life

หากลองสำรวจตู้เสื้อผ้า อาจพบว่ามีเสื้อผ้าบางตัวที่ตั้งแต่ซื้อมายังแทบไม่เคยได้ใส่ หรืออาจมีเสื้อผ้าอีกตัวที่ขาด ชำรุด แต่ยังไม่ได้เอาไปซ่อม ในขณะที่เสื้อผ้าตัวใหม่ก็ค่อยๆ เข้ามาแทนที่และรอคิวจะไปจบอยู่ในสภาพเดียวกันในมุมหนึ่งของตู้ 

หากลองสำรวจตู้เสื้อผ้า อาจพบว่ามีเสื้อผ้าบางตัวที่ตั้งแต่ซื้อมายังแทบไม่เคยได้ใส่ หรืออาจมีเสื้อผ้าอีกตัวที่ขาด ชำรุด แต่ยังไม่ได้เอาไปซ่อม ในขณะที่เสื้อผ้าตัวใหม่ก็ค่อยๆ เข้ามาแทนที่และรอคิวจะไปจบอยู่ในสภาพเดียวกันในมุมหนึ่งของตู้ 

เราอาจจำความรู้สึกของการใส่เสื้อผ้าตัวใหม่ได้ แต่แทบไม่รู้เลยว่าการบอกลาเสื้อผ้าตัวเก่านั้นเป็นอย่างไร เราขอชวนคุณไปสำรวจตู้เสื้อผ้ากันอีกครั้ง แล้วหยิบเสื้อผ้าตัวเก่าออกมาดูกันว่า อะไรทำให้เราเลือกจะเก็บมันไว้ตรงนั้น ถ้าเป็นเพราะรอยขาดแล้วล่ะก็ หลังจากอ่านบทความนี้ เราอาจเจอวิธีที่ทำให้คุณได้ใส่เสื้อผ้าตัวเก่าด้วยความรู้สึกใหม่ก็เป็นได้ 

ความรู้สึกที่ทำให้อยากกลับไปค้นเสื้อผ้าเก่ามาคืนชีพเกิดขึ้นกับเราเช่นเดียวกัน เมื่อได้ทำความรู้จักกับ Reviv (รีไวฟ์)’ ซึ่งเป็นบริการซ่อมเสื้อผ้าออนไลน์ ที่อยากให้คนยืดอายุการใช้งานเสื้อผ้าตัวเดิมให้ได้นานที่สุด  

(ซ้าย-ขวา) ภูมิ, ปอน, ฝ้าย, พั้นซ์ และ ปิง (Photo : Reviv)

โดยสตาร์ทอัพนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของทีมงานทั้งหมด คน คือ ปอน – อังกูร ไชยปรีชาวิทย์ปิง – ศรวุฒิ ปิงคลาศัยภูมิ – ภาคภูมิ โกเมศโสภาฝ้าย – ฐนิตา เขตกิตติคุณ และ พั้นซ์ – พิมพ์นารา สินทวีวงศ์ 

ฝ้ายกับปิงผู้อาสาเล่าเรื่องของ  Reviv ให้เราฟังในวันนี้ เล่าว่าก่อนหน้านี้ภูมิเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนอยู่แล้ว จึงได้มารวมทีมกับปิงและปอนที่ทำงานด้านธุรกิจเพื่อสังคม จากนั้นจึงชวนฝ้ายที่เรียนจบด้านแฟชันซึ่งก็สนใจร่วมทีม และชักชวนพั้นซ์เข้ามาออกแบบเว็บไซต์ให้น่าใช้ขึ้นกว่าเดิม

Reviv 

แม้จะมาจากต่างสาขาอาชีพ แต่ทั้ง คนล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ‘อยากเปลี่ยนให้คนมองว่าการใส่เสื้อผ้าตัวเก่าเป็นเรื่องที่ดี’ เพราะอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในปัจจุบันซึ่งเน้นการผลิตเป็นหลักกำลังสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม  และเปลี่ยนแรงงานมนุษย์ให้เป็นเหมือนเครื่องจักร 

ด้วยเหตุนี้ Reviv บริการรับซ่อมเสื้อผ้าออนไลน์จึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีบริการเย็บ ชุน ปะ ให้เสื้อผ้าตัวเก่ากลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมแล้ว ยังมีบริการปักลายสวยๆ ที่ทำให้เหมือนได้เสื้อผ้าใหม่ โดยที่ยังช่วยยืดอายุเสื้อตัวเดิมให้อยู่นานขึ้นอีกด้วย 

“เป้าหมายหลักของ Reviv อย่างแรก คือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) เราอยากให้คนหันมาซ่อมเสื้อผ้ามากกว่าซื้อเยอะๆ เพราะสุดท้ายแล้วฟาสต์แฟชั่น (Fast fashion) มันก่อให้เกิดปัญหาเยอะมาก ทั้งด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม” 

“อย่างที่สอง คือ เราอยากส่งเสริมแรงงาน อยากลดความเหลื่อมล้ำของแรงงาน ส่วนสิ่งสุดท้ายคือ อยากจะพัฒนาสกิลของแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะทำงานแบบไถจักรปื้ดเดียวแล้วได้เงินน้อยมาก เช่น คนที่ทำงานเย็บแขนเสื้อในโรงงาน ก็จะเย็บเป็นแต่แขนเสื้ออย่างเดียว ซึ่งงานพวกนี้มันมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนด้วยหุ่นยนต์ แรงงานจึงต้องถูกอัพสกิลให้มีความสามารถในการออกแบบแล้วเข้าไปสู่วงจรของสโลว์แฟชั่น (Slow fashion) เพื่อไม่ให้ถูกแทนที่และกลายเป็นแรงงานที่ตรงความต้องการของตลาด” ฝ้ายบอกกับเรา 

“เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงความคิด วัฒนธรรม ค่านิยมของสังคมให้เป็นไปในแบบสโลว์แฟชั่นมากขึ้น อยากให้คนปรับเรื่องวัฒนธรรมการบริโภค อย่างการซื้อเสื้อผ้าแต่ละตัว มากกว่าเรื่องของแฟชั่น เราอยากให้ใส่ใจโลกและผู้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้วย” ปิงเสริมต่อจากที่ฝ้ายเล่า 

 

ซ่อมโลกด้วยการซ่อมเสื้อผ้า 

เสื้อผ้าที่เรามีหมุนเวียนอยู่ตอนนี้ มันพอจะให้คนทั้งโลกใส่ได้อีกหลายปี โดยที่เราไม่จำเป็นต้องผลิตใหม่อีกแล้ว” ฝ้ายเล่าให้เราฟัง  

เธอเล่าอีกว่าหนึ่งโจทย์หลักที่ Reviv อยากแก้ให้ได้คือเรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ เนื่องจากอุตสาหกรรมแฟชั่นก่อให้เกิดมลพิษเป็นอันดับที่ ของโลก โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากเป็นอันดับ แม้กระทั่งการจะได้ยีนส์มาสัก ตัว ยังต้องใช้น้ำถึง 7,500 ลิตร ซึ่งเป็นจำนวนมากพอที่จะให้มนุษย์คนหนึ่งดื่มได้นานถึง ปี ทั้งหมดนี้ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ในวันที่เสื้อผ้าล้นโลกไปแล้ว 

“ก่อนจะเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม แฟชั่นค่อนข้างจะผลิตช้า แต่เมื่อกำลังผลิตมากขึ้น มันเลยทำให้เกิดฟาสต์แฟชั่น โดยปกติแล้วแบรนด์ใหญ่ๆ จะพากันออกคอลเลกชันใหม่แค่ 2-3 ครั้งต่อปี เยอะหน่อยก็สัก 5 – 6 ครั้งต่อปี  แต่พอเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น จะเห็นได้ว่าออกคอลเลกชันใหม่ทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งวิธีทำกำไรคือความเร็ว แล้วราคาถูก มันเลยทิ้งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและแรงงานไว้มาก มันกำลังส่งเสริมค่านิยมด้วยการตลาดและธุรกิจ ในเมื่อสินค้าราคาถูกและมาเร็ว คุณก็ซื้อเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ถ้าไม่ใช้ก็ทิ้งไป แล้วเปลี่ยนใหม่”

 

“ตอนนี้เรามีขยะแฟชั่นเยอะมากแล้ว แน่นอนว่าพอเราซ่อม เราก็ทิ้งของน้อยลง”

 

“ในแต่ละปีจึงมีขยะจากแฟชั่นเยอะมาก เสื้อผ้าที่เราใช้งานถูกทิ้งไปถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่เราซื้อ ซึ่งขยะพวกนี้ไม่ได้ถูกกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะถูกฝังกลบในบ่อขยะซึ่งก่อให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้นอีก นี่ยังไม่รวมถึงใยโพลีเอสเตอร์ที่เวลาซักแต่ละครั้ง มันจะมีไมโครไฟเบอร์หลุดออกมา สุดท้ายแล้วก็จะลงไปอยู่ในทะเล และมาอยู่ในห่วงโซ่อาหารของเรา” เธอเล่า 


เมื่อเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้นสามารถเริ่มจากหน่วยเล็กๆ อย่างผู้บริโภค Reviv จึงเริ่มตั้งแต่ชวนให้คนมายืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าตัวเดิมด้วยการให้บริการซ่อมเสื้อผ้า 

“การซ่อมเสื้อผ้าถือเป็นวิธีที่ยั่งยืนมากกว่าการผลิตเสื้อผ้าด้วยวิธีแบบยั่งยืน (sustainable) หรือการผลิตเสื้อผ้าแบบรีไซเคิลด้วยซ้ำ เพราะสุดท้ายแล้วทุกการผลิตจะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรเพิ่มแน่นอน แต่การซ่อมเสื้อผ้า เราสามารถยืดอายุสิ่งของที่ถูกผลิตในระบบให้กลับมาใช้ได้นานขึ้น มันคือวิธีที่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์น้อย ตอนนี้เรามีขยะแฟชั่นเยอะมากแล้ว แน่นอนว่าพอเราซ่อม เราก็ทิ้งของน้อยลง” ฝ้ายเล่า 

พวกเขาเผยว่า ไม่ว่าจะส่งให้ Reviv ซ่อมหรือจะส่งให้ร้านแถวบ้านซ่อม นั่นก็เป็นสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นทั้งนั้น เพียงแต่การถือกำเนิดของ Reviv อาจทำให้ผู้บริโภคสะดวกสบายมากขึ้น และแน่ใจได้ว่าเงินที่จ่ายจะส่งตรงไปถึงมือของกลุ่มแรงงานผู้อยู่เบื้องหลังอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกหนึ่งโจทย์ที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญและคิดว่างานซ่อมเสื้อผ้าจะช่วยได้คือการกระจายรายได้ให้แรงงาน และเพิ่มทักษะให้งานตัดเย็บของพวกเขามีมูลค่ามากขึ้น 

ปิงผู้ทำงานคลุกคลีกับกลุ่มแรงงานมาตลอดเล่าให้เราฟังว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศไทยเคยเติบโตอย่างมาก และเต็มไปด้วยโรงงาน แต่ปัจจุบันเมื่อค่าแรงเริ่มแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ฐานผลิตจึงเริ่มย้ายไปยังประเทศเหล่านั้น ทำให้แรงงานไทยเริ่มตกงาน แม้ว่าจะยังมีทักษะการเย็บที่ดี แต่กลับไม่มีงานให้ทำ 

โดยปกติแล้ว เมื่อโรงงานผลิตผ้าขึ้นมาขาย รายได้ 50 เปอร์เซ็นต์จะไปอยู่ที่แบรนด์ และมีเพียง เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะกลับมายังแรงงาน นั่นหมายความว่าพวกเขามีรายได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับการทำงานที่หนักหนาและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก 

ฝ้ายเสริมด้วยการเล่าถึงโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เธอยังจำได้ไม่เคยลืม เกี่ยวกับแรงงานที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับอุตสาหกรรมที่หิวกระหาย  

“ปี 2013 ตอนที่ตึกรานาพลาซ่าถล่ม มันทำให้เรารู้ว่าการเข้าไปนั่งทำงานในตึกใหญ่ๆ ที่แออัดมากๆ มันไม่มีความปลอดภัยเลย ที่นั่นเป็นตึกที่มีคนเข้าไปเย็บผ้ากันประมาณ 2 – 3 พันคน พอตึกถล่มมีคนตายไปพันกว่าคน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นมีพนักงานแจ้งไปแล้วว่าตึกมีรอยร้าว แต่แทนที่พวกเขาจะได้ออกมาและจัดการเรื่องความปลอดภัย เมื่อเป็นอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ต้องเร่งผลิต ทุกคนก็ต้องกลับเข้าไปทำงานในนั้น จนสุดท้ายตึกก็ถล่มลงมาจริงๆ”  

นอกจากจะทำให้เงินถึงมือคนทำงานอย่างเป็นธรรมแล้ว Reviv ที่วางตัวเป็นสื่อกลางอาสานำเสื้อผ้าตัวเก่าที่ชำรุดส่งไปยังช่างซ่อม พวกเขายังมองว่านี่จะเป็นการช่วยกระจายรายได้ให้แรงงานอย่างทั่วถึงเท่าที่จะทำได้อีกด้วย 

“เราต้องการสร้างอาชีพให้กลุ่มคนทำงานที่บ้าน ช่วงเริ่มต้นเราโฟกัสแรงงาน กลุ่ม กลุ่มแรกคือ แรงงานนอกระบบที่อาศัยอยู่ในย่านสลัมหรือชานเมือง ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีเยอะมาก และมีลักษณะที่คล้ายๆ กันคือ ครอบครัวอาศัยอยู่ชานเมือง ผู้ชายที่เป็นสามีจะทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนผู้หญิงจะอยู่บ้านเลี้ยงลูกและทำงานเย็บผ้าไปด้วย ซึ่งงานส่วนใหญ่ของเขาจะเป็นงานรับจ้างเหมาจากโรงงานอีกที และโดนกดค่าแรงต่ำมาก เคยเจอตัวละ 0.7 บาท ต้องทำประมาณ 200-250 ตัวต่อวัน ถึงจะมีเงินเท่ารายได้ขั้นต่ำ บางคนเย็บตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสามทุ่ม และเลี้ยงลูกไปด้วย 

“กลุ่มที่ คือ ผู้ลี้ภัยและคนไร้สัญชาติในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชาวม้ง แม้ว่าจะมีโอกาสประกอบอาชีพน้อยกว่าคนทั่วไป แต่เขามีทักษะการเย็บผ้าที่ดีมาก เพราะชาวม้งสืบทอดวัฒนธรรมการเย็บผ้ากันมารุ่นต่อรุ่น แม่ๆ ทุกคนจะเย็บผ้าเป็น เขาจะทำเสื้อผ้าให้ลูกใส่เอง ผ้าปักของชาวม้งมีเอกลักษณ์มาก สามารถนำไปต่อยอดได้เยอะ เราเลยทำงานร่วมกับชุมชนแห่งนี้และช่วยกันพัฒนาลายผ้าขึ้นมา” ปิงเล่าให้เราฟัง 

 

ใส่เสื้อผ้าตัวเก่า ด้วยความรู้สึกใหม่

So Fah So Good’ เป็นชื่อของลายใบไม้สีเขียวล้อมรอบด้วยด้ายปักเครื่องหมายบวก ซึ่งเป็นลายปักที่ออกแบบโดย ‘แม่ฟ้า’ หนึ่งในช่างปักผ้าชาวม้งในชุมชนผู้ไร้สัญชาติที่ Reviv ร่วมงานด้วย 

แม้ว่าฝ้ายและแม่ฟ้าจะสื่อสารกันผ่านล่ามผู้แปลภาษาอย่างยากลำบาก แต่เธอเล่าว่าชุมชนที่นี่มีทัศนคติที่ดีมากเกี่ยวกับการทำงานและคอยถามไถ่ถึงผลตอบรับของลูกค้าเสมอ นั่นคือความประทับใจที่เธอได้ค้นพบจากการทำงานร่วมกับพวกเขา และเธอยังหวังว่าคนใส่เสื้อผ้าที่มีลายปักนี้ก็จะกลับมาใส่เสื้อผ้าตัวเดิมด้วยความรู้สึกประทับใจเช่นเดียวกัน  

“ลายปักเป็นส่วนของการดัดแปลง แม้ว่าเสื้อผ้าของเราไม่ได้ขาด แต่อยากเพิ่มลูกเล่นก็ส่งมาให้เราได้ แทนที่จะไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ เราก็ให้อะไรใหม่ๆ มาอยู่บนเสื้อผ้าของเราแทน มันเป็น shopping experience ได้เหมือนกัน” เธอเล่า 

ปิงเสริมว่าพวกเขาพยายามหาวิธีใหม่ๆ ตลอดเวลาเพื่อสร้างความแตกต่างให้เสื้อผ้าตัวเดิม และนี่คือมูลค่าที่แรงงานตัดเย็บมอบแก่คนสวมใส่ได้ 

“สิ่งที่ทีมพยายามทำงานหนักในช่วงที่ผ่านมาคือการพัฒนาดีไซน์ในการซ่อม หาวิธีซ่อมแบบใหม่ เช่น ถ้าผ้าขาดนอกจากชุนด้วยเครื่องจักรแล้ว มันมีวิธีการซ่อมแบบไหนอีกบ้าง ใช้ผ้าชุมชน ซึ่งเป็นผ้าทอ เป็นผ้าฝ้าย เป็นผ้าไหมได้หรือเปล่า ในอนาคตเราอาจจะร่วมงานกับเครือข่ายที่พัฒนาเยาวชนกลุ่มเด็กพิเศษด้วย 

“แน่นอนว่าราคาจะสูงขึ้นเพราะเราแบ่งเงินส่วนหนึ่งให้กลุ่มน้องๆ เด็กพิเศษ ถ้าคุณโอเคกับคุณค่าตรงนี้ แม้ว่าจะต้องจ่ายแพงขึ้น แต่คุณจะได้ซัพพอร์ตแรงงานที่ทำงานที่บ้าน และแรงงานน้องๆ เด็กพิเศษไปด้วย เราพยายามสร้างบริการแบบใหม่ๆ ในการซ่อมเสื้อผ้าที่มันเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ” ปิงบอกกับเรา 

 

โลกแฟชั่นที่ Reviv อยาก Revive 

นิยามของ ‘แฟชั่น’ คือการแสดงความเป็นตัวเองผ่านเสื้อผ้า และเมื่ออยู่ในบริบทของสังคม ก็จะเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมและค่านิยมในยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งแฟชั่นในสังคมปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม ที่ทำให้เราผูกติดกับการบริโภคเป็นหลัก 

แล้วเราจะยังมีความสุขกับการแต่งตัวในยุคสมัยได้อย่างไร โดยที่ไม่ทิ้งขยะไว้เบื้องหลัง 

“เราอาจต้องกลับมาถามตัวเองดูอีกครั้งว่าการที่เราจะแสดงตัวตนผ่านทางเสื้อผ้า มันจำเป็นต้องบริโภคเยอะขนาดนั้นไหม สุดท้ายมันจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะตอนนี้โลกเราเกิดมลพิษ ถ้าไปต่อแบบนี้ก็เริ่มไม่ไหว สุดท้ายมันจะต้องมาค้นหาสไตล์ตัวเองจริงๆ อีกครั้ง แล้วดูว่าเราชอบอะไรกันแน่ แล้วจะมิกซ์แอนด์แมตช์อย่างไรไม่ให้ไหลตามเทรนด์เรื่อยๆ บริโภคเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องมีสติในการเลือกซื้อของมากขึ้น แล้วใส่ได้นานจริงๆ” ฝ้ายเล่าถึงมุมมองของเธอกับการแต่งตัว 

“สิ่งแรกที่เราต้องทำให้ได้คือการเปลี่ยนมายเซ็ต ถ้าเสื้อผ้าขาด คนอาจรู้สึกว่าซื้อใหม่คุ้มกว่าซ่อม เพราะซ่อมมันก็ต้องเสียเงิน สู้กดซื้อมาเลยดีกว่า ส่งถึงบ้านด้วย ไม่ต้องทำอะไรเลย ราคาก็อาจแพงกว่านิดหน่อย แต่ในแง่ความสะดวกซื้อใหม่มันง่ายกว่า แต่เราต้องค่อยๆ เปลี่ยน ทำให้คนรู้สึกว่าการซ่อมหรือการนำกลับมาใช้มันดูเท่ มันดูคูลกว่า คุณเจ๋งมากที่พยายามใส่เสื้อตัวเดิม” 

“เชื่อว่าตอนนี้หลายๆ คน น่าจะมีเสื้อผ้าที่ตั้งแต่ซื้อมาไม่เคยใส่เลย หรือซื้อมาแล้วใส่แค่ครั้งเดียวและมันยังมีค่านิยมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย เช่น กลัวถ่ายรูปลงอินสตาแกรมแล้วใส่ชุดซ้ำ กลัวเพื่อนจะจำได้ว่าเคยใส่ชุดนี้แล้ว ถ้าเราสามารถทำให้การใส่เสื้อตัวเดิมดูเท่ได้ก็คงจะดี” ปิงเล่าในมุมของเขา 

ฝ้ายเสริมว่าเหตุผลที่ค่านิยมใหม่ๆ ควรจะเป็นไปในทางนั้น ก็เพราะต่อไปนี้การเลือกเสื้อผ้ามาใส่จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสวยงามและสไตล์ที่แสดงความเป็นตัวตนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองไปให้ลึกถึงคุณค่าของทรัพยากรที่ต้องจ่ายเพื่อทำให้เกิดเสื้อผ้าหนึ่งตัวด้วย และเธอยังมองเห็นอีกว่ามีวิธีอีกมากที่จะทำให้สนุกกับการแต่งตัวโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 

 

“การซื้อเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นไม่ผิด มันอยู่ที่ว่าเราจะใช้งานอย่างไรให้มันคุ้มค่ามากกว่า”

 

“การมีเสื้อผ้าตัวใหม่มันก็ยังสนุกได้ เช่น การดัดแปลงปักลายอย่างที่เราทำอยู่ หรือแทนที่จะซื้อมือหนึ่ง ก็ลองเปลี่ยนไปซื้อมือสอง เพราะนั่นคือเสื้อผ้าที่ยังหมุนเวียนอยู่ในระบบ หรือจะลองเอาเสื้อผ้าไปแลกกับเพื่อนดูก็ได้ แต่ถ้าอยากจะซื้อจริงๆ ลองเลือกแบรนด์ที่ผลิตอย่างยั่งยืน ซึ่งตอนนี้มีหลายแบรนด์มาก 

“หลายคนบอกว่าแบรนด์พวกนี้มันแพงมาก และสุดท้ายคนก็ต้องกลับไปใช้ฟาสต์แฟชั่นอยู่ดี แต่จริงๆ แล้ว คำว่ายั่งยืนมันขึ้นอยู่กับการวิธีบริโภคมากกว่าการที่เราใช้แบรนด์อะไร เช่น เราอาจจะซื้อเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นมาแล้วพยายามยืดอายุการใช้งานของมันให้นานจนคุ้มกับทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตก็ได้ อยากให้มองคำว่ายั่งยืนให้ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้งานเสื้อผ้ามากกว่า การซื้อเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นไม่ผิด มันอยู่ที่ว่าเราจะใช้งานอย่างไรให้มันคุ้มค่ามากกว่า” 


แม้ Reviv จะเป็นหน่วยเล็กๆ ที่ชวนให้คนมาซ่อมเสื้อผ้า แต่ทั้งปิงและฝ้ายเชื่อว่าเมื่อหน่วยเล็กๆ อย่างผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงทั้งระบบก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน 

“ธุรกิจแฟชั่นพยายามออกคอลเลกชันใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้เขาขายได้มากขึ้นและมีรายได้มากขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วหากค่านิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจก็จะต้องปรับตัว ในอนาคตหลายๆ แบรนด์ที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ อาจมีบริการส่งซ่อมฟรีหรือรับบริจาค เช่น ใส่แล้วเบื่อ ก็ส่งกลับมาให้ทางแบรนด์เอาไปบริจาค หรือเอาไปรีไซเคิลต่อ ผมเชื่อว่าเขาจะไม่เริ่มก่อน แต่ถ้ามันเป็นเทรนด์ของผู้บริโภค เขาจะปรับตัว” ปิงกล่าว 

“แบรนด์ใหญ่ๆ เริ่มพยายามปรับตัวแล้ว เพราะเขาเริ่มรู้ว่าเขาทิ้งขยะอะไรเอาบ้าง แล้วก็เริ่มจัดการปัญหาภายในแบรนด์ของตัวเอง เช่น บางแบรนด์มีการตั้งเป้าว่าปีนี้ลดมลพิษให้ได้ในจำนวนที่ตั้งไว้ ซึ่งคิดว่ามันกำลังเป็นไปในทางที่ดีขึ้น” 

“ส่วนผู้บริโภคเอง แม้ว่าเราเป็นคนตัวเล็กๆ แต่ตอนนี้มันมีคนตัวเล็กๆ หลายคนที่พยายามพูดในสิ่งเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายมันคือการจูงมือผู้บริโภคไปบอกผู้ผลิตว่านี่คือสิ่งที่เราเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราอยากให้สังคมเห็นคุณค่าที่มากกว่าราคา อยากให้มองถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบของแรงงานที่มันเกิดขึ้น ซึ่งมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ เมื่อมีคนออกมาพูดเยอะขึ้น” ฝ้ายทิ้งท้าย 

 

Reviv  (รีไวฟ์)

www.revivshop.com 

Facebook : facebook.com/Reviv.thailand 

Line: @reviv_shop 

โทร. 06-2749-6521

Reviv Shop, เลขที่ 51 ซอยพหลโยธิน เเขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพ 10400

FACT BOX

  • อีกหนึ่งความสนุกในการเลือกเสื้อผ้าของฝ้าย คือการหาข้อมูลของแต่ละแบรนด์ก่อนจะตัดสินใจซื้อ ซึ่งเธอแนะนำเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Good on You ที่จะช่วยให้เรารู้ว่าแต่ละแบรนด์นั้นมีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน