แม้จะเป็นกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำทุกสิ้นปี แต่เชื่อเถอะว่ามีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการของการยื่นภาษีแบบถึงแก่น ทำให้มักจะเกิดเหตุผิดพลาดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ยื่นภาษีไม่ครบบ้าง หักลดหย่อนได้ไม่เต็มที่บ้าง หรือได้ภาษีคืนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็มี
ตอนนี้ยังเหลือเวลาอีก 1 เดือนก่อนหมดปี เราเลยอยากชวนคุณมาตั้งหลักกับโค้งสุดท้ายในการเตรียมตัวให้พร้อมในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พ.ศ. 2563 ที่จะต้องทำการยื่นภายในเดือนมีนาคม 2564
อย่างน้อยก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปต่อคิวในธนาคารตอนสัปดาห์สุดท้ายของปี เพื่อตาลีตาเหลือกซื้อกองทุน RMF, SSF ฯลฯ มาหักลดหย่อนภาษีแบบเส้นยาแดงผ่าแปด โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลความคุ้มค่าหรือความเสี่ยงใดๆ ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี
หลายคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน อาจเกิดความสงสัยว่าตนต้องยื่นภาษีหรือไม่ แนะนำให้ดูกันเป็นรายปี ปีไหนใครมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องยื่นภาษี ไม่ว่าคุณจะมีรายได้ที่แน่นอนหรือไม่ก็ตาม ล้วนต้องทำหน้าที่ประชาชนที่ดีด้วยการยื่นภาษีโดยทั่วกัน
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทในปีนั้น ต้องยื่นภาษี แม้จะไม่ต้องเสียภาษีก็ตาม
ส่วนคนที่ไม่ได้มีรายรับจากเงินเดือน แต่เป็นรายได้ประเภทอื่น หากในปีนั้นๆ คุณมีรายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี ก็ต้องยื่นภาษีเช่นกัน
ในกรณีที่คุณไม่เคยมั่นใจเอาเสียเลยว่าแต่ละปีตัวเองมีรายได้เท่าไรกันแน่ อยากให้เริ่มเตรียมตัวกันใหม่ตั้งแต่ต้นปีหน้า ด้วยการแยกบัญชีธนาคารเป็นบัญชีรับรายได้ เมื่อได้เงินจากจ๊อบไหนก็ตามให้ฝากเข้าบัญชีนี้เท่านั้น เพียงเท่านี้คุณก็จะรู้ว่าตลอดทั้งปีตัวเองมีรายได้เท่าไร
ส่วนรายได้ของงานที่มาพร้อมใบหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ให้รวบรวมใบหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ครบทุกใบ เพราะนี่เป็นเอกสารยืนยันการมีรายได้ของคุณ ซึ่งถ้ายิ่งตรงกับตัวเลขรายได้ที่เข้าไปในบัญชีธนาคารด้วยยิ่งดี
ถ้าเป็นไปได้ให้ทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายไว้เสมอ ทำให้ติดเป็นนิสัย เพราะวินัยในการจัดการทางการเงินที่ดีจะเป็นรากฐานของความมั่งมีในอนาคต
จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องจ่ายภาษีกี่บาท
คำถามยอดนิยมสำหรับผู้ไม่สันทัดการยื่นภาษี ก็คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องจ่ายภาษีกี่บาท
ตอบแบบสมการที่เข้าใจง่ายได้ว่า เงินภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
คำถามที่ตามมาติดๆ คือ เงินได้สุทธิคำนวณจากอะไร
คำตอบก็คือ เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
จะเห็นได้ว่ามีคีย์เวิร์ดต้องสงสัยอยู่ 2 คำ คือ อัตราภาษี และค่าลดหย่อน โดยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปีภาษี 2560 นั้น จะแบ่งอัตราภาษีออกเป็น 8 ขั้นบันได เริ่มตั้งแต่ผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ไปจนถึงผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 5,000,001 บาทต่อปีขึ้นไป ที่ต้องจ่ายภาษีในอัตรา 35%
ลองคำนวณเงินได้ตลอดทั้งปีของตัวเองดู แล้วเช็คจากตารางนี้ ว่าคุณอยู่ในฐานอัตราภาษีกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโดยปกติแล้วมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาทต่อปี จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 10%
ดังนั้น คนที่ยิ่งขยัน หาเงินเก่ง รายได้สูงมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องจ่ายภาษีหนักมือมากขึ้นเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการทำทุกวิถีทางให้มาซึ่งการหักลดหย่อน ที่อาศัยความสามารถของผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากหลากหลายช่องทาง
‘ช้อปดีมีคืน’ แน่ แค่อย่าลืมขอใบกำกับภาษี
เฉพาะ พ.ศ. 2563 นี้ ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ 2 โครงการ ได้แก่ คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน เพื่อเชิญชวนให้คนไทยออกมาจับจ่ายใช้เงินในกระเป๋าให้มากขึ้น โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิ์ได้คนละ 1 โครงการเท่านั้น ดังนั้น ใครที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ในโครงการคนละครึ่งไปแล้วก็หมดสิทธิ์ที่จะช้อปดีมีคืน
โครงการ ช้อปดีมีคืน เป็นมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้เสียภาษี โดยมีเป้าหมายที่ผู้มีรายได้ระดับปานกลางและรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle Income) ในการซื้อสินค้าและได้สิทธิลดหย่อนภาษี เพียงนำใบกำกับภาษีจากการซื้อสินค้าในประเภทที่โครงการกำหนดมาลดหย่อนได้ในอัตราภาษีที่ต้องจ่าย สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
ด้วยความที่โครงการ ช้อปดีมีคืน เน้นกระตุ้นการบริโภคและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี หรือผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT ทั้งยังส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น และส่งเสริมการอ่าน ดังนั้น สินค้าและบริการที่ใช้ลดหย่อนภาษีตามโครงการนี้จึงได้แก่ สินค้าและบริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าท้องถิ่น OTOP และหนังสือ (ไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน ทองคำแท่ง ค่าทำศัลยกรรม ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร)
ประเมินคร่าวๆ สำหรับผู้ที่เสียภาษีอัตรา 10% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
โครงการ ช้อปดีมีคืน เริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563 ดังนั้น ยังพอมีเวลาในการขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบจากผู้ขายทุกครั้งที่ซื้อสินค้า
อย่าลืมว่าต่อให้เก็บบิลหรือใบเสร็จรับเงินไว้จนเต็มกระเป๋าสตางค์ ก็เอามาใช้ยืนยันหลักฐานในการยื่นภาษีไม่ได้ ต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบเท่านั้น
‘ครอบครัว’ คือตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีชั้นดี
นอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท ที่ผู้มีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการจะได้รับสิทธินี้โดยทั่วกันแล้ว คนมีคู่อาจจะรู้กันอยู่แล้วว่า คนที่มีคู่สมรส (ตามกฎหมาย) ที่ไม่มีเงินได้ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดถึง 60,000 บาท หรือถ้าต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ก็จะหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 120,000 บาท
นอกจากนี้ ยังหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตรได้อีกคนละ 30,000 บาท กี่คนก็ได้ รวมถึงใครที่รับอุปการะบุตรบุญธรรมก็หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาทเช่นกัน (แต่ไม่เกิน 3 คน)
ส่วนคนโสดหรือไม่โสดก็ตาม ที่เลี้ยงดูพ่อแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (โดยที่พ่อแม่ต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีนั้นๆ) สามารถลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท แต่ถ้ามีพี่น้องหลายคนต้องเคลียร์กันดีๆ เพราะจะมีลูกเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้สิทธินี้ไปครอง
นอกจากนี้ ใครที่ซื้อบ้านหรือคอนโด ยังสามารถหักดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
อย่าซื้อประกันชีวิตโดยหวังผลแค่ลดหย่อนภาษี
ต่อให้คนที่มีความรู้เรื่องการยื่นภาษีน้อยที่สุดก็น่าจะพอเคยได้ยินมาว่า การซื้อประกันช่วยในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ หลายคนจึงซื้อๆ ประกันไปอย่างนั้น เพราะคิดว่าซื้อประกันอะไรก็ลดหย่อนได้เหมือนกัน
แต่ที่จริงแล้ว การซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีควรพิจารณาถึงประโยชน์การคุ้มครองของประกันที่ตัวเองจะได้รับเป็นหลักด้วย โดยประกันชีวิตที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ แบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลักๆ ที่จำแนกตามความจำเป็นของแต่ละบุคคลได้ ดังนี้
- เน้นคุ้มครองชีวิต ให้เลือกซื้อประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือประกันชีวิตชั่วระยะเวลา
- เน้นออมเงิน ให้เลือกซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (กรณีอยากออมเงินธรรมดา) หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ (กรณีอยากออมเงินเพื่อเกษียณ)
- ออกแบบเอง ควรเลือกซื้อประกันชีวิตควบการลงทุน
เช่น ประกันเงินออม เหมาะกับคนที่เพิ่งทำงานใหม่ๆ อาจจะมีเป้าหมายในการเก็บเงินสำหรับซื้อบ้านในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ไม่เน้นการคุ้มครองเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เพราะอยู่ในวัยที่ยังไม่มีภาระต้องรับผิดชอบอยู่ข้างหลัง เป็นต้น
ดังนั้น คุณจึงควรพิจารณาจากความจำเป็นที่แท้จริงว่าต้องการทำประกันชีวิตไปเพื่ออะไร
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะซื้อประกันชีวิตแบบไหนก็ตาม เฉพาะกรมธรรม์ประกันชีวิตอายุ 10 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้
กองทุนรวม ร่วมด้วยช่วยลดหย่อน
อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษี ได้แก่ การซื้อกองทุนรวมต่างๆ ทั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีที่แตกต่างกันออกไป
หลักการสำคัญของการลงทุนด้วยกองทุนรวม ไม่ใช่มุ่งหวังแค่การลดหย่อนภาษีเท่านั้น (ซึ่งที่จริงเป็นเพียงผลพลอยได้ด้วยซ้ำ) แต่ควรนึกถึงกำไรหรือผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนเป็นหลัก โดยในระยะยาว มูลค่าของกองทุนจะแตกต่างกันไปตามสินทรัพย์ที่ผู้ลงทุนเลือก และความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนจะรับได้
สำหรับ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นั้นเพิ่งออกมาใหม่ในปี 2563 ถูกออกแบบมาเพื่อคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้สักพัก และต้องการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้า จึงมีเงื่อนไขในการถือครองที่ยาวนาน 10 ปีเต็ม
หลายคนเลือกกองทุน SSF เพื่อเก็บเงินก้อนไว้ใช้ในแต่ละปี (ทยอยสะสมทุกปี) เผื่อไว้เป็นเงินสำรองที่อาจต้องใช้ยามฉุกเฉินในอีก 10 ปีข้างหน้า และกองทุน SSF สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และต้องถือครองไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี (นับจากวันที่ซื้อแบบปีชนปี ไม่ใช่ปีปฏิทิน)
ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก็มีวัตถุประสงค์ตรงตามชื่อ คือ เป็นกองทุนที่เหมาะเก็บกินยาวๆ จนถึงวัยเกษียณอายุการทำงาน โดยกองทุน RMF สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 500,000 บาท ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น SSF หรือ RMF ต่างก็มีตัวเลือกของกองทุนที่ถูกออกแบบมาสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผู้ที่สนใจตัวเลือกในการหักลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนรวม ควรศึกษากองทุนแต่ละตัวว่ามีนโยบายการลงทุนแบบไหน มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ฯลฯ
และสำคัญที่สุดคือ การลงทุนที่ดีต้องอาศัยระยะเวลาและวินัยที่สม่ำเสมอ ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และการบริหารจัดการการเงินของตัวเองให้ดี เพื่อแบ่งเงินมาลงทุนกันแบบยาวนานข้ามทศวรรษ
ให้แอพฯ ช่วยคำนวณ
ถ้าทั้งหมดที่สาธยายมายังดูยุ่งยากยุบยับเกินไป แนะนำให้ยืมมือแอปพลิเคชันเข้าช่วย โดยแอพฯ ที่ถือเป็นยืนหนึ่งเรื่องการวางแผนการยื่นภาษี ได้แก่ iTAX Pro ที่แค่โหลดมาติดมือถือไว้ แล้วกรอกตัวเลขของรายได้ประจำปี และรายการลดหย่อนภาษีลงไป แอพฯ ก็จะคำนวณภาษีมาให้เสร็จสรรพ
นอกจากนี้ แอพฯ ยังมีคำแนะนำในการวางแผนด้านการลดหย่อนภาษี ที่จะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าคุณต้องเสียภาษีเท่าไร ใช้สิทธิหักลดหย่อนไปแล้วเท่าไร ยังเหลือช่องว่างที่คุณสามารถลดหย่อนได้อีกมากน้อยแค่ไหน หรือลดหย่อนจนเต็มแม็กซ์แล้ว เพื่อให้ง่ายต่อการเตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563 ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อ้างอิง
- ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์.ช้อปดีมีคืน.https://bit.ly/3m9fWPq
- กรมสรรพากร.ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?.https://bit.ly/3lh1pA5
- กรุงเทพธุรกิจออนไลน์.เทคนิคเลือกซื้อ ‘ประกัน’ เพื่อ ‘ลดหย่อนภาษี’ ให้คุ้ม ทั้งดูแลชีวิตและประหยัดภาษี.https://bit.ly/3l6Rn49
- TAXBugnoms.การประหยัดภาษีที่ดีต้องมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีด้วย.https://bit.ly/36bmR5e