“สิ่งเดียวที่เราปรารถนาและขอจากพระเจ้าคือสัญชาติไทย”
ฉ๊ะ – อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ อธิษฐานในคืนวันคริสต์มาสครั้งที่เธอยังเป็นเด็กหญิง
บ้านหาดยาวเคยเป็นผืนแผ่นดินของประเทศสยาม ก่อนที่จะมีการแบ่งเขตแดนไทย-พม่าอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2411 โดยมีการระบุว่าเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี เป็นดินแดนของพม่าภายใต้การปกครองของอังกฤษอย่างเป็นทางการ บรรพบุรุษของฉ๊ะรวมถึงพ่อและแม่ของเธออาศัยอยู่ที่นั่นด้วยความเชื่อลึกๆ ว่าพวกเขาคือส่วนน้อยที่ยอมเสียสละเพื่อรักษาส่วนมากเอาไว้ และยังคงหวังว่าประเทศไทยจะยังคงต้อนรับพวกเขาเสมอ
วันที่พวกเขาตัดสินใจกลับบ้าน อพยพกลับมาที่ประเทศแม่ เรื่องราวกลับตรงกันข้าม
พวกเขากลายเป็นคนแปลกหน้า ผืนแผ่นดินแห่งนี้ทำให้เขามีสถานะเป็นเพียงคนต่างด้าวที่ไร้สิทธิ์ ไร้เสียง
ฉ๊ะไม่เคยเข้าใจสิ่งที่เธอต้องเผชิญ เพราะนั่นขัดกับสิ่งที่เธอเชื่อมาเสมอ เธอและครอบครัว พร้อมกับอีกหลายชีวิตมีสถานะเป็นบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ที่ยังคงต่อสู้เพื่อให้ได้กลับมายืนอย่างสง่าผ่าเผยในผืนแผ่นดินนี้อีกครั้ง
เรื่องราวที่ผืนแผ่นดินเก่า
พ่อกับแม่อพยพมา พ.ศ. 2530 จากบ้านหาดยาวฝั่งพม่า ตรงนั้นเคยเป็นประเทศสยามมาก่อน แต่อยู่ๆ ก็ตกไปเป็นของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม ตอนแรกบรรพบุรุษก็ปกครองกันเอง เราเป็นคนไทย พูดภาษาใต้ วัฒนธรรมทุกอย่างเป็นแบบไทย คนมุสลิมก็มีวิถีชีวิตแบบคนไทยมุสลิม
พออังกฤษยกแผ่นดินตรงนั้นให้พม่า เราก็ถูกรุกราน เริ่มมีภาษาแปลกๆ มีวัฒนธรรมแปลกๆ เข้ามา เปลี่ยนไปทุกอย่าง อยู่ดีๆ ก็ถูกบังคับไม่ให้พูดไทย ไม่ให้เรียนภาษาไทย ต้องเรียนภาษาพม่า เราต้องเสียสละโดยที่ไม่รู้อะไรเลย
ครอบครัวทำไร่ ทำสวน มีที่ดินเป็นหมื่นเป็นพันไร่ แต่ต้องอพยพกลับมาเพราะอยู่ตรงนั้นไม่ได้ ถ้าทำไร่ก็ต้องแบ่งให้รัฐ 70 เราได้ 30 เขาถามซื้อที่กับเรา ถ้าไม่ขายก็จะเอาไปฟรี แรงงานต้องไปรบกับชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถ้าไม่ไปก็ตาย ถ้าไปก็ไม่รู้จะรอดกลับมาหรือเปล่า รัฐบาลทหารเขาทำแบบนี้ ถ้าอยู่แบบนี้ต่อเราโดนกลืนแน่ วัฒนธรรมก็โดนกลืน วิถีชีวิตก็โดนกลืน
ตัดสินใจกลับมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย…
ประเทศไทยเสียแผ่นดิน 14 ครั้ง เราเป็นหนึ่งในนั้น เขาบอกเรามาตลอดว่าเป็นการเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ เราคิดว่าไทยนี่คือแผ่นดินแม่ เขาต้องต้อนรับเรา คนที่อยู่บนแผ่นดินที่เสียไปเขาเชื่อว่าสักวันหนึ่งพระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งจะไปยึดแผ่นดินตรงนั้นคืน จนวันหนึ่งไม่ไหวแล้ว หลายคนอพยพมาโดยการเดินเท้าผ่านด่านสิงขร คนที่ตายก็ตาย คนที่เหลือก็เดินมาจนถึง ส่วนบ้านเราต้องนั่งเรือบรรทุกถ่าน บรรทุกหมู ดมขี้หมูกันมา คอยลุ้นตลอดว่าจะโดนตรวจไหม
สิ่งที่ต้องเผชิญหลังอพยพมาประเทศไทย
เราเกิดกับหมอตำแย ที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ทั้งชีวิตจนถึง 3 ขวบ เช้ามาเห็นแต่ท้องฟ้า ทะเล และชายหาด เวลาใครไปหาแล้วพูดภาษาราชการ ที่เป็นภาษาไทยเราจะตื่นเต้นมาก กลัวว่าเขาจะมาจับ
จริงๆ เราเป็นพี่น้องกันหมดแต่มันถูกคั่นด้วยเขตแดน พอกลับมาสิ่งที่เราเจอคือคำว่าเป็นคนต่างด้าว บางคนที่เห็นแก่ความเป็นมนุษย์เขาก็ยอมรับ แต่บางคนก็ไม่ยอมรับ เขาไม่ได้มองเราเหมือนที่เราภูมิใจมาตลอดว่าเป็นคนที่ยอมเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ เราคือลูกหลานของคนที่รักษาเอกราชประเทศนี้ไว้ไม่ให้เป็นเมืองขึ้นของใคร สุดท้ายสิ่งที่เราเจอคือเราถูกโดนเหยียบย่ำ
วัยเด็กของคุณในประเทศไทยเป็นอย่างไร
ต้องไปเป็นลูกของคนอื่นเพื่อให้ได้เข้าเรียน ไม่สามารถใช้ชื่อพ่อชื่อแม่ในเอกสารประวัติการศึกษาของตัวเองได้ แม้แต่นามสกุล ก็ยังไม่ได้ใช้นามสกุลตัวเอง ต้องใช้นามสกุลของสามีป้า ซึ่งเป็นคนไทย เด็กหลายคนที่ได้เรียนเป็นแบบนั้น ไปโรงเรียนก็โดนดูถูก ครูบางคนพูดหน้าชั้นตลอดว่าเราเป็นคนต่างด้าว จนเราหนีเรียนเพราะไม่อยากเจอใคร
การเป็นผู้ไร้สัญชาติในประเทศไทยมีอุปสรรคอย่างไร
หากจะเดินทางไปที่ไหนสักแห่งเราต้องขอหนังสืออนุญาตจากอำเภอ กระบวนการอยู่ที่ 3-7 วัน เราป็นอิสลาม หากมีญาติจะเสียชีวิตเราต้องขอส่งวิญญาณให้เขาไปสู่อ้อมอกของพระเจ้า เพราะเราเดินทางไปดูใจไม่ได้ ต้องฝังภายใน 24 ชั่วโมง เวลาป่วยยังต้องขอหนังสืออนุญาตเพื่อเดินทางไปรักษาตัวเอง บางครั้งถ้าเราไปทำงานรับจ้างแล้วโดนโกง เขาก็จะโทรแจ้งว่ามีคนไร้สัญชาติทำงานอยู่ที่นี่ เราก็จะโดนจับ
คนที่เรารู้จักฆ่าตัวตายเพราะโดนตำรวจบังคับให้แก้ผ้าในตลาด เพราะถูกกล่าวหาว่ามียาเสพติดไว้ในครอบครอง เขากลับไปบ้านแล้วพูดกับพ่อว่าทำไมเราต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ เขาคิดว่าอยู่ไปก็ไม่รู้ว่าต้องตกระกำลำบากไปอีกนานแค่ไหน
การโดนแบบนี้มันยิ่งกว่าสัตว์ เราเลยตั้งความคิดไว้ว่าสักวันหนึ่งฉันจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงทำให้คนไม่มีสัญชาติในประเทศนี้เป็นที่รู้จักของสังคม
คุณออกมาเคลื่อนไหวเรื่องผู้ไร้สัญชาติตอนไหน
พ.ศ. 2547 ที่มีสึนามิ เราไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย แต่ก็ยังไปช่วยคนอื่นเพราะเรารู้ว่าตรงนั้นมีนักข่าว มีนักวิชาการ มีคนที่จะช่วยเราได้ ก็มี NGO ที่ทำเรื่องเมืองน่าอยู่ เขาลงไปเจอคนไร้สัญชาติอย่างพวกเรา เขาบอกว่าเราจะพัฒนาประเทศให้น่าอยู่ได้อย่างไร ถ้าคนในประเทศไม่มีความเท่าเทียม เราถูกเรียกไปร่วมเปิดเครือข่ายกับเขาแล้วต่อสู้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จนครบรอบ 1 ปีสึนามิ เรายื่นข้อเสนอผ่านเครือข่ายสึนามิ 6 จังหวัดให้มีการสำรวจผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ตอนนั้นเราแค่อยากให้มันส่งผลในพื้นที่ที่เราอยู่ แต่เราเคยไม่รู้เลยว่าในประเทศนี้มีผู้ไร้สัญชาติและชาติพันธุ์เยอะมาก ที่จังหวัดระนอง นอกจากพวกเราแล้วยังมีมอร์แกน อุลักลาโว้ย ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมือง
เวลาต่อสู้เราจะไม่ทิ้งกัน ชาวเลไม่ทิ้งพลัดถิ่นฉันใด พลัดถิ่นก็จะไม่ทิ้งชาติพันธุ์เหมือนกัน เพราะเราหัวอกเดียวกันหมด ต้องได้รับการแก้ปัญหาเหมือนกัน
คุณเริ่มจากอะไร
พ.ศ. 2550 เราพูดเรื่องมาตรา 22 ที่ว่าด้วยการคืนสัญชาติ มันมีกฎหมายสัญชาติอยู่ก็จริง แต่มันคือการแปลง ทำไมต้องแปลงคนไทยให้เป็นคนไทย ทำไมคนไทยต้องไปเป็นพม่าแล้วยอมรับว่าตัวเองเป็นพม่าก่อนค่อยกลับมาเป็นคนไทย
พอเราเสนอเรื่องนี้ทางสภาก็ให้ความเห็นว่ามีมาตราที่สำคัญกว่า มาตรา 22 เลยถูกตีตกไป เขาเสนอมาตรา 23 เข้ามาแทน ซึ่งเป็นการให้สัญชาติกับเด็ก โดยให้เหตุผลว่าประเทศเรามีเด็กไร้สัญชาติเยอะ และเด็กเป็นความหวังของประเทศนี้ เราก็ตกลง
รัฐสภาระบุไว้ด้วยว่าคนไทยพลัดถิ่นเป็นคนเสียสัญชาติเพราะการเสียดินแดน จริงๆ เราไม่ได้เสียสัญชาติแต่ถูกทำให้สัญชาติพร่ามัวตั้งแต่เสียดินแดน เราเลยต่อสู้บนข้อเสนอที่ว่าคนไทยพลัดถิ่นต้องมีกฎหมายว่าด้วยการคืนสัญชาติที่เป็นกฎหมายที่คืนสัญชาติให้เขาไม่ใช่แปลง
หลังจากขับเคลื่อนมาตรา 23 จนผ่านแล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมาคืออะไร
ทุกวันนี้เด็กในประเทศก็ยังไม่ได้สัญชาติ เพราะต้องใช้หนังสือรับรองจากอำเภอ จากทะเบียน จากคนข้างบ้าน จากหมอ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มันทำให้เกิดการทุจริตขึ้น นายอำเภอใช้ดุลพินิจบอกว่าต้องใช้ข้าราชการระดับ C3 เท่านั้น แล้วเราจะไปหาจากไหน ขนาดไปขอใช้สำเนาทะเบียนบ้านยังต้องเสียเงินเป็นพัน การให้ผู้ใหญ่ที่เป็นข้าราชการเซ็นรับรองมันเป็นเรื่องเงินทั้งนั้น คนมีเงินก็ไปจ้างข้าราชการ เรียกว่าให้ค่าน้ำชา ค่าเสียเวลา บางคนขายทุกอย่างไปอยู่ห้องเช่าเพื่อให้ได้บัตรประชาชนมา
เริ่มร่างกฎหมายกันอีกรอบ…
เราร่างกฎหมายว่าด้วยการคืนสัญชาติกันอีกรอบ ในนามเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขัน และพังงา เราลงไปถามชาวบ้านว่าเขาอยากได้อะไร แล้วก็ให้ อาจารย์แหวว – พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ช่วยแปลงจากภาษาชาวบ้านมาเป็นภาษากฎหมาย และวันที่ 13 มกราคม 2553 พวกเราตัดสินใจเดินเท้าจากด่านสิงขรมาถึงรัฐสภาเพื่อยื่นสิ่งที่เราเขียน
เรื่องไม่ได้คืบหน้าเลย เพราะสภาความมั่นคงแห่งชาติบอกว่าถ้าคนเหล่านี้เข้ามา เขาจะมาแย่งงานคนในประเทศ มาแย่งทรัพยากร แต่ความจริงคือเราไม่ได้อยู่ประเทศนี้ฟรีๆ เราซื้อมาม่าก็เสียภาษี ถึงเราไม่ได้เสียภาษีสรรพากรโดยตรงแต่ก็เสีย ไปหาหมอก็ต้องจ่าย เราใช้ชีวิตเหมือนทุกคน เขาเลยยื้อกันไปยื้อกันมา
หลังจากนั้นเป็นอย่างไร
ตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามา ปรากฏว่าเขารับเรื่องแล้วไปดำเนินการ เขาเข้ามาด้วยการเลือกตั้ง ข้อดีของรัฐบาลเลือกตั้งคือแคร์ประชาชน กล้าได้ กล้าเสีย คนไร้สัญชาติตั้งเท่าไหร่ เขาจะได้คะแนนเสียงจากเราเยอะมาก
เราลุ้นอยู่หน้ารัฐสภาให้ พรบ.สัญชาติ ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา 6 โมงเย็นวันนั้น อ.สมศักดิ์ เครืองาม ออกมาบอกว่า “ยินดีต้อนรับประชาชนคนไทยที่เสียสัญชาติไปกลับคืนมา ทุกคนเป็นพลเมืองไทยเท่ากันแล้ว ตอนนี้ พรบ.สัญชาติ ผ่านแล้ว” เราแทบไม่เชื่อตัวเองเพราะเราสู้มาตั้งแต่เด็ก
แม้ พรบ.สัญชาติ ผ่าน แต่ประเทศชาตินี้ทำให้ยุ่งยากกว่าเดิม เพราะต้องมีคณะกรรมการพิสูจน์และรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่น ประชุมกันรอบแล้วรอบเล่า สรุปตามกฎกระทรวงได้ว่าเราจะต้องได้สัญชาติ ผ่านการยื่นเรื่องภายใน 120 วัน แต่เรายื่นมา 2-3 ปีกว่า ถึงเพิ่งได้ ต้องสู้หนักมากเพื่อให้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นคนไทยพลัดถิ่น
แม้พรบ.ว่าด้วยการคืนสัญชาติผ่านแล้วแต่ยังคงมีอุปสรรคมาจนวันนี้…
วันที่ไปถ่ายบัตรประชาชนเราไม่ได้ดีใจ เพราะมีคนอีกมากที่ยังไม่ได้สัญชาติ คืนนั้นนั่งกินข้าวหันไปดูกองเอกสารที่เราต้องทำให้ผ่านแล้วก็ร้องไห้ เรามีคนเซ็นรับรองให้ เป็นอบต.คนหนึ่ง ซึ่งดีมากที่เขาไม่เก็บเงินเรา เราถึงได้สัญชาติ
ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 7-8 ปี คนไร้สัญชาติก็ยังเยอะมาก บางคนตอนนี้อายุ 25-26 แล้วก็ยังถือบัตรเลข 0 ที่เป็นชื่อเด็กหญิงอยู่เลย แล้วคนถือบัตรนั้นต้องมีบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนเชื้อสายไทยเท่านั้นถึงจะยื่นขอสัญชาติได้
ตอนลงพื้นที่ เราเจอคนไร้รากเหง้า คนสัญชาติพม่า คนอีก 5-6 กลุ่มที่ถือบัตรเลข 0 แต่ทำตามกระบวนการขอสัญชาติไม่ได้ เพราะไม่มีการระบุว่าเป็นคนเชื้อสายไทย จนตอนนี้ยังคงเป็นปัญหา ติดค้าง ยุ่งเหยิง เรื่องนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงมานานแล้ว เราเลยตัดสินใจขึ้นเวทีปราศรัยแล้วพูดอีกรอบ ต้องทำให้รู้ว่าประเทศเรามีความหลากหลาย
นอกจากพรบ.ว่าด้วยการคืนสัญชาติแล้ว คุณพูดเรื่องอะไรอีก
ตอนนี้เราสนับสนุนพ.ร.บ.สภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพราะกฎหมายนี้คือการเอากลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปอยู่ในสภา เสียงของเขาจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ เขาสามารถพูดถึงปัญหาที่สอดคล้องกับชีวิตของเขาได้อย่างตรงจุด พรบ.ฉบับนี้ไม่มีพิษภัยกับใครเลย มันเป็นการคืนสิทธิ คืนสัญชาติ คืนมาตุภูมิให้คนเหล่านี้ได้มีที่ยืนในสังคม
ก่อนหน้าที่จะมีพรบ.ชนเผ่าพื้นเมือง ชาติพันธุ์มีการเสนอเรื่องมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ คือขอแค่ให้คุ้มครองพื้นที่ทางจิตวิญญาณ สุสาน บ้านที่เขาอยู่ แต่ประเทศไทยก็ให้ไม่ได้ ทุกวันนี้ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
คุณคิดว่าสิ่งที่ทำให้สิทธิผู้ไร้สัญชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยไม่คืบหน้าคืออะไร
ประเทศเราไม่มองความหลากหลายอย่างเท่าเทียม ทุกคนมีชาติกำเนิดทั้งนั้น แต่พอถูกมัดรวมกันมันเลยต้องเป็นคำว่า ‘คนไทย’ มันไม่มีหรอกคำว่าไทยประเทศนี้คือความหลากหลาย
สื่อยังผลิตซ้ำความเชื่อเดิมๆ ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ เราเป็นผู้ร้ายมาตลอด แม้กระทั่งในหนังเราก็พูดไม่ชัด ค้ายาเสพติด ทำผิดกฎหมาย ตัดไม้ทำลายป่า ทั้งๆ ที่ถ้าไปหมู่บ้านที่เป็นชาติพันธุ์เขาแทบจะไม่ตัดต้นไม้ รักษาผืนป่ากันแทบตาย
ตอนเด็กๆ เวลาละครเรื่องนายขนมต้ม เรื่องบางระจันฉาย เด็กพม่าร้องไห้หัวแตกกลับบ้านทุกวัน เพราะเด็กไทยตีเขา เราก็โดนทุกวัน เขาบอกว่าเราทำให้คนไทยต้องเสียแผ่นดิน
คนไทยโทษว่าพม่ามาโจมตีเราตลอด ในหนังสือก็เขียนแบบนั้น เพื่อนที่เป็นชาวพม่าเขาเคยบอกเราว่ามันเป็นเรื่องราวของอดีต ฉันก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน เราเป็นเจเนอเรชั่นใหม่แล้ว ควรจะข้ามพ้นสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราข้ามพ้นได้จริงๆ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำหนังที่บอกว่าพม่ามาโจมตีเรา
“เราปลดคำว่าเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ สัญชาติ เพศหญิง เพศชาย ปลดออกไปเลย ก็จะเหลือแค่มนุษย์คนหนึ่ง ไม่ต้องมองว่าเป็นคนอื่น แต่ให้มองว่าเราคือมนุษย์”
นอกจากสิทธิที่ควรจะได้แล้ว สัญชาติไทยสำคัญกับคุณในแง่ไหนอีกบ้าง
เราไม่ได้อยากคืนสัญชาติให้ตัวเอง แต่สิ่งที่เราทำคือการคืนสัญชาติให้บรรพบุรุษเพื่อปลดปล่อยว่าเขาคือชาติพันธุ์ไทย ไม่ใช่คนต่างด้าวอย่างที่เขาพูดกัน แล้วตัวเราเองจะได้สัญชาติมาเพราะเป็นลูกหลานของผู้สืบสันดานโดยตรง กฎหมายฉบับนี้คือการคืนสิทธิ คืนความเท่าเทียมให้กับคนชาติพันธุ์
เขาบอกว่าชนชั้นใดเขียนกฎหมาย กฎหมายจะรับใช้ชนชั้นนั้น เรารณรงค์เพื่อให้ได้กฎหมายมา แต่สุดท้ายกฎหมายก็มาทำร้ายพวกเรา โดยการเปิดช่องให้เกิดการทุจริต
คุณอยากให้ทุกคนมองผู้ไร้สัญชาติและกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร
เราปลดคำว่าเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ สัญชาติ เพศหญิง เพศชาย ปลดออกไปเลย ก็จะเหลือแค่มนุษย์คนหนึ่ง ไม่ต้องมองว่าเป็นคนอื่น แต่ให้มองว่าเราคือมนุษย์ สุดท้ายแล้วถ้าเราไม่เหลืออะไรเลย เราจะเหลือแค่ความเป็นคน เราควรมองว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เปิดใจยอมรับว่าคนไร้สัญชาติ คนต่างด้าวเขาคือเพื่อนมนุษย์
ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะส่งผลกับสถานะของผู้ไร้สัญชาติอย่างไร
ต่อให้มีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าเรามีความหลากหลาย จะเลือกตั้งสักกี่พัน กี่ร้อยชาติ ก็ไม่มีอะไรชัดเจน เราไม่ได้บอกว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเรื่องเพ้อฝัน เราสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เราจะพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ พูดเรื่องประชาธิปไตย โดยทิ้งพี่น้องชาติพันธุ์ไว้ข้างหลังได้อย่างไร
คุณอยากเห็นอนาคตแบบไหน
ไม่อยากให้คนยึดติดคำว่าวัฒนธรรม ประเทศเราควรไปสู่สังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม เพราะมันคือการรวมทุกอย่างเอาไว้ ประชาธิปไตยก็คือประชาธิปไตย แต่การนำไปสู่ความเท่าเทียมจริงๆ คือการนำไปสู่ของสังคมพหุวัฒนธรรม สิ่งที่เราต้องทำคือการเปิดใจมองทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน แล้วมองทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ เพราะทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ ทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนาได้รองรับเข้าสู่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด
ถ้าการเมืองดีตอนนี้คุณทำอะไรอยู่
เวลามีคนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราตอบไม่ได้เพราะเราไม่มีสัญชาติ เราไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นครูได้ไหม เป็นหมอได้หรือเปล่า พอโดนแบบนั้นเราก็เลยท้าทายว่าฉันอยากเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะอยากแก้ไขเรื่องนี้
ถ้าประเทศนี้ไม่มีคนไร้สัญชาติแล้วจะไปเขียนหนังสือเหมือนเดิม เราไม่ค่อยมีความฝัน แต่เชื่อว่าตัวเองสามารถเขียน สามารถเล่าเรื่องได้ เราอยากเดินทางแล้วเล่าความสวยงามของชาติพันธุ์