life

เมื่อความสูญเสียมาเยือนอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว โลกทั้งใบสลายไปต่อหน้าต่อตา

ในวันแรกๆ เราเจ็บปวดเจียนตาย ราวกับจะอยู่ไม่ได้ แต่ทำไมท้ายที่สุดแล้ว น้ำตากลับแห้งเหือดไป ที่ว่าเวลานั้นเยียวยาทุกสิ่งเป็นเรื่องจริงไหม ? 

เราขอชวนไปทำความรู้จักกับอารมณ์โศกศร้ากันให้มากขึ้นอีกนิด เพื่อให้เรารับมือกับความสูญเสียได้อย่างไม่เสียศูนย์

เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราสูญเสีย

เมื่อคนเราเผชิญกับความสูญเสียที่ทำให้โศกเศร้าแสนสาหัส จะทำชีวิตเปลี่ยนแปลงจากปกติไปมากมาย ในช่วงแรกๆ บางคนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ บางคนฝันร้าย พูดไม่ออก บอกไม่ถูก บ้างโกรธเกรี้ยว บ้างก็ร้องไห้ บางคนต้องการที่พึ่ง บ้างก็อยากอยู่คนเดียว แต่ที่แน่ๆ ความโศกเศร้า โดยเฉพาะจากความสูญเสียนั้นมีมิติที่มากกว่า ความเสียใจ (Sad) ธรรมดา

ความโศกเศร้าเป็นเหมือน ‘คลื่น’ ที่ซัดเข้ามาทำให้ชีวิตปกติสุขของเราพังไม่เป็นท่า ในช่วงที่แผลยังสดใหม่ คลื่นลูกนั้นจะยังทำให้เราเจ็บอยู่อย่างนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราอาจจะกลับมารู้สึกเจ็บปวดบ้างเป็นบางครั้งเมื่อถูกกระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์เก่าๆ แม้จะไม่เคยลืม แต่ความรู้สึกนั้นจะเบาบางลงจนเรียกได้ว่าทำใจได้

ในปี 1969 อลิซาเบธ คูเบลอร์ รอสส์ (Elizabeth Kubler-Ross) จิตแพทย์ชาวอเมริกันได้ทำการศึกษาในหมู่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายและออกแบบโมเดลที่ใช้อธิบาความโศกเศร้าของมนุษย์ เธอพบว่านับตั้งแต่วันที่ได้ฟังข่าวร้ายจนถึงวันที่ยอมรับได้ ผู้ป่วยเหล่านั้นได้ผ่านกระบวนการรับมือกับความสูญเสียทั้งหมด 5 ขั้นตอน หรือที่เรียกว่า ‘5 Stages of Grief’

เมื่อเจอความสูญเสีย ขั้นแรกคนเราจะ ‘ปฏิเสธ’ (Denial) ไม่เชื่อว่าเรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นกับเราจริงๆ พยายามหาเหตุผลมาหักล้าง เช่นเดียวกับผู้ป่วยระยะสุดทาย เมื่อรู้ว่าตัวเองอยู่ได้อีกไม่นาน อาจพยายามเชื่อว่าหมอวินิจฉัยผิดพลาดก็เป็นได้ บางคนพยายามหนีไปทำนู่น ทำนี่ บอกคนอื่นว่าสบายดี เพราะไม่อยากสู้หน้ากับความจริง

การปฏิเสธส่วนหนึ่งของ กลไกป้องกันตัวเอง (Defense mechanism) เพื่อปกป้องจิตใจไม่ให้รับความเจ็บปวดที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักหนาสาหัสในตอนแรก ทั้งนี้กลไกป้องกันตนเองยังมีอีกหลากหลายแบบ บางคนลืมทุกอย่าง สูญเสียความทรงจำเรื่องนั้นไปเสียเฉยๆ เพราะสมองเห็นว่านี่เป็นเรื่องที่รุนแรงเกินกว่าที่ใจจะรับไหว

ขั้นต่อมาคือความ ‘โกรธ’ (Angry) หลังจากยอมรับความจริงได้แล้ว ความโกรธก็ตามมา หลายคนรู้สึกหงุดหงิด เกรี้ยวกราด มองโลกในแง่ร้าย โกรธอะไรก็ตามที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา 

พอหายโกรธ เราก็จะเข้าสู่ช่วง ‘การต่อรอง’ (Bargaining) คร่ำครวญ ตัดพ้อ คิดวนเวียนอยู่ในหัวถึงสาเหตุที่ทำให้เรื่องนั้นเกิดขึ้นแล้วนึกเสียดาย อยากย้อนเวลากลับไปแก้ไข เปลี่ยนเรื่องราวไม่ให้ลงเอยแบบนี้ 

หลังจากยอมรับความจริงว่าแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว คนเราก็จะน้อมรับความ เสียใจ (Depression) อย่างเต็มอกและปล่อยให้ตัวเองร้องไห้ 

เมื่อร้องไห้จนพอแล้ว ท้ายที่สุดน้ำตาก็จะเหือดแห้งไป และเข้าสู่ช่วง ยอมรับ (Acceptance) ซึ่งเป็นช่วงแห่งการฟื้นฟูตัวเอง เริ่มยอมรับความสูญเสียได้มากขึ้น และปรับตัวกับวิถีชีวิตแบบใหม่ได้ หรือที่เราเรียกว่า ‘ทำใจได้’ นั่นเอง

ดูเหมือนว่าแนวคิดของคูเบลอร์ รอสส์ นั้นจะมองว่าคนเรารู้สึกกับความสูญเสียอย่างเป็นขั้น เป็นตอน แต่ความจริงแล้วกลับไม่ใช่แบบนั้น เพราะการศึกษาของเธอเป็นเพียงข้อเท็จจริงจากผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพียงไม่กี่คนเท่านั้น จึงไม่อาจนำมาสรุปพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งโลกได้ 

แม้แต่เธอเองเผยว่าโมเดลของเธอนั้น แม้จะทำให้เห็นกระบวนการของความโศกเศร้าแต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะใช้กระบวนการเดียวกันนี้ทั้งหมด

มนุษย์เราแตกต่าง ความโศกเศร้าของแต่ละคนก็แตกต่างกันด้วย

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน บางคนอาจปฏิเสธความจริงไปเรื่อยๆ กว่าจะยอมรับได้ บางคนร้องไห้นาน บางคนแค่อาทิตย์เดียวก็ทำใจได้แล้ว บางคนที่ดูเหมือนจะทำใจได้แล้ว ก็อาจกลับไปสู่วังวนที่เคยผ่านมาอีกครั้งก็เป็นได้ อาการหลังความสูญเสียนั้นจึงโยงใยพันกันยุ่งเหยิงเกินกว่าที่จะอธิบายได้ด้วยโมเดล 5 ขั้นตอนอย่างตรงไปตรงมา 

และที่สำคัญไม่มี ‘ระยะเวลา’ ที่กำหนดว่ากว่าที่เราจะทำใจได้นั้นต้องใช้เวลานานแค่ไหน บางคนบอกว่าเราควรใจแข็งและมูฟออนให้ได้ไวๆ ไม่จมอยู่กับความเศร้านานเกินไป แต่อันที่จริงแล้ว ยิ่งวิ่งหนีความจริงแล้วเก็บความเศร้าไว้ในใจ เรื่องนั้นจะยิ่งกัดกินจิตใจเราอย่างไม่ทันได้รู้ตัว

แต่ถึงอย่างนั้น

เราไม่จำเป็นต้อง ‘แก้ไข’ ความโศกเศร้า

ความเจ็บปวดเป็นประสบการณ์หนึ่งในชีวิตมนุษย์ เหมือนกับตอนที่เราดีใจและมีความสุข แม้จะเป็นความรู้สึกเชิงลบที่ไม่อยากให้เกิด แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแก้ไข วิธีรับมือกับความโศกเศร้าที่ดีที่สุดคือการเผชิญหน้ากับมันจังๆ และยอมรับว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับเรา

คุณหาใครสักคนที่ไว้ใจและพอมีเวลาจะฟังเรื่องนี้ การได้พูดทุกอย่างในใจ แม้จะเป็นเรื่องที่เคยพูดไปแล้ว จะทำให้ความจริงชัดเจนยิ่งขึ้นและทำให้ยอมรับได้ง่ายขึ้น อีกทางคือเลือกปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ที่จะฟังได้อย่างไม่ตัดสิน และมีคำแนะนำวิธีการรับมือแบบที่ใช้ได้จริง

นอกจากการเล่าสิ่งที่อยู่ในใจ คนเรายังระบายอารมณ์โศกเศร้าได้หลายแบบ ทั้งเล่นดนตรี วาดภาพ หรือเขียนบันทึกลงในสมุดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยระบายความคิดยุ่งเหยิงในหัวออกมาได้

ความโศกเศร้าไม่ไปไหน และจะอยู่กับเราตลอดไป

ฟังดูสิ้นหวังที่ว่าท้ายที่สุดแล้วความโศกเศร้านี้จะไม่ไปไหนและจะชัดเจนอยู่ในใจของเราเสมอ แต่ข่าวดีคือเราจะปรับตัวและใช้ชีวิตต่อไปได้

ในการศึกษาของ ดร.ลอยส์ ทอนกิน (Dr.Lois Tonkin) ที่ระบุอยู่ในบทความ Growing around Grief: another way of looking at grief and recovery อธิบายว่าเราเราจะไม่ ‘ก้าวผ่าน’ ความโศกเศร้าแต่เราจะ ‘ก้าวต่อไป’

เธอเปรียบความเศร้าเป็นวงกลมแรงเงาสีดำหนึ่งวงที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา เมื่อเวลาผ่านไปวงกลมนั้นไม่ได้เล็กลงแต่อย่างใด แต่เป็นเราที่ยังใช้ชีวิตต่อและสั่งสมประสบการณ์ใหม่ๆ สานสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ๆ สร้างความทรงจำใหม่ๆ ทำให้มีวงกลมอีกชั้นที่โอบล้อมวงกลมทึบๆ นั้นเอาไว้เป็นเกราะกันกระแทกไม่ให้เรารู้สึกเจ็บปวดสาหัสอย่างในวันก่อนๆ

แม้เราจะไม่ลืมความเสียใจในครั้งนั้น แต่ความทรงจำใหม่ๆ จะโอบอุ้มให้เราใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข อาจเรียกได้ว่านี่คือการเติบโตและคือสัญชาตญาณของมนุษย์ในการทำความรู้จักกับ ‘ความเสียใจ’ 

อ้างอิง