life

หน้าฝนทีไร ฝนฟ้าไม่ค่อยเป็นใจทุกที จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก เพราะฝนตกห่าใหญ่ มักทำให้รถติด น้ำท่วมขัง แถมตัวเรายังเสี่ยงไม่สบายอีก

โดยเฉพาะในวันธรรมดาและชั่วโมงเร่งด่วนที่คนเมืองต้องรีบออกจากบ้านไปทำงานแต่เช้าตรู่ แล้วกลับเข้าบ้านอีกทีช่วงพลบค่ำ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่ฝนจะตกชุกทั่วทุกพื้นที่ในเขตเมือง ราวกับว่าฝนตกต้องเข้างานตอนเช้า และออกงานตอนเย็นไม่ต่างจากคนทำงาน ฝนที่ตกลงมาในช่วงเวลานี้จึงถูกขนานนามว่า ‘ฝนราชการ’

วันฝนตกในกรุงเทพฯ
Photo: Guitarfoto, n.d., Shutterstock

ถ้ามองดูอย่างผิวเผิน อาจทำให้หลงคิดไปได้ว่า คงเป็นแค่ฝนธรรมดา แต่ในความเป็นจริง ฝนราชการ คือผลจากการกระทำและวิถีชีวิตของคนเมืองทั้งสิ้น และเป็นปรากฏการณ์ที่คอยสร้างความรำคาญใจจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเองโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว

 

ฝนเอยทำไมจึงตก…
จำเป็นต้องตกเพราะว่าเกาะความร้อน

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ในแต่ละปี ระยะเวลาที่ฝนจะตกต้องตามฤดูกาลจึงยาวนานราว 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม

ช่วงเวลาระหว่างเช้ามืดและเช้าตรู่ในหน้าฝน อากาศทั่วไปจะเย็นและมีร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมพาดผ่าน ร่องนี้เองทำให้มวลอากาศยกตัวลอยสูงขึ้นไปเกาะกลุ่มเป็นเมฆฝน ทำให้ฝนตกมักจะตกเป็นปกติตอนเช้าของวัน

เหตุผลที่ฝนต้องตกลงมา เพราะฝนเป็นส่วนหนึ่งใน ‘วัฏจักรน้ำ’

โดยทั่วไป เมื่อแสงอาทิตย์ส่องลงมากระทบกับพื้นผิวโลกที่มีผืนน้ำและความชื้นสะสมอยู่ เช่น น้ำในมหาสมุทรและแหล่งธรรมชาติอื่นๆ ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้น้ำระเหยเพื่อเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นไอน้ำ แล้วลอยตัวขึ้นไปควบแน่นในอากาศ ไอน้ำจะคายความร้อนออกเพื่อเปลี่ยนสถานะกลับมาเป็นละอองน้ำ ทำให้ละอองน้ำในอากาศรวมตัวกันเป็นก้อนเมฆหนา จนอากาศพยุงปริมาณละอองน้ำต่อไปไม่ไหว น้ำเหล่านั้นจึงตกลงมาเป็นฝนสู่พื้นผิวโลก คืนน้ำกลับสู่แหล่งธรรมชาติอีกครั้ง วัฏจักรของน้ำจะหมุนเวียนเช่นนี้ต่อไปไม่สิ้นสุด

แผนภาพวัฏจักรน้ำ
Photo: Aldona Griskeviciene, n.d., Shutterstock

แต่ฝนราชการที่ตกทั่วบริเวณทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล นั้นแตกต่างจากฝนธรรมชาติในวัฏจักรของน้ำ เพราะเป็นผลกระทบจาก ‘ปรากฏการณ์เกาะความร้อน’ หรือ ‘โดมความร้อน’ (urban heat island หรือ heat island effect) คอยเร่งให้ฝนมีโอกาสตกตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงค่ำ และมักจะตกหนักในช่วงเย็นของวัน ซึ่งตรงกับเวลาเลิกงานพอดี

 

เกาะเอยทำไมจึงร้อน…
จำเป็นต้องร้อนเพราะว่าเมืองแออัด

เกาะความร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในเขตเมือง และต้องเข้าเงื่อนไขสองข้อนี้

ข้อแรก เมืองนั้นต้องหนาแน่นไปด้วยตึกสูงระฟ้า ถนนหนทาง และอาคารบ้านเรือน ซึ่งก่อสร้างจากปูนและคอนกรีตเป็นหลัก เพราะวัสดุและพื้นผิวสีเข้มอย่างเท่าและดำ ต่างมีคุณสมบัติดูดซับและกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่สาดส่องลงมาโดยตรง ยิ่งในบริเวณที่แออัดไปด้วยสถานที่ทำงานและย่านพักอาศัย ก็จะยิ่งเกิดความร้อนระอุที่ปล่อยออกมาจากการทำงานของคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศพร้อมๆ กัน

สภาพจราจรแยกอโศกมนตรี
Photo: Pat Tr, 2016, Shutterstock

นอกจากนี้ ยังมีความร้อนจากแหล่งอื่นที่เกิดควบคู่ตลอดวัน เช่น ไอร้อนจากการสันดาปของเครื่องยนต์ในยานพาหนะที่ใช้น้ำมัน และการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิงของโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเป็นมลภาวะในอากาศรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะควันพิษและฝุ่นแขวนลอย ซึ่งเป็นตัวการคอยกักความร้อนเอาไว้ในท้องฟ้า

ส่วนข้อสอง เมืองนั้นต้องขาดแคลนหรือมีพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่น้อยมากๆ เพราะกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของต้นไม้มีหน้าที่สำคัญ คือช่วยดูดซับรังสีของดวงอาทิตย์แล้วเปลี่ยนเป็นออกซิเจน ในทางกลับกัน หากทั่วเมืองมีไม้ยืนต้นไม่เพียงพอ ปริมาณแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมา จะตกกระทบกับตัวอาคารมากกว่าถูกใบไม้ช่วยดูดซับรังสีไว้ เมื่อไม่มีต้นไม้เป็นปราการลดแรงปะทะ อุณหภูมิในเขตเมืองจึงพุ่งสูงขึ้นมากกว่าชนบทหรือต่างจังหวัดที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว

ย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ
Photo: TWStock, n.d., Shutterstock

เมื่อทั่วทั้งเมืองมีแต่ป่าคอนกรีตและไร้ไม้ใหญ่คอยให้ร่มเงา ความร้อนจึงกระจุกตัวรวมกันเป็นเกาะ เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน ทำให้เมืองนั้นตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากเตาอบ บรรยากาศภายนอกช่วงกลางวันในเขตเมืองจึงค่อนข้างร้อนจัดและอบอ้าว กระทั่งเวลาบ่ายที่ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำ อุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย ช่วงนี้เอง ทั้งความชื้นและไอความร้อนที่คอนกรีตและปูนกักเก็บไว้ จะเริ่มถูกคายออกมา จากนั้นลอยตัวขึ้นไปรวมกับความชื้นในอากาศซึ่งมีอยู่มากในหน้าฝน แล้วก่อตัวเป็นเมฆหนามืดครึ้ม ก่อนจะกลั่นตัวเป็นฝนตกตอนเย็นหลังเลิกงาน

แผนภาพระบุจุดเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมืองต่างๆ ทั่วโลก
ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 30,000 เมือง รวมถึงกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดในประเทศไทย
Photo: Gabriele Manoli, 2019, Eidgenössische Technische Hochschule Zürich

 

ท้องฟ้ามีเมฆเป็นส่วนมาก
สังเกตฝนราชการได้จากลักษณะของเมฆ

รูปร่างของก้อนเมฆที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า พอจะบอกใบ้ให้รู้ได้ว่า เย็นนี้ฝนราชการอาจจะกระหน่ำตกลงมา จึงต้องอาศัยการสังเกตลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเมฆตลอดทั้งวัน

แผนภาพแสดงลักษณะของเมฆประเภทต่างๆ
Photo: Commonwealth of Australia, 2012, Bureau of Meteorology

ช่วงเช้าถึงสาย: หากบนท้องฟ้าตอนเช้าและตอนสายของวัน ปรากฏเมฆคิวมูลัสและเมฆอัลโตสตราตัสอยู่ร่วมกัน มีความเป็นไปได้ว่าฝนจะตกในอีก 5-7 ชั่วโมง เพราะเมฆคิวมูลัสสามารถขยายตัวเป็นเมฆฝนต่อไปได้

เมฆคิวมูลัส (cumulus) มีลักษณะปุกปุยคล้ายก้อนสำลีหรือดอกกะหล่ำสีขาว ลอยกระจายห่างกันเป็นกลุ่มย่อยๆ เมฆคิวมูลัสจเกิดขึ้นในวันที่สภาพอากาศแจ่มใสดี ท้องฟ้าดูปลอดโปร่ง ส่วน เมฆอัลโตสตราตัส (altostratus) มีรูปร่างไม่แน่นอน แต่ลักษณะเด่นที่มองเห็นได้ง่าย คือ เป็นผืนเมฆสีเทาปนขาวหรือปนน้ำเงิน แผ่เป็นแผ่นกว้างคล้ายริ้วคลื่นของน้ำ อาจบางหรือหนาจนบดบังแสงอาทิตย์ได้

เมฆคิวมูลัส
Photo: Somchai Sukkasem, n.d., Shutterstock
เมฆอัลโตสตราตัสเหนือท้องฟ้าในกรุงเทพฯ
Photo: kajeab_pongsiri, 2022, Shutterstock

ช่วงบ่ายถึงเย็น: เมฆคิวมูลัสจะขยายตัวมากขึ้นจากไอน้ำที่ลอยตัวขึ้นมาสะสม ทำให้สีของเมฆคล้ำลงจากสีขาวกลายเป็นสีเทา และก่อตัวเป็นเมฆฝนได้ในที่สุด เรียกว่า เมฆนิมโบสเตรตัส (nimbostratus) ขณะที่เมฆอัลโตสตราตัสจะค่อยๆ สลายหายไป

เมฆนิมโบสเตรตัสเหนือท้องฟ้าในกรุงเทพฯ
Photo: kajeab_pongsiri, 2022, Shutterstock

หากในอากาศวันนั้นมีไอน้ำปริมาณมาก ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน และกระแสลมแรง เมฆนิมโบสเตรตัสจะยิ่งควบแน่นและก่อตัวเป็น เมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) หรือเมฆฝนเต็มรูปแบบ ซึ่งมีขนาดหนา ใหญ่ และกว้าง ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักทั่วทุกพื้นที่ในเวลาเย็น

เมฆคิวมูโลนิมบัสเหนือท้องฟ้าในกรุงเทพฯ
Photo: Natapat2521, 2018, Shutterstock

ต่อให้ไม่อยากเจอฝนราชการ แต่ฝนตกคือเรื่องธรรมชาติที่ใครก็ห้ามไม่ได้ ดังนั้น การสังเกตเมฆ ดูพยากรณ์อากาศ และเตรียมตัวให้พร้อมหากฝนตก จึงเป็นหนทางที่พอจะให้มนุษย์ตัวเล็กรับมือกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ได้บ้าง

หวังว่าฟ้าฝนเป็นใจ และไม่โหดร้ายจนเกินไปกับผู้อ่านทุกคน

 

อ้างอิง

  • กรมอุตุนิยมวิทยา. ปรากฏการณ์เกาะความร้อน. https://bit.ly/2m13irG
  • กรมอุตุนิยมวิทยา. ฤดูกาลของประเทศไทย. https://bit.ly/3ClirsR
  • บัญชา ธนบุญสมบัติ. All About Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562.
  • Heat Health Information System. About Urban Heat Islands. https://bit.ly/3dT9pco
  • Manoli, G., Fatichi, S., Schläpfer, M. et al. Magnitude of urban heat islands largely explained by climate and population. Nature 573, 55–60 (2019). https://doi.org/10.1038/s41586-019-1512-9