‘ความสวย’ คืออะไร ?
เป็นคำถามที่นักปรัชญา สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) พยายามหาคำตอบเสมอมา และยังเป็นคำถามปลายเปิดให้คนในยุคหลังได้เข้าไปศึกษาหานิยามของ ‘ความงาม’ จากหลายๆ แนวคิด
แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปเป็นสากลว่าความสวยนั้นเป็นอย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมของเรากลับมี ‘มาตรฐานความสวย’ หรือ ‘บิวตี้สแตนดาร์ด (Beauty standard)’ ซึ่งเป็นมาตรฐานบ่งบอกว่าความสวยฉบับมหาชนนิยมกำกับอยู่ให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน โดยที่พวกเราเองไม่ทันได้รู้ตัวว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นตอนไหน แต่กลับเป็นแนวทางให้คนเราเดินตามความงามในอุดมคตินั้นไปเสียแล้ว
หากมอง ‘ความสวย’ ในมุมของจิตวิทยา จะพบว่าความสวยนั้นเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ใบหน้าของมนุษย์ ที่เราสามารถรับรู้ถึงความงามได้ตั้งแต่เด็กๆ โดยใบหน้าที่ดึงดูดความสนใจของมนุษย์ด้วยกันเอง หรือที่ขึ้นชื่อว่าเป็นใบหน้าที่ถูกใจคนจะเป็นใบหน้าที่สมมาตร ได้สัดส่วนพอดี
จูดิธ แลงลอยส์ (Judith Langlois) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสออสติน ทดลองโดยให้ทารกน้อยจ้องใบหน้าที่สมมาตรกับไม่สมมาตร ผลปรากฏว่าทารกจะใช้เวลามองใบหน้าที่สมมาตรนานกว่า แม้นี่จะดูเหมือนเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ แต่อันที่จริงแล้วผลการทดลองต่อมาของ สตีวี ชายน์ (Stevie Schein) นักจิตวิทยาที่ทำงานกับแลงลอยส์เผยว่าอันที่จริงแล้วมนุษย์เรียนรู้เรื่องใบหน้าได้ตั้งแต่ยังเด็ก งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์พบว่าสมองของทารกนั้นประมวลผลใบหน้าของเผ่าพันธุ์ตัวเองได้เป็นอย่างดี จึงเรียนรู้ที่จะชอบใบหน้าแบบมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว
แม้จะเป็นใบหน้ามนุษย์เหมือนกัน แต่การทดลองได้พิสูจน์เพิ่มเติมอีกว่าเมื่อมนุษย์เติบโตแล้วเรายังสามารถรับรู้ความงามได้ตามวัฒนธรรมของตนเองอีกด้วย คอเรน อาปิเซลลา (Coren Apicella) ทำการทดลองกับคนหนุ่มสาวชาวอังกฤษและชาวฮัดซา (Hadza) ชนเผ่านักล่าสัตว์ในแทนซาเนีย แอฟริกาตะวันออก
นักวิจัยให้ผู้ร่วมทดลองดูภาพใบหน้าจากค่าเฉลี่ยทั้งของชาวอังกฤษและชาวฮัดซา ผลปรากฏว่าชาวฮัดซาชื่นชอบเฉพาะใบหน้าเฉลี่ยของชนเผ่าตัวเองเท่านั้น เพราะพวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าใบหน้าของชาวยุโรปนั้นเป็นอย่างไร ใบหน้าชาวยุโรปจึงไม่ดึงดูดใจพวกเขาสักเท่าไหร่ ผลการทดลองจึงสรุปได้ว่าความพึงพอใจนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทางชีวภาพและประสบการณ์ที่ได้รับจากสังคมของตัวเอง
นอกเหนือจากใบหน้าสมมาตรอันเป็นที่ดึงดูดแล้ว มนุษย์เราสามารถเรียนรู้นิยามของ ‘ความงาม’ แบบใหม่ๆ ได้เสมอ หากเรามอง ‘ความงาม’ ผ่านแว่นตาประวัติศาสตร์จะพบว่าความงามเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัย แตกต่างกันไปตามแต่ละชนชาติ ทำให้แต่ละสังคมมี ‘มาตรฐานของความสวย’ เป็นของตัวเอง เช่น คนที่มีใบหน้าเล็กเรียวอาจได้รับความนิยมในเกาหลีเป็นพิเศษ เพราะสังคมให้คุณค่ากับคุณสมบัตินี้
รูปปั้นวีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟเป็นรูปปั้นที่ถูกปั้นขึ้นราว 25,000 ปีก่อนในยุโรป เพิ่งถูกค้นพบในปี 1908 ที่วิลเลนดอร์ฟ ประเทศออสเตรีย เราจะเห็นได้ว่ารูปปั้นนี้ เป็นรูปปั้นของผู้หญิงหุ่นทรงลูกแพร์ ทรวดทรงกลมมน อันเป็นมาตรฐานความงามของหญิงสาวในสมัยนั้น เนื่องจากสังคมเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
ต่อมาในตวรรษที่ 17 ไปจนถึง 18 จะเห็นได้ว่าภาพวาดผู้หญิงในอุดมคติของศิลปินยุคนั้นจะยังมีน้ำมีนวล เริ่มใช้เส้นโค้งเว้า เช่น ภาพวาดของ ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (Peter Paul Rubens) จิตรกรชาวเฟลมิช ที่ชื่อของเขามีความหมายเดียวกับคำว่า ‘รูเบเนสก์ (rubenesque)’ ซึ่งหมายถึงความอวบหรือโค้งมน ที่อ้างอิงมาจากรูปภาพที่เขาวาด
ต่อมาในศตวรรษที่ 20 ผู้หญิงจะนิยมสวมใส่ คอร์เซ็ต (Corset) เพื่อทำให้เอวคอดกิ่ว ได้ทรวดทรงที่ชัดเจน คอร์เซ็ตกลายมาเป็นแฟชันที่นิยมของหญิงสาวในสมัยนั้น และทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องพยายามรัดเอวจนถึงขั้นบาดเจ็บ เพื่อทรวดทรงที่งดงามตามสมัยนิยม
มาตรฐานความสวยของผู้หญิงเริ่มตายตัวมากขึ้น เช่น ต้องขายาว เอวบาง เย้ายวน เหมือนในภาพวาดของ ชาร์ลส์ ดานา กิบสัน (Charles Dana Gibson) ที่ประกอบอยู่ในนิตยสารชื่อดังในขณะนั้น จนมีชื่อเรียกความงามตามสมัยนิยมนี้ว่า สวยแบบ ‘Gibson Girl’
รูปร่างผอมเพรียวและสุขภาพดีได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 และยังคงเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะเป็นการเรียนรู้ความงามของผู้คนในยุคสมัยแล้ว นักวิจัยยังเผยว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อความงามในอุดมคติเป็นอย่างมาก หากสื่อให้คุณค่ากับความงามแบบไหน แน่นอนว่าผู้คนในสมัยนั้นจะให้คุณค่ากับความงามแบบนั้นตามไปด้วย
กลางปี 1920 บนหน้าปกนิตยสาร โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เต็มไปด้วยผู้หญิงรูปร่างผอมเพรียว การศึกษาจากวารสาร Sex Roles ยังเผยให้เห็นอีกว่าตั้งแต่ปี 1901 – 1925 สัดส่วนของผู้หญิงในนิตยสาร Vogue and Ladies Home Journal นั้นมีขนาดเล็กลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นนางแบบและนักแสดงที่มีรูปร่างเพรียวบางร่างน้อยก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น หากใครยังนึกภาพไม่ออก เราขอยกตัวอย่าง มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) หญิงสาวที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนความงามของยุคสมัยนั้น
การถือกำเนิดขึ้นของ ‘ผู้หญิงในอุดมคติ’ ทำให้ ‘โรคผิดปกติทางการกิน (Eating Disorder)’ ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นตามมาอย่างมีนัยสำคัญด้วย เพราะเมื่อต้องรักษารูปร่างให้ผอมเพรียวอยู่เสมอ จึงทำให้เกิดความเครียดตามมา หลายๆ คนเลือกอดอาหารเพราะกังวลกับรูปร่าง จนทำให้เกิดโรคการกินที่ผิดปกติ ทั้งมากไปและน้อยไปซึ่งมีพื้นฐานมาจากจิตใจ
ในขณะเดียวกันนั้นอัตราของผู้ป่วยโรคอ้วน (Obesity) และเบาหวาน (Diabetes) ก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อโรคนี้ถูกฉายภาพผ่านสื่ออยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นอันตราย จึงทำให้ความงามในอุดมคติถูกนำมาผูกกับโรค จนทำให้เกิดการนำสองรูปร่างมาเปรียบเทียบกัน และเกิดค่านิยมที่ว่า ‘รูปร่างอวบ=ไม่แข็งแรง’ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงทำให้เกิดการตัดสินด้วยเหตุผลผิดเพี้ยนมาเสมอ จนทำให้การกินของหวานหรือการปล่อยปละละเลยตัวเองที่ไม่ทำให้เป็นไปตามความงามในอุดมคติจะทำให้รู้สึกผิดได้
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Public Health ปี 2015 สำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวแอฟริกาใต้อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 6,411 คน พบว่า 45.3 เปอร์เซ็นต์ ไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง ยิ่งถ้าเป็นช่วงวัยรุ่นที่กำลังมองหาตัวตนและเอกลักษณ์ของตัวเอง ก็มักจะซึมซับรูปแบบของร่างกายในอุดมคติของสังคมนั้นๆ ได้ง่าย และทำให้กังวลมากกว่าปกติ เมื่อรูปร่างของตัวเองต่างจากเด็กสาวคนอื่นๆ ก็เป็นไปได้ว่าจะทำให้เซลฟ์เอสตีมลดน้อยลงได้
ปัจจุบันเราสำรวจ ‘ความสวยในอุดมคติ’ ได้บนโซเชียลมีเดีย ในทางหนึ่งสิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำมาตรฐานความงามในสังคมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนที่มีรูปร่าง หน้าตาหลากหลายแบบได้แสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น หลายปีก่อนหน้านี้เราอาจพยายามแต่งตัวพรางหุ่น ปกปิดสะโพก แต่เมื่อสาวๆ จากตระกูลคาร์ดาเชียนพากันแต่งตัวอวดสะโพกสวยๆ ก็ทำให้เทรนด์สะโพกเริ่มเป็นที่นิยม และทำให้หลายๆ คนที่มีสะโพกใหญ่รู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
นอกจากปรากฏการณ์นี้ เรายังเห็นได้ว่าปัจจุบันเริ่มมีการเคลื่อนไหวมากมายเกี่ยวกับเรื่องรูปร่างและความงามในอุดมคติ แม้ว่าเราจะไม่ได้เปลี่ยนนิยามของมันโดยตรง ไม่ได้บอกว่าใครควรรูปร่างแบบไหน แต่เมื่อพื้นที่แสดงตัวตนของทุกคนมากขึ้น ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทำให้การรับรู้ความงามของยุคสมัยเปลี่ยนไปและโอบรับร่างกายและความงดงามของมนุษย์ทุกแบบได้มากขึ้นด้วย
อ้างอิง
- Jacqueline Howard. The history of the ‘ideal’ woman and where that has left us. https://cnn.it/3lGGN7p
- Alison Pearce Stevens. What makes a pretty face?. https://bit.ly/316knFy
- Sharom Romm. Beauty Through History. https://wapo.st/3d4fHSQ