life

ด้วยมุมมองที่เฉียบขาด การใช้สัญลักษณ์แทนตัวบุคคลอย่างมีชั้นเชิง และความเฉลียวฉลาดที่เลือกหยิบยกประเด็นสังคมมานำเสนอใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

ทั้งหมดรวมเป็นความสำเร็จในรูปแบบภาพศิลปะแนวเซอร์เรียลที่สะท้อนวิกฤติปัญหาและความทุกข์ยากของประชาชนท่ามกลางความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐได้อย่างแยบคายและสะเทือนอารมณ์ จนทำให้ผลงานของ Uninspired by current events ได้รับความชื่นชมอย่างต่อเนื่อง

บรรดาภาพบิดเบี้ยวของคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ในผลงาน แม้จะถูกปรับเปลี่ยนให้อยู่ในสภาพผิดแผกแปลกตาเกินกว่าความเป็นจริงที่ใครก็ตามเคยรับรู้ แต่กลายเป็นว่า ความไม่สมจริงเหล่านั้นกลับทำให้คนมองเห็นความจริงได้ทะลุปรุโปร่งยิ่งกว่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทยเสียอีก

คนเดียวผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานทุกภาพคือ 3D generalist หรือนักออกแบบภาพสามมิติอย่าง ‘แก่น’ สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์

และถ้าหากยังสงสัยอยู่ว่า กว่าจะมาเป็นงานศิลปะสักภาพ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบหลายแง่มุม ตั้งแต่ความเป็นตัวตนไปถึงขั้นตอนและกระบวนการคิด ซึ่งไม่ใช่แค่ได้ทำความรู้จักนักออกแบบคนนี้มากขึ้น แต่ยังช่วยตอกย้ำว่าเรากำลังเผชิญกับความเป็นจริงที่แสนจะเจ็บปวดร่วมกัน

เมื่อสภาพสังคมและความเป็นอยู่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จึงไม่แปลกใจที่คนคนหนึ่งจะรู้สึกสิ้นหวังกับประเทศ แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยยืนหยัดต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณมองเห็นตัวเองแบบไหน

ก่อนหน้านี้ ผมทุกข์เหลือเกินและเศร้าทุกครั้งที่อ่านข่าวหรือเห็นข่าวขึ้นมาบนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก เป็นความรู้สึกว่าทำอะไรกับปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ ไม่อยากรับรู้หรือเผชิญหน้ากับเรื่องเหล่านี้แล้วเพราะหดหู่ เลยตัดสินใจปิดเฟซบุ๊กส่วนตัว คิดว่าคงดีเหมือนกันจะได้พักบ้าง แต่ไปๆ มาๆ กลับรู้สึกเหงากว่าเดิม ทำให้ผมคิดบททวนใหม่ว่า ในเมื่อหนีความจริงตลอดไปไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีอยู่ร่วมกับมันโดยไม่ให้ตัวเองรู้สึกแย่ไปมากกว่าเดิม คือพยายามหาทางรับมือกับความรู้สึกหมดหวังนั่นแหละ

เพื่อนในเฟซบุ๊กมักจะด่าออกมาตรงๆ ผมเห็นว่าทุกคนร่วมกันด่าไปหมดแล้ว เลยเลือกวิธีแสดงออกที่ต่างจากคนอื่น ใช้ประโยชน์จากความถนัดที่มี ทดลองสร้างรูปขึ้นมา คิดว่านี่คือวิธีบำบัดทั้งอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง เหมือนเวลาเจอปัญหาก็มีแค่สองทางที่ทำได้ ถ้าแก้ได้ก็แก้ แต่ถ้าแก้ไม่ได้มึงจะเครียดไปทำไม ที่ผมเครียดเพราะติดหล่มอยู่ตรงกลางระหว่างแก้ปัญหากับปล่อยวาง ผมเชื่อว่าปัญหาบ้านเมืองแก้ได้ แต่ชีวิตอาจจะต้องพังไปข้างเลยหรือมีชีวิตในแบบที่เราไม่อยากใช้ เช่น บางคนลงเล่นการเมือง บางคนผันตัวไปเป็นแกนนำ ซึ่งผมไม่พร้อมขนาดนั้น

แสดงว่า Uninspired by current events คือหน้าตาความพร้อมที่คุณถนัด

จะเรียกแบบนั้นก็ได้ เพราะเป็นผลลัพธ์ที่ผมพยายามหาทางออกให้ตัวเองรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้

Photo: Hedge Funds (2021) / courtesy of The Uninspired by current events project

แล้วคุณเตรียมตัวอย่างไรจนแน่ใจว่าตัวเองพร้อมเต็มที่แล้ว

คงเป็นความพร้อมที่สะสมมาโดยไม่รู้ตัว เพราะผมเริ่มสนใจแอนิเมชันและภาพกราฟิกสามมิติตั้งแต่เรียนมัธยม เลยหาความรู้และลองฝึกฝนด้วยตัวเองมาตั้งแต่ตอนนั้น พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็เลือกเรียนต่อด้านภาพยนตร์ ทำให้รู้ขั้นตอนการเล่าเรื่องด้วยภาพ หลังเรียนจบมีโอกาสทำงานสร้างภาพเคลื่อนไหวให้สื่อโฆษณา ตอนนั้นคิดว่าตัวเองทำได้ดีประมาณหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ชอบและตั้งใจเต็มที่ นั่นคือช่วงเวลาที่เราได้พิสูจน์ฝีมือตัวเองแบบเป็นการเป็นงานจริงๆ นอกเหนือจากทำเล่นเป็นงานส่วนตัว

ตอนที่ตัดสินใจเปิดเพจ Uninspired by current events คือช่วงที่ผมเป็นฟรีแลนซ์อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ค่อยมีงานเข้ามาเท่าไหร่ ออกไปเจอใครก็ไม่ได้เพราะโควิด-19 ระบาด เหตุเกิดจากความเหงา (หัวเราะ) เลยคิดทำภาพเพื่อระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจให้เพื่อนดู หวังว่าจะช่วยสร้างความบันเทิงได้บ้าง ภาพที่ออกมาจึงน่าจะเรียกว่าเป็นการบำบัดความรู้สึกหมดหวังของตัวเองก่อน แล้วค่อยส่งผลข้างเคียงไปยังคนอื่นๆ อย่างน้อยก็ทำให้ผู้คนตื่นตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม กลายเป็นว่าผมค่อนข้างรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นมาก เพราะได้ทำสองสิ่งควบคู่กันไปคือบำบัดตัวเองและทำให้คนตระหนักรู้ความเป็นไปในประเทศ

ทำไมถึงใช้ชื่อว่า Uninspired by current events

ตั้งใจทำให้ทุกอย่างดูคลุมเครือ แต่ถ้าจะแปลก็มองได้สองมุม ความหมายแรกคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้มันช่างทำให้กูไม่มีแรงบันดาลใจจะทำอะไรสักอย่าง อีกความหมายคือ ผลงานทุกชิ้นที่ทำออกไป ไม่ได้แปะป้ายระบุชัดว่าพูดถึงเรื่องอะไร จึงอ้างได้ว่า งานที่ทำไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้างเมืองหรอกนะ เป็นแค่รูปเฉยๆ นี่คือสองความหมายที่ทับซ้อนกันอยู่

คุณมีวิธีการเลือกประเด็นมาสร้างและนำเสนอเป็นผลงานอย่างไร

ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละวันเกิดเหตุการณ์อะไรที่คนส่วนมากสนใจ เมื่อรู้ว่าต้องเริ่มจากประเด็นไหน ก็จะทำงานง่ายขึ้น เพราะหยิบ consensus (ฉันทามติ) ที่ทุกคนเข้าใจร่วมกันอยู่ก่อนแล้วมาขยายให้เป็นภาพ

Photo: Undisclosed Relocation (2021) / courtesy of The Uninspired by current events project

แต่อีกแง่หนึ่ง ถ้าเราทำภาพเกาะกระแสสังคมอย่างเดียวไปเรื่อยๆ อายุของภาพจะสั้นมาก ถูกพูดถึงแค่วันนั้น และอยู่ได้แค่ในประเทศนี้ แต่ภาพควรอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง คือดูแล้วเข้าใจได้โดยไม่ต้องอิงกับข่าวหรือบริบทไทยมากเกินไป สมมุติแชร์งานไปในเว็บบอร์ดเมืองนอกแล้วบอกว่า ไอทำรูปเกี่ยวกับการเมืองในประเทศไอนะ เขาก็จะงงกัน เพราะดูแล้วไม่เข้าใจสารทุกอย่าง ผมเลยอยากทำภาพที่พูดถึงประเด็นสากลมากกว่า อย่างการกดขี่ ปัญหาชนชั้น และการคอร์รัปชัน

แต่ถ้าทำภาพโดยไม่สนใจว่าคนเขาคุยเรื่องอะไรกันอยู่เลย งานก็จะไม่มีความหมายเหมือนกัน เพราะไม่ได้ทำหน้าที่สร้างบทสนทนาให้คนฉุกคิดถึงปัญหาสังคม ตอนเลือกประเด็นมาทำภาพจึงต้องบาลานซ์สองสิ่งนี้ให้ไปด้วยกันได้

หนึ่งภาพใช้ระยะเวลาทำนานเท่าไหร่และผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง

ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่นาน ประมาณสองชั่วโมงก็เสร็จ พอคนเห็นภาพที่ปล่อยออกไปจึงมักจะตกใจว่าทำไมถึงเร็ว (หัวเราะ)

เมื่อได้ประเด็นที่ต้องการแล้ว ผมจะคิดเป็นส่วนๆ ว่าควรเล่าผ่านอะไรบ้างแล้วประกอบสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันให้เห็นเป็นภาพรวม ต้องคิดให้จบก่อน ค่อยใช้เครื่องมือในโปรแกรม Blender 3D ทำภาพสามมิติขึ้นรูป ส่วนโมเดลที่เห็นเป็นคน สัตว์ และสิ่งของ ก็มีให้ดาวน์โหลดมาใช้ฟรีแบบ Creative Commons ส่วนใหญ่มีความสมจริงอยู่แล้วในตัว แต่เราไม่ได้เล่าเรื่องปกติเป็นเส้นตรง จึงต้องดัดแปลงรูปทรง พื้นผิว และขนาดให้เป็นตามที่วางแผนไว้ เอาของที่ดูไม่เข้ากันมาอยู่ด้วยกัน ทั้งหมดก็เพื่อเล่าเรื่องที่ต้องการจะเล่าโดยไม่ให้ซ้ำกับสื่อรูปแบบอื่นที่มีให้เห็นตรงไปตรงมาอย่างรูปถ่าย

Photo: Laundry Day (2021) / courtesy of The Uninspired by current events project

อะไรคือเหตุผลที่คุณเลือกสร้างสรรค์ภาพด้วยศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism)

จริงๆ ต่อยอดมาจากเครื่องมือที่ใช้ทำภาพมากกว่า เพราะเป็นโปรแกรมสามมิติที่เอื้อให้ทำงานออกมาในทางเซอร์เรียล (surreal) ได้

หากตีความเซอร์เรียลลิสม์ว่าเป็นได้ทั้งการขยายขนาดของความจริงมากกว่าที่ตาเนื้อเห็น และความขบถต่อทุกค่านิยมและกฎสังคมเพื่อแสดงออกถึงตัวตนและความรู้สึกนึกคิดอย่างเสรี เซอร์เรียลลิสม์ในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร

เห็นตรงกันทั้งสองมุม เพราะผมไม่อยากทำภาพที่หนักไปทางสังคมอย่างเดียว ที่ผ่านมาเห็นแต่อะไรแบบนี้แล้วยิ่งทำให้ชีวิตเครียด ความคิดอยากหนีจากโลกความจริงจึงตกตะกอนเป็นไอเดียตั้งต้น คือ ความเป็นแฟนตาซี แต่เราก็ไม่อยากหนีไปสร้างโลกใหม่โดยไม่สนใจความจริงในสังคม เลยพูดประเด็นเชิงสังคมผ่านความเป็นแฟนตาซีที่ไม่ได้สมจริง ทุกอย่างดูผิดสัดผิดส่วน

ผมอยากสร้างพื้นที่ใหม่ให้คนได้หนีจากความเป็นจริงบ้าง โดยจินตนาการว่าถ้าเข้าไปเดินอยู่ในภาพจะเป็นยังไง ทุกภาพของผมจะแฝงบรรยากาศนี้อยู่ เพราะบางครั้งความจริงมันโหดร้ายเกินกว่าจะทำใจยอมรับได้ในทันที

ถ้าเลือกได้ คุณอยากอยู่ในโลกแบบไหน โลกแห่งความเป็นจริงหรือโลกแฟนตาซีที่คุณสร้างขึ้น

โลกแฟนตาซีอาจเป็นโลกปัจจุบันนี่แหละ แค่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีการคดโกง ถ้าโลกเป็นแบบนั้นใครๆ ก็คงอยากอยู่ แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผมเชื่อว่าทุกทีมีปัญหาไม่รู้จบ บางทีความหมายของการมีชีวิตอยู่อาจเท่ากับการเกิดมาแก้ปัญหาและกลุ้มใจไปกับมัน ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ท้ายที่สุด เรารู้ตัวเองว่าอยากไปอยู่ในภพภูมิที่ดีกว่านี้

Photo: Peaceful Deaths (2021) / courtesy of The Uninspired by current events project

เพราะความจริงคือสิ่งที่เราทุกคนต้องพบเจออยู่วันยันค่ำ

ใช่ แต่อย่างน้อยให้ตัวเองได้หนีไปชั่วขณะก็ยังดี เหมือนให้ตัวเองได้พักใจไปจัดการความรู้สึกให้ดีขึ้น เพราะว่าสภาพสังคมตอนนี้มันพรากอะไรไปจากเราหลายอย่าง ชัดเจนที่สุดคือผมตกงาน เราทุกคนจึงสมควรได้รับสิทธิหาความสุขใส่ตัวบ้าง แล้วการหลีกหนีก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ชีวิตไม่ต้องจมจ่อมกับความทุกข์ของโลกแห่งความจริงมากเกินไป

อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณมีชีวิตอยู่ต่อไป

ตอนนี้หาไม่ค่อยได้เท่าไหร่ รู้สึกไร้หวัง ไร้อนาคต กลายเป็นว่าใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ เฝ้าดูงานที่ทำออกไป พยายามใช้สิ่งนี้สร้างความหมายให้ตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะส่วนตัวไม่ได้มีเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จหรือทะเยอทะยานอะไรอีก คิดแค่ว่าทำภาพให้ได้วันละภาพ แล้วดูว่ามันจะพาเราไปในทางไหน

Photo: Slim Chance (2021) / courtesy of The Uninspired by current events project

ตอนทำงานโฆษณามีความต้องการของลูกค้าให้ทำตาม ผมไม่ต้องเหนื่อยคาดเดาความคิดใคร แต่ไม่ใช่กับ Uninspired by current events เพราะแต่ละวันผมคาดเดาอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้ด้วยว่าเลือกประเด็นนี้มาแล้วคนจะสนใจไหม ช่วงนี้ยังคลำทางอยู่ หลังทำภาพเสร็จมักจะส่งไปให้เพื่อนดูก่อน เห้ยมึงเข้าใจไหมวะ ชีวิตตอนนี้ค่อนข้างขึ้นอยู่กับยอดแชร์ (หัวเราะ) บางทีงานอาจกำลังสร้างความหมายให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปก็ได้

ตัวตนของคุณเปลี่ยนแปลงอย่างไร ตั้งแต่เริ่มทำภาพในนาม Uninspired by current events

จากเป็นคนไม่เล่นโซเชียลมีเดียอะไรเลย กลายเป็นว่าตอนนี้ติดงอมแงมและพูดถึงปัญหาสังคมมากขึ้น เมื่อก่อนผมไม่คุยเรื่องนี้กับใคร เพราะเหนื่อหน่าย แต่ Uninspired by current events ทำให้ได้แสดงออกความคับข้องใจในแบบของเรา รู้สึกผ่อนคลายกว่าเดิม เพราะมีความสุขไปกับมัน

คุณใส่น้ำเสียงหรือท่าทีของตัวเองลงไปในแต่ละภาพด้วยไหม

บางภาพคนเห็นแล้วโมโห ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง ผมต้องการแค่อยากเล่าเรื่องเหล่านี้ด้วยน้ำเสียงและท่าทีใหม่ๆ มากกว่า ถ้าเปรียบเทียบกับการ์ตูนการเมือง ผลงานของผมอาจจะพูดด้วยท่าทีที่แนบเนียนกว่า ไม่ได้แสดงน้ำเสียงโมโหหรือก้าวร้าวออกมาชัดเจน เพราะสารที่ต้องการจะสื่อไปยังคนหมู่มากถูกซ่อนอยู่ในรายละเอียด ถ้าดูผ่านๆ คงไม่เข้าใจทันที ต้องตั้งใจดูแล้วค่อยๆ ตีความวัตถุแต่ละอย่างในภาพ

น้ำเสียงของภาพจึงเหมือนเล่นมุกที่ไม่รู้ว่าคนเสพจะเข้าใจไหม ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะเห็นอะไรแล้วคิดยังไง แต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมา เมื่อมองภาพแล้วจะรู้สึกว่า แม่งฉิบหายดีวะ ผมเรียกความรู้สึกแบบนี้ว่า ขำขื่นในความปั่นป่วน

รู้สึกอย่างไรที่ผลงานของคุณได้รับความสนใจเป็นวงกว้างบนโซเชียมมีเดีย ทำให้คนยิ่งสนใจว่าทุกวันนี้เกิดเรื่องอะไรในประเทศมากขึ้นตามไปด้วย

ผมอยากพิสูจน์ว่าเล่าประเด็นสังคมได้โดยไม่ต้องแปะป้ายเพราะมันเป็นเรื่องสากล เป็นเรื่องระบบที่ไปไกลมากกว่าตัวบุคคล แต่การไม่แปะป้ายทำให้คนตีความตามที่เขาเข้าใจ บางครั้งก็อยากบอกผู้เสพว่าพูดถึงเรื่องนี้ต่างหาก ไม่ได้พูดถึงเรื่องนั้นโว้ย เข้าใจหน่อยสิ แต่ด้วยความที่อยากเท่เลยสื่อสารออกไปตรงๆ ไม่ได้ ผมพอใจผลที่ตามมาทั้งหมด เพราะทำให้เกิดการพูดถึงประเด็นในภาพต่อไปเรื่อยๆ ดีใจว่าสิ่งที่ทำไม่ได้จบอยู่แค่ตัวงาน

มองผลงานตัวเองเป็นศิลปะแนวเสียดสีสังคมไหม

เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ลำพังแค่พลิกประเด็นให้เซอร์เรียลก็อาจทำให้ดูเสียดสีสังคม แต่เราไม่ได้ตั้งใจทำออกมาให้เป็นไปในทางนั้นทุกภาพ ส่วนภาพที่เสียดสีสังคม ก็ไม่ได้เป็นโทนเดียวกับการพูดจาเสียดสีโจ่งแจ้ง ภาพมีน้ำเสียงนุ่มนวลกว่านั้น

ก่อนหน้านี้มีศิลปินหลายคนออกมาผลิตงานที่มีเนื้อหามุ่งต่อต้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร แต่ภาพของคุณคงความคลุมเครือไว้ด้วยมุมมองเซอร์เรียลลิสม์ คล้ายเป็นการปกป้องตัวเองไปด้วย

ปลอดภัยกว่าอยู่แล้ว เพราะไม่ได้พูดถึงตัวบุคคล ไม่ได้บอกว่าคนที่ผมวาดถึงเป็นใคร เพราะไม่อยากเอาหน้าคนมาไว้งาน เบื่อหน้าแม่ง (เน้นเสียง) เปิดข่าวมาก็เจอแล้ว รู้สึกว่าถ้าไม่มีหน้าคนพวกนี้จะทำให้งานมีคุณค่ามากกว่า สารภาพตรงๆ เลยว่าไม่อยากเห็นหน้า

Photo: Tongue Tied (2021) / courtesy of The Uninspired by current events project

การทำงานศิลปะที่แตะประเด็นละเอียดอ่อนอย่างความคิดและความเชื่อของคนในสังคม สำหรับคุณนับเป็นความท้าทายไหม

ความท้าทายอยู่ที่ขั้นตอนการคิดงานมากกว่าว่าจะทำยังไงถึงจะเล่าเรื่องที่ต้องการเล่าออกมาได้ ด้วยภูมิหลังที่เรียนมาด้านนิเทศศาสตร์ กลายเป็นว่าเมื่อเริ่มทำอะไรสักอย่าง จะคิดก่อนว่าคนอื่นๆ เข้าใจสิ่งที่เรากำลังจะทำไหม ความท้าทายของผมคือเรื่องการสื่อสารผ่านภาพโดยไม่ใช้ตัวหนังสือใดๆ ยกเว้นชื่อภาพ

แต่ถ้าเป็นเรื่องความคิดความเชื่อที่อ่อนไหวง่าย ผมอาศัยผลพลอยได้ของศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสม์ที่ทำให้กระโดดข้ามสิ่งนี้ไปได้ เพราะไม่ได้โจมตีใครตรงๆ แค่ใช้สัญลักษณ์สื่อแทน ทำให้รอดจากปัญหานี้ ถ้าจะมีใครนำภาพไปตีความเพื่อหาเรื่อง ก็เป็นการตีความของเขาเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรา

คุณบอกว่าเป้าหมายหนึ่งของภาพคือสร้างโอกาสให้ผลงานเป็นที่พูดถึงและต่อยอดได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นคุณจะสมดุลระหว่างการทำงานให้ถูกใจคนอื่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ กับการทำงานที่สนองความต้องการของตัวเองอย่างไร

ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ อยากทำงานที่ตัวเองอยากทำเหมือนกันนะ แต่ผมค่อนข้างแคร์คนเสพมากกว่า ต้องทำงานเพื่อสื่อสารกับคนอื่น กลายเป็นว่าความพอใจของผู้เสพที่พวกเขาแชร์ภาพออกไป ช่วยสนองความต้องการส่วนตัวของเราได้ แต่ก็ยังมีกรอบบางอย่างที่คิดว่างานต้องมี branding เพื่อสร้างภาพจำเชิงธุรกิจ นี้คือข้อจำกัดที่เราไม่อยากข้าม พยายามคงสไตล์และแนวทางของภาพไว้ เป็นวิธีคงความเป็นตัวตนของเราด้วย

Photo: Unnoticed Deeds (2021) / courtesy of The Uninspired by current events project

ส่วนเรื่องหารายได้ก็คิดอยู่ตลอด อย่างตอนนี้ NFT (Non-Fungible Token) กำลังเป็นกระแส ผมเริ่มทดลองนำภาพไปประมูลบ้างแล้ว หวังว่าจะได้ราคาสูงๆ (หัวเราะ)

ถ้าอย่างนั้น คุณคิดว่าศิลปะควรรับใช้อะไร

ถ้าจะบอกว่าศิลปะไม่ควรรับใช้ผู้มีอำนาจเลยก็คงไม่ถูกต้องทีเดียว เพราะศิลปะรับใช้ผู้มีอำนาจเรื่อยมา แต่ผมคิดว่าประชาชนควรฉวยโอกาสเอาศิลปะมารับใช้ตัวเอง เพราะโลกของเราตอนนี้ทุกคนเป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปะในแบบของตัวเองได้ ไม่มีกรอบหรือข้อจำกัดในการทำงานศิลปะอีกต่อไปแล้ว ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ราคาแพง ไม่ต้องมีเจ้าเมืองมาจ้างให้วาดรูปเหมือน

ศิลปะควรเป็น a level playing field คือทุกคนมีโอกาสสร้างสรรค์งานศิลปะได้อย่างเท่าเทียมกัน ใครใคร่ใช้ใช้ เพราะตอนนี้พวกกูใช้ศิลปะได้แล้วนะ ไม่รู้หรอกว่าอะไรควรไม่ควร แต่ในเมื่อมีให้ใช้ก็ต้องใช้มัน อย่างน้อยใช้เป็นหลักฐานเพื่อย้ำเตือนและบันทึกสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชีวิตและประเทศที่เราอยู่

จากคนที่เคยหมดสิ้นความหวังไปแล้ว Uninspired by current events ช่วยให้คุณกอบกู้ความหวังกลับคืนมาในชีวิตได้ไหม

หากเราเป็นคนหนึ่งที่พูดถึงปัญหา นั่นคือสัญญาณที่บอกได้ว่า ลึกๆ แล้วเรายังคงมีหวัง เป็นความหวังว่าสิ่งต่างๆ จะดีขึ้นได้กว่านี้

ความหวังทำให้ผมอยากใช้ชีวิตอยู่ต่อ ทุกวันนี้หวังกับตัวเองว่าจะตั้งใจทำภาพออกมาเยอะๆ เพราะอาจช่วยให้ย้ายประเทศได้เร็วขึ้น