life

“ตะปูที่โผล่หัวขึ้นมาจะต้องถูกตอกกลับลงไป”

เป็นสำนวนหนึ่งของญี่ปุ่นที่หมายถึงกลุ่มคนที่แตกต่าง และนั่นกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเมื่อเด็กๆ เกลียดชัง ‘ความแตกต่าง’ จนนำไปสู่การกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงในโรงเรียน

มนุษย์ขี้รังแกมีสาเหตุมาจากต้นตอเดียวกัน คือ การเลี้ยงดูที่บกพร่อง เมื่อย่างเข้าวัย 2 ขวบ เด็กจะเริ่มเอาแต่ใจตามธรรมชาติ หากพ่อแม่ไม่ยอมกำราบและปล่อยให้ก้าวร้าวจนได้ใจ ก็อาจทำให้เด็กเติบโตมากลายเป็นคนที่ชอบรังแกคนอื่นจนติดเป็นนิสัยในภายหลังได้

การศึกษาพบว่าเด็กขี้รังแกมักจะเลือกเหยื่อที่อ่อนแอกว่าและแสดงความหวาดกลัวออกมาชัดเจน การที่เหยื่อยินยอม ไม่ปริปากบ่น และทำตามทุกอย่างนั้น เหมือนเป็นการมอบรางวัลให้กับเด็กขี้รังแกไปโดยปริยาย เหตุผลที่ทำให้เด็กทำร้ายเด็กอีกคนจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าได้ตอบสนองความต้องการลึกๆ ในใจของตัวเอง

แต่นั่นก็ไม่เสมอไป เพราะบางครั้งต้นตอของความรุนแรงอาจเกิดจาก ความบีบคั้นของสังคม บางครั้งเราก็ทำร้ายกันเพียงเพราะเขาแตกต่างจากเรา

เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น หากคุณเป็นเด็กเรียนเก่ง เฉลียวฉลาด หรือหน้าตาทีที่สุดในห้อง ความโดดเด่นที่ดูเกินหน้าเกินตาเพื่อนคนอื่นนี้ นอกจากจะทำให้โดนหมั่นไส้แล้ว ยังอาจทำให้กลายเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งโดยไม่รู้ตัว

13 มกราคม 1993 ยูเฮ (Yuhei) เด็กชายวัย 13 ปีถูกพบว่าเสียชีวิตอย่างน่าสลดในโรงยิมของโรงเรียน นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุหรือการฆ่าตัวตายแต่กลับเป็นผลของการกลั่นแกล้งกันอย่างรุนแรงในโรงเรียน ยูเฮถูกเด็กชายกลุ่มหนึ่งกลั่นแกล้งมาเป็นเวลานาน เมื่อสืบหาเหตุผลจากเด็กกลุ่มนั้นก็พบว่าแรงจูงใจที่ทำให้พวกเขากลั่นแกล้งยูเฮก็เพียงเพราะว่า ‘เขาไม่เหมือนคนอื่น’

ยูเฮเกิดเป็นเด็กเรียนเก่ง มีความสามารถรอบด้าน อีกทั้งยังเกิดในครอบครัวมีฐานะ เขาเพิ่งย้ายมาอยู่ในเมืองชนบทอย่างยามากาตะได้ไม่นาน จึงไม่ได้พูดสำเนียงท้องถิ่นเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น ยูเฮแตกต่างและโดดเด่นกว่าใคร นั่นทำให้เขากลายมาเป็นเหยื่อของความรุนแรงในที่สุด

“การกลั่นแกล้งในประเทศญี่ปุ่นเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากเหยื่อมักเป็นเด็กที่มีฐานะดี เฉลียวฉลาดหรือเป็นเด็กที่กลับมาจากต่างประเทศ” โทมัส พี. โรห์เลน (Thomas P. Rohlen) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Japan’s High Schools’ กล่าว

การแกล้งกันของเด็กญี่ปุ่นที่รุนแรงเหมือนกรณีของยูเฮนั้น มีชื่อเรียกว่า ‘อิจิเมะ (Ijime)’ ซึ่งจะเป็นรูปแบบการกลั่นแกล้งที่ต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างชัดเจน คือ เหยื่อมักจะเป็นคนที่โดดเด่นและเด็กมักจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อรังแกคนคนเดียว

ดังที่ศาสตราจารย์ ยูอิจิ โทดะ (Yuichi Toda) จากมหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งโอซาก้ากล่าวว่า “นักเรียนญี่ปุ่นมักอ่อนไหวกับพฤติกรรมหรือรูปลักษณ์ที่แตกต่างเป็นพิเศษ” ไม่ว่าจะแตกต่างในด้านที่ดีหรือไม่ดีก็จะถูกจับตามอง แม้แต่นักกีฬาที่เป็นแชมป์ก็ยังมีโอกาสถูกรังแก เหมือนที่คนพูดๆ กันว่า “ตะปูที่โผล่หัวขึ้นมาจะต้องถูกตอกกลับลงไป”

นาโอะโกะ ทะกุจิ (Naoko Taguchi) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นแอริโซนา (Northern Arizona University) ระบุว่าความเป็นกลุ่มก้อนของประเทศญี่ปุ่นนั้นสั่งสมมาเรื่อยๆ หลักฐานแรกที่เห็นได้ชัดคือนโยบาย ซาโกะกุ (Sakoku) หรือการ ‘ปิดประเทศ’ ที่กินเวลายาวนานตั้งแต่ปี 1633 มาจนถึง 1868 โดยจะห้ามคนในออก ห้ามคนนอกเข้า ปฏิเสธวัฒนธรรมจากแผ่นดินอื่น อีกทั้งในภายหลังยังกำเนิด วัฒนธรรม ฮาจิ (Haji) หรือ วัฒนธรรมแห่งความอับอาย  ขึ้นมา ซึ่งสิ่งนี้พยายามปลูกฝังให้คนญี่ปุ่นเห็นคุณค่าของกลุ่มมากกว่าปัจเจกบุคคล ไม่กล้าทำอะไรที่ผิดแผกจากชาวบ้าน และมองความแตกต่างเป็นสิ่งที่สร้างความละอายใจ

ตัวอย่างสังคมญี่ปุ่นที่เชื่อในความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแรงกล้านั้น อาจทำให้คนที่แตกต่างถูกมองว่าเป็นเนื้อร้ายที่ต้องกำจัดออก

ปรากฏการณ์นี้อธิบายได้ด้วย ทฤษฎีการจัดการความหวาดกลัว (Terror Management Theory) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการป้องกันตัวเองทางจิตวิทยารูปแบบหนึ่ง กล่าวได้ว่าเมื่อคนเรารู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง หรือขาดอัตลักษณ์ เรามักจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับกลุ่มเพื่อให้รู้สึกมีตัวตน เมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก็จะทำให้รู้สึกสมบูรณ์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนยินดีจะทำตามจารีต ประเพณีและวัฒนธรรมของประเทศชาติ

การภูมิใจในความเป็นชาติหรือความสามัคคีนั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่นั่นอาจนำไปสู่การเป็นศัตรูกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อรักษาความมั่นคงและเหนียวแน่นภายในกลุ่มเอาไว้ และท้ายที่สุดแล้วอาจทำร้ายคนอื่นได้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไรเพราะเชื่อว่าเป็นการทำตามกฏที่เป็นมา

งานวิจัยยังระบุอีกว่าคนเราสามารถลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นลงได้อย่างง่ายดายหากใครคนนั้นทำผิดกฎหรือค่านิยมของสังคม นี่ป็นอีกด้านของสังคมที่ขึ้นชื่อเรื่องความสามัคคีอย่างเข้มข้นจนทำให้คนที่แตกแถวกลายเป็นอาชญากร และเป็นเหตุผลที่ทำให้คนที่แตกต่างมักตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในสังคม

อ้างอิง