ใจกลางเมืองกรุงลึกเข้าไปในซอยถนนจันทน์อันแสนลี้ลับ
เราเจอร้านอาหารอินเดียขนาดเล็ก 1 คูหา กว้างยาวราวๆ 5X10 เมตร ด้านบนติดป้าย “Curry in Boxes”
ด้านในตกแต่งด้วยโคมไฟสีสันสดใส ตะเกียงทองเหลือง และผ้าผ่อนลวดลายสไตล์ภารตะ รอบล้อมโต๊ะกลางเตี้ยๆ ที่เชื้อเชิญให้แขกนั่งกับพื้น
“ให้อารมณ์เหมือนไปกินข้าวบ้านเพื่อนชาวอินเดียไง”
เฉลิมพล พิมพ์วัน หรือ “เอมี่” เจ้าของร้านเล่าคอนเซปต์ให้ฟัง ถึงบรรยากาศของร้านที่เธอและคนรักอยากให้เป็น
เธอต้อนรับพวกเราด้วยเสียงหัวเราะสดใส โดยมี สุนิลล์ คูมาร หนุ่มอินเดียคมเข้มที่ตาหวานไม่แพ้รอยยิ้ม เชฟประจำร้านเพียงคนเดียว และเป็นสามีของเธออยู่เคียงข้าง
เอมี่เป็นคนช่างพูด เราแทบไม่ต้องอ้าปากถามถึงที่มาที่ไปของร้าน เธอพร้อมเล่าทุกอย่าง ไปจนถึงเรื่องราวความรักของเธอที่มีอุปสรรคไม่แพ้ละครหลังข่าวช่องไหน
เพราะนอกจากความแตกต่างทางเพศ เอมี่และสุนิลล์ยังไม่มีอะไรเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ ศาสนา ถิ่นฐาน วัฒนธรรม รวมทั้งสังคม
แต่สิ่งที่ทั้งคู่มีเหมือนกันคือ ความรักมากล้นจนมองข้ามเรื่องเพศไป
เรียกได้ว่ากว่าทั้งสองคนจะมีรอยยิ้มเต็มปากเช่นวันนี้ ชีวิตเผ็ดร้อนไม่แพ้เครื่องเทศที่สุนิลล์บรรจงลงมือทำเองและพร้อมเสิร์ฟให้ทุกคนได้ลิ้มลอง
common ชวนคุยทั้งเรื่องความรักหวานปนขม เรื่องอาหารและร้าน Curry in Boxes ที่เปรียบเสมือนลูกรักของทั้งสองคนในยามนี้
ความรักข้ามพรมแดนที่มองหัวใจหาใช่เรื่อง ‘เพศ’
‘เอมี่’ ตั้งใจเป็นผู้หญิงมานานกว่า 4 ปี เธอทำงานเป็นดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้า หลังจากเรียนจบคณะครุศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วน ‘สุนิลล์’ เป็นชายหนุ่มชาวอินเดีย อาศัยอยู่ในเมืองชนบทเล็กๆ ในรัฐหรยาณา (Haryana) ทางตอนเหนือของอินเดีย
ทั้งสองคนพบกันที่เดลีเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และได้พูดคุย ทำความรู้จักกันมากขึ้นผ่าน WhatsApp จนตกหลุมรักซึ่งกันและกัน โดยที่สุนิลล์ไม่เคยถามไถ่เรื่องเพศสภาพของเธอ
“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเขาชอบเราเพราะเป็นตุ๊ดหรือเปล่า ก็ตัดสินใจถามไปตรงๆ ยูเป็นเกย์หรือเปล่า แต่เขาตอบกลับมาว่าไม่เข้าใจ เกย์คืออะไร”
เธอเล่าเสริมว่า ไม่ใช่ทุกคนในโลกนี้จะรู้จักนิยามของเพศทางเลือก อย่างเกย์หรือกะเทย
อินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่ สื่อและความรู้หลายๆ อย่างยังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะในแถบชนบท ดังนั้นจึงมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้จักเรื่องเพศที่สาม
เอมี่จึงพยายามหาคำมาจำกัดความของตัวเองเพื่ออธิบายให้กับสุนิลล์รับรู้ แต่คำตอบที่ได้กลับมาทำให้เอมี่ยิ้มกว้าง
“ฉันไม่สนใจว่าเธอเป็นเพศอะไร แต่ฉันมีความสุขที่ได้คุยกับเธอ”
เมื่อทั้งสองคนตกลงปลงใจคบหากัน เอมี่ตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลไปหาแฟนหนุ่มที่บ้านเกิด พร้อมพกความกลัวการไม่ยอมรับและต่อต้าน ทั้งจากครอบครัวและสังคมของฝ่ายชายในอินเดีย
“มันผิดคาดมาก เราได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากครอบครัวของเขา ไม่รู้เหมือนกันว่าคนที่นั่นเขารู้ไหมว่าเราเป็นกะเทย ที่ประหลาดใจกว่านั้นคือ สุนิลล์อยากแต่งงานกับเรา พ่อแม่ของเขาเอาแหวนมาให้หมั้นกันไว้ มันอาจจะไม่ใช่แหวนมีราคา แต่มีคุณค่าทางใจมากๆ”
“นี่เป็นความฝันของเราเลยนะ มีผู้ชายที่หน้าดีแบบนี้มาขอแต่งงาน (หัวเราะ) และอยากใช้ชีวิตคู่กับเรา ความรู้สึกเหมือนมงลง (หัวเราะ)”
ในขณะที่ฝั่งครอบครัวของเอมี่กลับปฏิเสธการเจอลูกเขยชาวอินเดียคนนี้แบบหัวชนฝา
“เข้าใจว่าพ่อแม่เป็นห่วง แต่เราอยากให้พวกท่านเปิดโอกาสทำความรู้จักและเรียนรู้เขาสักหน่อย ตอนนั้นพ่อแม่ไม่เอาเลย แต่พอเวลาผ่านไปและมีเรื่องมากมาย ตอนนี้พวกท่านก็ยอมรับพวกเราได้มากขึ้น”
แต่ความรักต่างเพศว่ายาก ความรักระหว่างคนต่างชาติก็ไม่หอมหวานเช่นกัน
ทำอาหารให้เพื่อนกิน จุดเริ่มต้นของ Curry in Boxes
“ตอนแรกเราไม่ได้คิดจะเปิดร้านอาหารตั้งแต่แรก เพราะไม่รู้ว่าสามีของเราทำอาหารได้”
เมื่อเธอและสามีตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งหลักปักฐานกันที่ประเทศไทย เพราะมองว่าที่นี่ยังมีลู่ทางที่ทั้งสองคนทำมาหากินได้มากกว่าที่อินเดีย เพราะการเป็นเพศทางเลือกในแดนภารตะมีโอกาสหางานได้น้อยมาก หากไม่ไปเต้นรำขอเงินตามถนน ก็ต้องไปทำงานใช้เรื่องเซ็กส์แลกเงิน
เอมี่พยายามช่วยสามีของเธอหางาน เพื่อพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่าสามีตัวเองมีงานทำ ไม่ได้อยู่เฉยๆ ให้เธอเลี้ยง
แต่คนอินเดียหางานในประเทศไทยได้ยากกว่าที่ทั้งสองคนคิดไว้มาก
“ช่วงมาอยู่เมืองไทยแรกๆ สุนิลล์สมัครงานไป 20 ที่ ไม่มีที่ไหนรับ ตอนนั้นเราไม่มีเงินกันเลย มีพอกินแค่มาม่ากล่องเดียวและอยู่ด้วยกันในห้องเล็กๆ สองคน แต่เชื่อไหมว่าเรามีความสุขมากๆ ที่ได้อยู่ด้วยกัน”
จนวันหนึ่งเอมี่ได้เจอกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘สะใภ้ภารตะ’ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงไทยที่มีสามีเป็นคนอินเดีย และเธอได้นัดสังสรรค์กับเพื่อนผู้หญิงและสามีชาวอินเดียคู่หนึ่ง สุนิลล์ออกตัวเป็นผู้รับผิดชอบการทำอาหารในมื้อนั้น
เอมี่เล่าว่า อาหารรสมือของคนรักของเธอทำให้สามีภรรยาคู่นั้นถึงขั้นต้องร้องออกมาว่า “ไปอยู่ที่ไหนมา! ทำอาหารอร่อยมากจนเปิดร้านได้เลย” และเธอมาทราบในภายหลังว่า สุนิลล์ชอบทำอาหารและเคยเปิดร้านอาหารอินเดียที่บ้านเกิด
จากเดลิเวอรี่อาหารสไตล์โฮมคุ๊กกิ้ง สู่ร้านอาหารแนวโฮมไดน์นิ่งที่่เหมือนกินข้าวบ้านเพื่อนชาวอินเดีย
“ตอนแรกเรามองหาแค่ห้องเช่าที่เอาเตาแก๊สเข้ามาได้แค่นั้นเอง เพราะไม่มีเงิน ตอนที่เจอตึกแถวห้องนี้รู้สึกโชคดีมาก”
ในช่วงแรกทั้งสองคนเริ่มต้นจากการทำอาหารอินเดียแบบเดลิเวอรี่ส่งตรงถึงบ้าน โดยรับลูกค้าผ่านเฟซบุ๊ก
หลังจากเริ่มขายจนเริ่มอยู่ตัวและมีเพื่อนมากินข้าวที่บ้านบ่อยๆ เอมี่จึงตัดสินใจเปิดบ้านให้ลูกค้าคนอื่นๆ มานั่งกินข้าวที่บ้านในคอนเซ็ปต์ “กินข้าวบ้านเพื่อนชาวอินเดีย”
เอมี่ใช้ความสามารถด้านศิลปะของตัวเองตกแต่งบ้านด้วยข้าวของสไตล์อินเดีย ด้วยความรู้สึกว่า หากบ้านสวยจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายยามทำอาหาร แต่เพื่อนและลูกค้ามักชมว่าบ้านสวย และถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย จนหลายคนอินบ็อกซ์มาบอกว่าอยากมากินข้าวที่บ้านของเธอและสามี
อาหารอินเดียแท้ๆ ที่เชฟใส่ใจและตั้งใจทำทุกส่วนผสมด้วยสองมือ
สิ่งที่ทำให้ Curry in Boxes เริ่มมีลูกค้าจองเต็มทุกสุดสัปดาห์ ไม่ใช่เพียงรสชาติอาหารอินเดียแบบต้นตำหรับที่แม้แต่คนอินเดียยังติดใจเท่านั้น
แต่เพราะชอบความใส่ใจในทุกรายละเอียดของเจ้าของร้าน ทั้งการทำส่วนผสมด้วยตัวเอง ไปจนถึงขั้นตอนการปรุง
“ตั้งแต่เปิดร้านมายังไม่มีใครบ่นใครว่าอะไรนะ (หัวเราะ) แต่มีคำแนะนำให้ทำรสชาติที่จัดจ้านมากขึ้น เชฟสุนิลล์ก็ตอบรับโดยการทำผงเครื่องเทศมาซาล่า (Masala) ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำอาหารอินเดีย เขาลงมือคั่วและตำด้วยตัวเอง มันให้รสชาติที่แรง หอมและจัดกว่าการใช้ผงสำเร็จรูป
“อย่างแป้งนาน ที่ร้านนี้ไม่ใช้แป้งนานสำเร็จรูป เพราะจะเสียไว ไม่ดีต่อสุขภาพคนกิน เชฟจะทำขึ้นเองเพื่อความสด หอม อร่อย โดยใช้แป้งสาลีผสมกับ โยเกิร์ต เกลือด้วย ผักชี กระเทียม แล้วนวดด้วยมือ”
คนอินเดียกินแป้งนานกับอาหารทุกอย่าง เชฟสุนิลล์ชวนให้เราลองทานคู่กับ Chicken Tikka Masala เมนูแกงไก่ย่างสุดฮ็อตฮิตของคนอินเดีย เชฟปรุงโดยเอาไก่ไปหมักแล้วนำไปย่าง หลังจากนั้นนำไปใส่แกงรสชาติจัดจ้าน
วัตถุดิบของสดทุกอย่างไม่มีการเก็บค้างข้ามวัน เอมี่และสุนิลล์จะออกไปซื้อใหม่ทุกครั้งวันต่อวัน
“เพราะไม่มีที่เก็บ (หัวเราะ) ยกเว้นแต่พวกผงเครื่องเทศที่ทำเก็บไว้ จริงๆ แล้วพวกของสดถ้าซื้อมาทิ้งไว้นานๆ ก็อาจจะเสียได้ เราซื้อใหม่ทุกวันก็ให้ผลดีต่อสุขภาพลูกค้าด้วย”
ทุกวันนี้เอมี่และสุนิลล์มีความสุขกับร้านเล็กๆ ของพวกเขาที่มีออเดอร์สั่งเข้ามาจนแทบทะลักอินบ็อกซ์ และมีคิวจองไปกินข้าวที่บ้านเพื่อนอินเดียคนนี้เต็มยาวไปถึงเดือนหน้า
“บางคนอาจคิดว่าอาหารอินเดียสกปรก เหม็นเครื่องเทศ เราอยากให้คนไทยเปิดใจลองกินอาหารอินเดียกัน”
เธอบอกว่าสามีของเธอไม่เคยถามถึงรายได้ที่เข้ามา ถามแต่เพียงว่าลูกค้าติชมอย่างไรบ้าง
“เขาไม่ได้หวังกำไร แค่อยากรู้ว่าลูกค้ามีความสุขที่ได้กินอาหารของตัวเองไหมเท่านั้นเอง”
จากบทสนทนาทั้งหมด ทำให้เราพอรู้ว่า ลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาไม่เพียงติดใจในของกินหรือบรรยากาศเท่านั้น
แต่ยังประทับใจความเป็นกันเอง ความสนุก และความอารมณ์ดีของเจ้าบ้านทั้งสองคนที่มักชวนคุยแบบออกรสออกชาติไม่แพ้อาหารอีกด้วย
ร้าน Curry in Boxes
ตั้งอยู่ซอยกิ่งจันทน์ แยก 12 ถนนจันทน์ กรุงเทพฯ เปิดให้จองโต๊ะและสั่งเดลิเวอรี่ผ่าน
https://www.facebook.com/curryinboxes หรือโทรศัพท์ 063 919 2924
Fact Box
- ร้าน Curry in Boxes บริการส่งอาหารอินเดียแบบเดลิเวอรี่ทาง https://www.facebook.com/curryinboxes/ ส่วนบริการ Home Dinning รับประทานอาหารที่บ้านด้วยบรรยากาศเป็นกันเองเปิดรับ 1 วัน ต่อ 1 กลุ่ม ภายในร้านมีเพียง 1 โต๊ะ เล็กๆ นั่งได้ไม่เกิน 7 คน เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด และแนะนำให้สั่งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้เจ้าของเตรียมวัตถุดิบได้ทันเสิร์ฟ