เชื่อว่าหลายคนมีงานอดิเรกที่ตนหลงใหล ไม่ว่าจะเป็นการเย็บปักถักร้อย ทำครัวซอง อบเค้ก ปลูกต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งขึ้นชื่อว่างานอดิเรกแล้ว แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่งานหลัก แต่เป็นกิจกรรมที่ทำยามว่างเพื่อความเพลิดเพลิน
“ใช่ค่ะ นี่เป็นอีกพาร์ทที่เหมือนเป็นมุมสงบของตัวเอง เวลาว่างจากงานอื่นก็มักจะมาขบคิดกับงานนี้” ท้อ – จุฑามาส บูรณะเจตน์ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์แห่ง o-d-a (object design alliance) เล่าถึงความรู้สึกที่เธอมีต่องานอดิเรกอย่างการทำสบู่ธรรมชาติใช้เอง
จุฑามาสลองทำสบู่ใช้เองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ด้วยความที่เป็นคนชอบลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง ทำให้เมื่อถึงวัยหนึ่งที่เธออยากดูแลสุขภาพให้ครบองค์รวม มากกว่าแค่ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน เธอจึงเริ่มตระหนักถึงการเอาใจใส่อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายอย่างผิวหนัง ที่เคยถูกมองข้ามความสำคัญมานาน
“เราเริ่มต้นจากการดูแลเรื่องอาหารการกินก่อน ถึงค่อยมาเอะใจว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่ทั้งเราเองและคนส่วนใหญ่มองข้ามไปก็คือ การดูแลอวัยวะภายนอก เพราะเมื่อลองพิจารณาดีๆ แล้ว อวัยวะภายนอกอย่างผิวหนังถือเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย แต่เรากลับไม่ค่อยได้ดูแลมันเท่าที่ควร เลยเริ่มมองหาวิธีดูแลสุขภาพผิวด้วยการทำสบู่ใช้เอง
“ท้อเริ่มจากการซื้อไปเบสสบู่สำเร็จรูปมาลองทำก่อน จนพอได้ศึกษาไปเรื่อยๆ ก็พบว่า เราสามารถออกแบบสูตรสบู่ได้ด้วยตัวเอง โดยรูปแบบสบู่ที่สามารถทำได้เองที่บ้านมีหลายรูปแบบ ท้อแค่เลือกรูปแบบที่คิดว่าดีที่สุดมาทำ”
สบู่ทำจากน้ำมันธรรมชาติด้วยกรรมวิธี Handcraft Cold Process คือรูปแบบที่เธอหมายถึง โดยมีกระบวนการทำอย่างย่อ ดังต่อไปนี้
คัดเลือกน้ำมันธรรมชาติบริสุทธิ์มาใช้งาน เป็นได้ทั้งน้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันรำข้าว ฯลฯ ซึ่งล้วนมีสารอาหารบำรุงผิวตามธรรมชาติในตัวเองอยู่แล้ว นำน้ำมันธรรมชาติตัวที่เลือกใช้ มากวนเข้ากับน้ำกลั่นที่ละลายโซดาไฟไว้ และส่วนผสมจากธรรมชาติอื่นๆ เช่น น้ำซาวข้าว กาบมะพร้าวเผา นม ฯลฯ
กวนนาน 1-2 ชั่วโมงจนได้ที่ ก็นำมาเทลงในแม่พิมพ์ไม้ ทิ้งไว้นาน 24 ชั่วโมง เพื่อให้สบู่เซตตัวเป็นก้อนแข็ง จากนั้นนำสบู่ออกจากแม่พิมพ์มาหั่นให้เป็นก้อนขนาดพอดีใช้ แล้วนำไปพักบ่มด้วยการวางไว้ในสถานที่มีอากาศถ่ายเท ห้ามโดนแสงแดด นาน 4-8 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดกระบวนการปรับลดค่า pH ในสบู่ และเกิดกลีเซอรีนขึ้นตามธรรมชาติ
ระยะเวลาในการพักบ่มสบู่ขึ้นอยู่กับส่วนผสมที่ใช้ เช่น ถ้าเลือกใช้น้ำมันมะกอก 100% ก็จะต้องใช้เวลาพักบ่มนานถึง 1 ปี กว่าจะได้สบู่ธรรมชาติสูตรที่ดีที่สุด ส่วนถ้าผสมน้ำมันอื่นๆ ลงไป เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันรำข้าว ก็จะใช้เวลาในการพักบ่มที่น้อยลง
สบู่จะให้ฟองนุ่มขึ้น ละเอียดขึ้น หรือให้ค่าชำระล้างที่อ่อนโยนขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมที่ใช้และระยะเวลาในการพักบ่มนี่เอง ซึ่งจุฑามาสบอกว่ารายละเอียดทั้งหมดที่อาจจะดูยุ่งยาก และต้องใช้เวลานานเกินรอสำหรับหลายคน กลับเป็นความสนุกในทุกขั้นตอนการลงมือทำ ที่ทำให้เธอมีความสุขกับงานอดิเรกชิ้นนี้ และไม่เคยถอยห่างออกจากการทำสบู่เลยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
“การทำสบู่ธรรมชาติเต็มไปด้วยลำดับขั้นตอนที่ทำให้เรารู้สึกว่า กว่าจะออกมาเป็นสบู่หนึ่งก้อน มันมีคุณค่าในตัวเองนะ พอเรารู้สึกว่าสบู่ก้อนนี้มีคุณค่า เรารู้ที่มาที่ไปทุกกระบวนการ ทำให้เราใช้สิ่งนี้อย่างรู้คุณค่าและรู้สึกผูกพันกับของที่เราทำใช้เอง” จุฑามาสเรียบเรียงความรู้สึกที่ตนมีต่อสบู่ทำมือ
หลังจากลองทำสบู่ก้อนไว้ใช้เองและให้คนในครอบครัวใช้นาน 2 ปี จุฑามาสก็เริ่มงัดจิตวิญญาณของความเป็นนักออกแบบมาใช้งาน ด้วยการบรรจงหยอดความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเติมผ่านสารพันวัตถุดิบต่างๆ เกิดเป็นสบู่ธรรมชาติหลายสูตรที่ใส่ส่วนผสมจากธรรมชาติเข้าไปแบบจัดเต็ม
เธอตั้งชื่อให้กับสบู่ก้อนที่ทำเองกับมือว่า Seriously Hobby งานอดิเรกที่จริงจังไม่ใช่เล่น จนกลายเป็นสินค้าที่ขายได้ในที่สุด
หลังจากผ่านการนำหลากหลายวัตถุดิบจากธรรมชาติมาทำสบู่สูตรแล้วสูตรเล่า ล่าสุด Seriously Hobby เพิ่งออกสบู่ก้อน 4 สูตรใหม่ ที่มีความเกี่ยวพันกับอาหารการกิน มาเป็นตัวเลือกสำหรับคนที่อยากใช้ธรรมชาติบริสุทธิ์ในการบำรุงผิวกาย
“ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา นอกจากท้อจะทำสบู่ใช้เองมาโดยตลอดแล้ว ยังเรียนรู้ด้านอื่นๆ ไปด้วย เช่น การหมักอาหารกินเอง เลยเห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำวัตถุดิบเหล่านั้นกลับมาใช้ในสูตรสบู่ เลยออกแบบสบู่สูตรใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับอาหารที่เราทำกินเอง”
ข้าวหมาก คอมบูฉะ และคีเฟอร์ คืออาหารที่เธอทำกินเองในครัวเรือน ทำให้อาหารเหล่านี้ก็กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการปรุงสบู่สูตร 01-04 ที่เหมาะกับแต่ละช่วงเวลาของวัน ตั้งแต่ ‘สดชื่นเมื่อตื่นเช้า เข้านอนอย่างผ่อนคลาย บำรุงผิวกายพร้อมอาบน้ำ และเย็นสบายหลังออกกำลังกาย’
“ด้วยความที่ชอบทำข้าวหมากกินเองอยู่แล้ว เลยอยากลองนำน้ำซาวข้าวเหนียว ที่พอแช่ไปนานๆ หลายชั่วโมงแล้วมีลักษณะเหมือนน้ำนมข้าวมาทำสบู่ ซึ่งพอไปหาข้อมูลก็พบว่าคนโบราณนิยมใช้น้ำซาวข้าวมาล้างหน้าตอนเช้า ท้อเลยลองเอามาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำสบู่ล้างหน้าสูตรอ่อนโยนเป็นพิเศษ และไม่มีกลิ่น ให้ชื่อว่า Morning Soap” เธอประเดิมเล่าถึงสบู่สูตร 01 ตามมาด้วยสูตร 02 และ 03 ที่เกิดวัตถุดิบที่เห็นอยู่ทุกวันจากการทำสารพันเครื่องดื่มไว้กินเอง
“ช่วงที่ผ่านมา เราลองหมักเครื่องดื่มต่างๆ เอง เช่น คอมบูฉะ จิงเจอร์เบียร์ นมเปรี้ยวคีเฟอร์ ฯลฯ เลยนึกสนุก นำวัตถุดิบเหล่านี้เข้าไปเบลนด์ในสบู่ โดยต้องหาข้อมูลก่อนให้แน่ใจก่อนว่า ควรใส่ของสดเข้าไปในสบู่ธรรมชาติกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะได้สูตรที่พอดี อย่างคอมบูฉะจะมีแผ่นสโคบี้ (scoby) หรือแบคทีเรียและยีสต์ที่มีเนื้อละเอียดนุ่มอยู่แล้ว จึงมีคุณสมบัติของความเป็นสครับไปในตัว เราแค่ผสมลาเวนเดอร์เข้าไปเพื่อเติมคุณสมบัติในการทำความสะอาดผิว และให้กลิ่นหอมอ่อนๆ เหมาะกับช่วงเวลาก่อนเข้านอน” สบู่ก้อนนี้จึงมีชื่อว่า Night Time Soap สมสรรพคุณ ตามมาด้วย Nourishing Soap สบู่ที่เน้นคุณค่าในการบำรุงผิวจากนมเปรี้ยวคีเฟอร์
“เราเห็นว่าในท้องตลาดมีสบู่ที่ทำจากนมแพะหรือนมวัวเยอะแล้ว เราทำนมคีเฟอร์กินเอง ก็ควรทำสบู่คีเฟอร์นี่แหละ เพราะนมคีเฟอร์ก็มีสารอาหารบำรุงผิวไม่แพ้นมสด แล้วเราก็เพิ่มสีสันเข้าไป โดยเลือกสีเขียวจากโคลนเขียวฝรั่งเศส (French Green Clay) ซึ่งเป็นโคลนธรรมชาติที่ใช้พอกบำรุงผิวอยู่แล้ว ผสมกับสาหร่ายสไปรูไลน่าอีกเล็กน้อยให้ได้คุณค่าและสีเขียวที่เป็นเอกลักษณ์มากขึ้น” นอกจากนี้ จุฑามาสยังเติมกลิ่นหอมอ่อนๆ จากเปลือกผลมะกรูดผสมกับเปลือกไม้กำยานและดอกจำปาเข้าไปเสริมเอกลักษณ์ให้สบู่สีเขียวอ่อนก้อนนี้
ส่วนสบู่หมายเลข 04 เกิดจากไอเดียที่จุฑามาสอยากทำสบู่สีดำ แต่ไม่อยากใช้ผงถ่านสำเร็จรูปเป็นวัตถุดิบ เพราะจะไปค้านกับโจทย์ตั้งต้นในใจที่เธออยากใช้วัตถุดิบที่ประกอบขึ้นด้วยมือตัวเองเท่านั้น
“เราอยากสร้างผงถ่านด้วยตัวเอง เลยใช้หลักการสร้างผงถ่านจากการทำขนมเปียกปูน ที่คนโบราณเอากาบมะพร้าวมาเผา แล้วเอาไปยีๆ ก่อนผสมน้ำปูนใส แต่ในการทำสบู่ เราไม่ใช้น้ำปูนใส แต่ใช้น้ำกลั่น โชคดีที่บ้านอยู่ใกล้ร้านขายกะทิ ซึ่งปกติเราไปซื้อกะทิมาทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นใช้เองอยู่แล้ว เลยขอเปลือกมะพร้าวกลับมาด้วย เพื่อเอามาเผาทำผงถ่านใส่ลงไปในสบู่ โดยเราออกแบบให้เป็นสบู่สูตรเย็น จึงผสมเมนทอลลงไปด้วย เพื่อให้เหมาะกับอากาศร้อนๆ อย่างบ้านเรา และเหมาะสำหรับใช้หลังออกกำลังกาย” และนี่คือที่มาของ After Workout Soap สบู่หมายเลข 04 ที่เติมสีสันของสบู่ก้อน Seriously Hobby คอลเล็กชั่นใหม่จนครบสมบูรณ์
“เราพยายามเบลนด์วัตถุดิบใกล้ตัวเข้าไปในสบู่ทุกสูตร เพราะตัวเราเองอยากรู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวสบู่ การทำสบู่ของเราก็เหมือนการทำผลงานออกแบบชิ้นนึงเหมือนกัน อย่างเวลาเราออกแบบเก้าอี้หรือเฟอร์นิเจอร์ก็เป็นอีกสื่อนึง ส่วนสบู่ก็เป็นสื่อที่แสดงถึงของใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การที่เรามาทำงานสบู่ก็ยังหยิบเอาแนวคิดของนักออกแบบมาปรับใช้ได้ เป็นการเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไปในสูตรสบู่ที่เราทำ
“โปรเจคท์สบู่ก็ให้การเรียนรู้กับเราเหมือนกัน เราได้เรียนรู้ขั้นตอนการลงมือทำสบู่ตั้งแต่ต้นจนจบ ออกแบบแพ็กเกจจิ้งกันเอง หาช่องทางการขายเอง ดีลกับลูกค้ากันเอง ซึ่งกลับกลายเป็นพาร์ทที่เป็นมุมสงบของพวกเรา” เธอกำลังพูดถึงอีกหนึ่งแรงแข็งขันอย่าง ดุ๋ย – ปิติ อัมระรงค์ ผู้เป็นทั้งหุ้นส่วนชีวิต และอีกหนึ่งสมาชิกนักออกแบบแห่ง o-d-a ที่รับผิดชอบออกแบบแพ็กเกจจิ้งของ Seriously Hobby ทั้งหมด
“ปัจจุบันเราก็ยังทำงานออกแบบกันอยู่ ซึ่งต้องดีลกับคนเยอะ เช่น ลูกค้า โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ในขณะที่ขั้นตอนการผลิตสบู่ เราไม่ต้องดีลกับใครเลย เราได้อยู่กับตัวเอง เคยนึกเหมือนกันว่า ทำไมเราถึงยังทำสบู่อยู่ คงเป็นความรู้สึกภูมิใจในตัวเองว่าเราทำสิ่งนี้ได้ มันได้พิสูจน์ให้คนรอบข้างได้เห็นแล้วว่า เราได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา ซึ่งเป็นพลังที่ดีที่เป็นแรงผลักดันให้เราอยากทำสบู่ต่อไปเรื่อยๆ” จุฑามาสวิเคราะห์ความหลงใหลในงานทำมือของตัวเอง
“เท่าที่ผมสังเกตการทำสบู่ของท้อ ผมสัมผัสได้ว่า แม้จะเป็นการลงมือทำอะไรง่ายๆ แบบบ้านๆ แต่มันสามารถเข้าถึงคุณค่าที่ดีที่สุดได้ ซึ่งมันกลับกันกับการทำเฟอร์นิเจอร์เลยนะ” ปิติร่วมวงแสดงความคิดเห็น
“ในการทำเฟอร์นิเจอร์ โรงงานใหญ่ๆ เท่านั้นถึงจะสามารถผลิตชิ้นงานที่ดีกว่าออกมาได้ เพราะมีอุปกรณ์เครื่องมือที่พร้อมกว่า ถ้าจะมานั่งตอกเก้าอี้ประกอบเองด้วยมือที่บ้านก็จะได้งานสเกลเล็กๆ แต่สำหรับการทำสบู่ คนตัวเล็กๆ กลับสามารถทำสบู่ที่มีคุณภาพดีกว่าสบู่จากโรงงานใหญ่ๆ เพราะโรงงานไม่สามารถมาพิถีพิถันใส่ใจในวัตถุดิบหรือขั้นตอนการทำได้ขนาดนี้ เราก็เลยรู้สึกเหมือนเป็นผู้ชนะ เพราะเราให้เวลา ให้ไอเดีย ให้เครื่องเคราได้เต็มที่ ทำให้เรายิ่งรู้สึกภาคภูมิใจ” สองผู้ชนะที่ลงมือทำงานอดิเรกอย่างจริงจัง ปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม
- Facebook: Seriously Hobby
- Instagram: Seriously Hobby
- โทร. 08 1629 7299