ทำไมเราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์?
ความน่าสงสัยข้อหนึ่งต่อการตั้งคำถามนี้อยู่ที่ว่า เพราะเหตุใดการเรียกร้องสิทธิสตรีจึงถูกตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย ราวกับเป็นคำถามบังคับที่คงอยู่คู่ความเป็นมนุษย์ไปตลอด
เพียงคำถามเดียว ปลุกเร้าความรู้สึกอย่างไร้กรอบกำหนด บางคนอาจเห็นเป็นสิ่งนิยามความหมายที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า ว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเราจะยืนหยัดเพื่อตัวเองและผู้อื่นได้หรือไม่ ด้วยวิธีการอย่างไร ทั้งหมดเป็นความหลากหลายจากความคิดและมุมมองผ่านประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่าง แต่ในทุกๆ เรื่องราวเหล่านั้น ย่อมมีจุดร่วมบางอย่างเสมอ
อาจารย์แอน – ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญประเด็นเพศสภาพ (gender) และเพศวิถี (sexuality) ซึ่งร่วมทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนในตำแหน่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ตั้งถามและหาคำตอบจากความน่าสงสัยนี้ด้วยตัวของเธอเอง
คำตอบที่เธอได้รับไม่ใช่เรื่องใหม่ (อย่างน้อยก็สำหรับมนุษยชาติ) แต่กลับสร้างความประหลาดใจอย่างมากเพราะไม่เคยมีใครให้คำตอบกับเธอมาก่อนว่าแท้จริงแล้วสตรีนิยม เป็นมากกว่าการเรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิง แต่หมายรวมถึงทุกๆ คน (แม้กระทั่งผู้ชาย) โดยไม่มีเงื่อนไขใด
เมื่อค้นลงไปให้ลึกถึงก้นบึ้งของใจ เธอเชื่อว่ามนุษย์เราต่างมีความเจ็บปวดเป็นของตัวเอง จากการถูกกีดกัน กดทับ และแบ่งแยกให้เป็นอื่น นี่คือจุดร่วมที่มนุษย์มีเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ทันรู้ตัวเท่านั้น
สำหรับคนที่รู้ตัวเช่นเธอ ย่อมเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ในความเป็นมนุษย์ หากผ่านความเจ็บปวดมาแล้ว ถ้าเป็นไปได้ ย่อมไม่ต้องการให้ใครคนอื่นต้องตกอยู่ในความทุกข์เช่นเดียวกัน ความเข้าใจตรงนี้เองกลายเป็นพลังและแรงผลักดันให้เธอ รวมถึงคนอื่นๆ อีกมากมายในสังคม ลุกขึ้นมาส่งต่อคำตอบที่เคยได้รับ
ทำไมเราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์ โดยเฉพาะเพศชายหรือคนที่ถือครอบความเป็นชาย (masculinity)
ถ้าใครบอกว่าแนวคิดสตรีนิยมอคติ ปกป้องแต่ผู้หญิง นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะสตรีนิยมเป็นแนวคิดที่ใจกว้างมาก เสนอให้คนรู้จักให้อภัยกัน แล้วมุ่งไปจัดการกับระบบชั่วร้ายที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสตรีนิยม จึงไม่ได้เป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกเพศ ทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ และทุกระดับของสังคม เพียงแต่ว่าสาเหตุที่ใช้ชื่อสตรีนิยม เพราะพัฒนาการของแนวคิดนี้ เริ่มต้นมาจากความเจ็บปวดของผู้หญิงที่ถูกกดทับมาเป็นเวลานานนับพันปี แล้วสังคมก็เพิ่งจะรับรู้ถึงความอยุติธรรมที่ผู้หญิงต้องเผชิญ เมื่อประมาณปลายทศวรรษ 1800 นี้เอง
ความคิดทำนองว่า สตรีนิยมเท่ากับผู้หญิง จึงเป็นมายาคติจากสังคมชายเป็นใหญ่ ที่พยายามปลูกฝังอคติว่าแนวคิดนี้จะลุกขึ้นมากำจัดผู้ชาย ซึ่งไม่ใช่ความจริงเลย สตรีนิยมไม่ได้กำจัดผู้ชาย แต่ต้องการกำจัดระบบที่เอื้อให้บางเพศมีอภิสิทธิ์เหนือกว่า แล้วใช้อำนาจนั้นกดขี่อีกเพศหนึ่งต่างหาก
เชื่อว่าทุกคนมีเรื่องราวความเจ็บปวด ประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกกระทำคนหนึ่งอาจเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเราไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำเหมือนกันหรือผู้กระทำ แม้เพียงแค่เศษเสี้ยวเดียว แต่กลับรุนแรงมากพอจนเกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนภายในใจ แล้วแรงสั่นสะเทือนนั้นจะปรับเปลี่ยนสำนึกใหม่ ทำให้เราเป็นคนใหม่ ดังนั้น ใครก็ตามที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิสตรี ไม่ว่าจะมีเพศอะไร หรือมีตำแหน่งแห่งที่ใดในสังคม โดยเฉพาะผู้ชาย เพราะว่าเขารับรู้ได้ถึงความอยุติธรรมจากประสบการณ์ร่วม
ปัจจุบัน ผู้ชายจำนวนมากลุกขึ้นมาทำงานเพื่อหยุดความรุนแรงในผู้หญิง ต่อให้ไม่ได้พูดป่าวประกาศว่าตัวเขาเป็นเฟมินิสต์ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือความรู้สึกข้างใน เมื่อแรงสั่นสะเทือนได้เกิดขึ้นแล้ว เขาย่อมไม่กลับไปเป็นคนเดิมอีก คือ คนที่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมที่ผู้หญิงต้องพบเจอ
ตัวคุณเองมีเรื่องราวความเจ็บปวดที่เป็นประสบการณ์ร่วมในลักษณะไหนบ้าง ซึ่งกลายมาเป็นแรงสั่นสะเทือนที่เปลี่ยนแปลงตัวตนให้คุณสนใจแนวคิดสตรีนิยม
ภาพของแม่ที่ทำงานหนักมากเป็นภาพที่สั่นสะเทือนใจอยู่ตลอด เราเกิดและเติบโตมาในครอบครัวและสังคมที่มีความรุนแรง เป็นครอบครัวที่มีลักษณะปิตาธิปไตย ทุกคนในบ้านยอมรับในการจัดวางบทบาทหญิงชายแบบปิตาธิปไตยโดยไม่มีใครตั้งคำถาม แต่สำหรับตัวเราในวัยเด็กตอนนั้น ยอมรับไม่ได้ และเฝ้าถามตัวเองเสมอว่า ทำไมแม่ไม่มีเวลาได้หยุดพักเลย
แม่ของเราเป็นครู หลังจากเลิกเรียน ตอนเย็นจะมีเด็กๆ ตามมาเรียนพิเศษที่บ้าน ขณะเดียวกันแม่ก็ต้องทำกับข้าว ทำงานบ้านทุกอย่าง งานผู้ชายแม่ก็ทำ ถ้าวันไหนฝนตกหลังคารั่ว แม่จะปีนขึ้นไปซ่อม ถ้าไฟเสีย แม่จะเป็นคนเปลี่ยนฟิวส์ เสื้อผ้าแม่ก็เป็นคนตัดให้ แม่สอนให้อ่านออกเขียนได้ การบ้านแม่ก็ช่วยทำ เราไม่เคยเห็นผู้หญิงคนนี้ได้พักเลย ทำให้ตั้งคำถามว่า ไหวไหมถ้าต้องโตขึ้นไปเป็นเหมือนแม่ เราไม่ต้องการเป็นผู้หญิงที่คอยทำเพื่อคนอื่นตลอดเวลา จนไม่เคยมีเวลาให้ตัวเอง เราตั้งคำถามต่อไปอีกว่า แล้วผู้หญิงคนอื่น บ้านอื่น เป็นแบบนี้หรือเปล่า ต้องทำงานหนัก และคอยดูแลทุกคนในครอบครัวอย่างดีที่สุด เราพบว่าบ้านไหนก็เหมือนกันหมด ตอนนั้นรู้สึกว่า โตไปเป็นได้แค่แม่กับเมียเหรอ นี่หรือคือชีวิตที่เราต้องเจอตอนโต ตั้งแต่ชั้นประถม ในหัวของเรามีแต่คำถามนี้
แนวคิดสตรีนิยมผลิกวิธีคิดในเชิงจิตวิญญาณ ศาสนาไม่ได้ช่วยให้เราให้อภัยผู้กระทำความผิดได้อย่างหมดจด แต่กลับเป็นแนวคิดสตรีนิยมที่ทำให้เราให้อภัยผู้ชายในฐานะปัจเจกได้
ขณะที่พ่อก็เป็นลักษณะของผู้ชายทั่วไป คือ ทำงานอย่างเดียว กลับบ้านมาก็พักผ่อนอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี รู้สึกว่าเป็นผู้ชายโคตรสบายเลย เราเห็นระบบชนชั้นในบ้านตั้งแต่เด็ก แล้วไม่มีใครตั้งคำถาม ไปโรงเรียนคุณครูก็ไม่เคยพูดถึง ไม่เคยมีเนื้อหาในตำราเรียนเล่มไหนที่ตอบคำถามเหล่านี้ เราได้แต่เก็บความสงสัยเอาไว้ เราเป็นเด็กผู้หญิงที่ไม่ค่อยเชื่อฟังใคร โดยเฉพาะคำสอนที่ผู้หญิงบอกให้อยู่ในกรอบของผู้หญิงที่ดี เราฝ่าฝืนทุกกฎตั้งแต่ตอนนั้น เพราะไม่อยากเป็นแม่และเมีย 24 ชั่วโมง มันหนักหนามาก แม่เราสุดยอดก็จริง แต่ถ้าให้เดินตาม เราไม่เอา แม้กระทั่งเป็นวัยรุ่นเรียนชั้นมัธยม ก็ยังไม่พบคำตอบว่าทำไมการเป็นแม่และเมียของผู้หญิงจึงต้องเหนื่อยขนาดนี้
แล้วคุณค้นพบคำตอบนั้นเมื่อไหร่
ตอนเรียนปริญญาโท ประมาณ พ.ศ. 2541 หรือ 2542 เราเรียนต่อคณะวารสารศาสตร์ไปแล้ว แต่อยู่ๆ ธรรมศาสตร์ก็เปิดหลักสูตรสตรีศึกษาขึ้นมา ซึ่งจัดเสวนาบ่อยมา มีแต่หัวข้อน่าสนใจ เพราะตั้งคำถามเหมือนที่เราเคยสงสัยตอนเด็กเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิง เราจึงเข้าร่วมกิจกรรมของหลักสูตรนี้เท่าที่เขาเปิดให้คนนอกเข้าร่วม ปรากฏว่าเป็นการเปิดโลกใบใหม่ เราอะเมซิ่งมาก เพราะทฤษฎีสตรีนิยมพัฒนามาจากชีวิตและความเจ็บปวดของผู้หญิง ที่สำคัญตอบคำถามที่เราเคยสงสัยตอนเด็กได้หมดสิ้น
แนวคิดสตรีนิยมผลิตวิธีคิดที่ไม่ใช่แค่ให้รู้จักตัวตนและสังคมแต่มันลงลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ สำหรับเรา ณ ช่วงเวลานั้นศาสนาไม่ได้ช่วยให้เราให้อภัยผู้กระทำความผิดได้อย่างหมดใจ แต่กลับเป็นแนวคิดสตรีนิยมที่ทำให้เราให้อภัยผู้ชายในฐานะปัจเจกได้
อคติที่เรามีกับคุณพ่อและครอบครัวแบบปิตาธิปไตยจึงคลี่คลายลง จากที่เคยรู้สึกว่า พ่อใช้แต่ความรุนแรง อยู่บ้านไม่แบ่งเบาภาระแม่ ไม่อินังขังขอบกับงานบ้านและบทบาทเลี้ยงดูลูก อ๋อ ไม่ใช่ว่าเขาตั้งใจจะเป็นอย่างนั้น หรือเกิดมาเพื่อเป็นอย่างนั้น แต่ระบบสังคมวัฒนธรรมหล่อหลอมให้เขากลายเป็นเหยื่อของระบบไปด้วย ซึ่งผู้ชายเป็นเหยื่อในระดับรุนแรงมากอย่างไม่รู้ตัว เพราะพวกเขาเป็นคนสุดท้ายของระบบที่ทำให้เราตระหนักว่าเขากำลังถูกระบบชักใย และเป็นผู้ก่อความรุนแรงนั้น เมื่อผู้กระทำไม่ได้รับความเจ็บปวดขณะกระทำ ฉะนั้น การที่เขาจะเกิดแรงสั่นสะเทือนในใจจนทำให้ตระหนักรู้ตัวแล้วก้าวออกจากกรอบความคุ้นชินใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็น comfort zone ของเขา จึงเกิดขึ้นยากมาก เมื่อเราเข้าใจเบื้องหลังการกระทำของเขา เราจึงเข้าใจพ่อ และผู้ชายทุกคนที่กระทำรุนแรงในทุกๆ ระดับ ผู้สร้างความรุนแรงที่แท้คือระบบ มนุษย์เป็นแค่เหยื่อของระบบ ถ้าจะแก้ปัญหานี้ต้องจัดการระบบ แล้วสังคมจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่หากมุ่งปรับแค่ระดับพฤติกรรมก็จะทำได้แค่ทีละครอบครัวซึ่งมันจะช้ากว่าและไม่ยั่งยืนเท่า
กล่าวได้ไหมว่า คุณสมาทานแนวคิดสตรีนิยมว่าเป็นศาสนาที่คุณนับถือ
แนวคิดสตรีนิยมเปิดดวงตาดวงใหม่ทำให้เรารู้จักให้อภัยคนอื่น ไม่มุ่งโทษปัจเจกก่อนว่าเป็นเพราะกมลสันดาน ไม่มีวิธีคิดแบบนั้นเลย เพราะเรารู้ว่าเบื้องหลังพฤติกรรมทุกอย่างโยงใยกับระบบต่างๆ ในสังคมเสมอ ซึ่งคอยชักใยผู้คนให้ทำและคิดอย่างเชื่องเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม ซึ่งบางคนตลอดชีวิตมองไม่เห็นธรรมะข้อนี้จึงมุ่มโทษแต่ปัจเจกอยู่ร่ำไป
ดังนั้น ถ้าจะนับแนวคิดสตรีนิยมว่าเป็นอีกหนึ่งศาสนา ในมุมมองส่วนตัว เรายอมรับ เพราะอย่างน้อยแนวคิดนี้ดึงให้เราหลุดพ้นจากอคติและการกล่าวโทษ ทำให้เราปล่อยวางและให้อภัยคนที่กระทำความรุนแรงต่อคนอื่นด้วยเหตุแห่งเพศ เพราะเราเข้าใจว่าเกิดจากระบบ ไม่ใช่เขาเกิดมาเพื่อจะเป็นอย่างนั้น
มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมามีความดีงามเสมอเหมือนกันหมดสิ้น แต่อยู่ที่ว่าเขาตกอยู่ในวัฏจักรความรุนแรงของสังคมแบบไหน สังคมนั้นก็จะเลี้ยงดูเด็กทารกให้เติบโตมาเป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อคนอื่นอย่างไม่รู้จบสิ้น
นอกจากปรับความเข้าใจผู้ชายในฐานะปัจเจก แนวคิดสตรีนิยมขัดเกลาหรือเปลี่ยนแปลงคุณในแง่มุมไหนอีก
ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวของเราดีขึ้น และทำให้รู้สึกภูมิใจในความเป็นผู้หญิง ที่สำคัญทำให้เรารู้สึกเข้มแข็งและมีพลังอำนาจภายใน ทำให้กล้าหาญ หยัดยืน และสงบนิ่ง
เมื่อคิดว่าเป็นธรรมะรูปแบบหนึ่ง เมื่อค้นพบสิ่งนี้แล้ว เราคิดว่าต้องส่งต่อแนวคิดสตรีนิยมให้คนอื่น จะได้ไม่มีผู้หญิงคนไหนต้องทุกข์ทรมานในฐานะเหยื่อของระบบความอยุติธรรมด้วยเหตุแห่งเพศอีกต่อไป นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ แล้วเราก็คิดไว้ด้วยว่า ต้องใช้เครื่องมือทางการศึกษาและสื่อ เพราะตอนเด็กๆ ทั้งสองอย่างนี้ไม่เคยให้คำตอบอะไรเราเลย หลักสูตรไม่มีให้เรียน ครูไม่สอนเรื่องพวกนี้ในโรงเรียน สื่อไม่นำเสนอเนื้อหาดีๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจต้นตอของปัญหาแล้วหยุดความอยุติธรรมทั้งหมดที่เกิดจากเพศ
แต่ก่อนจะส่งต่อแนวคิดสตรีนิยมได้ ต้องรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน คุณศึกษาแนวคิดนี้อย่างไรโดยเฉพาะในบริบทสังคมไทย แล้วข้อค้นพบของคุณเป็นอย่างไร
เลือกศึกษาด้วยวิธีวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ (historical approach) เพื่อย้อนกลับไปดูต้นตอความรุนแรงทางเพศ ถ้าเราจะรื้อระบบโครงสร้างคร่ำครึและอนุรักษ์นิยมสูง ซึ่งไม่เคยให้โอกาสใดๆ หรือเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิง ก็ต้องสืบสาวดูว่าระบบนั้นมาจากอะไร
เราอ้างอิง พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นปีที่เราเกิด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm) หลายอย่าง โดยเฉพาะการเมือง และการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม รวมถึงด้านสิทธิผู้หญิงด้วย ซึ่งถูกนำออกมาเคลื่อนบนท้องถนน ต่างจากสมัยก่อน แนวคิดสตรีนิยมถูกพูดอยู่แค่ในสิ่งพิมพ์เท่านั้น เช่น ในนิตยสารกุลสตรี สตรีศัพท์ นารีเขษม สมัยรัชกาลที่ 5 และ 6
แต่ในปีที่เราเกิด นอกจากขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย กลุ่มนิสิต นักศึกษา ปัญญาชนในยุคนั้น เขาก็เคลื่อนเรื่องสิทธิสตรีไปด้วยกัน โดยเฉพาะประเด็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีอาชีพ มีการศึกษา ได้รับค่าจ้างเท่ากับผู้ชาย รวมทั้งการตั้งคำถามต่อค่านิยมชายเป็นใหญ่ การตั้งคำถามเกี่ยวกับความงาม เกิดขึ้นในตอนนั้นแล้วลงมาบนถนน
ความเฟื่องฟูของประชาธิปไตยในปีนั้น ส่งผลต่อมารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 เป็นฉบับแรกที่บัญญัติให้หญิงชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และประชาชน สิทธิสตรีในประเทศไทยก้าวไปพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตยในยุคนั้น สอดคล้องกับบริบทโลกพอดี เพราะในปี พ.ศ. 2518 องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้เป็นทศวรรษของสตรี ปลดปล่อยผู้หญิงจากการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกดขี่ ถูกจองจำให้อยู่ในบทบาทแม่และเมียมาอย่างยาวนาน
เราเคยใช้เวลาอยู่แต่ในหอสมุดแห่งชาติ เราใช้เครื่องมือทางประวัติศาสตร์ศึกษาสื่อที่พูดถึงสตรี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีหนังสือจดหมายเหตุฯ ‘บางกอกรีกอเดอ’ (The Bangkok Recorder) ของหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ศึกษานิตยสารในสมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 เช่น กุลสัตรี สตรีศัพท์ นารีเขษม ฯลฯ ซึ่งเป็นสื่อสตรีหัวก้าวหน้าในยุคนั้น ศึกษามาจนกระทั่งถึงสื่อในยุค พ.ศ. 2519 เพราะเป็นช่วงปีที่เราไม่เคยรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อ่านเอกสาร อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์เก่าที่มีในหอภาพยนตร์แห่งชาติ ดูชิ้นงานโฆษณาในสิ่งพิมพ์ ศึกษาวรรณกรรมด้วย ดูวิธีคิดของนักเขียน เพราะวรรณกรรมเป็นพื้นที่เสรี ทำให้เห็นร่องรอย รอยแยกของฐานคิดของผู้คนในสังคมต่อความเป็นหญิงชายในยุคนั้น ทำให้เราเห็นระบบปิตาธิปไตยที่ทำงานอย่างแยบยลผ่านสถาบันสื่อ
สิ่งที่ค้นคว้ามาทั้งหมดกลายเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ก่อร่างกลายเป็นตัวเราที่เข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ทำให้เราเชื่อมโยงระหว่างชีวิตประสบการณ์ในวัยเด็ก กับผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงตลอดช่วงระยะเวลาเกือบร้อยปีที่เราศึกษา แล้วเรื่องราวของคนเหล่านั้นก็หลอมรวมกันเข้ากับชีวิตเรา ประหนึ่งว่าเวลาเราเจอเรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงปรากฏในพื้นที่สื่อ เราจะร้องไห้ไปกับเขา ภายในของเราสั่นสะเทือน รู้สึกสะเทือนใจเวลาเจอข่าวผู้หญิงถูกข่มขืน ถูกทำร้าย ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือได้รับค่าแรงไม่เท่าผู้ชาย
กระบวนการตรงนี้สะท้อนกลับมาสู่เรา ทำให้มองเห็นตัวเองชัดขึ้นมาก ยิ่งเข้าใจว่า ทฤษฎีสตรีนิยมที่เกิดจากเรื่องราว บาดแผล ความเจ็บปวดของผู้หญิงเป็นเรื่องจริง เมื่อความเจ็บปวดเหล่านี้มาถึงจุดที่บรรจบร่วมกันกับประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิง ผู้หญิงก็จะลุกขึ้นมาร่วมกันต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้
ฐานใจจึงทำให้การเคลื่อนไหวของแนวคิดสตรีนิยมทรงพลังชึ้น มีผู้หญิงจำนวนมากเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเหยื่อ เป็น change agent หรือผู้หญิงที่นำพาความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งต่อให้คนอื่นๆ ต่อไป
ดูเหมือนว่าทั้งแรงสั่นสะเทือนภายใน และการเกิดขึ้นของแนวคิดสตรีนิยมจากบาดแผลและความเจ็บปวดของชีวิต เกี่ยวข้องกับความรู้สึกร่วม และความเห็นอกเห็นใจ หรือ empathy เพราะให้ความสำคัญกับฐานใจ
ต้องเข้าใจก่อนว่าแนวคิดสตรีนิยมเกิดขึ้นมาจากฐานหัว (เหตุผลและความคิดตามแนวทางแบบเสรีนิยม) เพราะการปฏิวัติวิทยาศาตร์และอุตสาหกรรมได้วางแผนที่ใหญ่ให้กับโลกว่า มนุษย์ต้องใช้เหตุผลและการพิสูจน์สมมติฐานเป็นหลักดำเนินชีวิต และปฏิเสธเรื่องละเอียดอ่อนอย่างอารมณ์และความรู้สึก ปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของศาสนา
แต่การขับเคลื่อนแนวคิดสตรีนิยมโดยใช้ฐานใจ (ความรู้สึก) เป็นกระแสตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เพราะผู้หญิงถูกจัดวางให้เป็นส่วนของใจ เป็นเพศที่ใช้อารมณ์และความรู้สึก ซึ่งโลกวิทยาศาสตร์และวิธีคิดแบบลิเบอรัลมองเป็นความอ่อนแอ ไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องของผู้ตามหรือคนที่ต้องพึ่งพิงคนอื่นตลอดเวลาเท่านั้น
นักคิดคนสำคัญทางการเมืองในยุคบุกเบิก เช่น จอห์น ล็อค (John Locke) และฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) หรือแม้แต่สมัยโบราณอย่างอริสโตเติล ทุกคนมองผู้หญิงเหมือนกันหมดว่า เป็นเพศที่ขึ้นอยู่กับความอ่อนไหวเปราะบางเป็นหลัก ใช้เหตุผลไม่เป็น นักประชาธิปไตยในยุคแรก จึงมองไม่เห็นผู้หญิงอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองเลย เพราะอารมณ์และความรู้สึกเกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณและศาสนามากกว่า ไม่ใช่เรื่องสำคัญในการปกครอง
ขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมตั้งแต่คลื่นลูกที่หนึ่ง ซึ่งเรียกร้องสิทธิทางการเมืองราวต้นทศวรรษ 1900 ต่อมาคลื่นลูกที่สอง ช่วงทศวรรษ 70 ช่วงเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นการเคลื่อนไหวที่ใช้ฐานหัวทั้งหมด ต่อสู้เพื่อขอกฎหมายให้สิทธิ์ ให้ความเท่าเทียมกับผู้หญิง
ประมาณ 1980 การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมเริ่มเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม รับอิทธิพลมาจากแนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์น (Post-modern) เชิดชูความหลากหลาย ให้ความสำคัญกับผู้คนที่เคยตกขอบไป รวมถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศด้วย ในกระแสคลื่นลูกที่สาม เป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่โหยหาและเริ่มตั้งคำถามกับระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นผลผลิตของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะใช้ฐานหัวเป็นหลักโดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและจิตใจ มีอารมณ์ความรู้สึก
การเคลื่อนไหวด้านสตรีนิยมในช่วงนั้น จึงพยายามนำฐานใจ หรือจิตวิญญาณเข้ามาทำงานเพื่อสร้างความเป็นธรรม เกิดเป็นแนวคิดเชิง empowerment หรือเสริมพลังเติมเต็มศักยภาพภายในให้ผู้หญิงดึงอำนาจที่มีอยู่ภายใน เช่น ความกล้าหาญ ความเมตตา ความรัก ความกรุณา คุณค่าด้านดีที่ระบบทุนนิยมไม่เคยมองเห็นกลับขึ้นมาสู้กับความอยุติธรรมต่างๆ เพราะผู้หญิงไม่มีอำนาจภายนอก ไม่อาวุธ ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในการเมือง ผู้หญิงไม่ได้เป็นผู้ออกกฎหมาย ไม่ได้เป็นผู้บริหารระดับสูง
ประกอบกับเกิดกระบวนทัศน์ที่เรียกว่า contemplative education หรือการเรียนรู้ด้วยใจแบบใคร่ครวญ สำรวจตัวเอง ณ ชั่วขณะหรือในสภาวะนั้น สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจผ่านประสบการณ์ตรง แนวคิดนี้เติบโตขึ้นอย่างมากในการทำงานภาคประชาสังคมช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา การเรียนรู้ด้านสตรีนิยมและความเป็นธรรมทางเพศ ก็นำมาประยุกต์ใช้
ฐานใจจึงทำให้การเคลื่อนไหวของแนวคิดสตรีนิยมทรงพลังขี้น มีผู้หญิงจำนวนมากเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเหยื่อ เป็น change agent หรือผู้หญิงที่นำพาความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งต่อให้คนอื่นๆ ต่อไป
ภาพการเคลื่อนไหวของแนวคิดสตรีนิยมและการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศส่วนใหญ่เกิดขึ้นระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมากกว่าสื่อสารมวลชนด้วยซ้ำ อย่างในสังคมไทยทุกวันนี้ กลับกลายเป็นว่าพื้นที่สื่อกระแสหลักเลือกนำเสนอเรื่องเพศเพื่อความบันเทิง ด้วยวิธีล้อเลียน และสร้างความขำขัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงต้นตอปัญหาอะไร
สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยถูกกำกับด้วยวิธีคิดแบบทวิลักษณ์ (binary) คือ แบ่งคุณลักษณะความเป็นมนุษย์ออกเป็นแค่สองขั้ว ขั้วหนึ่งตรงตามมาตรฐาน กับขั้วตรงข้ามหรือตกขอบมาตรฐาน เช่น เพศหญิงชายคือมาตรฐาน ขั้วตรงข้ามคือ LGBTQ+ ร่างกายครบถ้วนสมบูรณ์คือมาตรฐาน ขั้วตรงข้ามคือความพิการ หรือผู้ชายคือมาตรฐานและความเป็นเหตุเป็นผล ขั้วตรงข้ามคือผู้หญิงทันที
เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้อยู่ในขั้วมาตรฐานจะกลายเป็นคนอื่น ความเป็นอื่นก็เป็นได้แค่ตัวตลกสร้างบันเทิงฉาบฉวย เป็นตัวประกอบ เป็นความผิดปกติ ที่ไม่สามารถเป็นศูนย์กลางของแก่นสารสาระหรือคุณค่าใดๆ ได้ เป็นรูปแบบของการไม่ยอมรับความหลากหลายและความแตกต่าง
แล้วคนเราก็มักจะเสพความไม่สมบูรณ์แบบเป็นสิ่งปลดเปลื้องความไม่สมบูรณ์แบบในตัว หมายความว่า เราจะเสพความไม่สมบูรณ์แบบของคนอื่น เพื่อเติมเต็มและยกระดับให้ตัวเราสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เป็นที่มาของการเอาร่างกายพิการมาล้อเลียน เอาปมด้อยคนอื่นมาพูด เอาคนที่มีเพศสภาพที่แตกต่างออกไปจากความเป็นหญิงและชายมาหัวเราะเยาะ หรือเอาคนดำมาแสดงเป็นของแปลกประหนึ่งดูสัตว์ในกรง (human zoo) สมัยก่อนครอบครัวชนชั้นสูงมักจะเอาคนจากชนเผ่ามาเลี้ยงดูเพื่อความบันเทิง หรือไม่ก็ให้มารับใช้ โดยเลือกเอาชาติพันธุ์ที่เราดูแคลน มองว่าไม่ใช่มาตรฐาน
บางคนตั้งคำถามว่า คิดอะไรเยอะแยะ ก็แค่เรื่องตลก ทำไมต้องจริงจัง หัวเราะไม่ได้หรือไง โลกขาดอารมณ์ขันเหรอ จริงๆ ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์นั้นมีไม่จำกัด เมื่อเราสร้างความขำขันแบบมีศิลปะได้ แต่เหตุใดสื่อจึงเลือกสร้างความขบขันด้วยมิติของการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
สื่อควรแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
สื่อต้องถอดรื้อสายตาแบบทวิลักษณ์ออกให้ได้ก่อน เลิกจับคนใส่กล่องดีชั่ว อ้วนผอม สมบูรณ์แบบบกพร่อง ขาวดำ สูงเตี้ย สวยขี้เหร่ ชายหญิง หญิงชาย LGBTQ+ เพราะนี่คือต้นตอปัญหา ถ้าถอดได้จะเห็นความหลากหลายในสังคม ซึ่งมีคุณค่าเท่ากันทั้งหมด เราจะชื่นชมความงามที่เกิดจากความแตกต่างเหล่านั้น เป็นวิธีหยุดความรุนแรงในสังคมได้ในระยะยาว
สื่อต้องเปิดพื้นที่โอบกอดความแตกต่างหลากหลายในความเป็นมนุษย์ให้ได้ ไม่ใช่กอดแต่ลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่เป็นขั้วคุณธรรม เมื่อทำได้จริง เราจะเห็นคนข้ามเพศได้เป็นผู้ประกาศข่าวในพระราชสำนัก เห็นผู้คนในมิติของเพศอื่นๆ มากขึ้น
ในระดับบุคคล ควรจัดการกับตัวเองอย่างไร
ถ้าเรากลับมาอยู่กับตัวเองได้ เราจะไม่พลั้งเผลอในสิ่งเหล่านี้ เพราะเราจะรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อเรารู้ตัวตอนนี้ตัวเองรู้สึกอะไร กำลังทำอะไร ร่างกายเราเคลื่อนไหวอย่างไร เราคิดอะไร เราจะพูดอะไร เราจะเป็นคนที่แท้ และจริงต่อเรื่องนั้น ไม่ใช่การแสดง ไม่ใช่ความพยายามจะดี เพราะคนที่พยายามจะดี ท้ายที่สุดจะหลุดและพลั้งเผลอ จนกระทำความรุนแรงกับผู้อื่นในลักษณะต่างๆ แค่กลับมาทวน ถ้าเรารู้สึกตัว ถ้อยคำหยาบคายคุกคาม การกระทำเหยียดกีดกันก็จะไม่ออกมาจากตัวเรา
คุณทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนในเชิงกฎหมายด้วย ตัวบทกฎหมายที่สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ก็น่าจะช่วยทลายกรอบคิดแบบ binary และเปิดกว้างให้สังคมยอมรับความหลากหลายทางเพศได้จริง
ถ้าฐานคิดของคนไม่เปลี่ยน ต่อให้มีกฏหมายใช้ก็ไม่มีประโยชน์ ประเทศไทยมี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 แต่จำนวนคนร้องเรียนเรื่องความอยุติธรรมด้วยเหตุแห่งเพศยังคงมีจำนวนไม่มาก แสดงว่าการบังคับใช้กฎหมายยังกระจายไม่ทั่วถึงความทุกข์ที่คนต้องเผชิญเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติ เรามักจะติดกับดักว่า ถ้ามีกฏหมายสมรสเท่าเทียม เปลี่ยนคำนำหน้านาม ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอื่นๆ แล้วทุกคนจะยอมรับทุกคนทุกเพศ แต่ความเป็นจริง ฐานคิดของคนยังไม่เปลี่ยนตาม กฏหมายเป็นเครื่องมือของเสรีนิยม แล้วเราก็มักจะปักใจเชื่อว่า เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ ดีที่สุดคือการทำงานกับฐานคิดคน (เน้นเสียง)
ถ้ารู้เท่ากันกับดับอำนาจ เราจะมีอิสรภาพและเสรีภาพที่แท้จริง คือสภาวะที่มนุษย์นั้นปลดแอกจากระบอบอำนาจทั้งมวล ไม่ใช่เสรีภาพที่จะพูด ที่จะเขียน ที่จะแสดงออก ตราบใดที่เราไม่ได้ตระหนักรู้ว่าชีวิตนี้ถูกอำนาจกี่ระบอบกี่ชั้นกดอยู่ แล้วปลดแอดอำนาจเหล่านี้ไม่ได้ นั่นคือไม่ใช่เสรีภาพที่แท้
การเปลี่ยนฐานคิด ทำให้คนเข้าถึงคำว่าอิสระภาพที่แท้จริง คือ การรู้เท่าทันว่าเราอยู่ภายใต้กรงขังของกับดักอำนาจใด ปัญหาคือคนรู้ไม่เท่าทัน จึงทำให้ตกเป็นเหยื่อของอำนาจนั้น เช่น ไม่รู้ว่าปิตาธิปไตยบงการชีวิตเรา ไม่รู้สึกว่าผู้หญิงจำนวนมากถูกกระทำรุนแรง เพราะเราเกิดมาเป็นผู้หญิงชนชั้นกลางที่ได้ประโยชน์จากระบบนั้น เดินตามท้องถนนแล้วปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ก็ตอบไม่ได้ แต่ไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบอะไร เพราะคิดว่าความรุนแรงทางเพศคงไม่มีวันเกิดขึ้นกับตัวเอง เมื่อมีอำนาจทางเศรษฐกิจ การศึกษา และชนชั้น จึงสิโรราบต่อระบบโดยไม่ตั้งคำถามกับระบบใดๆ
แต่ถ้ารู้เท่ากันกับดักอำนาจ เราจะมีอิสรภาพและเสรีภาพที่แท้จริง คือสภาวะที่มนุษย์นั้นปลดแอกจากระบอบอำนาจทั้งมวล ไม่ใช่เสรีภาพที่จะพูด ที่จะเขียน ที่จะแสดงออก ตราบใดที่เราไม่ได้ตระหนักรู้ว่าชีวิตนี้ถูกอำนาจกี่ระบอบกี่ชั้นกดทับอยู่ แล้วปลดแอดอำนาจเหล่านี้ไม่ได้ นั่นคือไม่ใช่เสรีภาพที่แท้
กรอบความคิดแบบไทยๆ เช่น อย่าชิงสุกก่อนห่าม รังนวลสงวนตัว สร้างปัญหาต่อฐานคิดเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างไร
การกดขี่ผู้หญิงเป็นประเด็นสากล ในหลายวัฒนธรรมผู้หญิงมักจะถูกกล่อมเกลาด้วยวิธีการคล้ายๆ กันแบบนี้ ยิ่งทำให้ผู้หญิงไม่เป็นอิสระ เลือกทางชีวิตให้ตัวเองไม่ได้ เข้าไม่ถึงองค์ความรู้เรื่องเพศ การบอกให้ผู้หญิงรักนวลสงวน อย่าชิงสุกก่อนห่าม เท่ากับไม่ได้กระตุ้นให้ผู้หญิงเป็น active citizen เพราะถูกห้ามไม่ให้ไปเข้าใกล้ ไม่ให้ทดลอง ไม่ให้เรียนรู้ใดๆ ผู้หญิงจึงถูกแช่แข็งไว้ในอาณาเขตที่จำกัดของการเรียนรู้เรื่องเพศ เก็บพวกเธอไว้แต่ในบ้าน หากผู้หญิงตกอยู่ในสถานการณ์ไม่คาดฝันเกี่ยวกับเรื่องเพศ ทำให้เธอปกป้องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายไม่ได้
เด็กอายุ 3-5 ขวบ ต้องเรียนรู้เรื่องราวบนเนื้อตัวร่างกาย ต้องพูดถึงอวัยวะเพศของตัวเองได้ เช่น เด็กกระมิดกระเมี้ยนที่จะพูดว่า จิ๋มของหนู มันกระอักกระอ่วนใจ ถ้าเด็กพูดคำว่า จิ๋ม ออกมาได้อย่างเป็นธรรมดาของชีวิต เด็กจะดูแลอวัยวะเพศของตัวเองได้ ปกป้องไม่ให้ใครมาล้วงละเมิด เด็กๆ ต้องบอกได้ว่าจิ๋มของหนูสะอาดหรือยัง และไม่ให้ใครสัมผัสอวัยวะเพศ ถ้าเรากักเด็กไม่ให้รู้เรื่องเพศเลย เพราะยังไม่ถึงเวลาอันควร สังคมไทยจะมีคุณแม่วัยใส และมีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกจำนวนมาก เพราะเขาไม่กล้าบอกเล่าความจริงให้ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดที่เขาไว้ใจได้เลย
สุภาษิต สำนวน และคำสอนเหล่านี้คือต้นเหตุที่ทำให้ผู้หญิงยิ่งกลายเป็นเหยื่อ อย่ากักเก็บเรื่องเพศสัมพันธ์เอาไว้เป็นเรื่องเฉพาะเพศชายเท่านั้น ทุกคนควรต้องรู้จักร่างกายและระบบสืบพันธุ์ เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์พร้อมมีเพศสัมพันธ์ เด็กต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง และส่งเสียงร้องดังๆ ได้ หากมีสิ่งไม่ปกติเกิดขึ้นกับตัวเขา
ทำไมปัญหาการกล่าวโทษเหยื่อจึงไม่เคยหายไปจากสังคมไทย
เมื่อสังคมยิ่งกล่าวโทษเหยื่อ สถิติการคุกคามทางเพศที่สังคมรับรู้จะน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะว่าเหยื่อไม่กล้าออกมาเปิดเผยตัวเอง ไม่กล้าแจ้งความ ไม่กล้าดำเนินคดี ผู้หญิงบางคนถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ ไม่กล้าบอกหมอว่าถูกข่มขืน หมอก็ทำแท้งให้ไม่ได้ ถ้าผู้หญิงไปทำแท้งเถื่อน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ชีวิต หรือต้องรับภาระเลี้ยงลูกที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด เพราะค่านิยมทำแท้งเท่ากับบาป ทั้งหมดส่งผลเป็นลูกโซ่
การข่มขืนเป็นวิธีทำลายความเป็นมนุษย์ที่รุนแรงและย่อยยับที่สุดในความรู้สึกของผู้หญิง ซึ่งสังคมนั่นแหละเป็นตัวการ
การโทษเหยื่อ (victim blaming) เป็นการประณามเหยื่อไม่ให้กลับคืนสู่สังคม ถ้าเธอเข้าแจ้งความ ก็อาจถูกระบบกระบวนการยุติธรรมตั้งคำถามว่า สมยอมหรือเปล่า ไปยั่วก่อนหรือเปล่า มืดค่ำทำไมไม่กลับบ้าน ผู้หญิงดีๆ เขาไม่เดินในซอยเปลี่ยว ผู้หญิงดีๆ รีบกลับบ้าน ไม่ได้เที่ยวกลางคืน ผู้หญิงดีๆ ไม่กินเหล้า แต่งตัวโป๊ ผู้หญิงดีๆ ไม่อยู่กับผู้ชายสองต่อสอง ผู้หญิงดีๆ ไม่ไปหาแฟนถึงคอนโด
ย้อนกลับไปถึงกรอบของหญิงดีต้องไม่ชิงสุกก่อนห่าม ต้องแต่งตัวมิดชิด ต้องรักนวลสงวนตัว เก็บพรหมจรรย์ไว้จนกว่าจะแต่งงาน ผู้หญิงจึงไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเมื่อตัดสินใจเข้ามา ตำรวจจะตั้งถามแบบนี้กลับ พอออกจากระบวนการยุติธรรมแล้วกลับเข้าไปอยู่ในชุมชน ก็จะถูกคนในสังคมซุบซิบนินทา เขาอยู่ไม่ได้ บางคนต้องย้ายบ้านหนีไปจากชุมชน บางคนต้องลาออกจากงาน หากเป็นนักเรียน โรงเรียนอาจไล่ออกเพราะกลัวโรงเรียนเสียชื่อเสียง ชื่อเสียงของโรงเรียนกลับสำคัญกว่าความเป็นมนุษย์ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงหลายคนเผชิญกับความทุข์ทรมาน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของเธอ
การข่มขืนเป็นวิธีทำลายความเป็นมนุษย์ที่รุนแรงและย่อยยับที่สุดในความรู้สึกของผู้หญิง ซึ่งสังคมนั่นแหละเป็นตัวการ พวกเธอถูกข่มขืนหลายครั้ง ครั้งแรกโดยอาชญากร ครั้งที่สองโดยตำรวจที่ซักถามในลักษณะตั้งข้อสงสัย ครั้งที่สามโดยสื่อและสังคม เพราะออกเป็นข่าว ครั้งที่สี่โดยชุมชน สังคมในที่พักอาศัย ที่ทำงาน โรงเรียน การโทษเหยื่อคือการถูกข่มขืน 4 ครั้ง แล้วมันลบออกจากชีวิตไม่ได้เลย
ฉะนั้น ใครก็ตามบอกว่า ยุคนี้หญิงชายเท่าเทียมกันแล้ว ไม่ใช่ จะพูดเรื่องนี้ได้ก็ต่อเมื่อการข่มขืนเท่ากับศูนย์ในสังคมไทย จะบอกว่าสังคมให้ความสำคัญกับสิทธิสตรี มีผู้หญิงเป็นผู้นำ มีบทบาทสูง มีตำแหน่งแห่งที่มากกว่าผู้ชาย เราไม่สามารถเอาสิ่งเหล่านี้มากล่าวอ้างได้ ตราบใดที่การข่มขืนและการคุกคามทางเพศยังคงเกิดขึ้นอยู่
กรณีพื้นที่การเมือง นักการเมืองผู้หญิงมักจะตกเป็นเป้าโจมตีและกล่าวโทษเรื่องเพศผ่านภาพลักษณ์ภายนอก คุณคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้
ระบบเสรีประชาธิปไตยไม่ได้มองผู้หญิงเป็นพลเมืองทางการเมือง แนวคิดของจอห์น ล็อค บอกไว้ว่า ผู้หญิงเป็นพลเมืองน้อยกว่าผู้ชาย การเมืองจึงเป็นพื้นที่ของผู้ชาย เพราะผู้ชายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบกว่า ผู้หญิงไม่ควรมาเล่นการเมือง
ในยุคต่อมา ผู้หญิงได้รับการศึกษามากขึ้น สังคมเริ่มเปิดพื้นที่มากขึ้น ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง และเข้ามาทำงานการเมือง แต่ชีวิตผู้หญิงบนเส้นทางการเมืองไม่เคยง่าย เพราะฐานความคิดเดิมไม่เคยมองผู้หญิงเป็นพลเมืองตั้งแต่แรก เกิดแรงเสียดทาน พยายามผลัก ขับไสให้ผู้หญิงกลับไปอยู่ที่เดิมของเธอ คือ อยู่บ้านเป็นได้แค่เมียและแม่
เมื่อผู้หญิงปรากฏตัวในพื้นที่ทางการเมือง เธอไม่ได้ถูกมองในฐานะปัจเจกชนที่มีศักยภาพโดยตัวเอง แต่มักจะถูกมองว่าเป็นเมียใคร เป็นน้องสาวใคร เป็นลูกใคร เธอจะถูกสืบสาวประวัติและความสัมพันธ์กับนักการเมืองคนอื่นๆ กับอีกกรณีที่ยังเห็นอยู่ถึงตอนนี้ คือไม่ได้ให้ความสำคัญความคิด อุดมการณ์ หรือนโยบาย สนใจแต่แฟชั่น การแต่งตัว เครื่องสำอาง ความสวย ความสาว
เพื่อกำจัดผู้หญิงออกจากพื้นที่ทางการเมือง จึงทำให้ผู้หญิงคนนั้นมีเรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับนักการเมืองชาย เป็นวิธีการดิสเครดิตที่สกปรก เพราะในแวดวงการเมืองมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ (sexual object) ผู้ชายในสภายังเปิดคลิปโป๊ดูเลย สนองความต้องการทางเพศด้วยการเสพเรือนร่างผู้หญิง
เราจึงเห็นว่าระหว่างนักการเมืองหญิงและชาย นักการเมืองหญิงจะตกเป็นข่าวฉาวคาวโลกีเยอะมาก เช่น มีความสัมพันธ์กับหัวหน้าพรรคการเมืองชาย จริงเท็จยังไม่รู้ แต่สร้างข่าวทำนองนี้ขึ้นมาโจมตีก่อน เวลาต่อมาซึ่งต้องทิ้งระยะห่างนานมาก กว่าผู้หญิงจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง เธอก็ถูกขับออกจากพื้นที่การเมือง หมดอนาคตทางการเมืองไปแล้ว
พูดถึงความหลากหลาย ล่าสุดผลการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีทั้งผู้แทนจากกลุ่มคนชายขอบที่ชนะการเลือกตั้ง ทั้งคนข้ามเพศ ผู้พิการ คนที่มีเชื่อสายเอเชียนและแอฟริกัน พื้นที่ทางการเมืองที่เปิดรับความหลากหลายเช่นนี้ สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมและบริบทโลกอย่างไร
การเปิดพื้นที่ให้คนชายขอบได้เข้ามาอยู่ในศูนย์กลางอำนาจเริ่มต้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดย มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เขาบอกว่าอำนาจมีอยู่ทุกที่และทุกคนต่างมีอำนาจอยู่ในตัว แม้แต่คนตัวเล็กตัวน้อย ทุกคนมีอำนาจอยู่ในตัวและสามารถใช้อำนาจนั้นในการต่อสู้
คนชายขอบ คนผิวสี LGBTQ+ ผู้หญิง ผู้พิการ คนนับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาหลัก ต่างลุกขึ้นมาต่อสู้เคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก สหรัฐอเมริกามาช้าไปด้วยซ้ำ เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นเป้าหลอมของสังคมพหุวัฒนธรรมมาแต่แรก ไม่ได้เป็นชนชาติเดียว แต่รวมขึ้นจากวัฒนธรรมและผู้คนที่อพยพเข้ามาใช้ชีวิต ภาพของสังคมยุคสมัยใหญ่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยทิศทางแบบนี้แหละ ซึ่งอนาคตประเทศไทยเองก็ต้องมีภาพแบบนี้เกิดขึ้น เพราะเราไม่อาจอยู่ได้ด้วยระบบ binary เราจะอยู่รอดก็เพราะความหลากหลายของผู้คน
การเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร
ทำให้ช่องว่างความเหลื่อล้ำและความอยุติธรรมทั้งหมดลดลงได้ สิ่งที่เป็นปัญหาอยุ่ทุกวันนี้และแก้ไม่ตกคือ ความเหลื่อมล้ำ และการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายอย่างไม่เป็นธรรม
การเมืองที่ดีต้องไม่รับใช้ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและออกแบบได้อย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมาการเมืองไม่ดี เพราะเป็นการเมืองของผู้ชนะด้วยเล่ห์ แล้วผู้ชนะก็กำหนดกฎหมายนโยบายต่างๆ ซึ่งเอื้อประโยชน์แก้พวกพ้องฝ่ายเดียว และโดยมากผู้ชนะทางเมืองมักจะกระจุกตัวอยู่ในบางชนชั้น ทำให้การเมืองนั้นไม่อาจลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นจากทุกชนชั้น
ภายใต้เงื่อนไขการปกครองด้วยอำนาจนิยมในสังคมไทยขณะนี้ ยิ่งกดทับอำนาจของคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ให้ลุกขึ้นมาต่อต้าน เรียกร้องถึงความเสมอภาค
ประเทศไทยบูชาอำนาจ เราไม่ตั้งตำถามกับรัฐประหาร ทำให้เป็นประเทศที่ทหาร ตำรวจ สถาบันอื่นใดที่มีอาวุธ กลายเป็นสถาบันที่เข้ามาควบคุมและทำอะไรกับประเทศนี้ตามใจโดยไม่ถามประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ท้ายที่สุดประเทศไทยจึงเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ เพราะเต็มไปด้วยการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบด้วยธรรม ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในทุกๆ มิติ
เราอยู่ในระบบอำนาจนิยมจนเชื่องชิน สิ่งที่ขาดไปจากสังคมไทยคือการตั้งคำถาม สังคมไทยมีระบบอุปภัมถ์ที่หยั่งรากลึกมาก เรามีระบบอาวุโส ระบบชายเป็นใหญ่ ระบบกษัตริย์ ระบบทุนนิยม ระบบชนชั้น อำนาจนิยมทำงานผ่านระบบทั้งหมดนี้ แล้วเราก็ไม่โต้เถียงถึงความไม่ชอบธรรม เมื่อสังคมยกกลไกอำนาจเหล่านี้ให้เป็นความชอบธรรม เพราะคิดว่าคือสิ่งที่ถูกต้อง คือความศักดิ์สิทธิ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เขาทำมาดีแล้วเราต้องยอมรับ สังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมที่เสพติดการใช้อำนาจไปทุกหย่อมหญ้า
เราจึงเห็นความรุนแรงในครอบครัว ปู่ข่มขืนหลานสาว พี่ชายข่มขืนน้องสาว พ่อข่มขืนลูก ในระบบการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียน กลุ่มนักเรียนเลวลุกขึ้นมาตีแผ่ระบบอำนาจในโรงเรียน เด็กๆ หลายโรงเรียนติดแฮชแทคในทวิตเตอร์เพื่อตีแผ่อำนาจนิยมและความรุนแรงในโรงเรียนของพวกเขา ทำให้เราเห็นว่าครูใช้อำนาจมาก แม้แต่ในสถาบันศาสนา ยิ่งไม่ถูกตั้งคำถาม เพราะถูกมองว่าเป็นบาป อำนาจที่สะท้อนผ่านทางเพศก็ชัดเจน ชายเหนือหญิง รักต่างเพศเหนือ LGBTQ+
กลุ่มเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่และคนชายขอบที่รวมตัวขึ้นมาเรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพในมิติต่างๆ เช่น เฟมินิสต์ นักเรียน กลุ่มหลากหลายทางเพศ ผู้พิการ อาชีวะ แม้กระทั่งพระสงฆ์ ยิ่งตอกย้ำแนวคิดของฟูโกต์ ว่าอำนาจอยู่ในมือทุกคน และทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ อาจเรียกว่าเป็นความหวังในวันข้างหน้า
เข้าใจถูก ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นจากพลังของคนชายขอบทั้งนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกไม่ได้เกิดจากการขับเคลื่อนของศูนย์กลางอำนาจ แต่มาจากพลังของผู้คนหลากหลายที่รวมตัวกัน เพราะอำนาจมีอยู่ทุกที่ มีอยู่ในกลุ่มคนชายขอบที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งองค์สังคม
เด็กและเยาวชนก็ถือเป็นคนชายขอบเพราะวัย สังคมไทยยึดติดระบบอาวุโส เด็กกว่าต้องเชื่องเชื่อ ต้องอยู่ในวินัยที่ผู้ใหญ่บอก เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน เมื่อเด็กลุกขึ้นมา จึงตอกย้ำสิ่งที่ฟูโกต์พูด คนชายขอบลุกขึ้นมาปลดแอกตัวเอง ใช้พลังอำนาจที่ตัวเองมีต่อกรกับความอยุติธรรมและความไม่ชอบธรรม พวกเขารู้ว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ แต่เขามีพลังอำนาจที่อยู่ภายใน นั่นคือความกล้าหาญและหยัดยืนต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมในสังคม เปล่งเสียงดัง และส่งต่อเสียงไปในทุกๆ วงสังคม ถึงสิ่งที่ต้องการ
แล้วสิ่งที่เขาต้องการทั้งหมด คือการปฏิรูประบบสังคม พวกเขาไม่ได้พูดถึงการแก้ปัญหาเฉพาะปัจเจก แต่ลงลึกไปถึงการแก้ปัญหาในระบบโครงสร้างใหญ่ที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นความก้าวหน้าของเด็กและเยาวชน เราจะไปปรามาศเด็ก เหมือนผู้ใหญ่เคยทำกับเด็กรุ่นก่อนๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว อย่างเด็กทำอะไรไม่ได้มากหรอก นี่คือสิ่งที่เขาถูกกดมาตลอด ถึงวันที่เขาลุกขึ้นมาทำให้เรามองเห็นอนาคตของสังคมที่กำลังจะเคลื่อนไป พวกเขากำลังบอกว่าประเทศเป็นของพวกเขาในวันข้างหน้า
นี่คือการเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ของสังคมไทย เรากำลังอยู่ในจุดที่เกิดรอยเคลื่อนของประวัติศาสตร์แล้ว ต้องจับตาดูให้ดีว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อนตลอดชั่วชีวิตเรา กลายเป็นข้อเรียกร้องของคนที่จะเติบโตไปเป็นเจ้าของประเทศ ทำให้เรารู้ว่าพวกเขารู้เท่าทันอำนาจที่เป็นกรงขังพวกเขา เด็กกลุ่มนี้ฐานคิดเขาเปลี่ยนแล้ว เพราะฉะนั้นโลกในวันข้างหน้า มีความหวังเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ถ้าเราได้ผู้นำแบบนี้