life

“ผมชื่อดิค เกรย์สัน และผมจะนำเงินทั้งหมดที่มีมาใช้เพื่อช่วยเหลือเมืองแห่งนี้”

นั่นไม่ใช่เนื้อหาทั้งหมดที่เขาพูดเอาไว้ในคอมิค Nightwing #83 (Leaping into the Light) แต่ก็เป็นใจความทั้งหมดที่เขาต้องการจะสื่อออกมา เมื่อชายคนหนึ่งได้กลายเป็นมหาเศรษฐีรวยล้นฟ้าจากมรดกระดับพันล้านที่ถูกส่งมอบให้ ถ้าอยากรู้ว่าได้รับเพราะอะไร และได้รับจากใคร เราขอแนะนำให้คุณรู้จักกับคอมิค Nightwing Leaping into the Light ที่เขียนเรื่องโดย ทอม เทย์เลอร์ (Tom Taylor) หนึ่งในนักเขียนที่กำลังมาแรงประจำค่าย DC Comics

จะว่าไปแล้วมันก็ดูจะเป็นการกระทำที่ชวนให้รู้สึกไม่ค่อยคุ้นเคยสักเท่าไหร่นัก ยิ่งเกิดกับตัวละครที่มีสถานะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ อย่าง ดิค เกรย์สัน โรบิน (ฮีโร่ผู้ช่วยคนแรก) ของแบทแมน หรือในปัจจุบันที่ใช้ชื่อว่า ไนท์วิง ยิ่งชวนให้รู้สึกแปลกใจเข้าไปใหญ่ เพราะเมื่อลองมองย้อนกลับไปยังตัวละครซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆ ที่รวยราวกับหาวเป็นเงินเป็นทอง เราก็มักเห็นพวกเขาลงทุนกับอุปกรณ์สุดว้าวสำหรับจับผู้ร้ายหรือไม่ก็ชุดใหม่แสนไฮเทค แทนที่จะเอาเงินมาช่วยเหลือคนอื่นอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการจริงจังกับมูลนิธิที่ตนก่อตั้งขึ้นมา หรือจริงจังกับการช่วยเหลือผู้คนที่ต้องนอนข้างถนนมากกว่าการไปต่อยกับผู้ร้ายข้างถนน

แบทแมน ลงทุนไปกับถ้ำค้างคาว ยานพาหนะมากมาย และเครื่องไม้เครื่องมือที่มีคำว่า ‘แบท’ นำหน้าชื่อ

“ผมยอมบริจาคเงินทั้งหมดไปเลยดีกว่า ถ้าจะปราบอาชญากรรม เราควรจะปราบความยากจน” กลับกันนี่คือสิ่งที่เขาพูดเมื่อถูกบ่วงแห่งสัจจะของวันเดอร์วูแมนทำให้พูดความคิดที่แท้จริงภายในจิตใจ

ไอรอนแมน ถลุงเงินไปกับชุดเกราะ จนนึกว่ากำลังเย็บปักถักร้อย

สไปเดอร์แมน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ได้ขึ้นเป็นประธานบริษัทและมีเงินมาลงทุนกับชีวิตกู้โลกอย่างเหลือเฟือ 

“แล้วยังไงต่อกับการเป็นฮีโร่ที่ต้องคอยปราบวายร้าย แล้วรอวายร้ายคนใหม่โผล่มาให้เราปราบไปเรื่อยๆ ฉันคิดมาตลอดว่า ‘แบทแมน’ น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ในฐานะ ‘บรูซ เวย์น’”

หากลองพินิจพิเคราะห์สิ่งที่ดิคพูด มันก็อาจจะจริงไม่น้อยที่การนำเงินไปลงทุนกับตัวเองของเหล่าฮีโร่นั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในขณะที่รากอันเป็นต้นเหตุของความยากจนและความหิวโหยของผู้คนกำลังฝังลึกลงไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไข

ด้วยเหตุนี้เองการที่ฮีโร่หรือคนคนหนึ่งกลายเป็นมหาเศรษฐีภายในชั่วข้ามคืน หรือก็คือ ดิค เกรย์สัน ที่ได้รับมรดกพันล้านในตอนเย็นของวันธรรมดาวันหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าเขาต้องอัพเกรดชุดเกราะพร้อมรบ ซื้อยานพาหนะสุดไฮเทค หรือเอาไปสร้างฐานทัพลับเสมอไป เพราะทางที่ดิคเลือกทั้งยิ่งใหญ่และเหมาะสมกับคำว่า ‘ฮีโร่’ เอามากๆ

ถ้ามองลึกลงไปยังพื้นเพของตัวละคร ในช่วงวัยหนึ่ง สมัยที่ยังเป็นโรบิน เขาก็เคยมีชีวิตหรูหราในคฤหาสน์กับบรูซด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยเขาก็ยังรู้ว่า ถ้าระบบที่ไม่เอื้อให้คนจนลืมตาอ้าปาก หรือต้นตอของปัญหาอย่างความขาดแคลนในทรัพยากรที่จำเป็นต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ปัญหาความยากจนและอดอยากก็ย่อมไม่มีวันหมดไป เมื่อคนจนพยายามเท่าไหร่ก็ไม่หายจน และการที่เขาต่อสู้ในชุดรัดรูปก็ไม่ใช่ทางออกของทุกอย่าง นั่นจึงชวนให้คนอย่างอย่างเราๆ ขบคิดต่อไม่น้อยว่า เหล่าคนรวยในชีวิตจริงจะสามารถทำแบบนี้ได้หรือไม่ และคนเหล่านั้นเคยคิดจะทำถึงขนาดนี้หรือเปล่า

 

Blüdhaven

‘บลัดเฮฟเว่น’ (Blüdhaven) คือชื่อเมืองที่ดิค (aka. ไนท์วิง) ประจำการอยู่ โดยในชีวิตจริงนั้นมีเค้าโครงมาจาก ‘รัฐนิวเจอร์ซีย์’ ที่มีประชากรทั้งหมดราวๆ 9.267 ล้านคน (ข้อมูลจากปี 2021) มากกว่านิวยอร์กซึ่งมีประชากรทั้งหมด 8.468 ล้านคน (ข้อมูลจากปี 2021) ส่วนกรุงเทพฯ บ้านเรานั้นมีประชากรทั้งหมด 5.5 ล้านคน แต่ถ้ารวมปริมณฑลจะกลายเป็น 15.624 ล้านคน (ข้อมูลจากปี 2022)

ทีนี้มาดูกันว่า ดิคใช้เงินหลักพันล้านของเขาเพื่อบลัดเฮฟเว่น (นิวเจอร์ซีย์) อย่างไรบ้าง แน่นอนว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่การแจกเงินเข้ากระเป๋าคนจน เพราะการแก้ปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวก็ยังคงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และว่ากันตามตรง มันก็เป็นเพียงการช่วยเหลือแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด และได้ผลในระยะสั้น

“คุณเกรย์สัน หลายคนในกลุ่มผู้ยากไร้มีปัญหาที่เกินกว่าแค่เรื่องไร้ที่อยู่อาศัย ทำไมถึงเริ่มจากตรงนั้น” นักข่าวถาม

“ง่าย ๆ เลย เพราะอากาศมันเริ่มหนาวแล้ว” ดิคตอบ

ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อคนยากไร้ สร้างที่อยู่ให้กับคนไร้บ้าน สนับสนุนและบำบัดฟื้นฟูอดีตผู้ต้องขังให้สามารถกลับสู่สังคมได้ เพิ่มอัตราการจ้างงานเพื่อก่อให้เกิดรายได้ ปรับปรุงการคมนาคม หยุดความหิวโหยและอดอยากของผู้คน และบริการด้านสาธารณสุขเพื่อทุกคน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของแผนงานทั้งหมดที่เขาเลือกที่จะใช้เงินของตัวเองเพื่อสังคม

 

World Hunger

หนึ่งในปัญหาที่เหล่าคนรวยมักจะถูกเรียกร้องให้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือ นั่นคือ World Hunger หรือที่สหประชาชาติ (UN) เรียกว่า ช่วงเวลาที่ประชากรประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารขั้นรุนแรง ซึ่งในปี 2022 มีผู้คนที่กำลังเผชิญความหิวโหยขั้นรุนแรง 300 ล้านคนโดยประมาณ จากทั้งหมด 800 ล้านคนโดยประมาณที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้มีการประมาณการว่า 2.3 พันล้าน คือตัวเลขของผู้คนที่กำลังเผชิญปัญหานี้ แม้จะไม่ได้อยู่ในระดับวิกฤต แต่ก็ถือเป็นอันตราย อีกทั้งยังมีสัดส่วนถึง 29% ของประชากรโลกทั้งหมด

 

โครงการอาหารโลก (WFP) ได้ระบุว่า ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาความหิวโหยนั้นได้แก่

หนึ่งคือ ความขัดแย้งภายในดินแดน กว่า 60% ของผู้คนที่กำลังอดอยากอย่างทรมานต่างก็กำลังใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายใน หรือระหว่างดินแดน ส่งผลให้ตัวเลขมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยนี้ 

สองคือ ความยากจน ถือเป็นปัญหาที่มีรูปร่างคล้ายกับวัฏจักร เริ่มต้นจากการกระจายรายได้อย่างไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ผู้คนขาดทุนทรัพย์ เข้าไม่ถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ไม่สามารถเพาะปลูกเนื่องจากไม่อาจมีที่ดินเป็นของตัวเองได้ กระทบอีกต่อด้วยปัญหาภัยแล้ง ร่างกายขาดสารอาหาร ประสิทธิภาพของร่างกายและจิตใจลดลง ในอีกมุมหนึ่ง มันอาจเป็นดั่งสายพานที่จะนำคนคนหนึ่งไปสู่ปัญหาความอดอยากที่ยากจะย้อนทางกลับมาได้

ท้ายที่สุดในปี 2030 จำนวนของผู้รับเคราะห์จากปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนี้อาจเพิ่มสูงถึง 840 ล้านคน และนั่นยิ่งทำให้เป้าหมาย Zero Hunger หรือเป้าหมายในการขจัดความหิวโหยทั่วโลกภายในปี 2030 ของสหประชาชาตินั้นอยู่ไกลเกินเอื้อมขึ้นไปอีก

 

แก้ไม่ได้ หรือไม่อยากแก้

“คนมากมายต่างกำลังร่วงหล่นในเมืองแห่งนี้ ผมอยากที่จะรองรับพวกเขาเอาไว้” ดิคพูด

39,000 – 50,000 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ คือจำนวนเงินต่อปีที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประมาณการไว้เพื่อบรรลุเป้าหมายขจัดความอดอยากออกไปจากโลกของเราในปี 2030 มันอาจดูเป็นจำนวนที่มากโข อย่างไรก็ตาม ลองมาดูทรัพย์สินของมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลกกันดีกว่า

อันดับ 1 ของโลกในตอนนี้คือ อีลอน มัสก์ เจ้าซีอีโอของ Tesla รวมถึงบริษัทยานอวกาศ SpaceX และเป็นผู้ถือหุ้นหลักของแอปพลิเคชั่น X (ทวิตเตอร์) มีสินทรัพย์ 2.31 แสนล้านเหรียญ

อันดับ 2 คือ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักร LVMH (แอลวีเอ็มเอช โมเอต์ เฮนเนสซี่ หลุยส์ วิตตอง) มีสินทรัพย์ 1.97 แสนล้านเหรียญ

อันดับ 3 คือ เจฟฟ์ เบโซส์ เจ้าของและซีอีโอคนปัจจุบันของ Amazon.com  มีสินทรัพย์ 1.52 แสนล้านเหรียญ

แน่นอนว่าการแก้ปัญหาความอดอยากไม่ใช่เรื่องที่แค่เอาเงินโปะก็จบได้ เพราะการ ‘แก้ไข’ ปัญหานี้ยิบย่อยไปด้วยองค์ประกอบมากมาย เป็นมากกว่าเรื่องของอาหารการกินไม่พอสำหรับทุกคน (อันที่จริงก็เป็นหนึ่งปัญหาเช่นกัน)

โดยทั้งหมดเกี่ยวเนื่องไปถึงความปลอดภัยของตัวอาหาร การที่คนคนหนึ่งได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่สม่ำเสมอ การปลูกพืชผลทางการเกษตรอย่างยั่งยืนเพื่อไม่ให้สภาพอากาศอันแปรปรวนของประเทศนั้นๆ ถูกทำลาย หรือจากความขัดแย้งที่สามารถสร้างความเสียหายได้มากกว่าแค่แปลงเกษตร ยังไม่ต้องพูดถึงหน้าด่านแรกอย่างรัฐบาลที่เป็นทางผ่านของเงิน ดีไม่ดีอาจเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าทั้งหมดข้างต้นด้วยซ้ำไป

ถ้ามองกันอย่างผิวเผิน หากมหาเศรษฐีสัก 3 คนขึ้นไปรวมเงินกันก็คงพอแล้วสำหรับการช่วยกำจัดความอดอยาก อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินนั้นคือจำนวนเงินต่อปีที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า ต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะสามารถประสบผลสำเร็จได้ และอีกอย่างหนึ่งคือ สินทรัพย์ของเหล่ามหาเศรษฐีไม่ได้มีรูปร่างและหน้าตาเป็นเงินในบัญชี แต่แท้จริงมันคือ หุ้นของบริษัทที่พวกเขาถือเอาไว้

ว่ากันตามจริง พวกเขาสามารถขายหุ้นเหล่านั้นเพียงบางส่วนมาเป็นเงินบริจาคได้ แต่ผลกระทบที่ตามมาอาจเป็นดั่งปฏิกิริยาลูกโซ่ หรือก็คือ ความไว้วางใจของลูกค้าต่อบริษัทย่อมมีแนวโน้มที่จะลดลง และหากมีปริมาณการขายจำนวนมาก ราคาหุ้นหรือมูลค่าหุ้นก็สามารถตกลงได้ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียเงินทุนของผู้ถือหุ้นหลายพันล้านดอลลาร์ ท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานหลายพันคน

นี่เป็นข้อเท็จจริงสำหรับมหาเศรษฐีส่วนใหญ่ ความมั่งคั่งของพวกเขาขึ้นอยู่กับหุ้นที่พวกเขาเป็นเจ้าของ สำหรับพวกเขาแล้วการขายสินทรัพย์เหล่านั้นอาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีสักเท่าไหร่นัก

ถึงอย่างนั้น บทความนี้ไม่ได้ต้องการบอกกับคนรวยว่า ‘พวกคุณไม่ต้องบริจาคก็ได้นะ เพราะคงช่วยอะไรไม่ได้อยู่แล้ว’ เพราะเงินของพวกเขาสามารถช่วยเหลือผู้คนได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ด้วยปัจจัยภายในและภายนอกมากมาย (สภาพการเมืองภายในประเทศนั้นๆ มีส่วนเป็นอย่างมาก) พวกเขาจึงไม่สามารถทำให้มันบรรลุเป้าหมาย และกำจัดความอดอยาก และความยากจนของผู้คนบนโลกได้อย่างหมดจด 

ว่ากันง่ายๆ นี่เป็นปัญหาที่ไม่สามารถหมดไปเพียงเพราะความใจบุญสุนทาน และอาจต้องพึ่งพาการต่อสู้ทางการเมืองของผู้คนภายในประเทศ การจัดการทรัพยากร และการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เราไม่ได้เรียกร้องให้คนรวยต้องก่อตั้งมูลนิธิเช่นเดียวกับที่ดิค เกรย์สัน ทำ เราไม่ได้เสนอข้อเรียกร้องให้คุณต้องบริจาคสินทรัพย์ 5% ต่อปีเพื่อผู้อื่น ถึงอย่างนั้น แม้เพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่ถึง 1% ของสินทรัพย์ที่คุณมี “ถ้าคุณไม่ทำ ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ” เจมส์ นาคท์เวย์ (James Nachtwey) ช่างภาพข่าวและสงครามผู้ตีแผ่ความยากจนและความอดอยากของผู้คนในหลายประเทศกว่า 42 ปี ได้พูดเอาไว้

 

อ้างอิง