life

เมื่อไวรัส COVID-19 มาเยือน สิ่งหนึ่งที่พวกเรากำลังเผชิญร่วมกันคือ ‘วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป’ เริ่มตั้งแต่ล้างมือบ่อยขึ้น ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เว้นระยะห่างกับสังคม ฯลฯ

แต่เรามักไม่รู้ตัวว่าเราเผลอเอามือไปจับหน้าอยู่บ่อยๆ และนั่นเป็นช่องทางที่ทำให้เชื้อไวรัสกระโดดเข้ามาในร่างกายเราได้ง่ายที่สุด 

 

เพราะบนมืออาจมี ‘ไวรัส’

ไวรัส COVID-19 มีอายุอยู่บนพื้นผิวได้เป็นเวลานานประมาณ 8-48 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความชื้น อุณหภูมิและชนิดของวัตถุเหล่านั้น แต่พึงนึกไว้เสมอว่าบนพื้นผิวต่างๆ นั้นอาจมีไวรัสอาศัยอยู่ และอวัยวะที่มีสิทธิ์สัมผัสโดนมันมากที่สุดก็คือ ‘มือของเรา’

โดยปกติ คนเราสัมผัสใบหน้าตัวเอง เฉลี่ยชั่วโมงละ 9-23 ครั้ง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นขยี้ตา ถูจมูก กัดเล็บ จับหนวดเล่น ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในตอนที่เรามีความกังวล ความเครียด หรืออับอายอยู่ลึกๆ เช่น บางครั้งเราจับหน้าเพราะแก้เขิน บางครั้งเราก็เอามือไปจับหน้าโดยไม่มีเหตุผล

นอกจากนี้ ในแต่ละนาทีอาการคัน ระคายเคือง หรือกล้ามเนื้อตึง มักจะเกิดขึ้นบนใบหน้าของเรา และเรามักจะ ‘ผ่อนคลาย’ อาการข้างต้นด้วยการเอามือไปเกา สัมผัส ลูบไล้ผิวหน้าอย่างไม่รู้ตัว เพราะมันเป็นวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เรารู้สึกสบายใจได้เพียงเสี้ยววินาที

แต่ในวันที่เชื้อไวรัสระบาดทั่วโลก การทำตามความเคยชินแบบนี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย

แล้วเราจะลด ละ เลิกการล้วง แคะ แกะ เกาบนใบหน้าได้อย่างไร?

จดบันทึกพฤติกรรมเพื่อรู้ทันมือเจ้าปัญหา

หากรู้สึกว่า อยากทำอย่างอื่นแทนการเอามือไปคอยแต่จะแกะเกาบนใบหน้า แนะนำให้ลองใช้วิธีที่เรียกว่า พฤติกรรมบำบัด หรือ Habit-reversal ที่ให้ความสำคัญกับการ ‘รู้เท่าทันพฤติกรรมของตัวเองแล้วเปลี่ยนมันเสีย’

เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการสังเกตการณ์พฤติกรรม และจดออกมาเป็นข้อๆ อาจให้คนรอบข้างช่วยสังเกตด้วยอีกแรง เนื่องจากการจดบันทึกพฤติกรรมจะยิ่งได้ผล หากเราแชร์กับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะให้เพื่อนๆ หรือโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย

วิธีสังเกตตัวเอง เมื่อเอามือไปสัมผัสหน้า มีหลักๆ 3 ข้อ คือ

  1. สังเกตความรู้สึกก่อนเอามือไปจับ 
  2. ดูว่าเรากำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่ตอนนั้น 
  3. ร่างกายรู้สึกอย่างไรบ้าง เช่น คัน เกร็ง หรือไม่สบายตัว

ยกตัวอย่างเช่น เกาหน้าเพราะคันตอนกำลังทำงาน, ถูจมูกด้วยนิ้วขณะนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะ, กัดเล็บมือตอนดูทีวี, นั่งเท้าคางตอนอ่านหนังสือ

 

เบี่ยงเบนความสนใจของมือ

เมื่อมีสติรู้เท่าทันมือไวๆ ของตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ ‘เปลี่ยนพฤติกรรม’ โดยการทำอย่างอื่นทดแทน เช่น ถ้ากำลังจะขยี้ตา ให้เปลี่ยนมากำมือไว้แน่นๆ กดฝ่ามือ เหยียดแขนให้ตรง บีบลูกบอล หรือควงปากกาแทน วิธีนี้คือการใช้พฤติกรรมอื่นเข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจของมือให้ออกจากใบหน้าของเรา

อย่างไรก็ตาม การใช้สิ่งของอย่างลูกบอลหรือปากกาเข้ามาช่วย ก็ยังไม่เห็นผลเท่ากับการปรับพฤติกรรม เพราะโดยธรรมชาติ เรามักหยิบจับสิ่งของมาเล่นแก้เบื่อ แต่การสัมผัสใบหน้านั้น เราทำเพราะรู้สึกกังวลใจอยู่ลึกๆ ควงปากกาหรือบีบลูกบอลอาจช่วยให้หายเบื่อ และเบี่ยงเบนความสนใจของมือที่กำลังจะสัมผัสใบหน้าไปได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น

 

แก้ปัญหาที่ ‘มือ’ ต้นเหตุ

อีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้มือไม่ต้องสัมผัสกับผิวหน้าบ่อยๆ คือ ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ป้องกันอาการใดที่อาจจะเกิดขึ้น จนทำให้เราต้องเอาสัมผัสใบหน้า เช่น หากเป็นภูมิแพ้ ซึ่งทำให้ต้องขยี้ตาบ่อยๆ พยายามห่างจากต้นเหตุที่ทำให้แพ้หรือกินยาแก้แพ้ให้อาการดีขึ้น หากชอบกัดเล็บให้ไว้เล็บสั้นๆ หรือหาถุงมือมาใส่ หากแว่นตาเลื่อนหลุดบ่อยๆ ให้ใส่สายคล้อง หรือเปลี่ยนเป็นแว่นที่มีขนาดพอดีกับใบหน้า 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่มือของเรายังต้องเข้าไปวุ่นวายกับใบหน้า เช่น ใส่คอนแท็กเลนส์ แต่งหน้า ใช้ไหมขัดฟัน

หากต้องทำกิจกรรมเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดและเราอยากแนะนำคือ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง

การจับหน้าอาจเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่ในวันที่ไวรัสระบาดเช่นนี้ คงต้องดึงสติ ยั้งมือตัวเองเอาไว้สักหน่อย

เพราะนี่เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เราปลอดภัยจาก COVID-19 

 

อ้างอิง 

Fact Box

  • พฤติกรรมบำบัด หรือ Habit-reversal วิธีนี้เป็นที่นิยมใช้ในการรักษาโรคทูเรตต์ (Tourette disorder) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการกระพริบตา อ้าปาก แขนขากระตุก เปล่งเสียงในลำคอหรือจมูกโดยไม่ตั้งใจ