life

หากตั้งใจทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กน้อยจนชวนให้ใครหลายคนมองข้ามไปเพราะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่สองสิ่งสำคัญที่ช่วยยืนยันให้เรื่องธรรมดากลายเป็นเรื่องจริงจังขึ้นได้ คือ มีใจรัก และ ตั้งใจจริง

เหมือนกับจุดเริ่มต้นของ Sukhumvit Street Coffee ร้านกาแฟเปิดใหม่ประจำย่านอ่อนนุชที่แตกต่างจากกาแฟร้านอื่นๆ ตั้งแต่รูปลักษณ์ เพราะเจ้าของอย่าง ‘แบงค์’ – ศราวุธ หมั่นงาน บารีสต้าผู้หลงใหลในวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ ตั้งใจออกแบบร้านตัวเองให้โดดเด่นและแปลกตา โดยนำรถจักรยานสามล้อมาทำเป็นร้านกาแฟขนาดกะทัดรัด

แม้จะอยู่ในช่วง soft opening และเพิ่งเปิดขายต่อเนื่องได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่ Sukhumvit Street Coffee กลับเป็นจุดสนใจของผู้คนในละแวกนี้ตั้งแต่วันแรก ถึงขนาดมีลูกค้าประจำทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศต่างแวะเวียนมาลิ้มลองรสชาติกาแฟที่ชงให้ด้วยใจตั้งแต่เปิดร้านในเวลาเช้าตรู่จนบ่ายคล้อยจวนร้านปิด

หลังจากเก็บร้านเสร็จ แบงค์ว่างจากความวุ่นมานั่งคุยกับเราด้วยท่าทีผ่อนคลาย พร้อมยื่นกาแฟให้หนึ่งแก้วเอาไว้ดื่มระหว่างสนทนาถึงเรื่องราวความเป็นมา แรงบันดาลใจ และแนวคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์ร้านและกาแฟของ Sukhumvit Street Coffee

ทันทีที่ได้ลองดื่ม แค่รสกาแฟอย่างเดียวก็พอจะทำให้รู้เหตุผลว่าทำไมร้านเล็กๆ ของเขาถึงมีลูกค้าประจำบ้างแล้ว

 

รถจักรยานสามล้อกับความเท่ที่เข้าถึงทุกคน

แบงค์เท้าความถึงความประทับใจแรกเมื่อครั้งได้เดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ความเรียบง่ายของร้านกาแฟที่นั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดว่า ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ จะเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ของตัวเองให้ได้

“ผมเห็นร้าน ABOUT LIFE COFFEE BREWERS ที่โตเกียวแล้วชอบมาก เป็นร้านเล็กๆ อยู่ตรงมุมตึก เลยบอกตัวเองมาตลอดว่า อยากทำร้านกาแฟแบบนั้น ประกอบกับช่วงโควิดกลับมาระบาดหนัก ทำให้ Roots ร้านกาแฟที่ผมทำงานเป็นบาริสต้าต้องปิดหน้าร้าน กลายเป็นว่ามีเวลาว่างมากขึ้น แต่บาริสต้าเป็นงานบริการ ความสนุกของงานนี้คือการได้พูดคุยและเสิร์ฟกาแฟให้ลูกค้า ในใจยังอยากชงกาแฟอยู่ตลอด เลยคิดถึงความอยากเปิดร้านขึ้นมา ดูเงินเก็บแล้วคิดว่าน่าจะพอเปิดร้านเล็กๆ ได้ ก็ลงมือทำเลย”

แบงค์มีทั้งแผนและภาพที่คิดไว้ล่วงหน้าว่าอยากให้ร้านกาแฟของตัวเองออกมาหน้าตาแบบไหน จึงปรึกษาพี่ๆ เพื่อนๆ ในแวดวงที่เปิดร้านกาแฟอยู่ก่อน ทั้ง Street Coffee Crew ที่เชียงใหม่ และ Warp House ที่บางแสน

“ส่วนตัวชอบร้าน stand alone มาก แต่เงินเก็บที่มีไม่ได้เยอะพอให้ไปเช่าตึกหรือที่ในห้างได้ แล้วผมสนใจคอนเซ็ปต์รถสามล้อขายกาแฟอยู่แล้ว เห็นต่างประเทศก็ขายแบบนี้มานาน รู้สึกว่าคนเข้าถึงง่ายกว่า น่าจะสนุกถ้ามีคนเดินเข้ามาซื้อกาแฟได้เรื่อยๆ แล้วเราก็นำเสนอร้านให้ออกมาเท่ไปอีกแบบ เลยตัดสินใจทำเป็นรถจักรยานสามล้อ เงินทุนที่มีจึงหมดไปกับรถที่ประกอบขึ้นใหม่และเครื่องชง ส่วนเครื่องบดเมล็ดที่ใช้อยู่ตอนนี้ เพื่อนที่รู้จักกันให้ยืมมาใช้ก่อน ส่วนหนึ่งที่ทำให้ร้านนี้เสร็จเป็นรูปเป็นร่างเพราะความช่วยเหลือจากคนรอบตัว”

 

ปักหมุดทำเลเพราะมองเห็นโอกาส

ถึงจะเป็นร้านกาแฟแบบรถจักรยานสามล้อที่ปั่นได้จริง แต่แบงค์อยากหาทำเลดีๆ สักที่ เพื่อจอดขายให้เป็นหลักเป็นแหล่งมากกว่า เพราะต้องการสร้างภาพจำให้คนทั่วไปรู้จักร้านก่อน หวังเพิ่มฐานลูกค้าไปในตัว

“บ้านผมอยู่บางจาก ห่างกับอ่อนนุชแค่รถไฟฟ้าสถานีเดียว ผมคุ้นเคยกับแถวนี้มาตั้งแต่เด็ก เป็นย่านที่ใช้ชีวิตและเติบโตมา คิดเอาไว้แล้วว่าต้องเป็นละแวกนี่แหละแต่ยังหาสถานที่ขายไม่ได้ จนวันหนึ่งผมแวะซื้อของที่โลตัสอ่อนนุชแล้วเห็นพื้นที่หน้าหน้าที่ติดกับถนนและทางขึ้นรถไฟฟ้ามีรถฟู้ดทรัคจอดขายอาหารอยู่ รู้สึกว่าเป็นทำเลที่ดี คนเดินผ่านตลอดเวลา เลยติดต่อขอเช่าบ้าง ปรากฏว่าค่าเช่าอยู่ในราคาที่เรารับได้ เลยตกลงปลงใจกับตรงนั้นเลย”

ทำเลจึงกลายเป็นตัวกำหนดชื่อร้าน ทำให้แบงค์ตัดสินใจเลือกชื่อได้ในเวลาอันสั้น “ในเมื่อโตมากับคำว่าสุขุมวิท เวลาไปไหนมาไหนก็จะพูดแต่คำนี้บ่อยมาก พอตั้งใจทำร้านกาแฟแนวสตรีทขายในย่านนี้ ตอนคิดชื่อร้าน ‘สุขุมวิท’ คือคำแรกที่นึกขึ้นมาในหัว คงเป็นความรู้สึกผูกพัน ผมเลยตั้งชื่อร้านให้จำง่ายว่า ‘Sukhumvit Street Coffee’ สื่อความหมายได้ทั้งตัวเองและความเป็นมาของร้านที่จอดขายอยู่ริมถนนสุขุมวิท”

 

วันแรกและความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด

แบงค์สารภาพว่าคืนก่อนวันเปิดร้านเขานอนไม่เต็มอิ่ม เพราะยอดขายที่ตั้งไว้ทำให้ตื่นเต้นปนกังวลจนนอนหลับไม่สนิท เป็นความกลัวอยู่ลึกๆ ในใจว่าจะไม่มีคนออกมาซื้อกาแฟของเขาดื่ม

“ขายได้ 30 แก้วก็เก่งมากแล้ว” แบงค์บอกความคาดหวังที่ในระดับที่พอจะเป็นไปได้ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ เพราะคนส่วนใหญ่เก็บตัวอยู่บ้านมากกว่าออกมาเดินเล่นเผชิญความเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนจะพูดต่อว่า “แต่เหนือความคาดหมายไปมาก เพราะขายได้ประมาณร้อยแก้ว ผลตอบรับวันแรกค่อนข้างดี เลยรู้สึกใจชื้นขึ้นมาหน่อย อาจจะด้วยดีไซน์และเป็นร้านกาแฟใหม่ในละแวกนี้ที่ทำให้คนลองซื้อดื่มกัน ราคาต่อแก้วที่ผมขายก็ไม่ได้แพง เลยทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น เฉลี่ยแล้วขายได้ตกวันละ 120 แก้ว”

แต่ใจชื้นได้ไม่นาน เมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ 14 วัน แบงค์กลับมากังวลอีกครั้ง

“ยอดตกลงมาเหลือครึ่งต่อครึ่ง ขายได้วันละ 50 ถึง 80 แก้ว เป็นตัวเลขที่โอเคอยู่ เพราะหักค่าใช้จ่ายแล้วยังได้กำไรนิดหน่อย แต่ถ้าถึงจุดที่เริ่มขาดทุนคงต้องดูกันอีกทีว่าจะทำยังไงต่อไปดี ผมเป็นทั้งเจ้าของร้านและคนชงเลยรู้สึกโดยตรงว่าตอนนี้ธุรกิจคนทำมาค้าขายได้รับผลกระทบเต็มๆ นี่คือวิกฤติแล้ว ผมตามข่าวตลอด เห็นหลายกิจการต้องปิดตัวหรือไม่ก็เลิกจ้างพนักงาน ทุกคนไม่ไหว ทุกอย่างย่ำแย่ เข้าใจหัวอกของคนทำธุรกิจมากๆ เพราะรัฐล้มเหลว ทำงานอะไรไม่เป็นสักอย่าง”

ไม่มีอะไรไว้วางใจได้อีกต่อไป เพราะความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทำให้แบงค์ตัดสินใจเปิดรับออเดอร์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันสั่งอาหารที่ไม่หักค่า GP (Gross Profit) หรือค่าส่วนแบ่งการขายที่ร้านต้องจ่ายให้แอปฯ เพื่อประคับประคองร้านให้มีรายได้เพิ่มเติมจากการขายหน้าร้านอย่างเดียว

 

ความตั้งใจคับแก้วเพื่อรสชาติกาแฟที่ดื่มได้ทุกวัน

ด้วยความที่อยู่ในวงการกาแฟมานาน ทำให้แบงค์รู้และเข้าใจทุกกระบวนการตั้งแต่แรกจนสำเร็จออกเป็นกาแฟหนึ่งแก้วให้ดื่ม เขาจึงใส่ใจทุกรายละเอียด คัดเลือกสายพันธุ์เมล็ดกาแฟและวัตถุดิบทุกอย่างด้วยตัวเอง เพื่อควบคุมคุณภาพและรสชาติให้คุ้มค่ากับราคาที่ลูกค้าจ่าย

“ผมดื่มกาแฟมาเยอะมาก ลองแล้วทุกแบบ ทั้งคั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม เมล็ดกาแฟจากหลายประเทศหลายโซน แต่กาแฟที่ได้ดื่มทุกวัน กลับเป็นกาแฟที่มีรสชาติเรียบง่ายไม่ได้ฉูดฉาดเกินไป ผมจึงคิดเมนูจากฐานคิดนี้

“ส่วนเมล็ดกาแฟที่ใช้ได้มาจาก 4 ประเทศ คือ กาแฟอาราบิก้าของบราซิล พม่า และลาว อย่างละ 30% อีก 10% เป็นกาแฟโรบัสต้าตาเกรดดีของอินโดนีเซีย เพราะเป็นอัตราส่วนที่ผมเบลนด์เองแล้วสั่งคั่วระดับกลางให้รสชาติหวาน หอมกลิ่นถั่ว คาราเมล และช็อกโกแลต เป็นผลลัพธ์ที่พอดีกับขนาดแก้วที่ใช้ในร้าน”

แบงค์ยังรับรองว่ากาแฟทุกแก้วของ Sukhumvit Street Coffee ชงขึ้นด้วยความตั้งใจคับแก้ว เพราะต้องการให้ผู้ดื่มรู้สึกว่า นี่คือรสชาติของกาแฟที่ดื่มได้โดยไม่รู้สึกเบื่อ

“ผมเชื่อมากๆ ว่ากาแฟที่ดีหรือกาแฟที่อร่อย คือกาแฟที่เราชอบรสและกลิ่นหอมของมัน จึงเป็นที่มาของสโลแกนประจำร้านว่า Brewing your favorite cup daily. เพราะผมตั้งใจชงกาแฟออกมาเป็น everyday coffee คือกาแฟในแบบที่คุณชอบให้คุณในทุกๆ วัน”

 

กาแฟแนะนำที่อยากให้ลองดื่มสักครั้ง

signature coffee ประจำร้านมีอยู่ 3 ตัว ทั้งหมดขึ้นต้นด้วยคำว่า Sukhumvit “ตัวเอกคือ Sukhumvit Double Dose (75 บาท) โดสแรกในแก้วนี้ใช้เอสเพรสโซ่ช็อต อีกโดสใช้กาแฟคั่วบดที่เอาไว้ชงโอเลี้ยงมาต้มเป็นไซรัป แล้วเติมความหวานมันด้วยนมที่ผมใช้นม 3 ชนิดมาเบลนด์ เพื่อให้ได้นมที่ไม่ข้นฝืดคอ และไม่หวานเลี่ยน เหมาะกับคนชอบกาแฟไทยหรือเอสเพรสโซ่เย็น ได้คาเฟอีนเต็มที่ เป็นตัวที่ขายดีที่สุด ใครก็ดื่มได้เพราะดื่มง่าย

“ตัวที่สองคือ Sukhumvit Black Citrus (75 บาท) เป็นกาแฟดำ ใช้เอสเพรสโซ่ช็อตผสมกับโทนิกและเลม่อนเนดที่ทำเอง เพราะจะได้ควบคุมกลิ่นและรสของเลมอนให้พอดีกัน แก้วนี้เปรี้ยวหวานสดชื่นเหมาะกับคนชอบกินกาแฟดำผสมน้ำผลไม้

“ตัวสุดท้าย Sukhumvit Iced Tea (75 บาท) ยังไม่คลอด ลองทำออกมาชิมแล้วรู้สึกว่ายังไม่พอใจ เลยยังไม่ขาย เป็นชาใสเหมือนดื่มอเมริกาโน่เย็นแต่เข้มข้นกว่า

นอกจาก signature coffee ยังมีเครื่องดื่มสำหรับคนไม่ดื่มกาแฟที่น่าลองไม่แพ้กัน นั่นคือ Cocoa (55 บาท) “ผมเลือกใช้ dark cocoa ให้รสคล้ายข้าวเหนียวดำคั่ว เบลนด์กับ black cocoa ที่ปลูกในประเทศไทย แล้วเพิ่มความหอมมันโดยใส่เนยโกโก้เข้าไปด้วย เพิ่มกลิ่นหอมและความเข้มข้นกำลังดี ขมนิดๆ ปลายลิ้น ที่เหลือคือกาแฟที่สั่งได้ทั่วไปตามร้าน”

เรื่องราคา แบงค์บอกเหตุผลที่ทำให้ควบคุมราคาเครื่องดื่มของร้านได้ว่า “ผมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าเช่าเป็นตารางเมตรเหมือนร้านใหญ่ๆ แล้วก็ทำกันเองกับน้องชายไม่ได้จ้างพนักงาน ไม่ต้องซื้อโต๊ะเพิ่ม ใช้แค่เก้าอี้พกพาตัวเล็กๆ ซึ่งมีอยู่แล้วที่บ้าน เอาไว้ให้ลูกค้านั่งชิล ถ่ายรูปเล่น ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ ทำให้ราคาต่อแก้วถูกลง”

 

กาแฟแค่หนึ่งแก้วก็สร้างความสุนทรีย์ให้ชีวิต

การชงกาแฟหนึ่งแก้วก็ไม่ต่างจากการทำงานศิลปะที่ต้องอาศัยความตั้งใจและพิถีพิถันในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการเทฟองนมให้เกิดลายบนผิวกาแฟที่เรียกว่า ลาเต้อาร์ต ซึ่งเป็นทักษะที่แบงค์ถนัดและทำได้ยอดเยี่ยม เพราะเคยคว้าแชมป์ในรายการแข่งขันลาเต้อาร์ตระดับโลกทั้งในจีนและญี่ปุ่นมาแล้ว

“ปกติหน้าร้านนี้ ผมจะไม่ค่อยทำภาพที่มีความซับซ้อนเหมือนตอนประกวด เพราะว่าแก้วกาแฟร้อนที่ใช้เสิร์ฟทรงค่อนข้างสูงและลึก ทำให้เทนมลำบาก ไม่เหมือนกับแก้วทรงตื้นปากกว้างที่เสิร์ฟในคาเฟ่ กลายเป็นข้อจำกัดให้ทำได้แต่ลายพื้นฐานเท่านั้น เช่น ลายหัวใจ ลายใบไม้ ลายดอกทิวลิป แต่ถ้าลูกค้าต้องการลายเดียวกับที่ใช้ประกวดอย่างลายกระรอก ลายแพะจริงๆ ก็พอจะทำให้ได้ แต่คงออกมาไม่สวยเท่า”

ระหว่างนี้แบงค์ยังคงฝึกซ้อมเทฟองนมอย่างต่อเนื่อง และคิดค้นลายใหม่ๆ เอาไว้ใช้แข่งขันในอนาคต “ใจจริงอยากลงแข่งอีกเท่าที่จะลงแข่งได้แต่อุปสรรคของการเดินทางคือโควิด-19 เลยพยายามทุ่มเทเวลาว่างมาฝึกฝนลายล่าสุดที่คิดไว้เผื่อใช้ประกวด คือ ลายกิ้งก่าคาเมเลี่ยน จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ ถึงเวลานั้นคงพร้อมแข่งมากๆ เพราะเตรียมตัวมานานมาก (หัวเราะ)”

จากคนที่ดื่มกาแฟเพราะต้องการแก้ง่วง กลายเป็นบารีสต้าที่ชงกาแฟด้วยความสุนทรีย์และตั้งใจส่งต่อรสชาติของความสุขให้ผู้อื่นต่อไป “ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็จำไม่ได้เหมือนกันที่กาแฟเป็นเหมือนเป้าหมายอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิต วันไหนที่ไม่ได้ดื่มกลับรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรสักอย่างไป”

กาแฟของร้าน Sukhumvit Street Coffee อาจไม่ได้หวือหวาแบบร้านใหญ่ๆ ที่มีกาแฟให้เลือกหลายตัว แต่ตัวที่แบงค์คัดเลือกมาใช้กับร้านของเขาเอง คือผลลัพธ์จากความตั้งใจจริง กว่ากาแฟที่สำเร็จออกมาเป็นแก้วหนึ่ง จึงเป็นก้าวเล็กๆ ของความสำเร็จที่เขาเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดด้วยความหวังว่า ก้าวเล็กๆ เหล่านี้จะช่วยให้ร้านเติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ เพื่อมอบรสชาติกาแฟที่ดื่มได้ในทุกๆ วันต่อไป

Sukhumvit Street Coffee

รถจักรยานสามล้อขายกาแฟจอดอยู่ด้านหน้าห้างโลตัส สาขาอ่อนนุช ติดกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอ่อนนุช ทางออกหมายเลข 2

เปิดบริการทุกวัน วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 5.30 – 15.30 น. ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 9.30 – 15.30 น. หรือสั่งผ่านแอปฯ Robinhood ได้ในวันและเวลาเดียวกัน

Facts Box

  • ราคาเครื่องดื่มทั่วไปของร้าน แบ่งเป็น 2 ราคา คือ 45 บาท สำหรับเครื่องดื่มชงร้อน และ 55 บาท สำหรับเครื่องดื่มชงเย็น ยกเว้นมอคค่าทั้งร้อนและเย็นต้องเพิ่ม 10 บาท เพราะใช้ซอสโกโก้พิเศษที่ร้านเบลนด์ขึ้นเอง
  • หลังจากผ่านช่วง soft opening ไปแล้ว ทางร้านตั้งใจว่าจะปรับเปลี่ยนเวลาใหม่ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งต้องรอดูอีกสักระยะหนึ่ง