life

ถ้าพูดถึง #ความไม่เท่าเทียม ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาคุณนึกถึงอะไร?

สำหรับบางคนอาจเป็นตอนที่ต้องทำงานบ้านทั้งหมดเพียงคนเดียว เพราะแม่บอกว่านี่เป็นงานของผู้หญิง ในขณะที่พี่ชายนอนเล่นเกมสบายใจเฉิบ หรือเป็นตอนที่คุณรู้สึกว่าโรงเรียนมัธยมในต่างจังหวัดที่คุณเรียนอยู่ ไม่ได้สอนอย่างครอบคลุมพอที่จะทำให้คุณสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยดีๆ ของประเทศได้

เราทุกคนเผชิญหน้ากับ ‘ความไม่เท่าเทียม’ อยู่ตลอดเวลา และอาจมองเห็นมันได้ชัดเจนกว่าหากคุณเป็นฐานของพีระมิดเป็นผู้สูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

ความไม่เท่าเทียมเกิดจากอะไร?

สาเหตุของความไม่เท่าเทียมนั้นมีความซับซ้อน บางส่วนมีรากฐานมาจากวัฒนธรรม บางส่วนเป็นผลจากอำนาจนิยมแบบเก่าๆ และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

หากจะมองหาต้นตอ ไม่ต้องสืบลึกไปไหนไกล เพราะความไม่เท่าเทียมเกิดจากสัญชาติญาณของมนุษย์ผู้เป็นยอดนักแบ่งนั่นเอง เมื่อต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม เราก็เริ่มแบ่งชนชั้น มีหัวหน้า มีประชาชน มีคนรับใช้ นั่นเป็นบ่อเกิดของความไม่เท่าเทียมในสังคมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

นอกจากลำดับชนชั้นแล้ว เมื่ออีกกลุ่มคนไปเจอกับอีกกลุ่มคนที่มีความแตกต่างจากพวกพ้องของตัวเอง ก็ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติซึ่งเป็นที่มาของความไม่เท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ สีผิว การศึกษา รายได้ ฯลฯ นั่นยิ่งย้ำให้เส้นแบ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และยังคงเกิดการแบ่งแยกเช่นนั้นมาอีกหลายๆ ยุค เช่น การเหยียดสีผิว ที่เอื้อให้คนผิวขาวได้รับสิทธิประโยชน์ โอกาส และทรัพยากรที่มากกว่าคนผิวดำ

ความไม่เท่าเทียมมีอยู่ แบบ คือ ความไม่เท่าเทียมด้านเงื่อนไข (Inequality of conditions) และ ความไม่เท่าเทียมกันด้านโอกาส (Inequality of opportunities)

ความไม่เท่าเทียมด้านเงื่อนไข – คือความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ ความมั่งคั่ง และการครอบครองวัตถุ เช่น คนรวยก็จะมีหน้ามีตา มีอำนาจในการต่อรองมากกว่าคนจน ความเหลื่อมล้ำเป็นเงื่อนไขใหญ่ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

ความไม่เท่าเทียมด้านโอกาส – คือโอกาสในชีวิตที่ไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สุขภาพ ไปจนถึงการโดนศาลเลือกปฏิบัติตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม 

ทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict Theory) มองว่าความไม่เท่าเทียมเกิดจากกลุ่มที่มีอำนาจมากกว่าครอบงำกลุ่มที่มีอำนาจน้อยกว่า ยิ่งมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้สังคมเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ผู้ที่มีอำนาจก็จะยิ่งกดขี่เพื่อรักษาอำนาจของตนเอาไว้

พวกเขามองว่าการจะหลุดพ้นจากการกดขี่ได้นั้น ต้องอาศัยพลังของอุดมการณ์ ความคิด ค่านิยม โลกทัศน์ใหม่ๆ ที่จะค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวจากการประท้วง ต่อต้าน พูดคุยจนค่อยๆ ทำลายบรรทัดฐานเดิมๆ ให้ค่อยๆ ตายไป นี่เป็นกระบวนการที่เรียกว่า อำนาจทางวัฒนธรรม (Cultural hegemony)

ถึงท้ายที่สุดแล้วเมื่อวัฒนธรรมเก่ามาทดแทนวัฒนธรรมใหม่ ความไม่เท่าเทียมจะหมดไปจากสังคมหรือไม่เราอาจกล่าวได้ว่า ‘ความเท่าเทียม’ คืออุดมคติและความไม่เท่าเทียมจะยังดำรงอยู่กับเราต่อไป แม้แต่นักประชาธิปไตยในสังคมเสรีนิยมที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 20 ก็เชื่อว่าความไม่เท่าเทียมจะยังคงดำรงอยู่ในแม้ในสังคมที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์แรงกล้า 

หากเรายึดเอาความเท่าเทียมเป็นสรณะ นั่นหมายความว่าวิศวกรกับพยาบาลจะต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน ซึ่งความจริงจะไม่เป็นเช่นนั้น คนที่ทำงานหนัก หรือมีความสามารถพิเศษจะยังมีรายได้สูงกว่าอาชีพทั่วไป เป้าหมายของการทำให้สังคมเท่าเทียมกว่าเดิม จึงหมายถึงการทำให้มนุษย์ทุกคนมีทรัพยากรเพียงพอที่จะเลือกชีวิตที่พวกเขาพึงพอใจ และนั่นอาจต้องใช้มือของรัฐบาลเข้ามาช่วย 

หน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐคือการป้องกันความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากโชคชะตา 

ฌอง ฌาค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) นักปรัชญาด้านความไม่เท่าเทียมในศตวรรษที่ 18 กล่าวไว้เช่นนั้น เขายังเชื่ออีกว่าในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ คนรวยจะกุมอำนาจทุกอย่างและสร้างบรรทัดฐานต่างๆ ของสังคม แม้กระทั่งกฎหมายก็จะรับใช้แต่ผู้ที่มีอำนาจ และทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมประเด็นอื่นๆ ตามมาอย่างไม่หมดไม่สิ้น 

เราไม่มีทางทำให้สังคมเท่าเทียมได้อย่างเป็นอุดมคติ แต่รัฐบาลสามารถยื่นมือเข้ามาเยียวยาความเหลื่อมล้ำและทำให้ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันได้เพราะความเท่าเทียมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเท่ากัน แต่หมายถึงโอกาสที่ทุกคนจะมีปัจจัยต่างๆ ในชีวิตมากพอทีจะเลือกใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง 

อ้างอิง