life

เราขับรถจากตัวเมืองเชียงรายออกมาเรื่อยๆ

ไม่ไกลนัก ตึกรามบ้านช่องก็เริ่มบางตา ท้องทุ่งกว้างเข้ามาแทนที่ อากาศเย็นและแห้งของหน้าหนาวเปลี่ยนให้หญ้าสีเขียวกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อน กลมกลืนดีกับสีของท้องฟ้าปลอดโปร่ง

รถเลี้ยวเข้ามาในชุมชนบ้านดูเมืองใหม่ อาคารพาณิชย์ทุกหลังดูคล้ายกัน ต่างแค่ที่ว่าบ้างเป็นบ้านคน บ้างเป็นร้านรวง และโดยไม่ทันได้สังเกต สัญชาตญาณก็พาให้เราขับรถมาถึงที่หมายของวันนี้

บรรยากาศยามสายช่วยทำให้อากาศอบอุ่น แต่มวลอากาศเย็นของเมื่อคืนยังคงอ้อยอิ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งยืนหันหลังเผยให้เห็นหางเปียยาว เสื้อกั๊กสีแดงดูโดดเด่นเมื่อตัดกับผนังสีเขียว ไม่ต้องสงสัยเลย เธอคือ อิ๋ม – พุทธรักษ์ ดาษดา เจ้าของบ้าน ที่มาของชื่อ Dadsada Studio ที่แปะหราอยู่เหนือธรณีประตูตรงหน้า ศิลปินหญิงที่เราเดินทางตามภาพดอกไม้ ตั้งใจมาคุยด้วยในวันนี้ 

ชั้นล่างเป็นคาเฟ่ ส่วนพวกเรานั่งสบายๆ คุยกันบนชั้นสองของอาคารที่เนรมิตให้กลายเป็นโลกของอิ๋ม ประดับประดาด้วยข้าวของวินเทจที่เธอสะสมไว้ มองมุมไหนก็ช่างน่ารักกุ๊กกิ๊กถูกใจไปเสียหมด 

บทสนทนาของเราเริ่มต้นด้วยการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ แม้เป็นครั้งแรกที่ได้พบกัน แต่กลับไร้ซึ่งความเคอะเขิน อิ๋มบอกกับเราว่าอาจเพราะที่นี่คือเชียงรายก็เป็นได้ 

เธอเล่าต่อว่าแม้จะเขียนทุกวัน แต่ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงพักผ่อนหลังจากเธอหอบเอาภาพวาดและงานอาร์ตจากสตูดิโอเหนือสุดแดนสยามไปจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งใหญ่ที่แกลเลอรี 333 Anywhere ใน Warehouse 30 แถวเจริญกรุง โดยใช้ชื่อว่า เคียงข้างกัน’ (Alongside)  

เมื่อเราถามถึงนิทรรศการดังกล่าว เธอจึงเริ่มเล่า เปลี่ยนให้บทสนทนาเอื่อยๆ เมื่อครู่เข้มข้นขึ้นไปโดยปริยาย 

คำว่า ‘เคียงข้างกัน’ คือกำลังใจ คือความหวัง ธรรมชาติอยู่เคียงข้างเรา ให้กำลังใจเราอยู่ตลอด มันมีพลังที่เราเองก็สัมผัสมาแล้ว เราใช้มันอยู่ทุกวัน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิต เราแค่แสดงพลังเหล่านั้นออกมาในรูปแบบงานศิลปะ”  

ธรรมชาติคือเป้าหมายที่ทำให้รู้ว่าเราจะทำอะไร ถ้าไม่ได้ทำงานศิลปะ เราอาจจะทำอาหาร ทำเครื่องดื่ม ซึ่งก็คือธรรมชาติในอีกรูปแบบหนึ่ง ธรรมชาติอยู่รอบตัวเราเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ท้องถิ่นไหน พื้นที่ไหน ทุกคนเชื่อมโยงกับธรรมชาติอยู่ ไม่ใช่แค่เราคนเดียว 

อิ๋มผสมผสานภาพพฤกษศาสตร์ (botanical) ทั้งพืชพรรณ มด แมลง สรรพสิ่งที่อยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ลงในงานศิลปะร่วมสมัยได้อย่าคมคาย และโดยที่ไม่ต้องเอ่ยสักคำ เธอกำลังสื่อสารกับผู้คนผ่าน ‘ธรรมชาติ’ 

 

โลก-พืช 

บอกเลยว่าตอนแรกเราไม่อิน”  

นักวาดสายโบทานิคอลเผยความลับที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์ 

อิ๋มเกิดที่โคราช แต่มาเติบโตที่เชียงราย ที่อำเภอแม่จัน บ้านเกิดของผู้เป็นแม่ ฝึกพูดภาษาเหนือครั้งแรกด้วยสำเนียงเชียงรายที่มักจะเพี้ยนเป็นสำเนียงยองอยู่บ่อยๆ แม้จะใช้ชีวิตใกล้ชิดกับท้องทุ่งตั้งแต่สมัยเป็นละอ่อนต่อนแต่น (แปลว่า เด็กๆ ในภาษาเหนือ) แต่อิ๋มกลับไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับธรรมชาติเลยแม้แต่น้อย 

ไม่เคยเล่นของเล่นจากพืชในแบบที่เด็กบ้านนอกเขาเล่นกันเลย” เธอบอก 

แล้วตอนนั้นเล่นอะไร เราสงสัย 

เราชอบอ่านการ์ตูนตาหวานตั้งแต่เป็นเด็กน้อย ตอนเรียนอนุบาล เราเคยแอบวาดรูป ระบายสีตอนนอนกลางวันแล้วโดนครูยึด พอโตมาหน่อยครูเห็นว่าเขียนสวยก็เอาไปแปะบอร์ด เราเริ่มไปแข่งทักษะศิลปะ หารายได้พิเศษด้วยการวาดรูปมาตลอด จำได้ว่าวาดภาพประกอบตั้งแต่ป.1”  

ที่บ้านเราไม่มีใครทำงานอาร์ตเลย พ่อเป็นทหาร แม่เย็บผ้า แต่แม่จะเหมือนแม่บ้านญี่ปุ่นตรงที่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบประดิษฐ์ของ ตอนเด็กๆ เราเองก็เคยเห็นพี่สาวเขียนรูป ตัวหนังสือเขาสวยมาก เขาชอบเขียนตัวหนังสือแฟชั่น ออกแบบเสื้อผ้า ชอบงานประดิษฐ์ เราเลยไปเปิดดูแล้วทำตาม เลียนแบบเขาทุกอย่าง พอได้เห็นงาน เห็นลายเส้น เราก็เกิดแรงบันดาลใจอยากทำบ้าง 

เมื่อความสามารถด้านศิลปะโดดเด่น ครูแนะแนวที่โรงเรียนจึงแนะนำให้อิ๋มสานต่อด้านนี้ที่สาขาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย นับว่าการตัดสินใจครั้งนั้นเป็นครั้งที่พาให้อิ๋มเข้าสู่เส้นทางศิลปินอย่างเต็มตัวเลยก็ว่าได้ 

เราเป็นเด็กบ้านนอก พอเข้ามาเรียนในเมืองก็ตื่นตาตื่นใจ คนอื่นเขียนกันสวยมาก ตอนนั้นเราไม่รู้จักคำว่าภาพเหมือนเลยด้วยซ้ำ เพราะเราวาดการ์ตูนลายเส้นมาก่อน เรารู้สึกว่าคนอื่นเขียนเก่งกว่า แต่คติของตัวเองตอนนั้นคือ ‘เก่งไม่กลัว กลัวขยัน’ เราเห็นเพื่อนเขียนได้ เราก็อยากเขียนได้บ้าง เวลาเพื่อนไปกินข้าว เราก็ไม่ไป จะเขียนอยู่อย่างนั้น เพื่อนเขียนสองแผ่น เราเขียนห้าแผ่น ครูให้ดรอว์อิ้งแผ่นเดียว เราก็เขียนส่งไปสิบแผ่น เพราะเราอยากทำเป็นให้เท่าเขา 

เราเป็นคนไฮเปอร์นิดๆ มักจะสนใจ ว้าวกับสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ เราไม่เคยเขียนมาก่อนไง เราเลยอยากรู้ว่าถ้าเจอสิ่งนี้แล้วเราต้องทำอย่างไร ระหว่างที่ฝึกเขียน เราเห็นพัฒนาการของตัวเองว่าเราก็ทำได้ 

หลังจากที่พูดได้เต็มปากแล้วว่าฉันก็เขียนภาพเหมือนเป็น อิ๋มก็เขียนภาพเรื่อยมา และไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางไปทำอย่างอื่นเลย หลังจากจบเรียนจบ เธอเข้าเรียนต่อที่สาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตามแบบฉบับของใครก็ตามในตอนนั้นที่อยากเดินทางสายศิลปิน

สิ่งที่เราทำมีเปอร์เซ็นต์ที่ทำให้เราได้อยู่บ้าน เราชอบบรรยากาศของบ้าน เราได้เจอศิลปินที่อยู่ในบ้านของเรา ตั้งแต่ลุงถวัลย์ (ถวัลย์ ดัชนี) พี่อังกฤษ (อังกฤษ อัจฉริยโสภณ) และพี่คนอื่นๆ ที่เขาทำงานกันหลากหลายแบบ เรามักจะเข้าไปถาม เราชอบคุยกับเขา เราเลยอยู่ที่นี่ 

หลังเรียนจบ อิ๋มวางแผนหลวมๆ ว่าจะทำงานศิลปะอะไรก็ได้ ขอแค่ยังอยู่ในเมืองเชียงรายแห่งนี้ และเป็นไปดังที่เธอตั้งใจ หลังจากเรียนจบเธอมีโอกาสได้ร่วมงานกับมหาวิทยาลัยเดิม โดยมีโจทย์ให้วาดภาพพฤกษศาสตร์ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ หรือที่ชาวเชียงรายเรียกว่า ‘สวนสมเด็จย่า’ ทำให้เวลาในแต่ละวันของเธอหมดไปกับการสังเกตดอกไม้ใบหญ้าในสวนแห่งนั้น และวาดออกมาอย่างละเอียดลออ 

ก่อนหน้านี้เราแทบไม่เขียนดอกไม้เลย ไม่เคยคิดจะมาทำสิ่งนี้ด้วยซ้ำ แต่พอมาเขียนจริงๆ ก็น่าสนใจดี เลยสงสัยว่าก่อนหน้านี้ทำไมถึงมองข้ามไป เราไม่เคยมองเรื่องใกล้ตัวเลย ทั้งๆ ที่สุดท้ายแล้วคนเรามักสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ได้ หากสิ่งนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว 

เราค้นพบว่าในสวนพฤษศาสตร์ไม่ได้มีแค่ดอกไม้ แต่ยังมีพืชชนิดอื่นๆ มีผีเสื้อ หนอน นก เราเริ่มจากเขียนภาพดอกไม้ พอเห็นปีกผีเสื้อตกอยู่แถวนั้น เราก็เดินตามปีกผีเสื้อไปจนเจอรังนก เจอฝักเมล็ดพืช ดูสิ แค่เดินไปในสวน เราก็เจอสิ่งเหล่านี้แล้ว เหมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่ใครเคยเขียนไว้แต่เราเพิ่งได้อ่าน 

อิ๋มขลุกอยู่ในสวน เขียนภาพเหมือนเดิมทุกๆ วัน เผลอแป๊บเดียว เวลาก็ล่วงเลยไปแล้ว ปี ในที่สุดเธอก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ที่จริงแล้ว สิ่งที่เธออยากเขียนคืออะไรกันแน่ และเธอจึงตามหาคำตอบ 

ตอนนั้นเราเขียนสีน้ำเพื่อความสวยงาม แต่เราก็สนใจเชิงวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะชอบเขียนความเป็นจริง เราเลยไปผ่าดูพืช ใบดอก ผล แล้วบันทึกทุกอย่างลงไป เรากลับมาเขียนแค่เมล็ดพันธุ์ในฝัก เจาะจงเฉพาะส่วนที่เราสนใจ” อิ๋มเล่าให้เราฟัง 

 

ความงาม ใน ความจริง 

งานชุดแรกๆ ที่ถือว่ามีความเป็นตัวของตัวเองที่สุด คือภาพวาดฝักเมล็ดส่วนต่างๆ ของพืชที่เธอสนใจ นอกจากเรื่องของความงดงามแบบวิจิตรศิลป์ เธอเริ่มสนใจส่วนประกอบของพืชในเชิงวิทยาศาสตร์ เธอมองว่านั่นคือ ‘ความจริง’ และสำหรับอิ๋มแล้ว ความจริงคือความงาม 

การเขียนภาพเหมือนต่างจากภาพถ่ายมาก แม้ว่าเลนส์จะจับภาพได้ทันที แต่กระบวนการในตาเราเห็นเยอะกว่านั้น ซึ่งมันต่างจากกล้องถ่ายภาพ การเขียนแต่ละภาพต้องผ่านกลไกของร่างกาย แม้จะเป็นภาพเหมือน แต่ศิลปินแต่ละคนกลับถ่ายทอดไม่เหมือนกัน แม้จะมองเห็นเส้น ใบ ผล เหมือนกันทุกอย่าง แต่บรรยากาศ อารมณ์ ความรู้สึกกลับไม่เหมือนกัน”  

บางบทกวีเปรียบดอกไม้สวยงามเหมือนผู้หญิงมีพิษ เป็นการเปรียบเทียบเชิงศิลปะ แต่สำหรับเรา เราชอบความจริงที่ปรากฏขึ้น แม้บางทีเราเองจะเขียนภาพแนวเซอร์เรียล แต่สุดท้ายแล้วก็จบที่เรื่องความเป็นจริง 

เราสนใจในคุณค่าของมนุษย์และพืชพรรณ เลยเขียนตัวแทนเข้าไป เป็นคนที่ไม่มีตา ที่เห็นนั่นไม่ใช่ผู้หญิงหรือผู้ชายแต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ ไม่รู้เหมือนกันว่ากระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นตอนไหน เพียงแต่เรารู้แล้วว่าเราอยากเขียนอะไร แล้วก็เขียนในสิ่งที่เราอยากเขียนเท่านั้นเอง 


อิ๋มชอบดอกหญ้า เพราะทั้งน่ารักและแข็งแกร่ง ทนต่อสภาพอากาศหลายแบบ ถึงเธอจะชอบดอกไม้ชนิดนี้เพียงใด เธอก็ไม่นึกตำหนิดอกกุหลาบที่มีหนามแหลม ไม่น่าสัมผัส เพราะเธอตั้งใจอยากมองสรรพสิ่งในธรรมชาติด้วยดวงตาที่มองเห็นความจริง เธอเล่าว่าสำหรับตัวเธอเองแล้ว ดอกไม้ทุกดอกมีคุณค่าเท่ากัน กว่าจะมองได้แบบนี้ก็ถือว่าท้าทายอคติ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่เหมือนกัน แต่ไม่เป็นไร เพราะเธอกำลังเรียนรู้สิ่งนี้จากการเขียนภาพ 

เราเขียนภาพมนุษย์ พืช สัตว์มานาน สิ่งที่คนมักถามบ่อยๆ คือ ทำไมเราไม่เขียนดวงตา”  

ศิลปินหญิงเผยกับเรา เธอจึงใช้นิทรรศการครั้งที่ผ่านมาเพื่อตอบคำถามว่าแม้ว่าสิ่งตรงหน้าจะจริง แต่ข้างในนั้นยังเต็มไปด้วยมวลของความรู้สึกที่ต้องสัมผัสด้วยหัวจิตหัวใจของการเป็นมนุษย์ 

พรรณไม้มีคุณค่าในเชิงวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้ เราเลยอยากนำเสนอต่อคุณค่าทางใจ ทางอารมณ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เรารู้สึกได้ สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ไม่ว่าอะไรก็ตาม แม้กระทั่งตัวเราเอง ยังอยากให้คนมองเห็นคุณค่ารู้ของเราจริงๆ ไม่ตัดสินกันจากสิ่งที่ตาเห็นเพียงอย่างเดียว 

อย่างตัวเราเองไม่ชอบหนอน แต่ก็ลองเขียนดู เพื่อก้าวข้ามความน่ากลัว แล้วมองเห็นคุณค่าจริงๆ ของมัน 

อิ๋มนึกขอบคุณงานแรกที่เธอได้ทำอยู่เสมอ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอค้นพบแนวทางของตัวเองอย่างที่เป็นในทุกวันนี้ เราคนนอกอาจมองว่าเรื่องการเรียนรู้และค้นพบของเธอช่างเรียบง่ายเหมือนนิยายอบอุ่นหัวใจเล่มบาง อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของการค้นพบครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยความสับสน หวั่นไหว ที่แม้จะตอบคำถามแรกไปได้ แต่ก็มีคำถามที่สอง ที่สาม วนมาให้เธอต้องหาคำตอบอีกหลายต่อหลายครั้ง 

แต่ก่อนเราตอบคนไม่ได้นะว่าเราเขียนทำไม เราสะอึกไปเลยช่วงแรกๆ ตอนนั้นเราชอบทำพื้นหลังเขรอะขระ ทำไปทำไมไม่รู้ ไม่มีเป้าหมาย แค่อยากทำให้เต็มเฟรมมั้ง แต่พอมาสังเกตตัวเอง ช่วงนั้นเราทำงานที่มีใบไม้เยอะ พอเดินออกมาจากห้องเราเห็นกองใบไม้เต็มหน้าห้องทุกวัน แล้วเรามักจะไปยืนอยู่ตรงนั้นบ่อยๆ สุดท้ายเราเพิ่งรู้ว่าพื้นหลังเขรอะขระ มันคือเท็กซ์เจอร์ของใบไม้ ที่ตัวเราเองซึมซับมาตลอดเวลาที่ไปยืนตรงนั้นโดยไม่รู้ตัว เราร้องไห้เลยตอนที่ตอบตัวเองได้ว่าเราเขียนสิ่งนี้ทำไม บางอย่างที่เราเขียนออกไป เราอธิบายไม่ได้หรอก แต่มันคือสิ่งใกล้ตัวที่เราได้สัมผัส 

จริงๆ แล้วเราทุกคนมีคำตอบอยู่ลึกๆ ทุกอย่างมีที่มาที่ไปแน่นอน ไม่ต้องคิดมากเลย แค่เรารับรู้อะไรมา อยากถ่ายทอดอะไรออกไป เราซาบซึ้งกับมันแล้วเราจะเสนอออกมาได้ดีในแบบของเรา เราเขียนออกไปแล้วคิดเสมอว่าเขาจะรู้สึกเหมือนเราไหม ช่วงแรกเรารู้สึกแย่ ร้องไห้เลยนะ ถ้าเขาไม่รู้สึกอย่างที่เรารู้สึก 

Out of the Woods 

เราพักจิบชาระหว่างบทสนทนา ชาที่อิ๋มเพิ่งรินให้ชื่อว่า ‘พุทธรักษ์’ ชื่อเดียวกับเธอ เป็นชาเบลนด์จากวัตถุดิบธรรมชาติที่ออกแบบมาจากเรื่องราวของเธอโดยเฉพาะ เธอเล่าคร่าวๆ ก่อนที่บทสนทนาจะพาเราไปแตะเรื่องนั้นทีเรื่องนี้ที จนกระทั่งมาหยุดอยู่ที่ประโยคหนึ่ง 

เมื่อก่อนมีคนบอกว่าเราอยู่ในป่า ต้องออกมาจากป่าได้แล้ว 

คนพูดเขาอยากให้เธอพักมือเขียนแล้วออกมาเจอผู้คนบ้าง เธอว่าอย่างนั้น 

หากเราเจอกันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เธออาจไม่ใช่อิ๋มอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เธอเล่าให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเธอเป็นมนุษย์ประเภทที่ว่า ‘ถ้าไม่มีใครถาม เธอก็จะไม่เอ่ยปากพูด’ ราวกับมนุษย์ที่ซ่อนตัวอยู่ในแมกไม้ ไม่ยอมออกมาสนทนากับใคร 

นอกเหนือจากลายเส้นคมกริบ เรื่องเล่าในงานที่ลุ่มลึกขึ้นทุกวัน อิ๋มคนตรงหน้าที่กำลังพูดคุยกับเราอย่างฉะฉานในวันนี้ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าเธอเติบโตขึ้นแล้วจริงๆ 

เมื่อก่อนเราอยู่กับตัวเองเกินไป ไม่อยากคุยกับใคร เขียนเสร็จ ซื้อขายแล้วจบ ฉันไม่อยากคุยกับคนแล้ว แต่ความจริงศิลปินก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ที่ต้องสื่อสารกับคน แต่ก่อนเราไม่ชอบคุย แต่ตอนนี้เราไม่ได้ชอบหรือไม่ชอบ แต่เข้าใจแล้วว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แล้วงานของเราก็พาเราไปสื่อสารกับคน 

งานทำให้เราคุยกับคนและฟังคนอื่นมากขึ้นด้วย เราไม่ได้ปิดตัวเอง เราฟังให้กว้าง ดูโลกให้กว้าง ยังไงธรรมชาติก็เป็นสื่อกลางให้เราอยู่แล้ว เราไม่ใช่คนสื่อสารเก่ง หรือพูดภาษาอังกฤษเก่ง แต่คนเขาก็เดินทางมาหาเรา พูดคุยกับเราได้ผ่านงานศิลปะ เราเจอคนที่มาซื้องาน เขาเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เป็นคนอีกกลุ่มแบบที่เราไม่เคยสัมผัส เราฟังคนที่ทำอาชีพอื่นๆ ด้วย แม้จะไม่ได้ทำงานเหมือนกัน แต่บางทีเราอาจจะได้แรงบันดาลใจจากเขาก็ได้ 

เราว่าสิ่งนี้คือการเติบโต” อิ๋มย้ำกับเรา 

นิทรรศการครั้งล่าสุดก็เกิดจากการที่เราเคยได้คุยกับคน เขามีปัญหาอะไรบ้าง รู้สึกอะไรบ้าง เราฟังแล้วรู้สึกว่า อ๋อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง เราก็เป็นเหมือนกัน เลยถ่ายทอดว่าลองใช้ธรรมชาติเป็นแรงขับเคลื่อนไหม เหมือนบทเพลงหนึ่งที่ส่งกำลังใจให้เขา เหมือนที่เราเคยใช้ธรรมชาติเป็นกำลังใจของเรา 

แต่การพาตัวเองออกจากป่าไปยืนท่ามกลางสปอตไลท์นั้นก็ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง 

พอนำเสนอออกไปในวงกว้าง เราก็เจอเอฟเฟคต์ตอบกลับมาอยู่แล้ว ถ้ามีคำถาม เราก็ต้องพร้อมที่จะตอบ เขียนออกมาแล้วเราต้องบอกเขาให้ได้ว่าเราเขียนอะไร เราต้องไม่ลืมจุดมุ่งหมายของเราในวันนั้นว่าเราอยากให้คนรับรู้สิ่งเดียวกับเรามากแค่ไหน 

คนในเชียงรายอาจรู้ว่าเราเขียนอะไร หมายความว่าอย่างไร แต่คนกรุงเทพฯ เขาไม่รู้ เราเลยต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อบอกให้เขารู้ว่าเรากำลังเขียนอะไรอยู่

 

แก้คำสาป ‘คนไร้ตา 

ไม่อยากให้คนคิดว่าเราเขียนแต่ภาพผู้หญิงไม่มีตา ต้องก้าวข้ามตรงนั้นไปให้ได้”  

อิ๋มเผยความคาดหวังลึกๆ ของเธอในตอนนี้ 

อิ๋มไม่เคยคิดมาก่อนว่าเอกลักษณ์ในงานของเธอคืออะไร อาจเป็นดอกไม้ พืชพรรณ ลายเส้น หรือ ‘คนไร้ตา’ ก็ได้ที่ทำให้ผู้คนจดจำเธอแบบนี้ แต่สำหรับอิ๋มแล้ว เธอกลับไม่หวังให้ใครจดจำสิ่งเหล่านั้นตลอดไป แต่อยากให้เงี่ยหูฟังว่าเธอกำลังจะพูดอะไร รอดูว่าเธอจะเล่าอะไรผ่านภาพวาด 

เรื่องที่อยากเล่ามีอีกมากมายมหาศาล เรายังไม่ได้เขียนพันธุ์พืชในโลกอีกตั้งเท่าไหร่ ตอนนี้เราเขียนไปได้แค่เสี้ยวเดียวเอง เราเขียนเรื่องธรรมชาติกับความรู้สึกไปได้จนตาย ถึงตายก็ยังเขียนไม่หมด

พูดไปแล้วเหมือนโม้เลย แต่มันจริงๆ นะ” อิ๋มเล่าปนหัวเราะเบาๆ เพราะกังวลว่าสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้อาจฟังดูไร้เหตุผล แต่สำหรับเราแล้วไม่เลย 

เวลาที่เราบันทึกดอกไม้ แมลง ผีเสื้อเราไม่ได้บันทึกแค่ชีวิตเขา แต่เราบันทึกลมหายใจของตัวเองด้วย เขาอาจไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว แต่ว่าเรายังอยู่ ยังมีลมหายใจอยู่ เราบันทึกลมหายใจของตัวเองลงไป มันคือความจริง ซึ่งความจริงอาจไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเขาเคยมีอยู่ 

บทสนทนายังคงไหลไปเอื่อยๆ จนน้ำชาในกาเหือดแห้ง กลิ่นกุหลาบและผิวส้มอ่อนๆ จากที่อวลอยู่ในโสตประสาทมาจากชาในถ้วย หรือไม่แน่อาจเป็นเพราะเรื่องเล่าจากศิลปินตรงหน้าเราก็เป็นได้.