ไอศกรีมหลากสีหลายรสชาติที่เรียงรายอยู่ในตู้แช่แข่งกันอวดสีสันสดใส ราวกับกำลังกวักมือเรียกลูกค้าให้เขยิบเข้าไปใกล้อีกนิด เพื่อจะได้รู้ว่าไอศกรีมเหล่านี้มีดีกว่าที่คิด
เพราะแม้จะมีสีแดงอย่างไอศกรีมราสเบอร์รี่ แต่นี่คือ ‘แตงโมปลาแห้ง’ และไอศกรีมสีเขียวละมุนที่เห็นก็ไม่ใช่มิ้นต์รสซ่าที่คุ้นเคย แต่เป็นมิ้นต์ไทยใส่นมอย่าง ‘คะน้าสะระแหน่’
ยังไม่รวมบรรดาของกินและขนมพื้นบ้านของไทยที่กลายมาเป็นไอศกรีมได้หน้าตาเฉย ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงน้ำปลาหวาน ขนมตาล ขนมเปียกปูน ขนมครก เต้าฮวยน้ำขิง ฯลฯ ที่ความละลานตาในรสชาติทำเอาเกิดอาการรักพี่เสียดายน้องถึงกับสั่งไม่ถูกเลยทีเดียว
ไอศกรีมกว่า 20 รสชาติที่คัดสรรต่อวัน เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมดมากกว่า 70 รส ที่ หนุ่ม – เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล ร่วมกับภรรยาช่วยกันคิดและลงมือปั่นไอศกรีมกันเองในครัวหลังบ้านแล้วปลุกปั้น จินตะ โฮมเมดไอศกรีม (Jinta Homemade Icecream) ให้เป็นไอศกรีมยืนหนึ่งเรื่องการนำวัตถุดิบในประเทศมารังสรรค์เป็นไอศกรีมรสไทยแท้มานานกว่า 9 ปี และเพิ่งเปิดหน้าร้านแห่งแรกเมื่อกลางปีที่ผ่านมา
ไอศกรีมของลูกสาว
จุดเริ่มต้นของไอศกรีมจินตะเกิดขึ้นในวันที่สองสามีภรรยารู้ตัวว่ากำลังจะมีลูกคนแรก ดังนั้น การหารายได้เสริมจึงเป็นทางออกของมนุษย์ออฟฟิศ (ผู้เคยใช้เงินแบบเดือนชนเดือนมาโดยตลอด) ที่ต้องการสร้างอนาคตอันมั่นคงให้กับลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก
ด้วยคิดว่าตลาดไอศกรีมโฮมเมดคงยังไม่มีใครทำมากนัก ทั้งคู่จึงไปเรียนทำไอศกรีมและเริ่มทำไอศกรีมตามสูตรที่ได้ร่ำเรียนมาออกวางจำหน่าย โดยตั้งชื่อแบรนด๋ว่า ‘จินตะ’ ตามชื่อของลูกสาว (ที่สะกดว่า ด.ญ.จิณณ์ตา) ด้วยความตั้งใจในการทำไอศกรีมออกมาให้ดีที่สุด ไม่ให้มีใครติติงได้ เพราะหากไอศกรีมโดนครหา เท่ากับว่าลูกสาวก็ถูกตำหนิด้วยเช่นกัน
ในช่วงแรก จินตะเป็นไอศกรีมโฮมเมดที่ใส่น้ำตาล แต่งกลิ่น และเติมสีตามสูตรที่พวกเขาร่ำเรียนมา ใช้เวลานานเกือบ 5 ปี กว่าที่พวกเขาจะรู้ว่าส่วนผสมดังกล่าวเป็นการทำลายร่างกายแบบผ่อนส่ง
ประกอบกับการขยันนำไอศกรีมจินตะไปออกร้านตามตลาดเกษตรกรหรือตลาดสีเขียวเป็นประจำ ทำให้ทั้งคู่ได้พบปะเกษตรกรไทยและผู้ใช้ชีวิตวิถีอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ จนพบแนวทางใหม่ในการทำไอศกรีมที่ไม่ต้องพึ่งการแต่งสี เสริมกลิ่น หรืออัดน้ำตาลและไขมันเข้าไปจนเกินพอดี
และเลือกที่จะนำวัตถุดิบจากผืนแผ่นดินไทยมาปั่นเป็นไอศกรีมแทน
“ผมเริ่มต้นจากไอศกรีมรสผลไม้ไทย อย่างเสาวรส มะม่วง มะพร้าว ฯลฯ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก จึงเริ่มนำผักออร์แกนิกที่ผมเห็นว่าเหลือทิ้งทุกวันจากตลาดสีเขียวมาลองทำไอศกรีมดูบ้าง เริ่มจากผักโขมกับฟักทอง เป็นไอศกรีมสีเขียวตัดกับสีเหลืองที่ลูกค้าชอบมาก จากนั้นจึงลองนำผักชนิดอื่นมาทำไอศกรีมมากขึ้น เช่น คะน้า สะระแหน่ ฯลฯ”
เมื่อสนุกกับการทำไอศกรีมมากขึ้น ความสุขในแต่ละวันของสามีภรรยาคู่นี้ก็มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งก็ตรงตามความตั้งใจแรกในการหัดทำไอศกรีมเพื่อหารายได้เสริมสู่การเติบโตเป็นธุรกิจที่ไม่เน้นกำไร แต่ใช้ความสุขเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในแต่ละวัน
“ผมกล้าพูดว่าเรามีลูกค้าที่รักเราเยอะ เขาเห็นเราค่อยๆ เติบโตและสนับสนุนกันมาโดยตลอด จนถึงตอนนี้ที่เรามีหน้าร้านเป็นของตัวเอง” คุณหนุ่มเล่าถึงการเติบโตของไอศกรีมจินตะที่เริ่มจากการออกบูธและฝากขายตามร้านต่างๆ จนตอนนี้มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง ณ โครงการดีไซน์ วิลเลจ เกษตร–นวมินทร์ ที่เสร็จเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา
บาร์ลับกับบทสนทนาแบบเมาไอติม
“จากที่ผมกับแฟนทำเองขายเองมาโดยตลอด ตอนนี้เพิ่งจ้างพนักงานไว้ช่วยงานหน้าร้านหนึ่งคน ซึ่งบางวันที่ลูกค้าน้อย น้องพนักงานก็เครียด แต่ผมไม่เครียด เพราะเจอมาจนชินแล้ว” หนุ่มเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ
“อีกอย่างเพราะเป้าหมายของผมไม่ได้อยู่ที่ว่าสิ้นเดือนแล้วต้องทำยอดได้เท่าไร แต่ผมอยากส่งความสุขไปให้ลูกค้า ซึ่งแบบนั้นเราแฮปปี้มากกว่าการเอาไมน์เซ็ตไปตั้งที่ตัวเงินว่าต้องทำยอดให้ได้เท่าไร แปลว่าตื่นมาก็ต้องคิดเรื่องเงินแล้ว เมื่อวานได้แค่นี้ วันนี้ต้องได้เพิ่ม แต่ถ้าเมื่อวานลูกค้ามากินแล้ว เฮ้ย นี่มันรสอะไร แล้วเขาหัวเราะกัน พออีกวันเขาพาพ่อแม่กลับมาไอศกรีมของเรา แบบนี้ผมแฮปปี้มากกว่า”
ปรากฏการณ์ที่หนุ่มยกตัวอย่างเกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นบ่อยที่ร้านจินตะ โดยไอศกรีมที่เป็นขวัญใจคุณพ่อคุณแม่ของแต่ละบ้านหนีไม่พ้นไอศกรีมขนมไทยอย่างขนมครก ขนมตาล ขนมเปียกปูน ฯลฯ ที่เรียกรอยยิ้มได้เสมอ
หรือถ้าใครอยากยิ้มแฉ่งมากไปกว่านั้น แนะนำให้หาที่นั่งเหมาะบริเวณบาร์ด้านหลังร้าน เพราะ ณ ตำแหน่งนี้เองที่คุณสามารถเมาความสุขไปกับบทสนทนาสนุกๆ กับเจ้าของร้าน ที่นอกจากจะงัดวัตถุดิบลับออกมาให้ชิมแล้ว ยังเต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่ชวนให้คุยกันจนเพลินลืมดูเวลา
“ผมไม่ค่อยได้บอกใครว่ามีบาร์ด้านหลัง แต่ถ้าใครเดินมานั่ง ผมก็จะทำกาแฟหรือน้ำซ่าให้ดื่ม แล้วค่อยๆ หยิบวัตถุดิบขึ้นมาให้เลือกว่าอยากชิมอะไร ซึ่งก็ต้องดูท่าทีของแต่ละคนก่อน” บาร์เทนเดอร์ประจำบาร์ไอศกรีมเล่าด้วยรอยยิ้ม
“ผมอยากให้บรรยากาศเป็นเหมือนบาร์เหล้าที่ได้คุยกับบาร์เทนเดอร์ไปเรื่อยๆ แต่แทนที่จะเป็นแอลกอฮอล์ ผมก็เสิร์ฟน้ำหวานกับไอศกรีมแทน”
น้ำหวานของจินตะ หมายถึง เมนูน้ำซ่าต่างๆ ที่เลือกได้ว่าอยากจะจิบผลไม้หมักน้ำผึ้งป่าชนิดใด ใส่โซดาเพิ่มรสซ่าสดชื่น มีตั้งแต่กล้วย มะกรูด ขิง ไปจนถึงผลไม้พื้นถิ่นหายากอย่างมะแปรม ที่มาลองชิมได้ที่นี่ เพราะมีเครือข่ายเกษตรกรโยงใยทั่วไทย พร้อมส่งผลผลิตออร์แกนิกชั้นดีสู่บาร์ไอศกรีมแห่งนี้โดยตรง
“จริงๆ แล้วคอนเสปท์ของที่นี่ คือ From Friend’s Farm to Table ซึ่งทุกคนเป็นเพื่อนที่ร่วมเดินทางด้วยกันมาตลอด เช่น โลโก้และโครงสร้างของร้านนี้ ผมก็ให้น้องที่ทำแบรนด์ SarnSard ที่ช่วยฟื้นฟูเตยปาหนันในชุมชนทางภาคใต้ช่วยออกแบบให้ น้ำผึ้งป่าก็ได้จากน้องที่เป็นชนเผ่าปกากะญอในเชียงราย โกโก้ที่นำมาทำไอศกรีมช็อกโกแลตก็ใช้เมล็ดของจันทบุรี ที่พอมีเศษเปลือกโกโก้เหลือ ผมก็เอามาทำชาชงไว้ต้อนรับอาคันตุกะที่บาร์แห่งนี้” เจ้าบ้านเปรยถึงสารพัดวัตถุดิบเด็ดๆ เพื่อเชื้อเชิญอาคันตุกะหน้าใหม่ให้มาเจอกันที่หน้าบาร์
วัตถุดิบไทยไปได้ไกลกว่าที่คิด
หนึ่งในบทสนทนาที่หนุ่มไม่เคยเบื่อที่จะตอบคำถามซ้ำๆ ในแต่ละวันก็คือ ที่มาของไอศกรีมรสแปลกทั้งหลาย เช่น คิดได้ยังไงเอามะระมาจับคู่กับชีสเค้ก ไอศกรีมใส่ต้นหอมแล้วจะไม่เหม็นเหรอ ฯลฯ เพราะความสนุกของเขาก็คือการคิดวิธีนำวัตถุดิบใหม่ๆ มาปั่นเป็นไอศกรีมที่ใครกินก็ต้องบอกว่าอร่อย
“อย่างตอนนี้ก็คิดจะทำไอศกรีมเมี่ยงคำ โดยเอาใบชะพลูที่ให้สีเขียวเข้มมาทำเป็นไอศกรีม แล้วราดน้ำยำเมี่ยง แต่ด้วยความที่เครื่องเคราเยอะ ภรรยาก็เลยยังบ่ายเบี่ยงที่จะทำ” สามีเจ้าไอเดียเล่าพลางหัวเราะอีกรอบ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาคิดสูตร แล้วภรรยาเป็นคนลงมือทำ ดังนั้น ต้องให้เวลาฝ่ายผลิตที่พ่วงหน้าที่เมียและแม่ลูกสองในการหัดทำน้ำเมี่ยงรสเด็ดให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะพร้อมเสิร์ฟในรูปแบบไอศกรีม
“เคยจะทำไอศกรีมกล้วยปิ้งด้วยครับ โดยใส่เนื้อกล้วยปิ้งเข้าไปในไอศกรีม แล้วทำน้ำราด ซึ่งภรรยาก็บอกว่า ฉันอีกแล้วใช่ไหม!” หนุ่มพรั่งพรูถึงไอเดียที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งเชื่อขนมกินได้เลยว่าอีกไม่นานเกินรอ แฟนคลับไอศกรีมโฮมเมดจินตะจะได้อร่อยกับไอศกรีมรสชาติใหม่ๆ อีกไม่รู้จบ
ดูจากต้นกำเนิดไอเดียของไอศกรีมขายดีทั้ง 3 รสชาติดังต่อไปนี้ ที่เกิดจากการตั้งคำถามแล้วลงมือหาคำตอบของสามีภรรยาที่ยึดความสุขเป็นที่ตั้งในการทำธุรกิจหวานเย็น ที่ยังคงยืนหยัดยืนยันในคุณภาพของกำลังผลิตแบบพอดีตัว
เอาอาหารทะเลมาทำไอศกรีมได้ไหม?
เกิดเป็น
‘ไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวานซอร์เบต์’
ด้วยความที่มีเครือข่ายวัตถุดิบชั้นดีของไทยอยู่ในมือมากมาย รวมถึงรุ่นน้องคนหนึ่งที่ขายอาหารทะเลจากการทำประมงขนาดเล็กและไม่ใส่สารฟอร์มาลีน หนุ่มจึงเกิดไอเดียในการนำอาหารทะเลมาทดลองทำไอศกรีม
“ตอนแรกผมคิดจะเอาดีหมึกมาทำเป็นไอศกรีมสีดำ แต่เปลี่ยนมาทดลองโดยใช้กุ้งแห้งเป็นวัตถุดิบแทน โดยเลือกใช้กุ้งแห้งจากจังหวัดพังงา ที่ผ่านกรรมวิธีตากแห้งแบบธรรมชาติ แม้กุ้งจะตัวเล็ก แต่เคี้ยวเพลินมาก”
และเมื่อนึกถึงอาหารทานเล่นของไทยที่มีส่วนผสมลูกครึ่งกึ่งคาวหวานที่มีกุ้งแห้งเป็นส่วนผสม เป็นใครก็ต้องนึกถึงมะม่วงน้ำปลาหวาน ที่แม้ทั้งหนุ่มและภรรยาจะไม่เคยลงมือทำน้ำปลาหวานมาก่อน แต่ลองได้ใช้ความพยายามบวกกับมีของดีจากทั่วเมืองไทยอยู่ในมือ ในที่สุด ไอศกรีมมะม่วงน้ำน้ำปลาหวานซอร์เบต์ก็ถือกำเนิดขึ้นได้ไม่ยาก
“ช่วงแรกเรายังไม่รู้ว่าจะใช้มะม่วงพันธุ์ไหนดี สุดท้ายก็ค้นพบว่าต้องใช้มะม่วงน้ำดอกไม้ดิบ ที่แม้จะไม่ได้มีตลอดปี แต่เราสามารถทำสต็อคไว้ได้ด้วยการคั้นน้ำสกัดเย็นแล้วแยกกากแช่แข็งไว้เลย”
รสเปรี้ยวของไอศกรีมมะม่วงน้ำดอกไม้ซอร์เบต์ถูกชูรสให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น โดยราดน้ำปลาหวานที่ทำจากน้ำปลามหาชัย กับน้ำตาลมะพร้าวที่เคี่ยวในเตาตาลแบบดั้งเดิมให้รสหวานหอม เคี้ยวกรุบด้วยกุ้งแห้งตัวจิ๋วที่เป็นเหมือนไอเท็มลับประจำถ้วย
มิ้นต์ไทยจะเอาชนะมิ้นต์ฝรั่งได้หรือไม่?
เกิดเป็น
‘Greenery ไอศกรีมคะน้าสะระแหน่’
ไอศกรีมผักรสชาติแรกของไอศกรีมจินตะ ได้แก่ กรีนเดย์ (Greenday) หรือไอศกรีมผักโขมฟักทอง โดยประเดิมขายที่ตลาดกรีนเดย์ จึงตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ตลาดนัดสีเขียวอันเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างแบรนด์ไอศกรีมจินตะให้แข็งแรงจนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้น ไอศกรีมจินตะได้สัญจรไปออกร้านที่ตลาดกรีนเนอรี (Greenery) ทางเจ้าของตลาดจึงขอให้หนุ่มทำไอศกรีมรสเฉพาะกิจให้ตลาดแห่งนี้บ้าง และเมื่อสังเกตว่าโลโก้ของตลาดกรีนเนอรี่เป็นสีเขียวเข้มกับสีเขียวอ่อน หนุ่มเลยเกิดไอเดียทำไอศกรีมสีเขียวสองเฉดผสมกัน (เหมือนอย่างที่กรีนเดย์เป็นสีเขียว–เหลือง)
“หลังจากที่เห็นโลโก้ของตลาดเป็นสีเขียวเข้มกับสีเขียวอ่อน ผมก็เดินช้อปในตลาดจนเลือกคะน้าให้สีเขียวเข้ม กับสะระแหน่ให้สีเขียวอ่อน ซึ่งในใจผมอยากทำไอศกรีมรสมิ้นต์แบบไทยๆ มานานแล้ว เพราะอยากให้เด็กๆ ได้ชิมแล้วลองเทียบดูว่ามิ้นต์ฝรั่งที่เป็นเคมีกับมิ้นต์ธรรมชาติอย่างสะระแหน่จะให้อารมณ์ที่ต่างกันยังไง
“ไอศกรีมคะน้ามีส่วนผสมของนม จึงไม่มีกลิ่นผัก ออกเป็นรสชาตินมเบาๆ ที่ให้ประโยชน์จากไฟเบอร์ ที่หอมกลิ่นมิ้นต์จากสะระแหน่เป็นตัวเพิ่มรสชาติเข้าไป” หนุ่มเล่าถึงความกลมกล่อมของไอศกรีมทำจากผักสีเขียวที่ไม่ทำให้เด็กร้องยี้อีกต่อไป
ต้นหอมเอามาทำไอศกรีมรสอะไรถึงจะไม่เหม็น?
กลายเป็น
‘ไอศกรีมขนมครก’
ไอศกรีมขนมครกถือเป็นหนึ่งในไอศกรีมรสชาติที่ ว้าว! ที่สุด พอๆ กับมะระชีสเค้ก จนกลายเป็นภาพจำของแบรนด์จินตะไปโดยปริยาย และท้าทายลูกค้าหน้าใหม่ (ผู้ชอบเขี่ยต้นหอมทิ้ง) ได้ทุกครั้งว่า เขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ชิมไอศกรีมเขียวละมุนสูตรนี้
“ผมไม่ได้ตั้งใจจะให้ไอศกรีมขนมครกออกมาว้าวขนาดนี้ แค่คิดว่าจะทำยังไงกับต้นหอมได้บ้าง หลังจากที่เราทำไอศกรีมผักมาหลายตัวแล้ว ไล่มาตั้งแต่ผักโขมกับฟักทอง คะน้ากับสะระแหน่ หรือแม้แต่มะระก็เอามาทำไอศกรีมได้ เราก็เลยยิ่งสนุก
“ประกอบกับต้นหอมเป็นวัตถุดิบที่คิดไว้ในใจนานแล้วว่าจะเอามาทำยังไงดี จนมีอยู่วันหนึ่ง ผมไปยืนหน้าร้านขนมครก งั้นลองทำไอศกรีมขนมครกดีกว่า กรรมวิธีคือ เอามะพร้าวไปทำให้ติดไหม้ก้นหม้อนิดนึง จากนั้นนำไปปั่นกับต้นหอม ก็จะออกมาเป็นไอศกรีมกะทิต้นหอมที่ติดกลิ่นไหม้นิดๆ ซึ่งบางรอบไหม้หนักมากก็มี”
หนุ่มเล่าพลางหัวเราะให้กับความผิดพลาดทางเทคนิคที่เกิดขึ้นในบางวาระ ที่ท้ายที่สุดก็ออกมาเป็นไอศกรีมขนมครกสูตรกลมกล่อมชนิดที่คนไม่กินต้นหอมก็สามารถเอนจอยกับรสชาตินี้ได้แบบเนียนๆ
Jinta Homemade Icecream
ชั้น 1 อาคาร A โครงการ Design Village สาขาเกษตร–นวมินทร์ กรุงเทพฯ
โทร 087-318-0057
เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00 – 21.00 น.