life

เมื่อเกลียดคนเดียวกัน จะทำให้มนุษย์สามัคคีกลมเกลียวกันมากกว่าเดิม แม้แต่คนที่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาก่อน ก็อาจทำให้พวกเขาร่วมผนึกกำลังกันต่อสู้กับ ‘ศัตรู’ ตัวฉกาจที่อยู่ตรงหน้าก่อนก็เป็นได้ 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?  

แม้มนุษย์จะสันโดษมากขึ้น แต่ยังคงเป็นสัตว์สังคม เราอยู่เป็นกลุ่มก้อนเพื่อให้ตนเองรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย นั่นทำให้เกิดเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง ‘คนใน’ กับ ‘คนนอก’ ขึ้นมา คนในเป็นสมาชิกในกลุ่ม ส่วนคนนอกคือคนที่ไม่ได้รับการต้อนรับ 

ผลการศึกษาของ Jennifer Bosson จากมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา (University of South Florida) ตีพิมพ์ลงในวารสาร Personality and Social Psychology Bulletin ระบุว่า ‘วามเกลียดชัง’ เป็นสะพานที่เชื่อมผู้คนไว้ด้วยกัน การแสดงออกว่าไม่ชอบสิ่งใดๆ ยิ่งตอกย้ำบรรทัดฐานของกลุ่ม ทำให้เส้นแบ่งระหว่างคนในกับคนนอกชัดเจนขึ้น และทำให้คนในกลุ่มแน่นแฟ้นกันมากขึ้น  

ยิ่งไปกว่านั้นความเกลียดชังในสิ่งเดียวกันยังพาให้คนมารวมตัวกันได้ แม้แต่คู่อริที่บาดหมางกันมาก่อน เมื่อรู้ว่าไม่ชอบสิ่งเดียวกัน ก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกเป็นคนในกลุ่มเดียวกันมากขึ้นด้วย  

ความเกลียดชังมักจูงใจผู้คนได้มากกว่าความชื่นชอบ เพราะมนุษย์เราถูกปลูกฝังว่าความเกลียดชัง เป็นความรู้สึกด้านลบที่ไม่ควรแสดงออก แต่ทว่าเมื่อไหร่ที่คนตัดสินใจแสดงออกมา กลับเป็นการดึงดูดความสนใจคนรอบข้างได้มากกว่าเดิม 

เมื่อเราเอ่ยปากว่าไม่ชอบใครคนหนึ่งด้วยเหตุและผล นั่นดูคล้ายกับว่าเรากำลังแสดงความจริงใจออกมา ผู้ฟังจะเกิดความรู้สึกร่วมและเห็นอกเห็นใจโดยอัตโนมัติ  

แม้จะหลอมรวมคนได้อย่างง่ายดาย แต่ก็ไม่ควรนำความเกลียดชังมาเปิดบทสนทนาสำหรับใครที่เพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก เพราะเราจะเดาไม่ได้เลยว่าอีกฝ่ายคิดเห็นอย่างไร  

โชคดีหากว่าเห็นตรงกัน แต่ถ้าเห็นต่าง ความประทับใจแรกของเราจะกลายเป็นด้านลบทันที อีกฝ่ายอาจเข็ดขยาดและเลี่ยงที่จะพบเราอีกครั้ง เพราะมีภาพจำว่าเราจะมาพร้อมความรู้สึกด้านลบเสมอ 

อ้างอิง 

  • Vanessa Van Edwards.People build stronger connections when they hate the same things — but it’s a risky way to make friends.https://bit.ly/2HmobZg 
  • Paul Kix.Hating the Same Things.https://nym.ag/2IMIdfK