบ้าง แต่เป็นอิริยาบถที่สบายกายเหมือนกันสำหรับคนที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนักอย่างเขา

Photo: Courtesy: CSU Archives / Everett Collection via https://www.pbs.org/wnet/americanmasters/6-james-baldwin-quotes-race/15142/

บอลด์วินกำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่ เขารู้อยู่เต็มอกว่านับจากนี้ คงไม่มีสิ่งใดง่ายดายและราบรื่นอีกต่อไป เขาจะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคจากอคติเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่มีอะไรผิดคาด บอลด์วินไม่เคยเลือกงาน เขาสมัครงานหลายแห่ง แต่งานกลับไม่เลือกเขา ต่อให้บอลด์วินทำได้ทุกอย่างและรับผิดชอบงานได้ดีขนาดไหนก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเขาผิวดำ ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะมีบางแห่งรับเขาเข้าทำงาน แต่ท้ายที่สุด เขามักถูกไล่ออกด้วยเหตุผลทำนองว่าคนผิวขาวไม่พอใจ

Photo: https://www.kinfolk.com/james-baldwin/

จนกระทั่งชีวิตของเขามาถึงจุดพลิกผันครั้งใหญ่ เมื่อเขาถูกต่อต้านจากสังคมเพราะเปิดเผยตัวตนอย่างชัดเจนว่าเป็นชายรักร่วมเพศ ผู้คนในยุคนั้นทั้งรังเกียจและขับไล่กลุ่มคนรักร่วมเพศให้ออกไปจากชุมชม แม้กระทั่งคนผิวดำด้วยกันเองก็ไม่อาจทำใจยอมรับเรื่องนี้ได้ บอลด์วินทนอยู่ต่อไปไม่ไหว เขาจึงหนีไปที่ประเทศฝรั่งเศสพร้อมความรู้สึกเสียใจและโกรธแค้น ด้วยความช่วยเหลือของริชาร์ด ไรต์ (Richard Wright) เพื่อนนักประพันธ์ผิวสี

บอลด์วินวัย 24 ปี เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ในเมืองเล็กๆ ที่มีชื่อว่า เซนต์ พอล เดอ วองซ์ (Saint Paul de Venceซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาหินทางตอนใต้ของฝรั่งเศส บอลด์วินอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันเงียบสงบ กล่อมให้จิตใจของเขาสงบตามไปด้วย

Photo: https://nmaahc.si.edu/blog-post/literary-life
Photo: https://www.lemonde.fr/m-le-mag/article/2020/07/03/a-saint-paul-de-vence-l-ancre-effacee-de-james-baldwin_6045098_4500055.html
Photo: https://www.cambridge.org/core/books/cambridge-companion-to-james-baldwin/domesticating-baldwins-global-imagination/654EE5464D003B557BFC19CDD23C082A

ณ ที่แห่งนี้ บอลด์วินมีเวลาเหลือเฟือที่จะใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ต้องรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจเหมือนก่อนหน้านี้ แต่ประสบการณ์ชีวิตที่ขมขื่น ทำให้เขาตระหนักได้ว่า หากไม่คิดทำอะไร เท่ากับปล่อยให้คนอื่นๆ เผชิญความทุกข์ยากอย่างโดดเดียว บอลด์วินไม่ต้องการให้ใครถูกกระทำอีก เขาจึงทบทวนฉากชีวิต และเริ่มเขียนเรื่อง ซึ่งอ้างอิงจากมุมมองและประสบการณ์ตรงของเขา

บอลด์วินหันมาใช้เครื่องพิมพ์ดีดมากขึ้น บนโต๊ะทำงานของเขามักจะมีเครื่องพิมพ์ดีดตั้งอยู่ด้วยเสมอ ตลอดชีวิตของบอลด์วินจึงมีเครื่องพิมพ์ดีดหลายเครื่องหลายรุ่น ทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา รวมถึงแบบธรรมดาที่ต้องคอยปัดแคร่และแบบไฟฟ้า เช่น Adler standard, Adler Gabriele 35, Olympia SM7, Smith-Corona Coronamatic 2200 แต่เขาจะเลือกใช้เครื่องไหน ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการเขียน

ส่วนห้องทำงานของบอลด์วิน คือทุกๆ ห้องที่มีโต๊ะไม้ธรรมดาๆ ตั้งอยู่ เขาไม่ต้องการแบ่งแยกห้องอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ ปลดปล่อยเขาให้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ

บนโต๊ะของเขามีสารพัดสิ่งของเท่าที่เขาหยิบใช้บ่อย โดยเฉพาะบุหรี่ บอลด์วินเป็นคนสูบบุหรี่จัด เขาสูบแบบมวนต่อมวน ทั้งช่วงกำลังเขียนงานและระหว่างทำกิจกรรมอื่น แม้กระทั่งให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังจากมีชื่อเสียงหรือพูดคุยกับคนรู้จักในชีวิตประจำวัน เขาจะสูบบุหรี่ด้วยตลอดเวลา บอลด์วินไม่เคยบอกเหตุผลที่เขาเสพติดบุหรี่ แต่อาจเป็นเพราะว่า การสูบบุหรี่คือวิธีที่เขาใช้ผ่อนคลายความเครียดและบรรเทาความกังวลใจ

Photo: Ralph Gatti / AFP

ในปี 1953 นวนิยายเรื่องแรกของบอลด์วิน Go Tell It on the Mountain ได้รับการตีพิมพ์ ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตและการเติบโตขึ้นในย่านฮาร์เลม หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปใช้ชีวิตช่วงเวลาสั้นๆ ที่นครอิสตันบูล ตุรกี และลอสแอนเจลิส รวมถึงกลับไปยังนิวยอร์คเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกา (Civil rights movement) ระหว่างนี้เอง บอลด์วินได้ตีพิมพ์นวนิยายอีก 2 เล่ม คือ Giovanni’s Room ในปี 1956 และ Another Country ในปี 1962 โดยเขาตั้งใจสื่อถึงการเปิดกว้างยอมรับคนรักร่วมเพศและความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติต่างสีผิว

บอลด์วินกำลังพิมพ์งานด้วยเครื่องพิมพ์ดีด Olympia รุ่น SM7 portable typewriter ในห้องพัก ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี / Photo: Sedat Pakay

แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้บอลด์วินถึงขนาดนิตยสารไทม์ติดต่อเข้ามาขอใช้ภาพถ่ายของเขาขึ้นปก คือ The Fire Next Time ในปี 1963 ซึ่งบอลด์วินเขียนขึ้นขณะเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง แต่สถานการณ์หลังจากนั้นกลับรุนแรงและเลวร้ายเกินกว่าเขาจะรับมือได้ เพราะสหายร่วมอุดมการณ์อย่าง เมดการ์ เอเวอร์ส (Medgar Evers) แมลคัม เอ็กซ์ (Malcolm X) และ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) ถูกลอบสังหาร บอลด์วินจึงเดินทางกลับฝรั่งเศสและใช้ชีวิตอยู่ที่นันจนถึงวาระสุดท้าย

ทันทีที่กลับถึงบ้าน เขาถ่ายทอดความเศร้าและความสิ้นหวังในช่วงเวลานั้นออกมาเป็นนวนิยายเรื่อง If Beale Street Could Talk ในปี 1974 และผลิตผลงานเขียนเพื่อส่งต่ออุดมการณ์ที่เขาเชื่ออย่างต่อเนื่อง

บอลด์วินในวัย 46 ปี ไม่ได้นั่งเขียนงานอยู่แต่ในบ้านอีกต่อไป บ่อยครั้งที่เขายกเครื่องพิมพ์ดีดมาวางไว้บนโต๊ะไม้ตัวกว้างที่ตั้งอยู่นอกบ้าน แล้วนั่งลงพิมพ์งานท่ามกลางไม้พุ่มโรสแมรี่ สวนผลไม้ที่พริ้วไหวตามแรงลม

Photo: https://nmaahc.si.edu/explore/exhibitions/chez-baldwin

โต๊ะไม้ตัวนี้ไม่ได้มีไว้ใช้นั่งเขียนงานเท่านั้น แต่ยังเอาไว้ต้อนรับเพื่อนๆ ศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างไมลส์ เดวิส (Miles Davis) ศิลปินแจ๊สชาวอเมริกัน เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) ราชินีแห่งดนตรีแจ๊ส และ ปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso) จิตรกรเอกชาวสเปน ทุกคนต่างตั้งใจแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนเขาถึงประเทศฝรั่งเศส บอลด์วินจึงตั้งชื่อโต๊ะนี้ว่า Welcome Table ซึ่งภายหลังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มเขียนบทละครเรื่อง The Welcome Table แต่เขียนไม่จบ และมีต้นฉบับอีกจำนวนมากที่เขาเขียนค้างไว้ ซึ่ง The New York Public Library ได้เก็บรักษาไว้ทุกฉบับ

Photo: https://nmaahc.si.edu/blog-post/place-gathering-healing-and-writing
Photo: https://nmaahc.si.edu/blog-post/place-gathering-healing-and-writing

ในฐานะศิลปิน บอลด์วินเป็นนักเขียนผู้ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง เขาเปิดเผยตัวตนอย่างชัดเจน และยัดยืนในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่แม้กระทั่งปฏิเสธหรือปรับเปลี่ยนตัวตนเพื่อหวังให้คนอื่นมายอมรับ แต่ใช้ความสามารถสร้างสรรค์อาวุธทางปัญญาที่เรียกว่างานเขียนและวรรณกรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมใหม่ที่ยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกับความหลากหลายของผู้คนได้อย่างปกติสุข

ในฐานะมนุษย์ บอลด์วินเป็นนักสู้สุดตัวผู้มีความกล้าหาญเป็นที่ตั้ง เขายืนกรานต่อต้านอคติและความคิดน่ารังเกียจที่กีดกันไม่ให้คนเท่ากัน เขาจึงเลือกทำสิ่งที่มนุษย์สมควรทำ นั่นคือส่งเสียงเรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้ทุกคนปฏิบัติกับคนต่างเชื้อชาติ สีผิว และเพศด้วยความเท่าเทียม

บอลด์วินไม่ได้เป็นแค่นักเขียนอาชีพอย่างที่ตั้งใจ แต่เขายังเป็นผู้จุดไฟแห่งความหวังให้เกิดขึ้นในใจคนผิวดำและคนชายขอบอื่นๆ ที่สังคมใหญ่ไม่เคยเหลียวแล จนถึงปัจจุบัน ผลงานของเขายังคงทรงอิทธิพลไม่เปลี่ยนแปลง

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของเจมส์ บอลด์วิน

Giovanni’s Room (ตีพิมพ์ครั้งแรก 1956)
ห้องของโจวันนี (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์ Library House)
นวนิยายเรื่องเอกที่ได้รับการยกย่องว่าใช้ภาษาถ่ายทอดอารมณ์และความปรารถนาเบื้องลึกของความเป็นมนุษย์ได้อย่างละเมียดละไม โดยบอกเล่าผ่านชีวิตและความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่าง ‘เดวิด’ ชายอเมริกันผิวขาวผู้ตั้งใจย้ายมาใช้ชีวิตกับแฟนสาวที่ปารีส กับ ‘โจวันนี’ บาร์เทนเดอร์หนุ่มชาวอิตาเลียน นับวันความรักของทั้งคู่ยิ่งเบ่งบานท่ามกลางความสับสัน ความเกลียดชัง และการไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เมื่อถึงคราวที่เดวิดต้องเลือก บทสรุปของเรื่องจึงราวรานมากกว่าคำว่าสมหวังหรือผิดหวัง 

The Fire Next Time (ตีพิมพ์ครั้งแรก 1963)
หนังสือรวบรวมงานเขียนในรูปแบบจดหมายสองฉบับ เป็นความตั้งใจของบอลด์วินที่ต้องการเขียนไว้ให้หลานอ่านเมื่อโต ฉบับแรกบอกเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างเชื้อชาติในวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีการประกาศเลิกทาสในสหรัฐอเมริกา ส่วนฉบับที่สองบอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติกับศาสนา ผ่านประสบการณ์เป็นคริสเตียนของบอลด์วินในวัยเยาว์ รวมถึงมุมมองต่อแนวคิดมุสลิมในสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้นมา เพื่อส่งต่อความเข้าใจและขยายการยอมรับความหลากหลายของผู้คน 

If Beale Street Could Talk (ตีพิมพ์ครั้งแรก 1974)
นวนิยายรักระหว่างคนผิวดำที่สะท้อนการต่อสู้เพื่อความรักและความยุติธรรมในช่วงเวลายากลำบากที่สุด เพราะพวกเขาถูกกดขี่จากอคติเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง เรื่องราวเริ่มต้นจาก ‘ทิช’ หญิงวัย 1ปี ตกลงใช้ชีวิตร่วมกับ ‘ฟอนนี’ หนุ่มวัย 22 ปี แต่ทุกอย่างกลับพลิกผัน เมื่อฝ่ายชายถูกปรักปรำว่าเป็นอาชญากร เธอจึงพยายามทุกวิถีทาง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และเรียกร้องอิสรภาพให้สามี ด้วยความหวังเดียวว่า พวกเขาจะได้อยู่พร้อมหน้า และรอดูลูกที่คลอดออกมาร่วมกัน 

 

อ้างอิง