เคยสังเกตตัวเอง คนรอบข้าง หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงของเราบ้างไหมว่า แค่ตากฝนนิดหน่อย ไม่ถึงกับเปียกชุ่มไปทั้งตัว กลับเป็นหวัดได้ง่ายๆ บางรายอาจแย่ยิ่งกว่า ต้องล้มหมอนนอนเสื่อไปหลายวันก็มีไม่น้อย
สาเหตุที่ฝนทำให้เราป่วย (รวมถึงสัตว์และพืช) ไม่ได้เกิดจากน้ำและความชื้น แต่เป็นเพราะ ‘จุลินทรีย์ก่อโรค’ หรือสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งแฝงตัวปนเปื้อนมากับฝนต่างหาก
เมื่อไหร่ก็ตามที่จุลินทรีย์เหล่านี้หลุดรอดเข้าสู่ร่างกาย แล้วระบบภูมิคุ้มกันของเราไม่อาจกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ทันการณ์ พวกมันจะฉวยโอกาสแพร่เชื้อเพื่อโจมตีร่างกายให้อ่อนแอลงจนล้มป่วยด้วยอาการของโรคต่างๆ ตามแต่ประเภทและชนิดของ ‘เชื้อก่อโรค’ (pathogen) ในน้ำฝน ซึ่งแบ่งออกเป็น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต
จริงอยู่ว่าฝนทุกหยดที่ร่วงหล่นมาจากฟ้า คือความเป็นไปของธรรมชาติตามวัฏจักรน้ำ ทั้งให้ความสดชื่นและคืนความชุ่มชื้นกับทุกชีวิต แต่ในเวลาเดียวกัน น้ำฝนที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตเอาไว้ไม่ให้เหือดแห้ง อาจแปรเปลี่ยนเป็นน้ำตา เพราะแขกไม่ได้รับเชิญที่ติดตามมาด้วยอย่างเชื้อโรค ก็พร้อมซุ่มทำหน้าที่ของมัน หวังกลืนกินและพรากบางชีวิตให้จบสิ้นลง
มีอะไรในน้ำฝน ตอนที่ 2
สิ่งแปลกปลอมระดับก่อโรค
‘แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต’
น้ำทุกหยดในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเปล่าที่เราดื่ม น้ำประปา น้ำเน่าในคลองโสมม น้ำทะเลแสนเค็ม น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ น้ำแข็งขั้วโลก แม้แต่ของเหลวในร่างกาย ล้วนมีองค์ประกอบทางเคมีเหมือนกัน คือ ธาตุไฮโดรเจน (H) 2 อะตอม และออกซิเจน (O) 1 อะตอม รวมกันเป็นน้ำ (H2O) 1 โมเลกุล
สิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา ต่างมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก น้ำจึงเป็นทั้งหลักฐานและสิ่งอ้างอิงถึงการมีชีวิตของสรรพสิ่ง หมายความว่า ‘ที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นย่อมมีชีวิต’ เช่นเดียวกับฝนหยดเล็กๆ ที่โอบอุ้มจุลินทรีย์ให้ยังชีพอยู่ได้
พอเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนแบบนี้แล้ว อาจทำให้หลายคนรู้สึกหวาดกังวลไปบ้าง แต่ตราบเท่าที่เราหมั่นดูแลสุขอนามัยเป็นกิจวัตร และหลีกเลี่ยงไม่ให้เนื้อตัวโดนน้ำฝน ก็เท่ากับลดความเสี่ยงไม่ให้ร่างกายสัมผัสเชื้อโรคได้ ต่างจากคนที่มีเหตุจำเป็นต้องตากฝน ย่อมมีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยมากกว่า รวมถึงคนที่รองน้ำฝนไว้ใช้ประโยชน์ ยิ่งตกอยู่ในอันตรายมากกว่าใคร เพราะภายในถังหรือโอ่งที่เก็บน้ำไว้ คือแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคอย่างดี ไม่ต่างจากจานเพาะเชื้อในห้องทดลอง
หากนำภาชนะสะอาดไปรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาจากฟ้า แล้วเอามาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จุลินทรีย์ก่อโรคที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแบคทีเรีย และกลุ่มไวรัส แต่ถ้าเป็นน้ำฝนที่ตกใส่หลังคา ก่อนไหลลงมาตามรางน้ำที่ต่อท่อถึงภาชนะกักเก็บ ทำให้พบจุลินทรีย์ก่อโรคเพิ่มอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเชื้อรา และกลุ่มปรสิต
โดยทั่วไปแล้ว ในอากาศที่เราใช้หายใจ จะมีเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสปะปนเป็นปกติ เพราะจุลินทรีย์เหล่านี้ถูกจำกัดพื้นที่ให้แพร่กระจายในชั้นบรรยากาศที่เรียกว่า โทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งมีระดับความสูงนับจากพื้นดินเพียง 10 กิโลเมตร เป็นชั้นบรรยากาศชั้นแรกที่ปกคลุมพื้นผิวโลก และเป็นบริเวณที่เกิดขึ้นของไอน้ำ เมฆ หมอก ฝน และพายุ แรงลมจึงช่วยพัดพาจุลินทรีย์ให้ฟุ้งไปทั่วท้องฟ้า และปลิวไปได้ไกลถึงครึ่งค่อนโลก
แต่ละตารางเมตรของชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ นอกจากประกอบด้วยอากาศธาตุ และสารแขวนลอยอย่างฝุ่นหิน ดิน ทราย ละอองเถ้าถ่าน เขม่าควันท่อไอเสียรถยนต์ และสารพิษ ยังมีไวรัสหลายพันล้านตัว และแบคทีเรียอีกหลายสิบล้านตัว แล้วพวกมันขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยากาศได้อย่างไร?
สาเหตุแรกเกิดจากธรรมชาติ เชื้อโรคส่วนใหญ่มักจะถูกพัดขึ้นมาบนชั้นบรรยากาศเพราะเกาะตัวอยู่กับละอองน้ำและฝุ่นตามพื้นดิน กระทั่งฝนตก หยดน้ำก็จะพามันกลับคืนสู่พื้นผิวโลกอีกครั้ง หมุนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้ไม่จบสิ้น นอกจากนั้น สัตว์มีปีกที่บินได้อย่างนก ค้างคาว และแมลง หากเป็นพาหะของโรค ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้อากาศกลายเป็นที่สะสมเชื้อโรคได้เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ร้ายแรงเท่าการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ขับออกมาจากตัวของสัตว์โดยตรง
ส่วนอีกสาเหตุ เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยสารเคมีต่อเนื่องจนทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงและเกิดมลพิษ เชื้อโรคบางชนิดจึงอยู่รอดนานขึ้นในชั้นบรรยากาศ
ถึงแม้ว่าจุลินทรีย์ในอากาศที่ตกลงมากับฝนส่วนใหญ่ จะไม่เป็นอันตรายต่อตัวเรา แต่ก็ยังมีเชื้อก่อโรคแอบแฝงที่จำเป็นต้องรู้จักและระวังไว้ให้ดี คือ เชื้ออีโคไล และเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา
เชื้ออีโคไล (Escherichia coli หรือ E.coli) เป็นแบคทีเรียประจำถิ่นอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพื่อช่วยย่อยอาหารและสนับสนุนการทำงานของลำไส้ แต่ถ้ามีจำนวนเชื้อมากเกินไป หรือร่างกายได้รับเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ก่อโรคจากน้ำและอาหารไม่สะอาด จะทำให้ระบบทางเดินอาหารแปรปรวน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย และมีไข้ ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายได้เองภายใน 1-2 วัน
เชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ต้นเหตุของไข้หวัดใหญ่ มักระบาดหนักในช่วงหน้าฝน ทำให้ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อเฉียบพลัน ที่สำคัญเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันได้ ผ่านละอองน้ำลาย น้ำมูก และเสมหะด้วยวิธีไอและจาม อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามร่างกาย และจะทุเลาลงภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่ถ้ากลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ทวีความรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้
แตกต่างจากฝนที่ตกลงหลังคา ยิ่งทำให้น้ำปนเปื้อนเชื้อโรคมากกว่า เพราะฝนจะชะล้างสิ่งสกปรกบนพื้นผิวลอนกระเบื้องหรือสังกะสีออกมาด้วย โดยเฉพาะเชื้อรา และปรสิตจากขี้ของสัตว์ที่ขับถ่ายของเสียทิ้งไว้
ราสนิม (Rust Fungi) ตัวการที่ทำให้เกิดโรคในพืช มันจะกัดกินเซลล์พืช ทำลายทั้งใบและลำต้นไม่ให้สวยสดอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเปลี่ยนใบไม้สีเขียวสดเป็นจุดสีน้ำตาลคล้ายสนิมเขรอะที่ขึ้นบนเหล็ก แค่สัมผัสเบาๆ ละอองเชื้อราจะติดนิ้วมาด้วย แม้แต่หยดน้ำฝน หากตกลงบนใบไม้ที่ติดเชื้ออยู่ ราสนิมจะกระเด็นไปยังต้นไม้ต้นอื่นที่อยู่ใกล้กัน และลุกลามไปยังทุกส่วนของต้นอย่างรวดเร็ว
คริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium spp.) เป็นปรสิตประเภทโปรโตซัว (Protozoa) อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของคนและสัตว์ แต่ทำอันตรายให้ร่างกายไม่ได้ ตราบใดที่ภูมิต้านทานของเรายังแข็งแรงดี ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือบกพร่อง ซึ่งตกเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด เพราะคริปโตสปอริเดียมจะกลายเชื้อฉวยโอกาสและทำให้ท้องร่วงรุนแรงทันที
คงไม่ใช่เรื่องดีนัก หากใครต้องป่วยด้วยเชื้อโรคที่มากับฝน แต่ในหลายพื้นที่ยังขาดแคลนน้ำ จึงจำเป็นต้องรองน้ำฝนไว้ ดังนั้น ทางออกที่ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ คือ หมั่นทำความสะอาดรางน้ำและภาชนะเก็บน้ำ เมื่อเริ่มฝนตก ให้รอสักระยะหนึ่งก่อนจนแน่ใจว่าฝนแรกได้ชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศและหลังคาออกไปมากพอ
ส่วนภาชนะที่ใช้รองรับน้ำฝน ควรปิดปากภาชนะด้วยมุ้งพลาสติกให้มิดชิด เพื่อกรองตะกอนไม่ให้ตกลงไปอยู่รวมกับน้ำ และป้องกันแมลงบางชนิดไม่ให้วางไข่ ก่อนนำน้ำไปใช้ควรแกว่งสารส้มทุกครั้ง หากนำน้ำไปดื่มหรือประกอบอาหาร (ซึ่งไม่แนะนำ) ห้ามแกว่งสารส้มเด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายต่อไตและทำให้สมองเสื่อมได้ แต่ให้ใช้วิธีต้มจนน้ำเดือดประมาณ 10 นาที เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อโรคที่ปะปนมา
ไม่น่าเชื่อว่าฝนตกแต่ละครั้ง จะนำพาอันตรายมาสู่สุขภาพและร่างกายของเราได้มากมาย เพราะในน้ำฝนแอบแฝงไปด้วยสารพัดสิ่งแปลกปลอมเกินกว่าที่หลายคนคาดคิด ซึ่งไม่ได้มีแต่ ‘จุลินทรีย์ก่อโรค’ เท่านั้น ติดตามอ่านบทความซีรีส์ ‘มีอะไรอยู่ในน้ำฝน’ ตอนสุดท้ายว่าด้วย ‘ไมโครพลาสติก ปลา กบ และสิ่งผิดปกติที่ไม่น่าจะตกลงมาพร้อมฝนได้’
อ้างอิง
- Centers for Disease Control and Prevention. Rainwater Collection. https://bit.ly/3KYddW7
- Gilet, T., & Bourouiba, L. (2014). Rain-induced ejection of pathogens from leaves: revisiting the hypothesis of splash-on-film using high-speed visualization. Integrative and comparative biology, 54(6), 974–984. https://doi.org/10.1093/icb/icu116
- Reche, I., D’Orta, G., Mladenov, N. et al. (2018). Deposition rates of viruses and bacteria above the atmospheric boundary layer. The ISME Journal, 12, 1154–1162. https://doi.org/10.1038/s41396-017-0042-4
- World Health Organization. E. coli. https://bit.ly/3BiafbY