life

“เทคโนโลยีและการแปลงเป็นดิจิทัลจะปฏิวัติทุกสิ่งทุกอย่าง …ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

คือข้อความที่ เคลาส์ ชวาบ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก เขียนไว้ในหนังสือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (The Fourth Industrial Revolution)

Klaus Schwab
เคลาส์ ชวาบ

หนังสือ กูรู คอร์สอบรมเชิงความรู้ ต่างชี้ว่าถ้าเราต้องการอยู่รอดในยุคนี้ มีหนทางเดียวคือต้องปรับตัว

แต่จะปรับตัวอย่างไร ในโลกสมัยใหม่ คุณอาจหาความรู้และวิธีการได้จากกูรูในโลกออนไลน์ แต่ในบทความนี้ common อยากชวนหันกลับมามองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือสภาวะหนึ่งของธรรมชาติ

และปรัชญาเต๋าที่มีความหมายว่า หนทาง วิธีการ หรือธรรมชาติ ได้เคยพูดถึงสภาวะทางธรรมชาตินี้ไว้เมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน

โดยทิ้งปริศนาธรรมที่เป็นคำตอบของคำถามเราควรดำเนินชีวิตอย่างไร?” ไว้ในโศลก

หากอ่านตามตัวอักษร เราอาจได้รู้ แต่จะรู้ลึกและซึ้งแค่ไหน ล้วนอยู่ที่ภูมิหลัง ประสบการณ์ ความมุ่งหมายในชีวิตของแต่ละคน

แต่อย่างน้อยที่สุด การได้อ่านโศลกสั้นๆ ที่ล้ำค่า ก็อาจช่วยให้เราพอได้เห็นและคิดอะไรออก

ซึ่งอาจเป็นคำตอบของหนทางเบื้องหน้า เพื่อจะใช้ไปต่อในอนาคต

1. จงอ่อนนุ่มเหมือนน้ำ

TAO เต๋า ปรัชญาจีน

ไม่ว่าสภาวะใดจะเกิดขึ้น เต๋าบอกเพียงแค่ให้เป็นอยู่อย่างง่ายๆ อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ เพราะหากพยายามฝืนหรือเปลี่ยน จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง ปัญหา และความทุกข์ โดยเปรียบความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับธรรมชาติเป็น ‘น้ำ’ เพราะน้ำสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ โดยไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง

ไม่มีสิ่งใดจะอ่อนนุ่มไปกว่าน้ำ

     แต่ไม่มีสิ่งใดจะยิ่งไปกว่าน้ำ

     ในการมีชัยเหนือสิ่งที่แข็ง

     นับว่าไม่อาจหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบ

     ไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทน

     คัมภีร์ เต๋า เต็ก เกง บทที่ 78

2. ใช้ชีวิตเรียบเงียบ

TAO เต๋า ปรัชญาจีน

เต๋าไม่สรรเสริญความฟุ้งเฟ้อ แต่มุ่งตรงไปที่การใช้ชีวิตเรียบง่าย รู้จักพอ เพราะมองว่าความทะเยอทะยาน ดิ้นรนไขว่คว้าไปตามแรงชักพาของความอยาก จะทำให้เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติ และเกิดความทุกข์ ยิ่งอยากมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทุกข์เท่านั้น ความเรียบง่ายและคำว่า ‘พอ’ จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนควรแสวงหา

เมื่อท่านมีทองและหยกอยู่เต็มห้อง

     ย่อมไม่อาจรักษาไว้ได้โดยปลอดภัย

     ภาคภูมิใจกับเกียรติยศและความมั่งคั่ง

     ย่อมโศกเศร้าเมื่อความตกต่ำมาถึง

     …

     ถอนตัวออกเมื่อกิจการงานได้เสร็จสิ้นลง

     นี่คือวิถีทางแห่งสรวงสวรรค์

     คัมภีร์ เต๋า เต็ก เกง บทที่ 9

 

ความเรียบง่ายแต่บรรพกาลนี้ไร้ชื่อ

     มันช่วยขจัดความอยากทั้งปวง

     เมื่อขจัดความอยากได้

     ความสงบย่อมเกิดขึ้น

     ดังนั้นโลกย่อมถึงซึ่งสันติสุข

     คัมภีร์ เต๋า เต็ก เกง บทที่ 37

3. รู้จักตัวเอง

TAO เต๋า ปรัชญาจีน

แม้เต๋าจะสอนให้รู้จักปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ แต่สิ่งสำคัญที่เน้นย้ำคือต้องไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง ดังนั้น จะรู้ว่าความเป็นตัวเองสูญเสียหรือไม่ ก่อนอื่นต้องรู้จักตัวเองก่อนผ่านการแสวงหาคุณค่าภายใน เพราะเมื่อรู้จักตัวเองแล้ว จะรู้หนทางที่ชีวิตควรมุ่งไป และคุณค่าใดที่ควรยืดถือ

ผู้เข้าใจคนอื่นคือผู้รอบรู้

     ผู้เข้าใจตัวเองคือผู้รู้แจ้ง

     ผู้มีชัยต่อคนอื่นคือผู้มีกำลัง

     ผู้มีชัยต่อตนเองคือผู้เข้มแข็ง

     ผู้มักน้อยคือผู้ร่ำรวย

     ผู้มานะพยายามคือผู้มีความหวัง

     ผู้อยู่ในสถานะอันเหมาะสมของตน

     ย่อมอยู่ได้ยาวนาน

     คัมภีร์ เต๋า เต็ก เกง บทที่ 33

แม้สิ่งที่ เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลกเขียนว่า ‘เทคโนโลยีและการแปลงเป็นดิจิทัลจะปฏิวัติทุกสิ่งทุกอย่าง …ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้’ จะเกิดขึ้นแล้ว

แต่อย่างน้อยที่สุด ในวันที่เราเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

จงอย่าลืมที่จะอ่อนนุ่มเหมือนน้ำ ใช้ชีวิตเรียบง่าย และรู้จักตัวเอง.

Gao Qipei Dragonfly ภาพวาดพู่กันจีน
(Photo: commons.wikimedia.org)

เกี่ยวกับ ‘เต๋า’

คำว่า ‘เต๋า’ แม้จะมีการให้ความหมายว่า หนทางหรือธรรมชาติ แต่ก็เป็นคำที่ เหลาจื่อ (ผู้แต่งคัมภีร์ เต๋าเต๊กเกง) สมมติขึ้นมา เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารเท่านั้นเนื่องจากธรรมชาติที่แท้ ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดใดใด

เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ

     ชื่อที่ตั้งให้กันได้มิใช่ชื่ออันสูงส่ง

     เต๋านั้นมิอาจอธิบายและมิอาจตั้งชื่อ

     เมื่อไร้ชื่อทำฉันใดจักให้ผู้อื่นรู้

     ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า “เต๋า” ไปพลางๆ

     คัมภีร์ เต๋า เต็ก เกง บทที่ ๑

เต๋าจึงเท่ากับธรรมชาติ เท่ากับสรรพสิ่ง โดยทุกสิ่งล้วนเป็นไปตามเจตนารมณ์ของธรรมชาติ

การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ฝืนธรรมชาติ และการแสวงหาคุณค่าภายใน คือสิ่งที่ปรัชญาเต๋าพูดถึง.