life

“อะไรเป็นงานศิลปะ นี่มันพูดยากเหมือนกันนะ คำว่าศิลปะมันกว้าง

แต่ศิลปะแบบไหนที่สวยที่สุด ผมว่างานที่รับใช้สังคม เป็นงานที่สวยที่สุด ยิ่งถ้าสืบทอดได้ นั่นแหละ ศิลปะขั้นสูงเลย”

อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ
อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ

นี่คือคำอธิบายแก่นของแนวคิด ในการสร้างงานศิลปะของ อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเซรามิก ชาวเชียงราย ที่ฝีมือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ผู้สร้าง ‘คุ้มดอยดินแดง’ สถานที่แห่งแรงบันดาลใจ ที่เป็นทั้ง โรงงานเซรามิก สตูดิโอ ร้านค้า และคาเฟ่ 

คุ้มดอยดินแดง ตั้งอยู่ที่ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย สร้างขึ้นในปี 2534 โดยตั้งชื่อตามลักษณะของดินในพื้นที่ ที่เป็นดินสีแดง 

ดินสีแดง ที่มาของชื่อ ดอยดินแดง
ดินสีแดง ที่มาของชื่อ ดอยดินแดง

ปัจจุบัน นอกจากจะเป็นที่สร้างสรรค์งานศิลปะเซรามิกแล้ว อีกเป้าหมายหนึ่งของ อ.สมลักษณ์ คือ การส่งต่อความรู้ ด้านงานศิลปะเซรามิกให้คนในพื้นที่สืบทอด และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่มาเที่ยวชม 

“อยากให้คนมาดูแล้วเกิดแรงบันดาลใจว่า วิชาชีพนี้มันอยู่ได้นะ มันสืบทอดกันได้ สามารถเป็นอาชีพได้”  

งานปั้นของดอยดินแดงจึงไม่ใช่งานศิลปะแบบขึ้นหิ้ง หรือต้องปีนบันไดดู 

แต่เป็นงานที่มีเป้าหมายเรียบง่าย คือ ‘เพื่อประโยชน์ใช้สอย’ 

พูดง่ายๆ คือ คนมาเห็นว่าสวย แล้วก็อยากซื้อไปใช้ ไม่ใช่อยากซื้อไปโชว์ 

จิตวิญญาณของงานคราฟท์ คือ ‘การใช้สอย’

“ผมเป็นคนทำถ้วย ทำจาน”  

อาจารย์สมลักษณ์เคยนิยามอาชีพของตัวเองไว้ง่ายๆ เมื่อครั้งแนะนำตัวเองบนเวที Tedx Talks 

เขาบอกว่างานปั้นเซรามิก ก็ไม่ต่างอะไรกับงานสถาปัตย์ ที่มีเป้าหมายคือการใช้สอย 

และความต้องการใช้สอยนี่เอง ที่เป็นตัวสำคัญในการกำหนดรูปทรงของภาชนะ 

ช่างปั้น ไม่ใช่ปั้นอะไรก็ได้ที่ใจอยาก ทว่าต้องคำนึงถึง ‘ผู้ใช้’ ด้วยว่าเขาต้องการนำไปใช้ทำอะไร 

ไม่ว่าจะเป็น จาน ถ้วย แก้วกาแฟ หม้อ ไห หรือภาชนะอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ต้องมีคือ ‘ความว่างเปล่า’

เพื่อให้จุสิ่งของอื่นลงไปได้  

“อาชีพของผม เรียกอีกอย่างว่านักสร้างความว่างเปล่าก็ได้ เพราะความว่างคือจุดมุ่งหมายของภาชนะ”  

ภาชนะทุกชิ้นที่อาจารย์ปั้น คงเป็นความงามที่ไม่สมบูรณ์ หากจาน ชามเหล่านั้นไม่มีผู้นำไปใช้ 

เพราะหนึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดวงจรการสร้างสรรค์งานเซรามิกที่ดีได้ คือ การมีผู้เสพที่ดี 

หากมีคนเห็นคุณค่าแล้วซื้อไปใช้งาน ช่างหรือศิลปินก็จะเกิดการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ตลอด 

ปรัชญาของการใช้สอย ก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากการนำไปใช้สอยจริงๆ เมื่อมีคนนำไปใช้จริง ชิ้นงานก็ได้รับใช้ผู้คน อันนั้นคือความสวยงาม

แต่ทั้งนี้ อาจารย์ย้ำเสมอว่าคนทำจานต้องรู้ด้วยว่า อาหารแบบไหนเหมาะกับสีอะไร เพราะนอกจากประโยชน์ใช้สอยแล้ว รสนิยม คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานสร้างสรรค์ 

จะสร้างสรรค์สิ่งใด ต้องเข้าใจสิ่งนั้น

งานเซรามิกของดอยดินแดง ไม่ใช่แค่การปั้นภาชนะแบบธรรมดาทั่วไป 

ความพิเศษของงานที่นี่คือ เป็นงานปั้นมือทุกชิ้น ลวดลายและสีสันต่างๆ งดงามมีเอกลักษณ์ อันเกิดจากวัสดุธรรมชาติแบบ 100%

หลายๆ คนเรียกงานเซรามิกของที่นี่ว่า ปั้นดินให้เป็นศิลปะ 

หากถามถึงเคล็ดลับหรืออัตลักษณ์พิเศษของที่นี่ อาจารย์สมลักษณ์พูดเสมอว่า ไม่มีอะไรพิเศษ นอกจาก ‘เข้าใจดิน’ 

เขาเปรียบการปั้นดินเหมือนการปรุงอาหาร ถ้าเราเข้าใจอาหารจานนั้น เวลาชิมจะรู้ว่ามันขาดอะไร ก็เติมรสชาติได้ถูก

“ดินก็มีความหลากหลาย มีแร่ธาตุที่ให้สีสันตามธรรมชาติ สมมุติเรามีดินที่มีสินแร่เยอะ 

“เคลือบสีขาวก็จะไม่เป็นสีขาว จะมีสีหรือร่องรอยอย่างอื่นโผล่ออกมา ซึ่งมันให้ความรู้สึกของดิน ถ้าเราเข้าใจดิน ก็จะรู้ว่าต้องเติมอะไร เพื่อให้มันเกิดสีอะไร”

ดินก็เหมือนคน ข้างในเป็นอย่างไร ย่อมแสดงออกมาข้างนอกอย่างนั้น

ก่อนที่จะมาตั้งคุ้มดอยดินแดง อ.สมลักษณ์ไปร่ำเรียนวิชาปั้นกับศิลปินเซรามิกชื่อดังแห่งเกาะคิวชู มาสเตอร์ Iwao Onuma และ Tarouemon Nakazato อยู่ 5 ปี ซึ่งกว่าที่อาจารย์จะได้เริ่มปั้น ก็ต้องไปทำหน้าที่ล้างดิน ล้างขี้เถ้า และนวดดินให้มาสเตอร์ที่สอนอยู่หลายปี

“คนญี่ปุ่นจะมีคำพูดที่ว่า คุณต้องทำตัวให้ผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับดินก่อน ถึงจะเริ่มปั้นได้” 

นั่นทำให้เขาต้องศึกษาดินอย่างจริงจัง และฝึกฝนให้หนัก จนเข้าใจดินอย่างถ่องแท้ 

งานของดอยดินแดง จึงไม่จำเป็นต้องใช้สีที่เป็นเคมีมาผสม เพราะช่างปั้นที่รู้จักดินเป็นอย่างดีนั้น ย่อมรู้ดีว่า ต้องทำอย่างไร เพื่อให้ได้สีสันที่ต้องการ 

“แร่ธาตุที่อยู่ในดิน ถ้ามันปะทุขึ้นมา มันสวยหมด และเราให้ค่าตรงนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องขาวทั้งหมด แบบนี้มันได้อรรถรสของท้องถิ่น ลวดลายต่างๆ ก็เกิดจากขี้เถ้า มีทั้งขี้เถ้าฟางข้าว ไม้ไผ่ และไม้อื่นๆ อีกสารพัดชนิด มันเป็นงานเซรามิกที่เป็นศิลปะ เพราะมันสวยไม่ซ้ำกันเลย”

ไม่ใช่แค่เครื่องเซรามิกเท่านั้น กระทั่งอาคารทุกหลังในดอยดินแดง ก็สวยงามตามที่ดินควรจะเป็น ด้วยสีแดงของดินที่สวยอยู่แล้ว นำมาเพิ่มผิวสัมผัสและความเหนียวด้วยฟางข้าวและปูน ก็กลายเป็นอาคารที่สะท้อนเอกลักษณ์ของดอยดินแดงได้อีกหนึ่งอย่าง

อาคารที่สร้างจากดินแดง ผสมปูนและฟางข้าว

“งานของผมมันเกิดจากขี้เถ้า ฉะนั้นความนอบน้อมถ่อมตัวจะต้องมี เซรามิกของดอยดินแดงจึงไม่มีสีฉูดฉาด” 

“ถ้างานนั้นสืบทอดได้ นั่นแหละศิลปะขั้นสูง”

หลังจากก่อตั้งดอยดินแดงในปี 2534 นอกจากมุ่งสร้างสรรค์งานศิลปะเซรามิกคุณภาพสูง ให้ผู้คนได้ใช้สอยแล้ว สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ทำอย่างสม่ำเสมอมาเกือบ 30 ปี คือ ฝึกอบรมชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงและนักเรียนในท้องถิ่นให้เป็นช่างปั้นดินเผาที่มีฝีมือ

ผมทำอะไรที่มันสืบทอดกันได้ รับใช้ผู้คนและสังคมได้ด้วย มันจึงสวยงาม

ในความเป็นศิลปิน ถ้าเราทำอะไรได้ แล้วทำได้ดี มันก็เป็นการช่วยสังคมส่วนหนึ่ง 

การได้คืนอะไรดีๆ ให้ท้องถิ่น ความสามารถของเรามันจะเกิดการพัฒนาต่อยอด สังคมเราต้องการสิ่งเหล่านี้

ปัจจุบันโรงงานเซรามิกของดอยดินแดง เต็มไปด้วยคนงานท้องถิ่น ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากอาจารย์สมลักษณ์ 

สำหรับผู้ที่สนใจไปเที่ยวชม ดอยดินแดงเปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ 

บนพื้นที่ 9 ไร่ ถูกแบ่งไว้อย่างเป็นสัดส่วน มีทั้งสตูดิโอโชว์ผลงาน ห้องแสดงงานเซรามิกอาร์ต ห้องแสดงสินค้าประเภทตกแต่ง 

ส่วนโรงงานเซรามิก แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ งานเซรามิกประเภทเครื่องถ้วย จาน ชาม ที่ใช้บนโต๊ะอาหาร แจกัน กระถาง และเครื่องประดับตกแต่งอาคาร  อีกส่วนคือ ผลงานศิลปะที่เกิดจากจินตนาการและความรู้สึกของศิลปิน 

นักท่องเที่ยว สามารถเที่ยวชม และพูดคุยกับช่างปั้นได้ทุกส่วนงาน 

การได้เห็นกระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนถึงสุดท้าย ที่ภาชนะเซรามิกได้นำมาใช้สอยในร้านกาแฟ 

ก็ทำให้หลายคนอดไม่ได้ ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในวงจรการสร้างสรรค์งานศิลปะเซรามิก ด้วยการซื้อกลับมาใช้สอย อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้

“ความสุขของผมคือการได้ทำงานที่รัก และเลี้ยงตัวเองได้ การเลี้ยงตัวเองได้นี่สำคัญ เพราะมันเป็นประโยชน์กับคนที่มาชื่นชมงานเราด้วย

“เราอยู่ให้เค้าดู ว่าถ้าตั้งใจทำให้ดี มันก็อยู่ได้” 

 

Fact Box : 

ดอยดินแดง เครื่องปั้นดินเผา : ที่อยู่ 49 หมู่ 6 ซอย 3 บ้านป่าอ้อ ถ.พหลโยธิน ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย 57100 

โทร : 0-5370-5291

เวลาเข้าชม : 08.30-16.00 น. ทุกวัน เว้นวันอาทิตย์