life

เสียงโอดครวญดังขึ้นมาทุกครั้งเมื่อแม่เข้ามาเก็บกวาดห้องนอนของเราโดยไม่ทันได้ตั้งตัว แม้ฝุ่นจะคลุ้งและรกแค่ไหน แต่พื้นที่เต็มไปด้วยข้าวของกองพะเนินนั้น กลับเป็นเซฟโซนอันอบอุ่นของใครหลายๆ คน

แต่พื้นที่รกที่เราคิดว่าอบอุ่นนั้น ความจริงแล้วอาจไม่ได้ดีต่อใจอย่างที่คิด

 

ความ ‘ยุ่งเหยิง’ มักทำให้เราเครียด 

มนุษย์ชอบสะสมสิ่งของเพราะทำให้เรารู้สึกปลอดภัย นั่นทำให้เรารักบ้านรกๆ ของเรา

บางครั้งความยุ่งเหยิงก็ทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ นั่นทำให้หลายคนชื่นชอบการทำงานบนโต๊ะรกๆ ของตัวเอง  

แต่รู้ไหมว่าข้าวของที่ระเกะระกะนั้นกำลังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราอยู่กลายๆ

พื้นที่รอบๆ ส่งผลต่อตัวเราอย่างเลี่ยงไม่ได้” – Stephanie McMains และ Sabine Kastner นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Princeton กล่าว

เพราะห้องที่เต็มไปด้วยข้าวของระเกะระกะ จะทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงขึ้นและเกิดความเครียดโดยไม่ทันรู้ตัว

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมบางคนถึงไม่สามารถทำงานบนโต๊ะรกๆ ได้อย่างราบรื่น เพราะมันจะทำให้เราหลุดโฟกัสจากงานตรงหน้าได้ง่ายๆ 

 

การ ‘จัดบ้าน‘ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น

จัดหนังสือให้เป็นระเบียบ เรียงสีเสื้อในตู้เสื้อผ้า เก็บรองเท้าบนชั้นวาง

กิจกรรมง่ายๆ เหล่านี้ช่วยให้เราผ่อนคลายโดยไม่รู้ตัว เพราะจะทำให้ร่างกายหลั่งสารโดปามีน หรือสารที่ทำให้มีความสุขออกมา

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Navarra ระบุว่า สภาพแวดล้อมที่ดีจะช่วยให้เราคิดได้ราบรื่นขึ้น หลังจากทำการทดลองแล้วพบว่า กลุ่มตัวอย่างจะป้อนข้อมูลได้ผิดพลาดน้อยกว่าเมื่ออยู่ในห้องที่จัดอย่างเป็นระเบียบ 

“ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของบ้านที่เป็นระเบียบคือการค้นหาสิ่งต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งจะทำให้คุณเครียดน้อยลง” Chris Stiff อาจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Keele กล่าว

นอกจากการเห็นข้าวของเข้าที่เข้าทางจะช่วยให้สบายใจแล้ว การจัดบ้านยังทำให้เรารู้สึกประสบความสำเร็จ ซึ่งส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจที่จะเป็นแรงผลักดันให้เราเอาชนะกิจกรรมท้าทายอื่นๆ ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเชิงบวกดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ เป้าหมายของการจัดบ้านนั้นต้องมีความเป็นไปได้ เช่น อาจเริ่มต้นเล็กๆ ด้วยการจัดโต๊ะเครื่องแป้ง เอาขยะไปทิ้ง หรือจัดระเบียบของสดในตู้เย็น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กินเวลาไม่มาก และไม่เหนื่อยเกินไป

ในขณะที่การเก็บกวาดทั้งบ้านให้เรียบร้อยภายในวันเดียว อาจเป็นเป้าหมายที่ยากเกินไป เมื่อทำไม่ได้ แทนที่จะรู้สึกภูมิใจ จะทำให้เกิดความรู้สึกแย่กับตัวเองตามมา

 

อย่า ‘ทิ้ง’ ทุกอย่าง

คนโดะ มาริเอะ ผู้เขียนหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว (The life-changing magic of tidying up) กล่าวว่า “จับอะไรแล้วไม่รู้สึกสปาร์คจอยก็ให้ทิ้งไป” 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านหลายๆ คนก็เห็นตรงกัน ว่าหัวใจของการจัดบ้านคือ ‘ทิ้งของไม่ใช้ เหลือไว้แต่สิ่งที่จำเป็น’ ไม่ควรเผื่อเลือก เผื่อขาด งดให้ความสำคัญกับวัตถุรอบกายเพื่อกลับมาโฟกัสที่จิตใจด้วยสภาพแวดล้อมอันเรียบง่าย

แต่ ‘การทิ้ง’ อาจไม่ใช้คำตอบสุดท้ายสำหรับทุกคน

เพราะอารมณ์อ่อนไหวอาจเข้ามาแทนที่ เมื่อเราต้องทิ้งของบางชิ้นที่มีคุณค่าทางจิตใจ เช่น เสื้อยืดตัวเก่าที่เพื่อนสนิทซื้อให้ นอกจากใช้เพื่อปกปิดร่างกายแล้ว เรายังได้สวมใส่ความทรงจำในวันวานด้วย 

ดังนั้น รูปถ่ายวัยเด็ก ของขวัญจากคนรัก แม้จะเป็นของกระจุกกระจิก แต่ถ้าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับจิตใจ เราไม่จำเป็นต้องทิ้ง เพียงเก็บไว้ให้เป็นสัดส่วนเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

การจัดบ้านไม่ใช่แค่การจัดระเบียบพื้นที่ให้โล่งสะอาดเสมอไป บางคนชอบสไตล์วินเทจ บางคนชอบแบบมินิมอล การจัดบ้านจึงควรเป็นไปในแบบที่เราชื่นชอบด้วย

เมื่อต้องหยุดอยู่บ้านในช่วง Social Distancing ลองมาเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการใช้เวลาจัดบ้านวันละเล็กวันละน้อยในแบบที่ตัวเองชอบ

อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตก็เป็นได้ 

 

อ้างอิง