life

จากข่าวเศร้าของชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการตายของ ‘พี่เตี้ย’ สุนัขแสนรู้ขวัญใจนักศึกษา ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในตอนนี้

นอกจากข้อสงสัยที่ว่า พี่เตี้ยตายอย่างไร ซึ่งคงต้องอาศัยเวลาในการหาคำตอบ ก็ยังมีอีกหนึ่งคำถามที่หมอเห็นผ่านตามาบ้าง ในช่วงที่พี่เตี้ยหายไป คือ 

“พี่เตี้ยฝังไมโครชิปแล้ว ทำไมเราถึงไม่รู้ตำแหน่งของเขา?”

ถือเป็นอีกเรื่องเข้าใจผิด ที่หมอคงจะปล่อยผ่านไม่ได้ 

สี่ขาสาระวันนี้ หมอเลยจะเล่าเรื่องไมโครชิปให้ฟัง ว่าจริงๆ แล้วไมโครชิปมีประโยชน์ยังไง และทำไมถึงใช้หาตำแหน่งสุนัขไม่ได้ 

(Photo : asiaone.com)

ไมโครชิป ไม่ใช่ GPS แต่เป็นบัตรประชาชนของสุนัข   

อันดับแรกที่ต้องทำความเข้าใจกันคือ ไมโครชิป ไม่ใช่ GPS ไม่มีระบบติดตามตัว 

ฉะนั้น ไม่สามารถใช้ระบุตำแหน่งของสุนัขได้ 

ถ้าอย่างนั้น เราฝังไมโครชิปในสุนัขเพื่ออะไรล่ะ 

คำตอบคือ เพื่อใช้ระบุตัวตนว่าสุนัขตัวนั้นเป็นใคร บ้านอยู่ไหน เจ้าของชื่ออะไร 

เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คงคล้ายกับบัตรประชาชนของคนนั่นเอง 

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสับสน สลับตัวกับสุนัขหน้าคล้าย หรือถ้าหลงทางไป แล้วมีคนนำตัวไปส่งในโรงพยาบาล หรือคลินิกที่มีเครื่องสแกน ก็สามารถส่งคืนเจ้าของได้ถูกคน 

ดังนั้น เจ้าของที่พาสุนัขไปฝังไมโครชิป จึงต้องมีหลักฐานสำคัญ 4 อย่าง คือ สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของเจ้าของ หนังสือรับรองทะเบียนตัวสุนัข (ใบเพ็ดดีกรี) หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า อายุไม่เกิน 1 ปี

(Photo : microidglobal.com)

บาร์โค้ดทั้งหมดจะถูกบันทึกอยู่ในไมโครชิปเล็กๆ ขนาดเท่าปลายเข็มฉีดยา ฉีดฝังลงไปใต้ผิวหนังของสุนัข เวลาเอาเครื่องอ่านไมโครชิปมาสแกนที่ตัวสุนัข ก็จะสามารถสืบค้นได้ว่า บาร์โค้ดตรงกันกับข้อมูลที่เจ้าของให้ไว้หรือไม่ ว่ารหัสอะไร เจ้าของชื่ออะไร ที่อยู่คือที่ไหน และมีใบเพ็ดดีกรีอะไร

แล้วในเคสพี่เตี้ยล่ะ ไมโครชิปมีประโยชน์ยังไง 

สภาพศพของพี่เตี้ยตอนมีคนไปพบนั้น คาดกันว่า น่าจะตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 วัน ทำให้ไม่สามารถระบุได้ในทันทีว่าเป็นพี่เตี้ยหรือเปล่า 

แต่สิ่งที่ทำให้ยืนยันได้ คือการสแกนไมโครชิปในศพสุนัข ผลออกมาปรากฎว่า เป็นบาร์โค้ดชุดเดียวกันกับไมโครชิปของพี่เตี้ย

นี่แหละค่ะ หน้าที่ของไมโครชิป

สุนัขแบบไหน นิยมฝังไมโครชิป 

สุนัขบ้านที่เราเลี้ยงกัน อาจไม่มีความเป็นต้องฝังไมโครชิป 

แต่ที่จำเป็นและนิยมฝังกันมาก คือ พวกสุนัขประกวดหรือสุนัขราคาแพง ที่มีการส่งออกขายต่างประเทศ 

เพราะไมโครชิปจะช่วยป้องกันการสลับตัว ทั้งที่ตั้งใจหรืออาจจะแค่หน้าคล้ายก็ตาม  

โดยก่อนส่งตัวให้เจ้าของ จะมีการใช้เครื่องสแกนไมโครชิปตรวจสอบว่า ข้อมูลตรงกับเจ้าของหรือไม่ 

(Photo : yellowdogvet.com)

นอกจากสุนัข ยังมีสัตว์อื่นๆ ที่นิยมการฝังไมโครชิปเช่นกัน เช่น แมว นก ที่มีการซื้อขายกันในราคาแพง รวมถึงสัตว์ป่าหรือสัตว์สงวน ที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อติดตามพัฒนาการและการเจริญเติบโต เช่น ฝังไมโครชิปให้ลูกเสือก่อนปล่อยเข้าป่า หรือสัตว์ที่มีประวัติเคยป่วย มาเจออีกทีจะได้จำกันได้ว่าใครเป็นใคร

น้องชอบหนีออกไปเล่นนอกบ้าน ฝังไมโครชิปดีไหม

สำหรับสุนัขทั่วไปที่เราเลี้ยงอยู่กับบ้าน หมอแนะนำว่า การใช้ปลอกคอที่สามารถใส่ชื่อ เบอร์โทรติดต่อของเจ้าของเข้าไปได้ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด 

สมมติว่าสุนัขหนีออกจากบ้านแล้วมีคนเจอ โอกาสที่คนจะเห็นข้อมูลที่ปลอกคอ ดูจะเป็นไปได้กว่าการหวังให้เขาพาสุนัขไปสแกนไมโครชิป 

เพราะปกติแล้ว คนทั่วไปจะไม่รู้หรอกว่าสุนัขตัวนั้นมีไมโครชิปหรือไม่ และคลินิกในบ้านเราที่มีเครื่องสแกนไมโครชิปนั้นก็มีน้อยมาก 

ฉะนั้น การใส่ข้อมูลไว้บนปลอกคอจึงเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด 

อีกทั้งไม่ใช่สุนัขทุกตัวจะรับไมโครชิปได้ บางครั้งยิงเข้าไปแล้วไม่เข้ากับเนื้อเยื่อ กลายเป็นฝีเลยก็มี

มาถึงตรงนี้ ทุกคนคงหายสงสัยแล้วนะคะ ฉะนั้น ใครคิดจะพาสุนัขไปฝังไมโครชิปเพื่อใช้ติดตามตัว เลิกคิดได้เลยค่ะ เพราะไม่โครชิป ไม่ใช่ GPS !