life

ถ้าเธอเคยมาตอนบ่ายสี่โมง ประมาณบ่ายสามโมง ฉันก็เริ่มเป็นสุขแล้ว 

สุนัขจิ้งจอก จากวรรรณกรรมเรื่อง ‘เจ้าชายน้อย’ แนะให้เจ้าชายมาเจอเขาในเวลาเดิมทุกวัน ซึ่งนั่นจะทำให้เขาเชื่อและเป็นสุข  

ตรงกันข้าม หากเจ้าชายมาพบสุนัขจิ้งจอกในเวลาบ่ายสามโมงบ้าง สิบโมงเช้าบ้าง เวลาสี่โมงที่ควรจะมีความสุข อาจถูกแทนด้วยความกระวนกระวายใจ เพราะเขาคงเอาแต่รอโดยไม่รู้ว่าเจ้าชายน้อยจะมาตอนไหน การไม่มาเจอเลยสักครั้งซึ่งทำให้สุนัขจิ้งจอกไม่ต้องรอ อาจทำให้ใจเป็นสุขกว่าการเฝ้ารออย่างไร้จุดหมายก็เป็นได้ 

มนุษย์เราเองมักตกเป็นเหยื่อของความ ‘ไม่สม่ำเสมอ’ อยู่บ่อยๆ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เราจึงแสดงพฤติกรรมเดิมซ้ำๆ เพื่อรอให้สิ่งที่หวังเกิดขึ้น เช่น คนติดพนัน ที่ชนะบ้าง เสียบ้าง ก็ยังคงติดพนันงอมแงมอยู่แบบนั้น เพราะเฝ้ารอโอกาสชนะ ซึ่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมาตอนไหน 

พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมนุษย์ตอบสนองกับสิ่งที่เรียกว่า ‘การเสริมแรง’ (Reinforcement) และเมื่อถูกเสริมแรงด้วยอัตราส่วนและช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน คนเราก็ปั่นป่วนตามไปด้วย 

เพราะคาดว่า ‘การเสริมแรง’ อาจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ ทำให้ บี.เอฟ.สกินเนอร์ (B.F. Skinner) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันคิดค้น ทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Operant Conditioning ขึ้นมา 

เขาทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้โดยการนำหนูหิวโซหย่อนลงไปในกล่องใบหนึ่ง ด้านในมีคาน คาน เมื่อหนูวิ่งพล่านจนไปโดนคานเข้า จะมีเสียงเตือนดังขึ้นพร้อมอาหารตกลงมา เมื่อเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หนูจึงเรียนรู้ได้ว่าถ้ากดคานและมีเสียงเตือนอาหารจะหล่นลงมา 

เขาทดลองต่อโดยสังเกตการณ์หนูที่กดคาน มีเสียงเตือนดัง แต่ไม่มีอาหารหล่นลงมา ผลปรากฏว่า ไม่นานนักหนูตัวนั้นก็เรียนรู้ได้ว่าไม่ควรกดคานอีกต่อไป เขาจึงทดลองอีกรอบโดยทุกครั้งที่หนูกดคานเขาจะสุ่มให้อาหารบ้าง ไม่ให้อาหารบ้าง ปรากฏว่าหนูตัวนั้นไม่เคยล้มเลิกความพยายาม และยังคงกดคานไปเรื่อยๆ เพราะหวังว่าอาจจะมีอาหารตกลงมา 

การทดลองนี้ทำให้เห็นว่าการเสริมแรงส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ และการเสริมแรงที่ไม่มีความถี่แน่นอนนั้นส่งผลให้เกิดพฤติกรรมซ้ำเดิม 

เงินชนะพนัน หรือการปรากฏตัวของเจ้าชายน้อย ล้วนเป็นการเสริมแรงที่ไม่แน่นอน ซึ่งจะทำให้คนใจจดใจจ่อ เฝ้ารออยู่แบบนั้นเสมอ เป็นที่มาของความคุ้มคลั่ง กระวนวายใจ ที่ทำให้เราไม่ต่างอะไรกับหนูที่กดคานเฝ้ารออาหารในกล่อง 

อ้างอิง  

  • รศ.สมชาย รัตนทองคํา.ทฤษฎีเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน.https://bit.ly/3jphT92 
  • Saul McLeod.Skinner – Operant Conditioning.https://bit.ly/33mych4