life

แต่ไหนแต่ไรมา ไอศกรีมเป็นของหวานที่เราชอบมากที่สุด จะเรียกว่ารักเลยก็ได้ เพราะนอกจากความอร่อย ไอศกรีมยังช่วยบำบัดอารมณ์ด้วย ไม่ว่าเราจะเจอกับอะไรที่ทำให้เครียด โกรธ หรือโมโหมาก่อนหน้า ถ้าได้กินไอศกรีมสักสกู๊ป ทุกอย่างจะผ่อนคลายลง ใจเย็นและสงบ ทำให้เรากลับมายิ้มกับตัวเองอีกครั้ง

ใช่เลย รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วเราเชื่อด้วยว่า คงไม่ได้มีแค่เราสองคนที่ชอบกินไอศกรีมมากกว่าขนมหวานอื่นๆ เพราะเมืองไทยมอากาศร้อนด้วย น่าจะยิ่งทำให้ไอศกรีมเป็นของโปรดที่ใครหลายๆ คนชอบ หาซื้อก็ง่าย มีให้เลือกหลายรส ที่สำคัญคือความสนุกขณะกิน ต้องรีบกินก่อนละลาย ไม่อย่างนั้นเสียดายแย่

คู่สามีภรรยา โอ๊ค’ สันติสุข และ นิว’ สิริกัญญา กาญจนประกร เจ้าของแบรนด์ไอศกรีมในชื่อ Flavorful เริ่มต้นแลกเปลี่ยนความรู้สึกและเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้พวกเขาชอบกินไอศกรีมเป็นชีวิตจิตใจ ถึงขนาดไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่า ชีวิตนี้จะต้องเผชิญหน้ากับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ซึ่งกลายมาเป็นจุดผลิกผันให้ทั้งคู่ร่วมกันคิดค้นวิธีทำไอศกรีมและสร้างสรรค์รสชาติในแบบเฉพาะของตัวเอง

เมื่อมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น พวกเขาต่างรู้ดีว่าคงไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าจะพูดให้ถูกคือ เข้าขั้นยากเอาเรื่องด้วยซ้ำไป แต่ถ้าไม่ลงมือลองทำจริงๆ จังๆ ในวันนั้น ความรู้สึกรื่นรมย์จากความสุขที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ของการกินไอศกรีมร่วมกัน จะเป็นเพียงภาพความทรงจำให้หวนนึกถึงตลอดไป

เรื่องราวทั้งหมดต่อจากนี้ จึงไม่ใช่แค่การบอกเล่าที่มาที่ไปของแบรนด์ไอศกรีมสไตล์ ‘โฮมเมด แต่เป็นก้าวของความสำเร็จจากความพยายามของคู่สามีภรรยาผู้ทำไอศกรีมด้วยใจรัก ซึ่งคู่ควรกับคำว่า ‘ฮาร์ทเมด

หนึ่งจุดเปลี่ยนชีวิตสู่การเริ่มต้นคิดทำไอศกรีมกินเอง 

โอ๊คบอกเล่าอาการเจ็บป่วยว่าเป็นเงื่อนไขใหม่ให้เขาต้องใช้ชีวิตต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการเลือกกินของโปรดอย่างไอศกรีม

ก่อนหน้านี้เราใช้ชีวิตตามใจอยาก แต่ทุกอย่างหยุดชะงักทันทีในวันที่เรารู้ว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) เวลาอาการกำเริบ เราจะรู้สึกมือเท้าชาและแขนขาอ่อนแรงจนต้องไปนอนพักที่โรงพยาบาลให้หมอฉีดยาสเตียรอยด์ ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ค่าน้ำตาลในเลือดขึ้น หมอจึงต้องให้ยาลดน้ำตาลเพิ่มเพื่อคุมระดับน้ำตาลอีกที

รสดาร์กช็อกโกแลต Photo: Flavorful

จากชีวิตปกติที่ทำแต่งาน พอต้องมานอนโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณสามถึงสี่วัน ทำให้คิดได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตคือสุขภาพ หลังจากนั้นเรากลายเป็นคนที่ต้องหันมาดูแลตัวเอง คอยระวังเรื่องอาหารการกิน ทุกอย่างต้องไม่มีปริมาณน้ำตาลมากเกินไป แต่ปัญหาคือ เราชอบกินไอศกรีมมาก แล้วไอศกรีมส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำตาลเยอะ เรากับนิวเลยตระเวนหาไอศกรีมไม่มีน้ำตาล

“ตอนนั้นประมาณสามปีที่แล้ว ซึ่งหายากมาก เท่าที่มีขาย ถ้ารสชาติไม่ถูกปากก็เป็นไอศกรีมผลไม้ แต่เราอยากกินไอศกรีมรสพื้นฐานอย่างช็อกโกแลต เมื่อไม่มีจึงคิดกันว่าลองทำกินเองกันไหม เหตุผลแรกในตอนนั้นคือสนองความต้องการของตัวเองก่อน”

จากความอยากที่ไม่ได้รับการตอบสนอง แปรเปลี่ยนมาเป็นแรงผลักดันให้นิวเข้าครัวทำไอศกรีมแบบไม่ผสมน้ำตาลทราย เพราะเป็นเรื่องยอมไม่ได้ที่จะให้ความเจ็บป่วยมาพรากสิ่งที่ทำหน้าที่สร้างความสุขให้ทั้งโอ๊คและนิวตลอดเวลาที่ผ่านมา

สองปีแห่งความพยายามจากนับศูนย์ถึงนับสิบสี่

นิวเริ่มต้นทำไอศกรีมตามคลิปในยูทูป โดยปรับเปลี่ยนสูตรเองเพราะคิดว่าคงไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ เพียงแค่ไม่ใส่น้ำตาลทรายลงไปก็น่าจะได้ไอศกรีมที่โอ๊คอยากกิน แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตร กลายเป็นว่าการลองทำไอศกรีมครั้งแรกๆ ยิ่งเพิ่มเรื่องให้นิวเก็บกลับมาคิดทบทวนว่าควรทำอย่างไรต่อไป

“เรียกว่าเริ่มจากศูนย์ เพราะเราไม่รู้วิธีทำไอศกรีมเลย แต่ไม่ว่าจะลองทำกี่ครั้งก็ไม่เคยได้เนื้อสัมผัสเนียนนุ่มอย่างที่ต้องการ ค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตดูพบว่า การตัดน้ำตาลทรายออกทำให้เนื้อไอศกรีมแข็งเป็นผลึก ไม่เกาะกันเป็นก้อน เราเลยสนใจไปเรียนทำไอศกรีมเป็นเรื่องเป็นราว เพราะคิดว่ามีทางไปได้ไกลกว่าแค่ทำกินเองในบ้าน ถ้ามีโอกาสก็อาจทำขายต่อยอดเป็นธุรกิจ”

ในที่สุด นิวตัดสินใจเรียนทำไอศกรีมกับผู้เชี่ยวชาญที่จบมาจากอิตาลี เพื่อสั่งสมความรู้ตั้งแต่วิธีทำไอศกรีมพื้นฐานไปจนถึงการสร้างรสชาติและคิดค้นสูตรขึ้นเอง

“ไอศกรีมใช้น้ำตาลทรายเยอะมาก เห็นปริมาณแล้วไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนป่วยกัน รู้สึกกลัวว่าที่ผ่านมากินเข้าไปได้ยังไง เราถามผู้สอนว่าใช้อะไรให้ความหวานแทนน้ำตาลทรายได้บ้าง ปรากฏว่ามีเยอะมาก แต่ปัญหาเดิมก็ยังอยู่ คือเนื้อไอศกรีมกระด้าง เราต้องกลับมาลองผิดลองถูกเองที่บ้าน ทั้งหาสัดส่วนสารให้ความหวานที่พอดี และหาปริมาณวัตถุดิบธรรมชาติอื่นๆ ที่จะช่วยให้ได้เนื้อไอศกรีมนุ่มขึ้น จำได้แม่นว่า ทำช่วงแรกๆ ใช้ไม่ได้เลย เททิ้งไปเยอะมาก เพราะเราต้องการไอศกรีมไม่ใส่น้ำตาลทรายที่มีเนื้อสัมผัสเหมือนกับไอศกรีมทั่วไปที่ใส่น้ำตาลทราย”

นิวรู้ดีว่าไม่มีความสำเร็จใดได้มาอย่างง่ายดายโดยไม่พยายาม ระหว่างทางจึงรู้สึกอยากถอดใจอยู่หลายครั้ง

“ท้อมาก คำถามเดียวที่เกิดขึ้นในหัวบ่อยๆ คือ ยังไม่ได้อีกเหรอ รู้สึกกดดันตัวเองจนร้องไห้ เพราะสูตรไอศกรีมปกติที่เรียนมาแทบจะใช้ไม่ได้เลย ต้องคิดใหม่ทั้งหมด เรามีหนทางเดียวคือต้องลองทำ ปรับสูตรไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ไอศกรีมที่ต้องการ และสาเหตุที่ทำให้ไม่ล้มเลิกกลางคัน เพราะนึกถึงความตั้งใจแรกที่เราอยากทำไอศกรีมไม่มีน้ำตาลทรายให้คนที่เรารัก”
___________

“เราใช้เวลาพัฒนาสูตรถึงสองปี จนสำเร็จออกมาเป็นไอศกรีมสิบสี่รสชาติจากความชอบส่วนตัว ซึ่งไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายเลย ปริมาณน้ำตาลที่มีในไอศกรีมคือน้ำตาลจากนมและผลไม้ เรายังส่งตัวอย่างไอศกรีมไปให้เพื่อนที่เป็นนักโภชนาการคำนวณพลังงาน และปริมาณสารอาหารแต่ละหมู่ออกมาด้วย ซึ่งมีแคลอรี่ต่ำกว่า มีไขมันน้อยกว่า มีน้ำตาลน้อยกว่า และไม่มีไขมันทรานส์”

สามองค์ประกอบความอร่อยที่เกิดจากการสรรหาวัตถุดิบ

ขั้นตอนที่พิถีพิถันมากที่สุดของการทำไอศกรีมคือการคัดสรรวัตถุดิบ เพราะว่าความอร่อยหรือคุณภาพของเนื้อไอศกรีมทั้งรสชาติ กลิ่น และปริมาณน้ำตาล ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่เลือกใช้

“หลักสำคัญที่เราใช้เป็นเกณฑ์เลือกวัตถุดิบคือ ต้องให้มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุด อย่างไอศกรีมผลไม้ ต้องหาวิธีปรับลดปริมาณผลไม้ให้น้อยลงโดยยังคงรสอร่อยไว้เหมือนเดิม แม้จะเป็นน้ำตาลธรรมชาติจากผลไม้ แต่ถ้ากินมากไปก็อันตรายเหมือนกัน มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด”

รสฟิกและอบเชย Photo: Flavorful
รสนมชมพูสตรอว์เบอร์รี Photo: Flavorful

นิวยกตัวอย่างประกอบอีกว่า “เราเลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่มาชัดเจน จะได้รู้ว่าปลอดภัยหรือเปล่า อย่างฟิกหรือลูกมะเดื่อมาจากฟาร์มออร์แกนิคของเพื่อนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ถั่วดำกับข้าวเหนียวดำออร์แกนิคมาจากกลุ่มชาวนาไทอีสาน เราเลือกใช้กะทิธัญพืชไร้คอเลสเตอรอลแทนกะทิจากมะพร้าว เนยถั่วเราก็ทำเองไม่ใช้ของสำเร็จรูป ส่วนผสมบางตัวต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยตรงเท่านั้น อย่างรสนมชมพูสตรอว์เบอร์รี เราใช้น้ำหวานสีแดงไม่ได้ เพราะมีน้ำตาล ต้องใช้กลิ่นธรรมชาติใส่เข้าไปแทน”

รสข้าวเหนียวดำและถั่วดำเจ Photo: Flavorful
เสาวรสซอร์เบท์ Photo: Flavorful

ส่วนการคุมรสชาติไอศกรีมที่มีส่วนผสมหลักเป็นผลไม้สดให้ออกมาเหมือนเดิมทุกครั้ง ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับนิวเสมอ “เราไม่มีทางรู้เลยว่า รสชาติผลไม้แต่ละรอบจะแตกต่างกันขนาดไหน บางรอบอาจหวาน บางรอบอาจอมเปรี้ยว เลยเลือกทำรสผลไม้ที่เรามั่นใจว่าควบคุมรสได้ แม้จะมีสูตรที่นิ่งแล้ว แต่เวลาทำจริงๆ ยังมีรายละเอียดที่เราต้องใส่ใจ เหมือนเป็นการทดลองไปเรื่อยๆ ที่ไม่มีทางหยุดนิ่ง เพราะเราไม่ได้ใช้วัตถุดิบปรุงสำเร็จที่ควบคุมรสชาติทุกอย่างมาแล้ว”

สตรอว์เบอร์รีซอร์เบท์ Photo: Flavorful
รสโยเกิร์ตและมะม่วง Photo: Flavorful

สำหรับรสหวานในไอศกรีมที่ใช้แทนน้ำตาลทรายที่นิวเลือกใช้ คือ ไซลิทอล (Xylitol) มอลติทอล (Maltitol) สารสกัดจากหญ้าหวาน (Steviol) และอินนูลิน (Inulin) ทั้งหมดนี้เป็นสารให้ความหวานที่สกัดมาจากธรรมชาติ เป็นที่มาของแนวคิดหลัก (motto) ว่า No sugar but sweet

ชาเขียวมัทฉะ Photo: Flavorful
รสซอลต์คาราเมลช็อกฟัดจ์ Photo: Flavorful

หวานปนขม เพราะรสชาติและอาหารสะท้อนถึงสังคม

คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น เพราะไม่มีใครอยากป่วยก่อนวัยอันควร และความเจ็บป่วยที่เกิดจากอาหารก็เป็นเรื่องป้องกันได้ด้วยวิธีการเลือก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงอาหารเพื่อการดูแลสุขภาพ และควบคุมปริมาณน้ำตาลให้ร่างกายได้

“คนที่เลือกกินหรือเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพได้ ต้องเป็นชนชั้นกลางขึ้นไปที่มีเงินพอสมควร เพราะราคาอาหารเหล่านี้ค่อนข้างแพง รัฐควรสนับสนุนหรือทำให้คนเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพได้ รัฐต้องแก้ปัญหานี้จริงๆ ไม่ใช่แค่บอกให้อดหวาน ลดปริมาณน้ำตาล คนที่มีรายได้น้อยเขาย่อมเลือกอะไรไม่ได้มาก ถ้ารัฐจะแค่พูดเฉยๆ เราคิดว่ายังไม่พอ ต้องทำออกมาเป็นนโยบายเลยดีกว่าไหม นี่เป็นคำถามสำคัญที่รัฐต้องตอบให้ได้

“พูดตามตรงเราสองคนก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของอาหารเพื่อสุขภาพที่มีราคาแพง เราเป็นคนชนชั้นกลางทั่วไปที่ยังต้องทำมาหากิน ต้องคิดเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน มีเงินเข้าถึงอาหารได้บางอย่าง ไม่ใช่ทุกอย่าง แล้วที่ผ่านมามีกระแสกล่าวโทษคนจนว่าทำไมถึงอ้วน แต่รู้ไหม ยิ่งคนจนมากเท่าไหร่ เขายิ่งเสี่ยงต่อความอ้วนมากเท่านั้น เพราะเขาไม่มีทางเลือก” โอ๊คเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจประเด็นนี้ดี เพราะตั้งแต่เรียนจบเขาเข้าทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาก่อน

เช่นเดียวกับนิว ซึ่งทำงานในแวดวงสื่อเหมือนกัน จึงมองเห็นความเชื่อมโยงเป็นภาพตรงกัน “ทั้งหมดสะท้อนถึงกันว่า การดูแลสุขภาพให้ดีมีราคาที่ต้องจ่ายค่อนข้างสูง แต่พอต้องเลือกวัตถุดิบมาทำไอศกรีม เรายิ่งเข้าใจว่าวัตถุดิบที่ดีมีราคาสูงมาก ผลไม้ออร์แกนิคบางชนิดที่ใช้ กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่าหลักพัน รวมถึงราคาของสารให้ความหวาน เมื่อต้นทุนสูงทำให้ราคาขายไอศกรีมของเราสูงไปด้วย ไม่สามารถขายในราคาถูกเหมือนไอศกรีมอุตสาหกรรมตามท้องตลาด”

เริ่มต้นธุรกิจไอศกรีมท่ามกลางความเสี่ยงด้วยหลักคิดตรงไปตรงมา

เมื่อนิวและโอ๊คตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจทำไอศกรีมไม่ใส่น้ำตาลทรายขาย จึงให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการเริ่มต้นคิดสูตรไอศกรีม เพราะความคิดการทำธุรกิจค้าขายเป็นของตัวเองไม่เคยอยู่ในหัวของทั้งคู่

“เราเริ่มด้วยความไม่มั่นใจ เรารู้ว่ามีลูกค้ารองรับ มีคนต้องการกินไอศกรีมแบบเดียวกันที่เราทำ พอยิ่งไม่มีหน้าร้าน เลยรู้สึกกังวลไปหมด แต่เราเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพมากพอที่จะลงมือทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะล้มเหลวหรือสำเร็จเราก็จะได้เรียนรู้จากสิ่งที่ทำลงไป” โอ๊คบอกความรู้สึกแรกที่มีทั้งความกล้าผสมกับความกลัว ก่อนจะอธิบายถึงเหตุผลที่ไม่มีหน้าร้าน

“เราเพิ่งเปิดร้านเมื่อปลายปีที่แล้ว (ธันวาคม 2563) ในบรรยากาศการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเราเห็นความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะรัฐไม่มีนโยบายเศรษฐกิจที่ช่วยเหลือหรือเอื้ออำนวยให้ SME ก่อนหน้านี้มีโอกาสเติบโต รัฐไม่ได้สนใจหรือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ กลายเป็นว่าธุรกิจต้องดูแลตัวเอง ส่วนกำลังซื้อก็ลดลง เพราะคนระวังเรื่องใช้จ่าย เราจึงไม่เปิดหน้าร้าน เพราะแบกรับความเสี่ยงไม่ไหว และตั้งราคาขายให้สมเหตุสมผล ในระดับที่เรายังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ราบรื่นที่สุด”

ทั้งคู่สร้างสตูอิโอขนาดกะทัดรัดบริเวณพื้นที่ว่างหน้าบ้าน สำหรับใช้เป็นครัวผลิตไอศกรีมโดยเฉพาะ และตั้งชื่อแบรนด์อย่างเรียบง่ายว่า Flavorful

“หลักคิดเบื้องต้นคือเราอยากทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมาที่สุดกับลูกค้า กลายมาเป็นชื่อ Flavorful ที่บอกลูกค้าตรงๆ ว่า no sugar ice cream เป็นไอศกรีมไม่ผสมน้ำตาลทราย และสื่อความหมายถึงรสชาติว่าแม้ไม่ได้ใส่น้ำตาลทราย แต่มีความหวานเต็มรสเต็มชาติ” โอ๊คเล่าที่มาของชื่อ

เมื่อไม่มีหน้าร้าน จึงต้องรับออร์เดอร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งโอ๊คและนิวคอยดูแลและพูดคุยกับลูกค้าด้วยตัวเอง จากนั้นนิวจะสรุปยอดทั้งหมดในแต่ละสัปดาห์ เพื่อคำนวณหาปริมาณวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นไอศกรีมรสชาติต่างๆ ก่อนที่ทั้งคู่จะนำไอศกรีมไปส่งถึงมือลูกค้าด้วยกันในวันเสาร์และอาทิตย์

นิวอธิบายความจำเป็นที่ต้องทำไอศกรีมตามออเดอร์ว่า “นอกจากเรื่อง food waste หรือการผลิตโดยใช้วัตถุดิบแบบล้นเกิน เราต้องการให้ลูกค้าได้ไอศกรีมสดใหม่มากที่สุด ทำเสร็จแล้วส่งถึงลูกค้าเลย ไม่ทำทิ้งไว้ล่วงหน้า เพราะไอศกรีมที่ปั่นใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอมมาก ต่างจากไอศกรีมที่ถูกแช่ทิ้งไว้ในตู้เย็นเป็นเวลานาน เนื้อสัมผัสก็คนละแบบ นุ่มกว่าเพราะยังไม่มีผลึกน้ำแข็งเกิดขึ้นในเนื้อไอศกรีม เราอยากคงรสชาติให้อร่อยที่สุดเท่าที่ทำได้”

ขณะที่โอ๊คเล่าความรู้สึกหลังจากได้ไปส่งไอศกรีมเองในช่วงแรกๆ ว่า “ตั้งใจขับรถไปส่งไอศกรีมให้ถึงมือลูกค้าด้วยตัวเอง เพราะรักไอศกรีมนี้มาก อยากเห็นรอยยิ้มของลูกค้า อยากพูดคุยกับเขา อยากได้รับคำแนะนำติชม เพื่อเอามาพัฒนา ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก แต่ตอนนี้มีออร์เดอร์เข้ามาเยอะขึ้น แล้วเราไม่เชี่ยวชาญเส้นทางขนาดนั้น จึงตัดสินใจเลือกใช้บริการขนส่งเอกชนที่มีตู้แช่เย็นแทน”

Flavorful รสชาติหลากหลายซึ่งไม่ได้สิ้นสุดลงที่ความหวาน

รสชาติไอศกรีมของโอ๊คและนิวไม่ได้ให้แค่ความหวานหรือสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ยังมอบบทเรียนที่ดีต่อใจให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้ร่วมกัน

“ไอศกรีมทุกรสชาติ เกิดจากความชอบของเราสองคน และคิดว่าคนอื่นๆ น่าจะชอบ เราใช้สัญชาตญาณจากการทดลองทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีหลักการสร้างรสชาติตายตัว เราลองทำมากกว่าสิบสี่รสด้วยซ้ำ แต่ถ้าออกมาแล้วยังรู้สึกว่าไม่ดีพอ ก็จะปรับสูตรต่อไปอีก ไม่ได้ก็ทำใหม่จนกว่าจะได้ เพราะเสน่ห์ของเจลาโต้ คือการสร้างสรรค์รสชาติแปลกใหม่ที่ไม่มีในอุตสาหกรรมไอศกรีมกระแสหลัก

รสมิลค์ช็อกแครนเบอร์รี Photo: Flavorful
รสทุเรียนและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ Photo: Flavorful

“ตอนคิดค้นรสชาติ เราพยายามรักษาเสน่ห์นี้ไว้ คงความเป็นรสพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยไม่ลืมรสพิเศษที่หากินที่อื่นไม่ได้ อย่างขึ้นฉ่าย มินต์ และแอปเปิลเขียว” นิวกล่าวด้วยความรู้สึกถึงความคุ้มค่าที่ตัวเองได้ทุ่มเททั้งกายและใจเพื่อไอศกรีม

รสขึ้นฉ่าย มินต์ และแอปเปิลเขียว Photo: Flavorful

ส่วนโอ๊คได้รับบทเรียนที่อยากสะท้อนไปยังทุกคน “บางคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องตลก อยากกินของหวานแต่กลับไม่ใส่น้ำตาลทรายแล้วมันจะเรียกว่าเป็นของหวานได้ยังไง ตั้งใจจะกินของหวานก็กินไปเลย ซึ่งเราเข้าใจ เพราะเราเองก็เคยคิดแบบนี้มาก่อน ซึ่งเราต้องเปลี่ยนความคิดทั้งหมดใหม่ เราไม่ได้มองน้ำตาลเป็นผู้ร้ายหากบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ ไอศกรีมของเราจึงผลิตขึ้นสำหรับคนที่ยังชื่นชอบของหวานแต่ต้องการลดน้ำตาลในชีวิตประจำวัน”

รสคอตเตจและพาร์เมซานครันช์ (ชีส) Photo: Flavorful

โอ๊คยังทิ้งท้ายด้วยประเด็นที่ชวนให้ขบคิดว่า “เราได้เข้าใจความเหน็ดเหนื่อยของคนทำมาหากิน เป็นความเหนื่อยที่มีต้นทุนและเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเราเป็นชนชั้นกลางที่พอมีต้นทุนอยู่บ้าง สามารถลงทุนทำไอศกรีมขายเองได้ เรายังค้นพบความเหนื่อยของมัน แต่ในสังคมยังมีคนอีกมากมายที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำมาหากินต่อไปโดยไม่มีทางเลือกอื่น”

Flavorful no sugar ice cream

สอบถามและสั่งซื้อไอศกรีมล่วงหน้าได้ที่กล่องข้อความ (in box) บนเฟซบุ๊ก Flavorful หรือโทร. 08-5662-6615
พื้นที่จัดส่งครอบคลุมจังหวัดนนทบุรี, กรุงเทพฯ และนครปฐม (โซนที่ติดกับนนทบุรี) เท่านั้น

ไอศกรีมทุกรสชาติ บรรจุกระปุกขนาด 320 กรัม ราคา 390 บาท
สั่งซื้อขั้นต่ำ 1 เซ็ต (3 กระปุก) เมื่อสั่งซื้อ 2 เซ็ต (6 กระปุก) ขึ้นไป แถมฟรีสกู๊ปตักไอศกรีม

Face Box

  • สารให้ความหวานทุกตัวสกัดจากพืชหรือผลไม้ มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ตามธรรมชาติ
  • ไอศกรีมมีส่วนผสมของนม ผู้ควบคุมน้ำหนักควรบริโภคอย่างพอดี ควบคู่กับการออกกำลังกาย
  • เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้แพ้อาหาร ผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรีย และสัตว์เลี้ยง ไม่ควรบริโภค