“หมอ…พาหมาแมวไปหาหมอทีไร กลัวลนลานทุกที ทำยังไงให้เค้าหายกลัวได้บ้าง”
ตอบตามตรงคือ ต้องรู้เทคนิคค่ะ
สัตว์ก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากเรา เวลาเรากลัวหมอ กลัวเข็ม ก็ยังยากที่จัดการกับความรู้สึกตัวเองใช่มั้ยคะ
ฉะนั้น ลองว่ากลัวแล้ว จะให้หายคงไม่มีทาง
แต่มีวิธีจัดการให้ความกลัวนั้นทุเลา หรือไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาได้ แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทั้ง 2 ฝ่าย คือ เจ้าของและสัตวแพทย์
เจ้าของต้องเข้าใจสัตว์เลี้ยง
ประเด็นนี้สำคัญ และเจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องตระหนักเป็นอันดับแรกเลย
หลายครั้งเจ้าของพาหมาแมวมาหาหมอด้วยความหวัง ว่าหมอจะต้องทำได้ทุกอย่าง
เช่น สุนัขดุมาก แล้วจับไม่อยู่ ปล่อยให้หมอจัดการ
อันนี้เป็นวิธีคิดที่ผิดอย่างแรง
ถ้าสัตว์เลี้ยงของเราเอง ยังจัดการไม่ได้ น่าจะไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ เพราะถ้าเจ้าของยังทำไม่ได้ คนอื่นแทบไม่มีทางอยู่แล้วค่ะ
เจ้าของต้องรู้จักสัตว์เลี้ยงของตัวเอง และมีวิธีการมาก่อน เช่น บางคนรู้ว่าสุนัขตัวเองดุ และอาจจะเอาไม่อยู่เวลาเจอหมอ ก็จะใส่ปากเป็ดรัดปากมาจากบ้านเลย
บางตัวเจ้าของรู้ว่าเจอหน้าหมอไม่ได้ ก็จะอุ้มแล้วหันหลังให้หมออย่างเดียว ไม่ให้เห็นกัน
หรือบางตัวต้องนั่งบนตักเจ้าของเท่านั้น เราจะจัดพื้นที่ให้เหมาะสม
แต่ละคนจะมีเทคนิคในการคอนโทรลสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จ ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของสัตว์แต่ละตัว ที่เจ้าของควรจะต้องทราบ
บางคนบอกมาก่อนเลยก็มีว่า “หมอ เห็นเข็มไม่ได้นะ”
อ้าว เห็นเข็มไม่ได้แล้วจะทำยังไง ก็ต้องค่อยๆ คุยกับเค้า ลูบหัว ลูบตัว พอเพลินๆ แล้วจิ้มเข็มให้เร็วที่สุด
หน้าที่ของหมอคือ เล่นตามน้ำ ให้เร็วและแม่นยำที่สุด
ในขณะที่เจ้าของกำลังปลอบประโลม ด้วยการลูบหัว ลูบคาง ให้ใจเย็นๆ หมอก็จะมีวิธีสื่อสารและจัดการรักษาที่ชักช้าไม่ได้
แต่ถ้าพยายามจิ้มเข็ม 2 ครั้งแล้วไม่ได้ ต้องเลิกไปก่อน เพื่อไม่ให้เค้ามีประสบการณ์ที่เลวร้ายเกินไปในการมาหาหมอ
รู้ว่า ‘อะไร‘ ที่ไวต่อความรู้สึกกลัว
ประสบการณ์ครั้งแรกที่เค้ามาคลินิกหรือโรงพยาบาล คือตัวกำหนดความกลัวในครั้งต่อไป เช่น ก่อนที่จะสลบไป จำได้ว่าหมอคนนี้ทำให้เราเจ็บ (โดนฉีดยา)
หรือครั้งที่แล้วเรายังมี ‘ไข่‘ แต่พอออกมาจากที่นี่ไข่หายไปแล้วและเจ็บด้วย
โดยเฉพาะแมว จะเคืองเป็นพิเศษ
แบบนี้ก็ย่อมจะกลัวมากกว่าสัตว์ที่แค่มาตรวจสุขภาพกลับไปแบบไม่เจ็บตัว
การมาหาหมอครั้งต่อไป ก็อาจจะสร้างความปวดหัวให้เจ้าของบ้างเล็กน้อยถึงมาก แล้วแต่เคส
ทำไมหมาแมวถึงรู้ว่าล่ะ ว่านี่คือคลินิก
อย่างแรกคือ ‘เสียง’ บางคนคิดไปว่าพอเห็นคลินิกแล้วจำได้
หมอว่านั่นอาจเป็นเรื่องรอง แท้จริงแล้วน่าจะเป็นเรื่องเสียงมากกว่า เพราะหมาแมวมองเห็นทุกอย่างเป็นขาวดำ แต่ไวกับเสียงมาก
หากสังเกตดีๆ คลินิกแต่ละแห่งจะมีเสียงเปิดประตูไม่เหมือนกัน
แค่ดังกรุ๊งกริ๊งทีเดียว เค้าก็จำได้แล้วว่า ‘ที่นี่ที่ไหน’
อย่างที่สอง ‘กลิ่น’ แต่ละที่มีกลิ่นเฉพาะของสถานที่นั้น ซึ่งหมาแมวจะมีประสาทสัมผัสรับกลิ่นดีมาก คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ก็มีกลิ่นเฉพาะ ที่เขาจำได้ ว่ากลิ่นแบบนี้เคยมาแล้วโดนฉีดยา
ไหนจะกลิ่นของหมาแมวตัวอื่น ซึ่งเค้าจะไม่ชอบและรู้สึกหวาดระแวง ว่าอาจจะไม่ปลอดภัย
อย่างที่สาม ‘ความสามารถในการจดจำ’ สุนัขเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการจดจำเส้นทาง และจุดหมายปลายทางได้เก่ง ดังนั้นจึงไม่แปลก ที่สุนัขบางตัวถึงหนีออกจากบ้านบ่อยๆ หรือจำสถานที่ฝังใจได้
ฉะนั้น ถ้าบอกว่าหมาแมวเห็นหน้าหมอแล้วกลัว อาจจะไม่ใช่
แต่เค้าน่าจะจำทางได้ ได้ยินเสียงหมอคุยกับเจ้าของ หรือได้กลิ่นหมอมากกว่า
เรียกว่า ยังไม่ต้องเห็นหน้า “แค่ได้ยินเสียงหนูก็เครียดแล้วค่ะหมอ”
กลัวจริง หรือ ‘เล่นใหญ่’ หมอดูออก
หมาแมวเป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก และบ่อยครั้งที่หมอพบกับแมวตุ๊กตาทอง ที่เล่นใหญ่น้ำลายฟูมปากเมื่อต้องเผชิญหน้ากัน จนเจ้าของตกอกตกใจมาเยอะ
สำหรับหมอที่มีประสบการณ์มานานๆ จะดูออกว่า ‘กลัวจริง’ หรือ ‘เล่นใหญ่’
มีไม่น้อยที่ทำช็อกน้ำลายฟูมปาก แต่พอออกจากคลินิกแล้ววิ่งเล่นได้เป็นปกติ
ถามว่าแบบนี้เค้ากลัวจริงมั้ย แล้วทำน้ำลายฟูมปากได้ยังไง
คำตอบคือน่าจะกลัวจริง (แต่แอคติ้งก็ประมาณหนึ่ง) คือเวลาที่แมวตื่นเต้นมากๆ น้ำลายอาจจะไหลออกมามากกว่าปกติอยู่แล้ว และอาจจะไหลไม่หยุดได้ เหมือนเป็นอาการเครียดของเค้า
บางครั้งคุยกับเจ้าของนานไปหน่อย หันมาอีกทีน้ำลายท่วมแล้ว
แต่เท่าที่หมอพบ ยังไม่ปรากฎว่าอันตรายสักครั้งค่ะ
อันตรายจริงๆ ของการกลัวหมอ คือการเตลิดหนี
หลายคนกลัวว่า ถ้าสัตว์กลัวหมอมากๆ แล้วช็อกตายไปเลย จะทำยังไง
ที่ผ่านมา สำหรับหมอยังไม่พบเคสที่ตายเพราะกลัวหมอสักที
แต่ที่ต้องระวังมากๆ และหมอว่าน่ากังวลกว่าอาการช็อกคือ การเตลิดหนี
ถ้าเราควบคุมให้เค้าอยู่นิ่งไม่ได้ ข้อเสียที่พบได้บ่อยๆ คือ การวิ่งเตลิดออกไปนอกคลินิกหรือโรงพยาบาล แล้วถูกรถชนเสียชีวิต
หรือในกรณีของแมว บางตัววิ่งออกนอกคลินิก หนีหายไป กลายเป็นแมวจรไปเลยก็มี
ดังนั้น สิ่งที่เจ้าของต้องพึงตระหนักทุกครั้งคือ เราเข้าใจธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงเราดีพอหรือยัง
อาการกลัวหมอ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล
หมอและเจ้าของช่วยกันจัดการได้ ขอเพียงแค่ต้องเข้าอกเข้าใจกันทั้ง 3 ฝ่ายแค่นั้นค่ะ