สมัยนี้ใครๆ ก็ใส่ใจเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพ แต่ถ้าใครใส่ใจแบบหวังผลลัพธ์ไวทันตาเห็นมากจนเกินไป ก็อาจตกเป็น ‘เหยื่อ’ ได้โดยไม่รู้ตัว
โดยเฉพาะการอยากเป็นเจ้าของสุขภาพดีโดยอาศัยทางลัด อย่างการอดอาหาร กินแต่อาหารเสริม หรือพึ่งพา Health Coach ที่ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านโภชนาการโดยตรง แต่อาจจะเคยเรียนคอร์สโภชนาการมาบ้าง จึงพอจะมีองค์ความรู้ในศาสตร์อาหารและสุขภาพมากพอที่จะโน้มน้าวใจผู้คน
แต่ที่หนักไปกว่านั้นคือ การแอบอ้างตัวเองเป็น ‘นักกำหนดอาหาร (Dietitian)’ ทั้งที่อาชีพนี้ต้องเรียนหนักและต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะ ไม่ต่างจากแพทย์คนหนึ่ง
เพราะนักกำหนดอาหาร คือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้เฉพาะทางด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารบำบัดโรค ที่เรียกว่า โภชนบำบัด
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่งในการพิจารณาว่าใครคือนักกำหนดอาหารวิชาชีพที่ได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง และเพื่อไม่ให้มีคนนำวิชาชีพทางโภชนาการมาหลอกลวงผู้บริโภคได้อีกต่อไป
จริงๆ แล้วอาชีพที่เราคุ้นหูมากกว่านักกำหนดอาหาร ก็คือ ‘นักโภชนาการ’ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีใบประกอบโรคศิลปะสาขานักกำหนดอาหาร และไม่เคยมีตำแหน่งนักกำหนดอาหารอยู่ในระบบราชการมาก่อน คนส่วนใหญ่จึงคุ้นเคยกับคำว่า นักโภชนาการ มากกว่า
ดังนั้น จึงถือเป็นข่าวดีที่ผู้คนในแวดวงนักกำหนดอาหารรอมานาน เมื่อมีการออก พระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการด้านโภชนาการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย
โดยที่ผ่านมา แม้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะแยกตำแหน่งนักกำหนดอาหารกับนักโภชนาการออกจากกันอย่างชัดเจน แต่โรงพยาบาลของรัฐยังมีความทับซ้อนกันอยู่ เช่น ให้นักโภชนาการทำหน้าที่ของนักกำหนดอาหาร รวมถึงทำงานโภชนบริการ โภชนบำบัด ไปจนถึงงานพัสดุ
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว นักโภชนาการถือเป็นอาชีพทั่วไป ใครเรียนจบมาทางด้านอาหาร และเรียนโภชนาการเพิ่มเติม ก็สามารถเป็นนักโภชนาการได้
แต่นักโภชนาการจะเป็นนักกำหนดอาหารเลยทันทีไม่ได้
ทั้งนี้ เพราะนักกำหนดอาหารถือเป็นวิชาชีพเฉพาะ โดยผู้ที่สามารถเป็นนักกำหนดอาหารได้ต้องเรียนจบด้านโภชนาการและการกำหนดอาหารมาโดยตรง และต้องผ่านการสอบขึ้นทะเบียนนักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT – Certified Dietitian of Thailand)
ปัจจุบันในประเทศไทยมีหลายสถาบันที่ผลิตบุคลากรนักกำหนดอาหาร เช่น คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา ฯลฯ
ส่วนอีกเกณฑ์ที่จะวัดความแตกต่างระหว่างนักโภชนาการและนักกำหนดอาหารออกจากกันได้ ก็คือ หน้าที่ในการกำหนด ‘อาหารที่ให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล’
ด้วยความที่อาหารที่ให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อาหารปกติ ซึ่งเป็นอาหารธรรมดาสำหรับผู้ป่วยทั่วไป จึงไม่ต้องมีการกำหนดอาหาร ทำให้นักโภชนาการสามารถออกแบบอาหารประเภทนี้ได้
กับอีกประเภท คือ อาหารเฉพาะโรค ซึ่งเป็นอาหารที่มีการกำหนดหรือดัดแปลงให้เป็นไปตามแผนการรักษา และเพื่อให้เหมาะสมกับโรคและภาวะทางโภชนาการ เช่น อาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น
ซึ่งอาหารเฉพาะโรคนี่เองที่อยู่ในความรับผิดชอบของนักกำหนดอาหาร และด้วยความที่เป็นอาหารที่ต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทำให้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการด้านโภชนาการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย
โดยในพระราชกฤษฎีกา ได้ระบุความหมายของการกำหนดอาหาร ไว้ว่า “การกระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการวินิจฉัยปัญหาโภชนาการ โดยประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วย วิเคราะห์ และวางแผนการให้โภชนบำบัด การให้คำปรึกษา ติดตาม ประเมินผล ส่งเสริม และฟื้นฟูภาวะโภชนาการ และการดัดแปลงอาหารเฉพาะโรคให้เป็นไปตามแผนการรักษา เพื่อให้เหมาะสมกับโรคและภาวะโภชนาการ ทั้งนี้ ไม่หมายความรวมถึง การปรุงและการประกอบอาหาร สำหรับการให้บริการผู้ป่วยตามปกติในสถานพยาบาล”
นักกำหนดอาหารจึงเป็นอาชีพเฉพาะทางที่แม้แต่แพทย์ก็เลียนแบบไม่ได้ เพราะนักกำหนดอาหารต้องเรียนวิชาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาหารซึ่งใช้บำบัดโรคโดยเฉพาะ รวมถึงการคำนวณอาหารที่เหมาะสมสำหรับแต่ละเงื่อนไขของแต่ละบุคคล ซึ่งบางคนอาจมีโรคประจำตัว ทำให้มีระบบการเผาผลาญของร่างกายที่แตกต่างกัน จึงต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะทางของนักกำหนดอาหารเป็นผู้ช่วยในการบริโภคอาหารให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเอกสิทธิ์ของแพทย์คือการเขียนใบสั่งยา นักกำหนดอาหารก็มีประกาศิตในการเขียนใบสั่งอาหารเพื่อกำหนดอาหารให้ผู้ป่วยรับประทานในแต่ละมื้อเช่นกัน
ดังนั้น ผลลัพธ์ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จึงส่งผลให้ผู้ที่ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาการกำหนดอาหาร หากจะปฏิบัติงานด้านการกำหนดอาหารต้องขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หรือ สบส. เสียก่อน
ส่งผลให้โภชนากร นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร ที่เคยทำงานเกี่ยวกับการให้บริการอาหารผู้ป่วยทั้งอาหารปกติและอาหารเฉพาะโรคในปัจจุบัน ต่อไปจะทำได้เฉพาะอาหารปกติเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักกำหนดอาหารจะต้องขวนขวายหาทางเป็น ‘นักกำหนดอาหารจดทะเบียน (Registered Dietitian) ด้วยการ สอบขึ้นทะเบียนนักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT – Certified Dietitian of Thailand) โดยทางสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยจะมีการจัดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นประจำทุกปี
ล่าสุด เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ได้มีประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร เรื่อง ผลการพิจารณาขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร ที่ปฏิบัติงานด้านการกำหนดอาหาร ซึ่งสรุปได้ว่ามีผู้ที่ผ่านการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร จำนวน 371 คน และผู้ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตสาขาการกำหนดอาหาร จำนวน 88 คน
ประกาศฉบับนี้สำคัญกับผู้บริโภคตรงการเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสุขภาพหรืออาหารเสริมต่างๆ ว่ามีคุณสมบัติในการเป็นนักกำหนดอาหารที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เช่น ธุรกิจ Diet Coach หรือเหล่าเทรนเนอร์ไดเอต ที่กำลังเป็นอาชีพยอดนิยมทางอินสตาแกรม ผู้ทำหน้าที่กำหนดมื้ออาหารในแต่ละวันให้ผู้บริโภค รวมถึงบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเครือข่ายขายตรง ที่หากไม่ได้ผ่านการสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร ก็จะไม่สามารถทำอาชีพในสายนี้ได้อีกต่อไป
อ้างอิง
- ไทยรัฐฉบับพิมพ์.ขึ้นทะเบียนสาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ. https://www.thairath.co.th/news/society/2002013
- ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล.กำหนดอาหารให้สุขภาพดีด้วยนักกำหนดอาหาร. https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/944
- ศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงจิงจิตร อังคทะวานิช.รายการสงฆ์ไทยไกลโรค EP9 ตอน นักกำหนดอาหารคือใคร. https://www.youtube.com/watch?v=droXvOotkWI
- สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย. https://www.thaidietetics.org/