“..นายนึกถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องไปทำอะไร นายทำงาน”
‘Ars longa, vita brevis.’ ประโยคภาษาลาตินที่แปลเป็นไทยได้ว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”
ข้อความที่นิยามความหมายของคำว่าศิลปะของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ “อาจารย์ฝรั่ง” ถูกติดไว้ที่หน้าประตูทางเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่าพระจันทร์
เมื่อเดินพ้นประตูเข้ามา ก็พบกับงานปฏิมากรรมที่ตั้งแสดงไว้ตรงกลางของห้อง และยังมีผลงานศิลปกรรมของลูกศิษย์ที่ต่อมากลายเป็นศิลปินระดับประเทศติดไว้อยู่ทั่วผนัง อาทิ เฟื้อ หริพิทักษ์ ชลูด นิ่มเสมอ เขียน ยิ้มศิริ ฯลฯ
ถัดลงมามีตู้กระจกสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางขวามือ ข้างในมีสิ่งของเครื่องใช้รวมถึงแว่นตาทรงกลมที่คุ้นเคยของอาจารย์ฝรั่ง ใกล้ๆ กันเป็นถาดสีที่เปรอะเปื้อนจากแรงสะบัดของปลายพู่กันที่แห้งมานานหลายสิบปี
หากมองดีๆ แล้ว ถาดสีนั้นคล้ายกับภาพเขียนที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่กลับเป็นภาพที่สวยงามที่สุดภาพหนึ่งของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย
แสงที่สาดมาจากหน้าต่างบานใหญ่ทำให้อีกห้องนึงที่เคยเป็นห้องทำงานของอาจารย์ศิลป์ที่ไร้ชีวิตกลับมีมิติขึ้นมา ภายในห้องมีตู้เก็บหนังสือ งานปฏิมากรรม ภาพเขียน ฯลฯ ถูกจัดวางอยู่ รวมถึงเครื่องพิมพ์ดีดที่วางอยู่บนโต๊ะไม้ยาว ข้างๆ กันมีความทรงจำที่ถูกบันทึกด้วยภาพถ่ายขณะอาจารย์ฝรั่งกำลังนั่งพิมพ์ดีดอยู่บนโต๊ะตั้งอยู่ ไม่ไกลมีรูปปั้นพระพักตร์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ที่ท่านปั้นทิ้งไว้ก่อนที่จะเสียชีวิต
“พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงคำตักเตือนให้เรารู้จักคุณค่าของศิลปวัตถุ…แต่เป็นคำเตือนใจกลางๆ ไม่ให้ประมาท…ไม่ทอดทิ้งกาลเวลาอันมีค่า” เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) กล่าวถึงคำสอนของอาจารย์ฝรั่งที่มีต่อลูกศิษย์ไว้ในหนังสือ ‘อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์’ เมื่อพ.ศ.2527
แม้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จากไปแล้วเกือบ 57 ปี แต่สิ่งสำคัญที่มีค่ามากกว่าสิ่งของต่างๆ ก็คือคำสอนที่ท่านได้ทิ้งไว้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ดังประโยคที่อาจารย์ฝรั่งเคยบอกกับลูกศิษย์ในช่วงท้ายของชีวิตว่า “…นายนึกถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องไปทำอะไร นายทำงาน”