ตอนเด็กๆ เรามักจะถูกผู้ใหญ่ห้ามปรามไม่ให้เล่นน้ำฝน เมื่อถามถึงเหตุผล คำตอบที่ได้รับ กลับชวนให้ฉงนสนเท่ห์ว่า ฝนธรรมดาจะทำให้ตัวเราไม่สบายได้อย่างไร?
หรือแม้แต่การรองน้ำฝนเอาไว้ใช้ของคนท้องถิ่นที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบพึ่งพิงกับธรรมชาติ ก็ไม่ได้ปลอดภัยเหมือนสมัยก่อน เพราะมลภาวะในอากาศ ทำให้น้ำฝนมีสารพิษปนเปื้อน หากนำมาดื่มหรือใช้โดยไม่ผ่านการกรองและต้มให้เดือด ย่อมเกิดผลร้ายต่อสุขภาพ
เรื่องนี้ทดลองและสังเกตได้ง่ายๆ หากเรานำภาชนะเปล่ามาตั้งทิ้งไว้ระหว่างฝนตก แล้วรอจนกระทั่งฝนหยุด จะเห็นชัดเจนเลยว่า สีของน้ำในภาชนะไม่ได้ใสสะอาด แต่ขุ่นและมีตะกอนนอนก้น น้ำฝนจึงสกปรกและเจือปนสิ่งอันตรายอย่างที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง
เรามาดูกันดีกว่าว่า ในหยดน้ำฝนทั้งโปรยปรายลงมาและกระหน่ำตก นอกจากไม่บริสุทธิ์แล้ว ยังจะมีสิ่งแปลกปลอมอะไรอีกบ้างรวมอยู่ด้วย
ซึ่งข้อค้นพบต่อไปนี้ อาจลบภาพความสดชื่นของสายฝนออกจนหมดเกลี้ยง เหลือทิ้งไว้เพียงภาพความสยองขวัญที่ทำให้ใครบางคนเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า ถ้าเลือกได้และไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ก็คงไม่อยากแตะต้องหรือโดนน้ำฝนสาดใส่ตัว
มีอะไรในน้ำฝน ตอนที่ 1
สิ่งแปลกปลอมระดับน่าหวาดหวั่น
‘กรดอันตราย ฝุ่นพิษ และสารเคมีตลอดกาล’
แค่คำว่า ‘กรด’ เมื่ออยู่คู่กับ ‘ฝน’ อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่า ‘ฝนกรด’ คือน้ำกรดเข้มข้นที่ตกลงมาจากฟ้า ถ้าเป็นเช่นนั้น กรดซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน คงหลอมละลายทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งปลูกสร้างจนไม่เหลือชิ้นดี เหมือนฉากฝนกรดในภาพยนตร์เรื่อง Escape Room: Tournament of Champions (2021) ไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นภาพน่าสะพรึงที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นจริง
อย่างน้อยก็พอจะใจชื้นขึ้นมาได้ว่า เหตุการณ์รุนแรงแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นบนโลกของเรา เพราะฝนกรด (acid rain) ไม่ใช่น้ำกรดบริสุทธิ์ที่มีความเข้มข้นสูง แต่หมายถึงค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำฝน หรือเรียกว่า ค่าพีเอช (pH) ที่เปลี่ยนแปลงไป
ค่าพีเอชนั้น มีตั้งแต่ 0-14 โดยแทนค่าตัวเลข 0-6 เป็นกรด ยิ่งตัวเลขน้อยยิ่งมีฤทธิ์เป็นกรดเข้มข้น (เช่น น้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีค่าพีเอชอยู่ในช่วง 1.5-3.5) และแทนค่าตัวเลข 8-14 เป็นด่าง ยิ่งตัวเลขมากยิ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง ส่วน 7 เป็นตัวเลขที่อยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นกรดและด่าง จึงมีค่าเป็นกลาง
อย่างในน้ำดื่มและน้ำประปา สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ใช้เกณฑ์ควบคุมค่าพีเอชตามค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ คือ ต้องอยู่ระหว่าง 6.5-8.5
ค่าพีเอชที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อรสชาติของน้ำเท่านั้น หมายความว่า น้ำที่มีค่าพีเอชเป็นกรดจะออกรสเปรี้ยว ส่วนน้ำที่มีค่าพีเอชเป็นด่างจะออกรสฝาด ค่าพีเอชเหล่านี้จึงไม่อาจบ่งบอกถึงคุณภาพน้ำได้ เพราะต้องดูที่สิ่งเจือปนอื่นๆ แทน ได้แก่ สิ่งมีชีวิต เช่น เชื้อโรค จุลินทรีย์ และสิ่งไม่มีชีวิต เช่น สารเคมี แร่ธาตุ และโลหะหนัก
ขณะที่น้ำฝนตามธรรมชาติ ซึ่งมีค่าพีเอชประมาณ 5.6 จึงมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ แต่ตัวการสำคัญที่ทำให้ค่าพีเอชของน้ำฝนลดต่ำลงกว่า 5.6 จนกลายเป็นฝนกรด คือมลภาวะทางอากาศ
สาเหตุหลักของฝนกรดในปัจจุบัน เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงควันพิษจากเครื่องยนต์ และเหตุการณ์ไฟไหม้ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะไฟป่าและไฟไหม้โรงงานที่เก็บกักสารเคมี
การเผาไหม้เหล่านี้ สร้างออกไซด์ของโลหะบางชนิดปริมาณมหาศาล เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เมื่อลอยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ จะกลายเป็นกรดกำมะถันและกรดไนตริกปนเปื้อนอยู่ในไอน้ำ ก่อนตกลงมาเป็นฝนกรด ซึ่งมีค่าพีเอชอยู่ระหว่าง 4.2-4.4 พร้อมทำลายธาตุอาหารในดินและทำให้ดินเป็นกรด พืชบริเวณนั้นจะตายหรือไม่ก็แคระแกร็น ท้ายที่สุดแล้ว ความสมบูรณ์ของต้นไม้จะลดลง พื้นที่ป่าจึงเสื่อมโทรมตามไปด้วย
ฝนกรดจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์มากกว่าอิทธิพลของธรรมชาติอย่างการปะทุของภูเขาไฟ แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น ฝนกรดยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะแรงลมพายุจะพัดพาละอองฝนกรดในอากาศให้ตกห่างออกไปจากจุดเกิดฝนได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร
ระบบสากลสำหรับใช้จำแนกและสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีผ่านฉลาก หรือ Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals (GHS) โดยองค์การสหประชาชาติ แบ่งความสามารถกัดกร่อนของสารเคมีออกเป็นสองลักษณะ คือ กัดกร่อนเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และ กัดกร่อนเหล็ก อะลูมิเนียม หินปูน และหินอ่อน เป็นความเสียหายทางกายภาพทำให้วัสดุหรือพื้นผิวผุกร่อน ซึ่งฝนกรดมีฤทธิ์กัดกร่อนทั้งสองลักษณะ
แต่ในกรณีที่การกัดกร่อนของฝนกรดเกิดขึ้นระดับต่ำหรือไม่ถึงขั้นรุนแรง จะเรียกว่าทำให้ระคายเคืองแทน โดยเฉพาะผิวหนัง เนื้อเยื่อรอบดวงตา รูจมูก และริมฝีปากที่สัมผัสกับฝนกรดโดยตรง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงทำให้ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารอักเสบได้ หากเผลอกลืนฝนกรดเข้าไป
นอกจากกรด ในฝนกรดยังมีสารพิษปนเปื้อนในรูปแบบฝุ่น อย่างฝุ่นควัน (PM10) ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และสารเคมีในกลุ่ม PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) หรือ สารเคมีตลอดกาล (forever chemicals) ที่โรงงานอุตสาหกรรมนิยมใช้ผลิตผ้ากันฝน เครื่องเรือน เครื่องครัว เครื่องสำอาง บรรจุภัณฑ์กระดาษใส่อาหาร และโฟมดับเพลิง เพราะมีคุณสมบัติทนความร้อน ป้องกันความชื้นและไขมันได้ดี จึงย่อยสลายยากและตกค้างอยู่ในโลกของเราได้นานนับพันปี
แม้ว่าในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยออกมาตรการควบคุม จำกัด และสั่งห้ามไม่ให้ใช้สารเคมีตลอดกาล แต่ในปัจจุบัน เราทุกคนกำลังได้รับอันตรายจากสารเคมีตลอดกาล เพราะปริมาณสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ ยังคงสะสมอยู่ในดิน น้ำ และอากาศทั่วโลกเกินระดับปลอดภัย หมายความว่า ฝนทุกหยดที่ตกลงมา ย่อมปนเปื้อนสารพิษอย่างแน่นอน แต่จะเข้มข้นมากหรือเจือจางน้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่ตกและปัจจัยแวดล้อม
ความน่ากลัวของฝุ่นพิษและสารเคมีตลอดกาลที่ตกลงมาพร้อมกับฝนจะยิ่งทวีคูณทันที หากเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านทางจมูกและปาก เพราะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคร้ายเรื้อรังและความเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน
ฝุ่นพิษที่มีขนาดเล็กจะหลุดรอดเข้าไปอยู่ในปอดและหลอดเลือดจนตีบและอุดตัน จนเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงปอด หัวใจ และสมองไม่เพียงพอ เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง ทั้งที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ในระยะยาวฝุ่นพิษจะคอยขัดขวางการทำงานของอวัยวะระบบทางเดินหายใจส่วนบน เพิ่มความเสี่ยงทำให้เซลล์อวัยวะเสื่อมเร็วและกลายพันธุ์เป็นมะเร็งได้
ส่วนสารเคมีตลอดกาล ตกค้างอยู่ในร่างกายได้นานมากกว่า 8 ปี ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ป่วยง่าย ระบบสืบพันธุ์มีปัญหา เพราะภาวะเจริญพันธุ์ถดถอย เด็กในครรภ์เสี่ยงพัฒนาการล่าช้า เซลล์ตับบางส่วนทำงานแปรปรวน บางส่วนถูกทำลายและกลายเป็นเนื้อร้าย เพราะต้องทำงานหนักเพื่อขับของเสียและสิ่งตกค้างออกจากร่างกาย
ไม่น่าเชื่อว่าฝนตกแต่ละครั้ง จะนำพาอันตรายมาสู่สุขภาพและร่างกายของเรามากมายถึงเพียงนี้ ในน้ำฝนจึงไม่ใช่แค่สกปรกแต่แฝงไปด้วยสารพัดสิ่งแปลกปลอมเกินกว่าที่หลายคนคาดคิด และไม่ได้มีแต่ ‘กรด ฝุ่นพิษ สารเคมีตลอดกาล’ เท่านั้น ติดตามอ่านบทความซีรีส์ ‘มีอะไรอยู่ในน้ำฝน’ ตอนต่อไปว่าด้วย ‘เชื้อโรค จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต’ ที่มาพร้อมกับฝน
อ้างอิง
- กรมวิทยาศาสตร์บริการ. ฝนกรด. https://bit.ly/3pZOUh4
- Enric Terradellas, Slobodan Nickovic, and Xiao-Ye Zhang. Airborne Dust: A Hazard to Human Health, Environment and Society. https://bit.ly/3e5qFv4
- Gene E. Likens and Thomas J. Butler. Acid Rain. https://bit.ly/3Twfb3M
- Jen Dickman, Erika Schreder, and Nancy Uding. Packaged in Pollution: Are food chains using PFAS in packaging?. https://bit.ly/3Rlgpx5
- Sandee LaMotte. Toxic chemicals may be in fast food wrappers and take-out containers. https://cnn.it/3TnQw1z
- Tom Johnson. Breaking down the Forever Chemicals–What are PFAS?. https://bit.ly/3KC3XHg
- U.S. Environmental Protection Agency. What is Acid Rain?. https://bit.ly/3wHyEVG