life

ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย มนุษย์ยังคงแสดงท่าทีก้าวร้าวรุนแรง ทำร้ายคนคิดต่าง และอาฆาตถึงขั้นเข่นฆ่าผู้อื่นอย่างไร้ความปราณี

การกระทำทั้งหมดของมนุษย์ยิ่งตอกย้ำว่า เราไม่เคยตื่นรู้จากความโง่เขลาได้อย่างสมบูรณ์ ในทำนองเดียวกัน ก็เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะรู้รอบไปเสียทุกสิ่ง หากเป็นเช่นนี้แล้ว จุดกึ่งกลางที่สมดุลระหว่างความตื่นรู้และความโง่เขลาซึ่งเป็นทางออกให้มนุษย์อาศัยร่วมกันด้วยความเคารพและเข้าอกเข้าใจอยู่ตรงไหน

เติ้ล – ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร SPACETH.CO สื่อออนไลน์ที่นำเสนอข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ เป็นคนหนึ่งที่พยายามหาจุดกึ่งกลางนั้นให้ตัวเอง เพราะเขาเชื่ออย่างหมดใจว่า หากทุกคนตระหนักรู้ถึงความโง่เขลา เราจะไม่ทำร้ายและทำลายกันเหมือนโศกนาฏกรรมจากน้ำมือมนุษย์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่น่าเสียดายที่ความสมดุลนั้นยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย โดยเฉพาะในโมงยามนี้

ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ณัฐนนท์จึงตัดสินใจทำในสิ่งที่ควรทำ นั่นคือการยื่น ‘โบว์ขาว’ ให้เจ้าหน้าที่ด้วยความหวังว่า สัญลักษณ์สากลแห่งเสรีภาพ ความถูกต้อง และความรักที่เขาตั้งใจมอบให้ จะเปลี่ยนแปลงใจของผู้ที่อยู่ใต้การบงการของรัฐ ให้ตื่นรู้และหลุดพ้นออกมาจากความมืดมิดซึ่งบดบังพวกเขาไม่ให้มองผู้คนที่ออกมาชุมนุมว่าเป็นมนุษย์เท่ากัน

ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งยื่นข้อมือให้ณัฐนนท์ผูกโบว์ขาวหลังจากถูกร้องขอ แต่วันต่อมา (16 ตุลาคม 2563) ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน เขายังคงทำเหมือนเดิม แต่ผลลัพธ์กลับต่างออกไปสิ้นเชิง

ณัฐนนท์ถูกควบคุมตัวไปทันที แม้ว่าจะได้รับการปล่อยตัวออกมา โดยถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และศาลยกคำร้องขอฝากขัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขารวมถึงผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ในฐานะผู้ถูกกระทำ ยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของทางออกที่จะช่วยทำให้มนุษย์ปลดแอกตัวเองจากความโง่เขลาได้ในเร็ววัน

บทสัมภาษณ์ที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่การถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ส่วนตัวของณัฐนนท์ที่ทำให้เข้าใจว่า เหตุปัจจัยของความขัดแย้งของมนุษย์ล้วนเกิดขึ้นจากรากฐานของความไม่รู้เท่านั้น แต่เรายังหวังว่ามันจะทำหน้าที่เป็นแสงไฟส่องสว่างเข้าไปถึงใจคนอื่นๆ เพื่อสร้างการตื่นรู้ให้ทุกคนต่อสู้กับศัตรูที่ชื่อ ‘ความโง่เขลา’ ของตัวเอง เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณสยามและแยกปทุมวัน เมื่อกลับมายังสถานที่เดิมอีกครั้ง ความรู้สึกของคุณเป็นอย่างไร

ใครจะไปคิดว่า พื้นที่กลางใจเมืองอย่างสยาม ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ จะกลายเป็นพื้นที่สลายการชุมนุม เราใช้ชีวิตเติบโตมาในย่านสยามตั้งแต่เด็ก เป็นที่เรียนพิเศษ ที่เที่ยวกับเพื่อน สยามแบบเดิมที่เรารู้จักก็ยังคงอยู่ แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเปลี่ยนภาพจำของใครหลายคนต่อสยามให้ต่างไปจากเดิม

มองเป็นสัญญะอย่างหนึ่งก็ได้ว่า หากยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบนี้ต่อไป สถานที่คุ้นเคยที่เรารู้สึกว่าปลอดภัย อาจกลายเป็นสถานที่ที่ทำร้ายเราได้เหมือนกัน คล้ายกับว่าเป็นขนมหวานที่ผู้ใหญ่เอามาล่อเรา ให้เราติดกับ สุดท้าย สิ่งที่เราเป็นอยู่คือกับดักของเขา การที่เราไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งอื่นเลย เรามีความสุขกับป๊อบคัลเจอร์โดยไม่เคยตั้งคำถามถึงชีวิตว่าจริงๆ แล้วเราเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร ล้วนเป็นกับดักที่เขาวางเอาไว้ แล้ววันหนึ่งทุกอย่างก็ถูกเปิดเผยให้เราเห็นจริงๆ ว่า มีบางสิ่งบางอย่างในประเทศนี้ต้องเปลี่ยนแปลง

คุณมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่ทำให้คุณมองเห็นโง่เขลาเป็นศัตรูของมนุษย์

ความโง่เขลาในที่นี้ไม่ใช่คำด่าหรือสิ่งไม่ดี เพราะเป็นภาวะหนึ่งเท่านั้น เหมือนเวลาเราหิว เราง่วง แต่มนุษย์รู้วิธีรับมือว่า ถ้าหิวต้องกิน ถ้าง่วงต้องนอน แล้วถ้าโง่ล่ะ ต้องทำยังไง โรงเรียนก็ไม่เคยสอนว่าเราต้องจัดการกับความโง่ยังไง โรงเรียนบอกแค่ว่าเราต้องฉลาด ทำให้เรามองความโง่เขลา เป็นความท้าทายของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทยตอนนี้

เราไม่เคยถูกสอนให้คิดและตั้งคำถามถึงเหตุปัจจัย เมื่อเราไม่ตั้งคำถามว่า อะไรนำมาซึ่งความโง่เขลา เราย่อมไม่รู้วิธีจัดการ แล้วราคาที่ต้องจ่ายให้ความโง่เขลามันสูงมาก ทำให้มนุษย์เชื่อว่าถ้าอยากอยู่อย่างมีความสุขต้องฆ่าคนเห็นต่างทั้งหมด เกิดเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะมนุษย์ไม่รู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ยังไง

สืบเนื่องมาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาในไทย หรือเหตุการณ์อะไรก็ตามที่เกิดความพยายามกำจัดคนเห็นต่าง ทั้งหมดนี้อาจมองว่าเป็นความโหดเหี้ยม ความอำมหิตของมนุษย์ด้วยกันก็ได้ แต่โดยพื้นฐานที่สุด ถ้าเราถอดสมการไปเรื่อยๆ จะพบว่า สิ่งสุดท้ายที่เหลืออยู่และเป็นเหตุปัจจัย คือ ความโง่เขลาของคน ศัตรูของเราคือความโง่เขลา ไม่ใช่คนโง่เขลา

กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ตัวคุณเองต้องผ่านหรือประสบอะไรมาก่อน 

เด็กไทยทุกคนเติบโตขึ้นมาพร้อมกับปัญหาเดียวกันคือ เราไม่ได้ถูกสอนให้คิดเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่เด็กไทยได้เรียน มักจะเป็นความจริงสมบูรณ์ (absolute truth) ที่ระบบการศึกษาหยิบยื่นให้ กลายเป็นว่าไม่ต้องคิด ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องตั้งคำถามใดๆ แต่ตัวเราเอง เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตตั้งแต่ ป.5 ป.6 ด้วยซ้ำ ว่าเราเกิดมาทำไม เรียนไปทำไม ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรทำให้คิดแบบนั้น

พอขึ้น ม.1 ปี 54 มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้น ทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น น้ำท่วมใหญ่ในไทย โอบามาได้เป็นประธานาธิปดีผิวสีสมัยที่สองในสหรัฐฯ เราได้เห็นโลกถูกดิสรัปจากภัยธรรมชาติ การเมือง เศรษฐกิจ หรืออะไรก็ตาม เลยรู้สึกว่าโลกมีอะไรให้ศึกษาอีกเยอะ ต่อมา ม.2 เราได้อ่านหนังสือมากขึ้น ทำให้รู้จักนักคิดและนักปรัญชาสมัยก่อน เป็นความรู้ที่ไม่มีในหนังสือเรียน เราเริ่มรู้สึกว่าข้อมูลที่หาอ่านเองจากหนังสือและในอินเทอร์เน็ต ล้ำไปไกลกว่าที่โรงเรียนเลือกมาสอนอีก

เราไม่ได้ถูกสอนให้คิดเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่เด็กไทยได้เรียน มักจะเป็นความจริงสมบูรณ์ (absolute truth) ที่ระบบการศึกษาหยิบยื่นให้ กลายเป็นว่าไม่ต้องคิด ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องตั้งคำถามใดๆ

จนกระทั่งช่วง ม.3 ขึ้น ม.4 เกิดการรัฐประหารปี 57 ตอนนั้นเราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมประยุทธ์ถึงยึดอำนาจ จากที่เคยสนใจแต่ประวัติศาสตร์โลก จึงหันมาศึกษาประวัติศาสตร์ไทยด้วย ทำให้เรายิ่งตั้งคำถามถึงอำนาจนิยม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ทำไมห้ามอ่าน Nineteen Eighty-Four ไปจนถึงเปรียบเทียบระบบการศึกษาของไทยกับต่างประเทศ และถามตัวเองว่าอยากทำอะไรในชีวิตนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเราเคยตอบตัวเองเล่นๆ ว่า อยากเป็นนักดาราศาสตร์ แต่ก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า แล้วจะได้เป็นจริงๆ เหรอ ตราบใดที่สังคมไทยยังเป็นแบบนั้น

เราสำรวจอีกครั้งว่า ตัวเองมีความเชื่ออะไร และอยากทำอะไร เรารู้ตัวว่าชอบดาราศาสตร์กับการใช้ความรู้วิทยาศาสตร์อธิบายความเป็นมาเป็นไปและเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต คำตอบที่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเขียนบล็อกเกี่ยวกับดาราศาสตร์และวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์ หวังเป็นช่องทางหนึ่งเพื่อสร้างความเข้าใจต่อโลก สังคม และตัวเองให้คนที่สนใจ

ตอนนั้นได้แลกเปลี่ยนประเด็นเหล่านี้กับเพื่อนๆ ด้วยไหม เพราะเป็นช่วงวัยที่เพื่อน คือปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความคิดความอ่าน

มีทั้งคนที่สนใจและไม่สนใจ เพื่อนที่สนใจประเด็นเหล่านี้จะมีแค่กลุ่มแคบๆ ไม่กี่คน อาจเป็นเพราะบริบทสังคมในตอนนั้นยังไม่เปิดกว้างเหมือนตอนนี้ แต่ความแคบของกลุ่มนี่แหละที่บีบให้เรายิ่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทำไมแนวคิดหรือทฤษฎีต่างๆ ถึงเป็นแบบนี้ ทำไมรัฐต้องห้ามไม่ให้ทำสิ่งนั้น

กลายเป็นว่า เราเอาเรื่องที่ต่างคนต่างสงสัยมาคุยกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่า ณ ตอนนั้นเป็นเรื่องที่เอาไปคุยกับคนอื่นไม่ได้ แล้วช่วงนั้นก็ยังเป็นภูมิทัศน์สื่อแบบเก่า สื่อสังคมออนไลน์ยังไม่แพร่หลาย เราเลยเชื่อว่ารัฐประหารเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำคัญที่ทำให้การสื่อสารหรือการพูดถึงเรื่องราวต่างๆ ในประเทศไทยชัดเจนขึ้น เปิดกว้างขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุดในการต่อสู้กับความโง่เขลา หรือการนำมาซึ่งความรู้ คือ เราต้องยอมรับก่อนว่าเราไม่รู้ และต้องรู้ด้วยว่าเราไม่รู้อะไร

อะไรคือตัวแปรที่ทำให้ตื่นรู้จากความโง่เขลา 

สิ่งสำคัญที่สุดในการต่อสู้กับความโง่เขลา หรือการนำมาซึ่งความรู้ คือ เราต้องยอมรับก่อนว่าเราไม่รู้ และต้องรู้ด้วยว่าเราไม่รู้อะไร เราอาจจะไม่ได้อยากรู้ต่อ แต่อย่างน้อยเพื่อให้รู้ตัวว่า เรื่องนี้เราไม่มีความรู้ เราจึงไม่ผลีผลามทำสิ่งที่ไม่รู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา

เมื่อเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร วิธีการแก้ไขนั้นง่ายมาก แค่ออกจากถ้ำไปเจอกับบริบทใหม่ๆ อ่านหนังสือเล่มใหม่ คุยกับคนอื่น อาจคุยกับคนที่เรามองว่าเป็นศัตรู เราเชื่อว่าจะทำให้เข้าใจกันมากขึ้นว่า อ๋อ ที่เขาเป็นแบบนี้เพราะคิดแบบนี้ แปลว่าก่อนหน้านี้เราไม่รู้อะไรเลยว่าเขาแบบนี้เพราะอะไร จึงตัดสินเขาด้วยมุมมองของเราคนเดียว

แต่หลายคนเลือกอยู่ในถ้ำ และพอใจในจุดที่ไม่รู้ต่อไป 

นี่แหละคือปัญหา เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมมตินิยม ใครบอกอะไรมาก็เชื่อทันที ไม่ตั้งคำถามใดๆ ดังนั้น วิธีที่เราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมวิมตินิยม (scientific skepticism) ได้ หรือคนตัดสินกันน้อยลง ไม่ด่วนปักใจเชื่ออะไรแต่แรก เพราะทุกอย่างต้องตรวจสอบก่อน คือต้องปลูกฝังและสร้างสังคมที่ทำให้คนเข้าใจว่าการถกเถียงไม่ใช่การห้ำหั่นกัน

วิทยาศาสตร์ข้องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร 

วิทยาศาสตร์คือการมองภาพกว้างๆ แล้วตั้งคำถาม พยายามหาตัวแปรต่างๆ เข้ามาอธิบาย แน่นอนว่าเราไม่สามารถหาทุกตัวแปรได้ครบทั้งจักรวาล แต่สิ่งที่ทำได้คือ เรามีขอบเขตการอภิปราย นักวิทยาศาสตร์จะเรียกว่า boundary หรือขอบเขตการทดลอง ส่วนนักดาราศาสตร์จะใช้คำว่า observable universe หรือจักรวาลที่สังเกตได้

การเมืองและกระบวนการทางเมือง จึงอธิบายได้ด้วยกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เกิดการโต้เถียง เป็นวิธีเดียวกันที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ เพียงแต่ขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์ในปัจจุบันกว้างมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น สังคมควบคุมได้ยากขึ้น เมื่อก่อนการถกเถียงเกิดขึ้นกับนักคิดไม่กี่คน แต่ทุกวันนี้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ถกเถียงได้หมด

ถ้าการเมืองดี วิทยาศาสตร์จะขับเคลื่อนผู้คนและสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร 

คงต้องนิยามความคำว่า ดี ก่อน ดีสำหรับเราคือคนคิดแบบวิทยาศาสตร์ แล้วถ้าการเมืองดีในมุมที่คนคิดแบบวิทยาศาตร์มากขึ้น สังคมไทยจะเต็มไปด้วยการโต้เถียงที่มีประโยชน์เพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่การเถียงเพื่อเอาชนะ การถกเถียงอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งที่มีค่ามากถ้าเราเรียนรู้ที่จะทำ

กฎการเคลื่อนที่ข้อแรกของนิวตันบอกว่า action = reaction อยากทราบว่าการยื่นโบว์ขาวของคุณเป็น action (แรงกิริยา) หรือ reaction (แรงปฏิกิริยา) 

action เพราะเราเปิดก่อน (ตอบทันที) เราพยายามก่อกวนความคิดของเจ้าหน้าที่ในสิ่งที่เขาอาจจะไม่เคยคิดมาก่อน หรือเขาไม่เคยฝึกสอนให้รับมือมาก่อนว่า ถ้ามีผู้ชุมนุมมอบโบว์ขาวให้จะต้องทำยังไง ส่วน reaction คือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเจ้าหน้าที่ คนแรกไม่รับ คนที่สองไม่รับ คนที่สามรับ สองคนแรกจะคิดยังไงกับคนที่สาม แล้วคนที่สามคิดยังไงกับคนสองแรก แล้วนายเขาจะคิดยังไง

แต่ถ้ามองย้อนกลับว่า อะไรคือ action ที่ทำให้เรา reaction โดยการยื่นโบว์ขาว คือเรามองเห็นภาพการใช้ความรุงแรงเกินกว่าเหตุ ในวันที่เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล (14 ตุลาคม 2563) เรารู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะงัดกระบวนท่านี้มาก่อกวนทางความคิดให้เกิดการตั้งคำถามว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่

ส่วนคืนวันที่ 16 ตุลาคม จุดชุมนุมแยกปทุมวัน เรายังทำ action เดิม แต่ reaction เปลี่ยน เพราะเขางงและไม่รู้จะทำยังไง เลยจับเราไป ซึ่งตรงกับ status quo ของเขา แต่สิ่งที่ตามมา ยิ่งเกิดการตั้งคำถามว่า ทั้งๆ ที่ชุมนุมกันโดยไม่มีอาวุธ เจ้าหน้าที่มาสลายและจับผู้ชุมนุมด้วยข้อหาอะไร ภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพความรุนแรงทั้งหมด

คุณมองว่าสิ่งที่ตัวเองทำ สร้างแรงกระเพื่อมหรือทำให้ผู้คนในสังคมรับรู้ถึงการเรียกร้องทางการเมืองครั้งนี้อย่างไร

เราคิดว่าทุกคนสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายของแต่ละคนคืออะไร สำหรับเรา ต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พูดคุยกันได้อย่างเปิดกว้าง และเคารพความเห็นของกันและกัน เรามองว่าวิธีการยื่นโบว์จะช่วยให้สังคมไปถึงจุดนั้นได้ โดยไม่เกิดความรุนแรงใดๆ คล้ายกับว่าเราเป็นลูกศรหนึ่งที่ชี้ไปในทางนั้น ซึ่งลูกศรของคนอื่นอาจชี้ไปในทางเดียวกัน หรือต่างจากเราก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วทุกคนต้องการขับเคลื่อนสังคมไปในทางทีดีกว่าเดิมเหมือนกัน

ถ้าเข้าใจคอนเซ็ปต์ status quo ที่ว่าบางคนต้องรักษาสถานะเดิมทางสังคมและการเมืองไว้จึงแสดงท่าทีหรือเลือกข้างอย่างชัดเจนไม่ได้ ก็จะเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมบางคนนั้นไม่ออกมา call out

ใช่ แต่ status quo สำหรับเราเกี่ยวข้องสองเรื่อง อย่างแรก คือ ปลดตัวเองออกมา อย่างที่สอง เอาไว้ทำความเข้าใจ อย่างน้อยถ้าใครยังต้องอยู่ใน status quo ต่อไป ก็ควรทำความเข้าใจว่า อะไรทำให้หลุดออกมาไม่ได้

เราเชื่อว่าวันหนึ่ง ถ้าสังคมพร้อม แล้วการออกจาก status quo ไม่มีมีราคาต้องจ่ายมากมาย ก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากที่เราจะหยุดพ้นออกมา เหมือนกับเรื่อง LGBTQ ความเท่าเทียมทางเพศ การยอมรับด้านศาสนา ในอดีตสังคมไม่เคยยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูด แต่วันหนึ่งก็ต้องพูดถึงอยู่ดี เพราะไม่พูดไม่ได้แล้ว ไม่แสดงออกไม่ได้แล้ว

แล้วคุณมีราคาที่ต้องจ่ายไหม บางคนอาจบอกว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งบางสิ่ง อาจต้องสูญเสียบางอย่างไป

เรารู้ว่าจะต้องสูญเสียอะไร แต่เราก็รู้ว่าจะได้อะไรมา การแสดงออกทางการเมืองของเรา ย่อมทำให้ลูกค้าบางคนสับสนว่านี่คืออะไร แล้วเราจะยังทำงานร่วมกันได้อยู่ไหม ซึ่งเป็นชุดความคิดแบบเก่า แสดงว่าเรายังประเมินราคาที่ต้องจ่ายกันอยู่

เชื่อว่าช่วงนี้หลายคนวัดใจและประเมินราคาที่ตัวเองยอมจ่ายได้อยู่ตลอด แต่เราก็รู้ว่าวันหนึ่งในอนาคต บริบทสังคมจะต้องเปลี่ยน เมื่อวันนั้นมาถึงแล้วมองย้อนกลับมา เราจะพบว่าการกระทำของเราในวันนี้ไม่ใช่ราคาที่ต้องจ่ายเสมอไป แต่เป็นการลงทุนเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่าในวันหน้า

เราจึงมองว่า ณ ปัจจุบัน เรามีความเชื่อ มีหลักการอะไร มีทัศนคติยังไงกับสังคม มีมุมมองต่อเพื่อนมนุษย์ยังไง แล้วเราพยายามรักษาตัวเราเอาไว้ โดยไม่ยอมให้การประเมินราคาซึ่งอาจจะสูงเกินจริงมาปั่นป่วนหรือเปลี่ยนความตั้งใจของเรา

ขณะถูกควบคุมตัว เกิดอะไรขึ้นกับภายในใจของคุณ 

คนใกล้ชิดจะรู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ข้างใน เรามีแผนอยู่ในหัว เราประเมินราคาที่ต้องจ่ายทุกอย่างเอาไว้แล้ว ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พอถูกควบคุมตัวขึ้นไปบนรถจึงไม่ได้รู้สึกตกใจอะไร เพราะเรายังมีสติมากๆ ตอนอยู่ในรถเรายังตะโกนออกมาให้ทุกคนได้ยินว่า อย่ายอมแพ้ นี่เป็นความรุนแรงของรัฐและเจ้าหน้าที่ สุดท้ายแล้วพวกเขาต่างหากที่เป็นฝ่ายต้องจ่ายและถูกประณาม

การกระทำของเราในวันนี้ไม่ใช่ราคาที่ต้องจ่ายเสมอไป แต่เป็นการลงทุนเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่าในวันหน้า

ความรักและความเข้าใจสำคัญอย่างไรกับสิ่งที่คุณทำ

เป็นสองอย่างที่เราพยายามทำความเข้าใจมาตลอด เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปล่อยอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ เราทุกคนถูกกำหนดไว้ในดีเอ็นเอเลยว่า เมื่อเกิดมาต้องมีคนคอยเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้น ความรักและความช่วยเหลือเกื้อกูลกันจึงมีอยู่ในความเป็นมนุษย์แต่แรก แล้วธรรมชาติก็ออกแบบมาให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกันและสื่อสารกัน แต่จะสื่อสารได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจอะไรเหมือนๆ กัน ซึ่งถูกพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นชุดความคิดที่ซับซ้อนอย่างเช่นวัฒนธรรมที่เราใช้ชีวิตในปัจจุบัน เช่น เอาเงินมาเท่านี้บาท เราเชื่อร่วมกันว่านี่คือจำนวนที่มีนัยสำคัญพอสำหรับแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของชิ้นหนึ่งได้

นี่คือความรักและความเข้าใจที่เราเข้าใจ เข้าใจหลักพื้นฐานของการเป็นสัตว์สังคมก่อน แล้วค่อยพัฒนาไปถึงสิ่งที่อยู่ภายในใจ ที่ไม่ได้แสดงออกมา

คุณบอกว่าตัวเองอ่านหนังสือเยอะ ทำให้ผมนึกถึงคำพูดหนึ่งของฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) ที่ว่า Reading maketh a full man หรือการอ่านทำให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ คุณคิดเห็นอย่างไร  

ถ้าพูดถึงความเป็นมนุษย์ เราชอบมุมมองของเรอเน เดการ์ต (René Descartes) มากที่สุด คือ Cogito, ergo sum หรือ I think, therefore I am ไม่ว่าจะอ่าน จะเขียน หรือพูดคุย ทุกอย่างมาจากความคิด เมื่อมนุษย์คิดได้ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งมากๆ เท่ากับย้ำการมีตัวตนของเราแล้ว

คุณให้ความสำคัญกับความคิด แต่ความคิดบางอย่างอาจไม่ได้รับการยอมรับทันที เพราะมนุษย์กลัวความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่สมัยโบราณ กว่าความคิดหนึ่งๆ จะได้รับการยอมรับอาจผ่านมาเป็นร้อยเป็นพันปี สิ่งที่เป็นมาในอดีต สะท้อนกลับมาสู่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้อย่างไร 

ใช่ มนุษย์หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยอาจรู้สึกหวาดกลัวยิ่งกว่าบางชนชาติ คือ สังคมเราตีตราว่าราคาของการคิดต่างและการไม่เชื่อฟังมันสูงเหลือเกิน เราเชื่อว่ามนุษย์ทั้งโลกไม่ว่าจะในวัฒนธรรม ภาษา หรือชนชาติไหนย่อมมีราคาของการคิดต่าง แต่ราคาของการคิดต่างมันลดลงมามาก ขณะที่ในสังคมไทยยังมีคนถูกทำร้าย คนรุ่นใหม่จึงเป็นตัวเร่งให้ความคิดใหม่ๆ เป็นที่ยอมรับ เพราะพวกเขารู้สึกว่า ปล่อยให้เป็นเหมือนเดิมต่อไปไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยที่สุด วางหมุดหมายไว้ก็ยังดี ว่าจะต้องเปลี่ยนไปในทางไหน เหมือนที่คณะราษฎร 2475 ขบวนการนักศึกษา 6 ตุลา คนเสื้อแดงพฤษภา 53 ทำไว้ พวกเราต้องวางหมุดหมายต่อกันไปเรื่อยๆ เมื่อคนรุ่นหน้าๆ มองย้อนกลับมา พวกเขาต้องไม่ด่าเราว่าทำไมถึงทนกับสังคมแบบนี้ได้

ความรู้เกี่ยวกับความรู้ผิดชอบชั่วดีอย่างไร

ขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายของเราคืออะไร ถ้าเรามองว่าเป้าหมายคือการทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ย่อมเกี่ยวกับความผิดชอบชั่วดี การกระทำของเราจะบอกเองว่าดีสำหรับมนุษยชาติ แต่ถ้ามองว่าเป้าหมายคือมีอำนาจยิ่งใหญ่ ก็เกี่ยวข้องกับความผิดชอบชั่วดีเหมือนกัน แต่ดีสำหรับบางคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยไม่มองว่าคนอื่นสมควรได้รับความดี การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงเกิดขึ้น

นอกจากความโง่เขลา คุณต้องต่อสู่กับสิ่งใดอีก 

(นิ่งคิด) ความกลัว ถ้ากล้ามากก็ตาย ถ้ากลัวมากไปก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกคนอยู่แล้ว ตั้งแต่มนุษย์วิวัฒนาการเป็น Homo sapiens เมื่อมีสัตว์ที่ไม่เคยเห็นตรงหน้า ถ้ากล้าเดินเข้าไปหาอาจถูกสัตว์ทำร้ายจนตาย แต่ถ้าเราไม่กล้าออกจากถ้ำไปเผชิญหน้า ก็ไม่เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนถึงกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวหลุดออกจากชุดความคิดเดิมๆ status quo เดิมๆ เราไม่ได้มองถึงขั้นเป็นการต่อสู้เด็ดขาดว่าต้องกำจัดให้หมดหมดสิ้นไป แต่เป็นหาจุดพอดีระหว่างความกล้ากับความกลัว แค่อย่าให้ความกลัวมีเยอะเกินไป เพราะถ้าเยอะเกินไปก็อย่างที่เห็น ประเทศไม่ไปไหนสักที

อะไรคือคุณค่าที่แท้จริงของการต่อสู้เพื่อเอาชนะความโง่เขลา 

มนุษย์ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำให้เกิดการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ มีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ขึ้นมา เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันว่ามนุษย์ควรใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างไร เพราะคงไม่มีโศกนาฏกรรมใดที่สะท้อนให้เห็นความโง่เขลาของมนุษย์ได้ไปมากกว่าการสูญเสียมนุษย์เป็นล้านคนในสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกแล้ว ดังนั้น การกำจัดความโง่เขลาในยุคสมัยนี้ คือ การยอมรับว่า ณ ปัจจุบันมนุษย์ยังดูแลกันได้ไม่ดีพอ 

สิ่งที่คุณหวังในอนาคตคืออะไร

มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ถ้าเราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขได้ อย่างน้อยมนุษย์ในยุคนี้จะกลายเป็นตัวอย่างให้มนุษย์ในอนาคตได้ศึกษา

เรามองว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์ต้องบันทึกตราอะไรบางอย่างในประวัติศาสตร์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ วัฒนธรรม หรืออารยธรรม คล้ายกับเรื่องราวในนวนิยายชุดสถาบันสถาปนา หรือ Foundation Trilogy ของไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ที่ว่าศาสตร์ความรู้ต่างๆ จะทำให้ยุคมืด หรือความมืดมิดในสังคมมันสั้นลง เพราะมนุษย์เตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติในอนาคตได้

แล้วความหวังอันใกล้ในบริบทประเทศไทยล่ะ

อย่างน้อยคิดแบบวิทยาศาสตร์ได้ก็เป็นก้าวที่สำคัญแล้ว ขอร้องเถอะ ขอร้อง (เน้นเสียง) ขอพื้นที่เปิดให้ทุกคนสามารถถกเกถียงได้อย่างอิสระและมีอารยะ อย่าใช้ความรุนแรง อย่าใช้กำลัง อย่าตบเด็ก อย่าเข่นฆ่า เพราะไม่มีประโยชน์ใดๆ