life

ถ้าพูดถึงเมืองยอดนิยมของประเทศอินเดีย ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเต็มใจไปเช็คอินมากที่สุด ต้องยกให้ จัยปูร์ หรือชัยปุระ

Jaipur
วิวเมืองจากช่องหน้าต่างของ Hawa Mahal

เพราะมีหลายเหตุผลประกอบกัน หนึ่ง เป็นเมืองที่ถ่ายรูปสวย เพราะตึกรามบ้านช่องล้วนฉาบทาด้วยสีชมพูจนถ้วนทั่ว และมีสถานที่ไฮไลท์ให้ไปเช็คอิน โบกสะบัดส่าหรีให้ปลิวล้อเล่นลมเพื่อถ่ายรูปสวยๆ หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นฮาวามาฮาล, ป้อมนาฮาการ์, ป้อมอาเมร์, หอดูดาวจันตาร์ มันตาร์ ฯลฯ สอง จัยปูร์มีเที่ยวบินตรงให้บริการในทุกวัน จึงเดินทางไปง่าย ในราคาสบายกระเป๋า ยิ่งไปในช่วงอากาศดีๆ อย่างปลายปีไปจนถึงต้นปี ยิ่งได้เฉิดฉายรับลมหนาวเบาๆ ถูกใจนักท่องเที่ยวเป็นที่สุด

Jaipur
บรรยากาศภายในบริเวณจันตาร์ มันตาร์

แต่ก็เพราะจัยปูร์มีเพชรน้ำเอกประจำเมืองให้แวะเที่ยวมากมายหลายจุดนี่เอง ทำให้หลายคนพลาดโอกาสทำความรู้จักเสน่ห์ที่แท้จริงของเมือง ซึ่งแฝงอยู่ตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ในย่าน Pink City ที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีมาตั้งแต่เกือบ 300 ปีที่แล้ว เราเองก็เช่นกันที่แม้จะมาเที่ยวจัยปูร์เป็นรอบที่ 3 แล้ว ก็ยังรู้สึกว่าได้ไปเที่ยวแต่แลนด์มาร์คเด่นๆ ถ่ายรูปสวยๆ แล้วก็เดินจากไป งวดนี้เลยทำการบ้านเพิ่มเติมด้วยการซื้อทัวร์ Cultural& Heritage Walk of Pink City ที่เสิร์ชเจอใน Airbnb ให้เจ้าถิ่นพาเดินทัวร์ให้ทั่วนครสีชมพูสักรอบ

Jaipur
จุดนัดพบ หน้าโรงหนัง Golcha

เรานัดเจอกับไกด์หนุ่มเครางามชื่อ Deepak ตอน 5 โมงเย็น ที่หน้าโรงหนัง Golcha ใกล้ๆ กับประตูเมือง New Gate ดีพัคปรากฏตัวพร้อมหมวกกันน็อคคู่ใจ แล้วพาเราไปนั่งจิบ chai tea ที่ร้าน Sahu Tea ร้านชาเก่าแก่ประจำเมืองที่จุดเตาต้มชานมรสชาติกลมกล่อมในแก้วดินเผามานานกว่า 150 ปี บรรยากาศหน้าร้านจึงเต็มไปด้วยชาวอินเดียมายืมกลุ้มรุมจิบชากันคนละแก้วสองแก้วไม่ขาดสาย เพราะการจิบไจถือเป็นชีวิตจิตใจของชาวอินเดียก็ว่าได้ ประชากรร้อยละ 99 จิบไจแทนน้ำ จิบกันทั้งวัน จิบได้บ่อยเท่าที่ต้องการ

Jaipur
Sahu Tea ร้านชาเก่าแก่ประจำนครสีชมพู

ระหว่างนั่งจิบไจ ดีพัคก็เล่าถึงประวัติของเมืองจัยปูร์ให้ฟังคร่าวๆ ว่า แต่เดิมในสมัยศตวรรษที่ 16 เมืองหลวงของชัยปุระไม่ได้ตั้งอยู่ตรงนี้ แต่อยู่ห่างออกไป 11 กิโลเมตร และใช้ชื่อว่า อาเมร์ (Amber) จนเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเกิดภาวะขาดแคลนแหล่งน้ำใช้ กษัตริย์ในสมัยนั้น คือ มหาราชาสวาอี ชัยสิงห์ที่ 2 จึงวางแผนย้ายเมืองหลวง โดยได้สถาปนิกชื่อก้องในยุคนั้นออกแบบผังเมืองและออกแบบอาคารต่างๆ รวมถึงพระราชวังเอาไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ถูกต้องตามหลักวัสดุศาสตร์ (Vastu Shastra) เป๊ะ และให้ชื่อเมืองว่า Jaipur ตามพระนามขององค์มหาราชานั่นเอง

jaipur
ความยิ่งใหญ่ของ Amber Fort อดีตวังหลวงแห่งชัยปุระ
jaipur
ชัยปุระทั้งเมืองเมื่อมองลงมาจาก Nahargarh Fort

 

jaipur
หน้าต่างสำหรับมองเมืองจากพระราชวังแห่ง Amber Fort

ชัยปุระเริ่มต้นก่อสร้างเมื่อ ค.ศ. 1727 และแล้วเสร็จภายใน 4 ปี จัดเป็นเมืองแรกในอินเดียที่มีการสร้างตามหลักผังเมือง หากมองจากมุมท็อปจะเห็นชัยปุระถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กันเหมือนตารางหมากรุก โดยพื้นที่ 2 ใน 9 เป็นเขตของพระราชวังต่างๆ และสถานที่ราชการ อีก 7 ส่วนที่เหลือคือ บ้านเรือนและบาซาร์ของประชาชน และในคราวนี้เองที่เราจะมาเดินทัวร์ให้ทั่วพื้นที่ 7 ส่วนของ Pink City ให้ได้มากที่สุด

บรีฟประวัติของเมืองให้ฟังคร่าวเสร็จเรียบร้อย ดีพัคก็ชวนเราออกเดินเข้าไปในตรอกที่ใกล้ที่สุด พร้อมอธิบายว่า ถ้าสังเกตดีๆ พื้นถนนที่เราเดินอยู่จะเป็นทางลาดที่มีความชันแบบต่ำๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นทางน้ำไหล ช่วยให้ Pink City มีระบบระบายน้ำที่ดี ไม่ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมน้ำขัง แถมตรอกซอกซอยต่างๆ ที่เราเดินอยู่นั้นก็ทะลุถึงกันได้หมดแบบไม่มีทางตัน (ซึ่งถ้าไม่ได้มากับดีพัค รับประกันว่า หลงแน่นอน)

 jaipur

เดิมจัยปูร์จะมีสีอะไร เราไม่รู้ รู้แต่ว่าเมืองนี้ถูกฉาบให้มีสีชมพูเมื่อ ค.ศ. 1876 ในรัชสมัยของมหาราชาสวาอี ราม สิงห์ ที่ต้องการแต่งตัวสวยๆ ให้เมืองเพื่อต้อนรับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งเวลส์ ที่เสด็จมาเยือนชัยปุระอย่างเป็นทางการ จากนั้นก็ได้คงสีชมพูไว้บนทุกอาคารบ้านเรือนตราบจนปัจจุบัน มหาราชาเองก็คงจะไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า เมืองสีหวานของพระองค์จะทรงอิทธิพลถึงขั้นดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกในอีกร้อยปีถัดมา

Jaipur
ลวดลายแม่พิมพ์ไม้ประดับอยู่ทั่ว Sanganeri Gate

ดีพัคพาเราลัดเลาะตรอกซอกซอยทะลุมายัง Sanganeri Gate หนึ่งในประตูเมืองสีชมพูที่เพนต์ลวดลายของแม่พิมพ์ไม้อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของงานผ้าพิมพ์แห่งเมือง Sanganer ที่อยู่ไม่ไกลจากนครสีชมพู โดยมีประตูเมืองแห่งนี้เป็นเข็มทิศบอกเส้นทางว่า ถ้าจะไปเมืองผ้าพิมพ์ให้ออกทางประตูนี้ ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เจอ

บรรยากาศยามค่ำคืนในย่าน Sanganeri Gate บนถนน Johari Bazar

เยื้อง Sanganeri Gate ดีพัคพาเราเข้าไปสักการะโบสถ์ฮินดู Tirupati Balaji Temple และเพื่อชมบรรยากาศยามค่ำคืนของถนน Johari Bazar จากบนระเบียงชั้น 2 ของ Haveli แห่งนี้ให้ชัดถนัดตายิ่งขึ้น ดีพัคชี้ให้เราเห็นถึงรายละเอียดของศิลปะที่ผสมผสานระหว่างฮินดูกับโมกุลในสัดส่วนที่กลมกลืนอย่างลงตัว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านแบบ Havali ทุกหลัง ที่ทอดยาวติดต่อกันไปทั่วนครสีชมพู นัยว่าเป็นทาวน์เฮ้าส์แบบดั้งเดิมของรัฐราชสถานก็ว่าได้

 

jaipur
เมนู Pakodi ถั่วคลุกเครื่องเทศปั้นทอดกรอบ จิ้มซอสเขียวที่อร่อยล้ำยังกับซอสซัลซ่า

ออกจากโบสถ์ฮินดู ดีพัคชวนเราชิมสตรีทฟู้ดข้างทางอย่าง Pakodi อาหารกินเล่นหน้าตาคล้ายทอดมัน แต่ทำจากถั่ว lentils หลากสีสัน เอามาโขลกๆ ปั้นๆ กับเครื่องเทศ แล้วทอด จิ้มกินกับน้ำจิ้มสีเขียวซาบซ่า อร่อย กินง่าย จนต้องขอเบิ้ล เพราะยังต้องเดินเที่ยวต่ออีก 2 ชั่วโมง

 Jaipur

เราเดินกันไปเรื่อยๆ เข้าไปในตลาดขายผักสดและผลไม้ ที่แต่ละแผงประกวดประชันกันด้วยลีลาจัดเรียงผักผลไม้ให้ลดหลั่นเรียงรายไม่แพ้กัน ด้วยความที่ประชากรเกือบร้อยละร้อยของอินเดียล้วนเป็นมังสวิรัติ เราจึงไม่มีทางเจอตลาดเนื้อสดในเขตนี้แน่นอน ด้วยอิทธิพลแห่งสีสันและความสดของผลไม้ที่ช่างเย้ายวนใจ เราเลยซื้อองุ่นพวงโตมากินเล่นระหว่างเดินทัวร์

 Jaipur

 

 

jaipur
สแน็คถั่ว-งาละลานตาในร้าน Narayan Ji Gajak Wale

เดินกระทบไหล่ผู้คนบนฟุตบาทต่ออีกไม่ไกล ดีพัคก็พาเราโฉบเข้าไปใน Narayan Ji Gajak Wale ร้านขนมขายดีประจำถิ่นที่มีอายุเก่าแก่นับได้ราวๆ เกือบ 70 ปี ในตู้โชว์เรียงรายด้วยขนมสารพัดชนิดที่ทำจากถั่ว งา เนย น้ำตาล สาดความหวานใส่ทุกชิ้นกันแบบไม่ยั้ง มีพ่อค้าแม่ขายรายย่อยมายืนรุมๆ แย่งกันซื้อถั่วตัดกันไปขายต่อคนละหลายกิโล ส่วนเราก็ซื้อถั่วเคลือบงาและช็อกโกแลตหวานกรุบติดมือกลับบ้านพอเป็นพิธี

Jaipur
อดีต Royal Guest House ตึกสีไม่ชมพูแห่งเดียวใน Pink City

จากตรงนี้ ดีพัคชี้ให้เราดูอาคารฝั่งตรงข้ามหลังหนึ่งที่ไม่ได้เป็นสีชมพู พร้อมเฉลยให้ฟังว่าในอดีต ตึกนี้เคยเป็น Royal Guest House มาก่อน เรียกว่าเป็นเรือนรับรองสำหรับให้แขกของราชวงศ์ได้มาพักอาศัย ซึ่งถ้าทาสีชมพูเฉดเดียวกับชาวเมือง อาคันตุกะอาจจะหลงทิศจนหาห้องนอนไม่เจอ เลยต้องทาสีให้แตกต่างไว้ก่อน ปัจจุบัน ตึกสีไม่เข้าพวกหลังนี้ได้กลายเป็นบ้านของเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย

jaipur
LMB ร้านขนมหวานที่เก่าแก่ที่สุดในจัยปูร์

ถัดจาก Royal Guest House ไปอีกไม่ไกลเป็นที่ตั้งของอีกตึกที่น่าสนใจ แปะข้อความไว้ว่า LMB Hotel ที่สร้างมาตั้งแต่ ค.ศ. 1727 หรือในปีเดียวกับกำเนิดแห่งนครสีชมพูนั่นเอง LMB ย่อมาจาก Lakshmi Mishthan Bhandar ถือเป็นร้านขนมหวานที่เก่าแก่ที่สุดในจัยปูร์ ปัจจุบันเพิ่งส่วนต่อขยายเปิดให้บริการโรงแรมไปด้วยในตัว ใครใคร่เช็คอินนอนที่นี่ก็สะดวกดีต่อการกินขนมและเดินชมเมืองทั้งวันทั้งคืน

jaipur
พักกิน Kachori ร้อนๆ ริมถนน

         จากจุดนี้เริ่มเข้าสู่เขตของ Jahori Bazaar หรือตลาดค้าเครื่องประดับ โดยเน้นที่เครื่องเงินเป็นหลัก แนะนำว่า ใครอยากช้อปจิวเวลรี่ที่นี่ ให้เข้าร้านใหญ่ๆ อย่างร้าน Motisons’ ที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้มากกว่าตามแผงข้างทาง และด้วยความที่เราค่อนข้างจะเชิดใส่เครื่องเงินอย่างเห็นได้ชัด ดีพัคเลยชวนพักเบรกอีกรอบ ด้วยการแวะแผงสตรีทฟู้ดข้างทาง งวดนี้จัด Kachori ร้อนๆ 1 ชิ้นถ้วน อารมณ์เหมือนกะหรี่พัฟฟ์ทอดร้อนๆ กินกับน้ำจิ้มรสเผ็ดซ่าเล็กน้อย มีวัว มีรถราวิ่งขวักไขว่ห่างไปตรงหน้าไม่ถึงหนึ่งฟุต ช่างได้อารมณ์ดีแท้

Jaipur
ถูกโอบล้อมด้วยเสื้อผ้าที่ Sari Market

กินเสร็จปุ๊บ ดีพัคไม่รอช้า พาเดินเข้า Haveli อีกแห่ง คราวนี้ไม่ใช่โบสถ์ฮินดู แต่เป็นเคหสถานที่มีคนอาศัยอยู่จริงๆ และถือเป็นฮาเวลีแบบดั้งเดิมที่มีอาณาเขตกว้างขวางชนิดที่ตลอดความยาวของบ้านก็คือ ถนนสาย Jewelry ที่เราเพิ่งเดินเข้ามานั่นแหละ ดีพัคเล่าว่าฮาเวลีในแต่ละบ้านจะแบ่งสัดส่วนออกเป็นพื้นที่สวนตรงกลางบ้าน โอบล้อมด้วยส่วนของที่อยู่อาศัยของผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก แยกออกจากกัน เราเดินทะลุบ้านของใครก็ไม่รู้กลับออกมายังท้องถนนตามเดิม เพื่อจะไปต่อกันที่ตลาดส่าหรี ที่อัดแน่นด้วยแพรพรรณสำหรับอิสตรีชาวภารตะหลายร้อยร้านค้าเรียงติดต่อกัน โดยมีร้านเสื้อผ้าสำหรับบุรุษแทรกตัวอยู่เพียง 4-5 ร้านเท่านั้น

Jaipur
Hawa Mahal สวยสง่ายามราตรี

         หลุดออกจากตลาดค้าส่าหรีได้ก็เดินมาถึงจัตุรัส Chaupars พอดี เราเดินข้ามถนนเพื่อไปแหงนหน้ามองพระราชวังสายลม หรือ ฮาวา มาฮาล (Hawa Mahal) ที่ในยามค่ำคืนก็สวยสงบแปลกตา ต่างจากบรรยากาศตอนกลางวันอย่างสิ้นเชิง จากนั้น เราเดินเลียบสองข้างทางของ Tripolia Bazar มุ่งหน้า Tripolia Gate ตลาดในย่านนี้เน้นขายของจำพวกภาชนะอลูมิเนียม อย่างหม้อ ถาด ปิ่นโต ช้อมส้อม ฯลฯ เรียกว่าถ้าอยากจับจ่ายสินค้าประเภทไหนใน Pink City ต้องจิ้มแผนที่ไปให้ถูกย่าน ใช่ว่าจะมีห้างสรรพสินค้าที่จุทุกอย่างเอาไว้ครบทุกรายการอย่างบ้านเรา

Jaipur
แสงสีของ Albert Hall ยามค่ำคืน

         Tripolia Gate ถือเป็นอีกหนึ่งจุดนัดพบสำคัญ ที่หากใครมาเที่ยวจัยปูร์ครั้งแรกๆ แล้วไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหน ก็ออกสตาร์ทที่ประตูวังแห่งนี้ก่อนได้ เพราะอาณาเขตภายในประตูหลังนี้รวมของดีแห่งนครสีชมพูเอาไว้ครบครัน ทั้ง City Palace, Jantar Mantar และ Hawa Mahal ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้เปิดให้เข้าชมในตอนกลางวัน ส่วนเราที่มายืนเก้ๆ กังๆ ในตอนกลางคืนแบบนี้ ขอจบทัวร์ City Walk กันที่วัดของพระศิวะ อายุกว่า 300 ปี เพื่อสัมผัสบรรยากาศของการล้อมวงสวดมนต์เพื่อทวยเทพของชาวฮินดู ที่ว่ากันว่าเขามี Gods มากกว่า 33 ล้านองค์! จึงไม่แปลกที่หากถามเราถามชาวอินเดียหลายๆ คนว่า คุณศรัทธาพระเจ้าองค์ไหน แล้วคำตอบที่ได้มักไม่เหมือนกัน แต่ส่วนมากก็จะนับถือพระศิวะ ที่จัดเป็นเทพองค์หลักก็ว่าได้

         ดีพัคขอปิดท้ายแถมให้อีกหนึ่งสถานที่ ด้วยการโบกออโต้ริกชอว์ให้ไปส่งเรายังหน้าพิพิธภัณฑ์ Albert Hall ที่มีการประดับไฟโชว์สีสันสวยงามตระการตา เรียกแขก (ทั้งแขกผู้มาเยือนอย่างเรา และชาวแขกเจ้าถิ่น) ให้กดชัตเตอร์เก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งพิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ต ฮอลล์ แห่งนี้ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์เก่าแก่ที่สุดในรัฐราชสถาน ส่วนจะมีงานจัดแสดงอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น เราเองก็ยังไม่รู้ เพราะที่นี่เป็นอีกหนึ่งของดีแห่งจัยปูร์ที่เรายังเก็บแต้มได้ไม่ครบ คงต้องมาซ้ำนครสีชมพูอีกครั้งในคราวหน้า และเพราะยังมีอีกหลายบาซาร์รอให้เราเดินไปช้อปอีกเพียบ

See you again Jaipur!.