life

เคยสงสัยตัวเองไหมว่า ทั้งๆ ที่ตั้งใจเรียนรู้สิ่งใหม่ โดยเฉพาะการเรียนภาษา แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานเท่าไหร่ ทุกอย่างที่เคยเข้าหัวค่อยๆ เลือนหาย จนท้ายที่สุด เรากลับจดจำสิ่งที่เคยเรียนรู้ก่อนหน้านี้ไม่ได้เลย

กระทั่งกับเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันหรือการทำงาน หลายๆ ครั้งเรามักจะหลงลืมวันที่มีนัดหมาย หรือชื่อเล่นของคนรู้จักไปเสียสนิท ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็นึกถึงสิ่งที่ควรจดจำได้ไม่ออก กลายเป็นคำถามชวนคิดว่า เกิดอะไรขึ้นกับความทรงจำของเรากันแน่ ทำไมถึงลืมง่ายลืมเร็ว

แม้แต่ โคลงโลกนิติ ซึ่งจารึกไว้บนแผ่นศิลาที่ประดับตามเสาหรือกำแพงพระวิหารภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ฯ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2374 (ค.ศ. 1831) ก็ยังมีบทหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นนี้ไว้ โดยบอกเล่าผ่านเนื้อหาเชิงเปรียบเทียบและยกตัวอย่างให้ผู้อ่านเห็นภาพการลืมสิ่งที่ร่ำเรียนมาว่า

      เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม    ดนตรี
อักขระห้าวันหนี              เนิ่นช้า
สามวันจากนารี                เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า          อับเศร้าศรีหมอง

ถึงจะเป็นการกล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ เพราะยังขาดผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มารับรองความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมที่ไม่ได้ทำต่อเนื่องกับเวลาที่ผ่านพ้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แต่ก็พอจะช่วยให้รู้ว่า ความจำและการลืมเป็นสิ่งที่คนในอดีตสนใจ จนนำมาแต่งเป็นโคลงสุภาษิต ซึ่งแฝงจุดมุ่งหมายให้แสดงสัจธรรมของชีวิตและความเป็นไปของสรรพสิ่งบนโลก เวลาล่วงเลยถึงปี 1880 จึงมีคนริเริ่มศึกษาเป็นกิจจะลักษณะ

แฮร์มันน์ เอบบิงเฮาส์

แฮร์มันน์ เอบบิงเฮาส์ (Hermann Ebbinghaus) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันคือผู้บุกเบิกศึกษาความจำและการลืมของมนุษย์ ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นเรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครในวงการวิทยาศาสตร์คิดค้นทฤษฎีหรือกำหนดแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน

เอบบิงเฮาส์อยากรู้ว่า การลืมสิ่งที่เรียนรู้ไปแล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหนเพื่อรื้อฟื้นความจำนั้นให้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง จึงคิดวิธีพิสูจน์โดยประดิษฐ์คำใหม่ที่มีความยาวแค่ 3 ตัวอักษร ร่วม 2,300 คำ

ทุกคำใช้โครงสร้างเดียวกันคือ ประกอบด้วยพยัญชนะต้น สระ และพยัญชนะท้ายซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวสะกด เช่น BIX, HEB, MOJ, WID, ZOF แม้จะอ่านออกเสียงได้ แต่ทุกคำต้องไร้ความหมายในภาษาเยอรมัน ไม่อย่างนั้นการศึกษานี้จะวัดผลอะไรไม่ได้เลย

ถ้าหากเอบบิงเฮาส์เลือกใช้คำมีความหมายหรือเป็นคำที่ชาวเยอรมันคุ้นเคย ผู้เข้าร่วมการทดลองอาจรู้สึกว่าง่ายกว่าที่คิด เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้เพื่อจดจำ ต่อให้เวลาผ่านไปนานบางคนก็อาจไม่ลืมคำศัพท์เหล่านั้นเลย ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมคลาดเคลื่อนและขาดความน่าเชื่อถือ

เอบบิงเฮาส์จึงออกแบบวิธีทดสอบอย่างรัดกุม เริ่มจากสุ่มคำมาจำนวนหนึ่งให้ผู้เข้าร่วมการทดลองจำจนมั่นใจว่าจำได้ครบถ้วน จากนั้นทดสอบความแม่นยำของความจำตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อตรวจสอบว่าเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ต้องใช้ความพยายามแค่ไหน หากต้องการฟื้นความจำให้กลับมาเต็ม 100% เหมือนตอนที่เรียนครั้งแรกแล้วจำได้ทั้งหมด

หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบ เอบบิงเฮาส์จึงสรุปผลออกมาเป็นแผนภาพ The Forgetting Curve หรือ Ebbinghaus’ Forgetting Curve เพื่อใช้อธิบายว่า ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือเราทุกคนพร้อมลืมข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา ทั้งลืมทันที และมีแนวโน้มว่าจะลืมมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านพ้น นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราลืมสิ่งต่างๆ ได้ง่าย และการลืมก็เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่หลายคนคาดคิด

แต่ถ้ามั่นใจแล้วว่าจดจำได้แม่นยำ เข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ครบถ้วน และทบทวนหรือกลับมาจดจำเรื่องเดิมอีกครั้งอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยประหยัดเวลาทบทวนลงไปได้มาก หมายความว่าการรื้อฟื้นความจำครั้งหลังๆ ใช้เวลาหรือความพยายามน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับครั้งแรกและครั้งก่อนหน้า เหมือนกับนักกีฬาที่เชี่ยวสนาม เพราะฝึกฝนมานานจนชินสนาม

ในปี 1885 เอบบิงเฮาส์เรียบเรียงผลการทดลองทั้งหมดที่เขาซุ่มศึกษาเพียงลำพังตีพิมพ์เป็นหนังสือภาษาเยอรมันในชื่อ Über das Gedächtnis: Untersuchungen zur experimentellen Psychologie และแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Memory: A Contribution to Experimental Psychology

ข้อค้นพบของเอบบิงเฮาส์ ได้รับการยอมรับในหมู่นักประสาทวิทยาศาสตร์ว่าเป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายการลืมและการฟื้นคืนของความจำในมนุษย์ได้จริง กลายเป็นหมุดหมายที่วางรากฐานการศึกษาเรื่องความจำและการลืมในยุคต่อมา รวมถึงนำไปสู่การประยุกต์ใช้งาน เพื่อช่วยให้มนุษย์จดจำสิ่งที่เรียนมาได้ยาวนานมากขึ้นด้วย

ถ้าอยากจดจำเรื่องใดให้ได้ตลอด ต้องหมั่นทบทวนสิ่งที่เรียนรู้ไปแล้วเป็นประจำ และต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดช่วง เพราะการทวนซ้ำช่วยให้จำได้มากขึ้น ไม่ลืมง่าย ตรงกันข้าม หากจดจำได้ครั้งแรก แต่ละเลยไม่ทบทวนหรือปล่อยทิ้งไป ย่อมลืมเลือนไปตามกาลเวลา

การทบทวนคือเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้เราจดจำได้ดี โดยเฉพาะวิธีที่เรียกว่า spaced repetition หรือการทวนซ้ำในเวลาที่ถูกที่ควร อย่างการศึกษาของเอบบิงเฮาส์ แนะนำให้ทบทวนหลังผ่านไป 18 นาที 1 วัน และ 7 วัน นับจากการจำได้ครั้งแรก แต่ในความเป็นจริงแต่ละคนออกแบบช่วงระยะเวลาที่ต้องการได้เอง ขอเพียงแค่รักษาระยะห่างให้พอดี ไม่ทิ้งระยะนานมากเกินไป

นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความจำและการลืมในเรื่องที่เรียนได้ เช่น ความสำคัญจำเป็นของข้อมูล หรือเป็นข้อมูลที่สนใจอยู่แล้ว ก็จะยิ่งจดจำได้แม่นมากกว่า

ทุกครั้งที่รู้สึกว่าตัวเองนึกไม่ออก ลืมง่าย จำไม่ได้ เรียนอะไรก็ไม่เข้าหัว ก็พอจะรู้สาเหตุแล้วว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และพอจะแก้ไขหรือรื้อฟื้นความจำเหล่านั้นได้ด้วยวิธีใด

 

อ้างอิง

  • Ebbinghaus, H. (1913). Memory: A contribution to experimental psychology. (H. A. Ruger & C. E. Bussenius, Trans.). Teachers College Press. https://doi.org/10.1037/10011-000