‘ห้องเรียน’ เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็กๆ
บ้านหลังนี้จึงควรเต็มไปด้วยการเรียนรู้ผ่านทุกสัมผัส
โดยเฉพาะห้องเรียนสำหรับเด็กพิการทางสายตา
เพื่อช่วยพัฒนาให้พวกเขาก้าวออกไปใช้ชีวิตในสังคมด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด
ห้องสมุดเก่าของโรงเรียนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา จึงถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องเรียนโฉมใหม่
เพื่อพัฒนาประสาทสัมผัส แสง เสียง และกลิ่นของเด็กที่มองไม่เห็น
โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือทันสมัยใดๆ
แค่ใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘ความใส่ใจ’ ของผู้ใหญ่ในสังคม
ห้องเรียน (เด็กตาบอด) แห่งอนาคต
ห้องเรียนโรงเรียนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาแม้จะไม่มีนวัตกรรมล้ำสมัย แต่ถือเป็น ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’
เพราะ ‘บูรณาการ’ ศาสตร์หลายแขนงเข้าด้วยกันในการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กตาบอด
‘Creative Crew’ บริษัทสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้นำทีมออกแบบได้ร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ครีเอทีฟ เอเจนซี่โฆษณา ผู้เชี่ยวชาญในการจัดแสงภายในอาคารและการอัดเสียง นักออกแบบกลิ่น นักวิชาการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก ออกแบบห้องที่มีขนาดจำกัดเพียง 48 ตารางเมตร และระเบียงพื้นที่ 19 ตารางเมตร ให้เป็นห้องเรียนแบบ 360 องศาสำหรับเด็กๆ ที่มีความบกพร่องทางสายตาในระดับแตกต่างกันใช้งานร่วมกันได้อย่างไม่มีติดขัด
ทั้งนักเรียนที่มองเห็นแบบเลือนราง (Low vision) ไม่สามารถอ่านตัวหนังสือทั่วไปได้ แต่สามารถอ่านตัวหนังสือที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ และเด็กตาบอดสนิท (Blindness) ซึ่งสูญเสียการมองเห็นแบบ 100 เปอร์เซ็นต์
พื้นที่ของผนังทั้ง 6 ด้านจึงถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้มากกว่าหนึ่งฟังก์ชั่น
อาทิ พื้นที่ระเบียงทางเดิน เดิมทีเป็นลูกกรงเก่า ถูกปรับให้เป็นพื้นผิวด้านหน้าอาคารที่เจาะรูให้แสงรอดผ่านได้ และเป็นที่สำหรับใส่ ‘ตัวหมุดแห่งการเรียนรู้’ รูปทรงต่างๆ เช่น ทรงกลม ทรงเหลี่ยม สามเหลี่ยม รูปสัตว์
ผนังด้านหนึ่งของห้องเป็นกระจกติดฟิล์มสี ข้างในเป็นผนังเจาะรู มองดูแล้วเสมือนกำแพงดีไซน์เก๋ แต่เมื่อลองส่องดู จะมองเห็นแสงจากภายนอกผ่านเข้ามา ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ ที่มีสายตาเลือนลางได้ฝึกการใช้สายตา
บนพื้นมีตัวอักษรเบรลล์ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และตัวเลข ให้เด็กๆ ได้ลองเดินและเหยียบเล่น
ห้องเรียนแห่งนี้จึงกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้แบบ 360 องศา ที่เสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ที่สำคัญสำหรับนักเรียนผู้พิการทางสายตาทุกคน
พัฒนา ‘ประสาทสัมผัส’ และเสริมสร้าง ‘จินตนาการ’ หัวใจการออกแบบห้องเรียนเด็กตาบอด
ความท้าทายของการออกแบบห้องเรียนให้เด็กตาบอด คือ ทำอย่างไรเด็กๆ เหล่านี้ได้เคลื่อนไหวและฝึกประสาทสัมผัสไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในอนาคต
คำตอบคือ การดีไซน์ที่ผสานกับ หลักสูตรพรีเบรลล์ (Pre-Braille) เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ผ่านการเล่นก่อนเรียนอ่านอักษรเบลล์
ดังนั้นในห้องเรียนแสนสวยแห่งนี้ ทุกคนจะได้เรียน 4 วิชาด้วยกัน คือ
1.วิชาสัมผัส
เด็กๆ จะได้ลองสัมผัสพื้นผิวและเรียนรู้รูปทรงต่างๆ ผ่านตัวหมุดที่เสียบอยู่ตามผนัง เพื่อฝึกทักษะการแยกแยะ และบอกได้ว่าของชิ้นนี้มีรูปร่างอย่างไร เป็นทรงกลมหรือเหลี่ยม มีความแข็งหรือนุ่ม ไปจนถึงรูปร่างที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างสัตว์ชนิดต่างๆ
2.วิชาลำแสง
วิชานี้สำหรับเด็กที่มองเห็นเลือนราง โดยนำทฤษฎีสีและแสงมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อฝึกใช้สายตาเดินไปตามลำแสงและสีสันต่างๆ อย่าง แสงสีน้ำเงิน สีแดง สีเขียว นอกจากนี้ พวกเขาจะได้เรียนรู้เรื่องแสงและรูปทรงไปพร้อมๆ กันด้วย
3.วิชาเดซิเบล
เด็กๆ จะได้เรียนรู้และรู้จักการแยกแยะเสียงต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และได้ฝึกฟังทิศทางที่มาของเสียง เพื่อรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้พวกเขามีจินตนาการที่กว้างไกลมากขึ้น ใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ และช่วยป้องกันอันตรายเมื่อเดินบนท้องถนนเป็นหลัก เช่น เสียงยานพาหนะ และการจราจรตามท้องถนน
4.วิชาลมหายใจ
วิชานี้ผู้เชี่ยวชาญออกแบบกลิ่นต่างๆ มาเพื่อฝึกให้เด็กๆ ได้ลองฝึกดมกลิ่นแปลกๆ ที่มักเจอในชีวิตประจำวัน เช่น กลิ่นแก๊สรั่ว กลิ่นสารเคมี กลิ่นอาหารเน่าบูด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อีกหนึ่งความโดดเด่นที่หลายคนสังเกตเห็น คือ ห้องเรียนที่นี่มีสีสันสดใส น่ารัก น่าเรียน และเต็มไปด้วยของเล่นที่ช่วยเสริมสร้าง ‘จินตนาการ’
เพราะเหล่าทีมงานผู้ใหญ่ตระหนักดีว่า สิ่งนี้สำคัญไม่แพ้ความรู้.
อ้างอิง :
- CREATIVE CREWS. Classroom Makeover for the Blind. http://creative-crews.com/project/classroom-makeover-for-the-blind/
- Designboom. Creative Crews Clads Classroom with Interactive Braille Walls in a Thai School. https://bit.ly/2WQtpD1
- Brand Buffet-Team. 4 วิชาเอาตัวรอดของผู้พิการทางสายตา กับ ห้องเรียนต้นแบบ 360 องศาเพื่อผู้พิการทางสายตา. https://bit.ly/2Xml09K