กระแสโลกที่หมุนเร็ว ทำให้หลายคนตั้งคำถามกับ ‘การศึกษาในระบบ’ และ ‘ครู’ คือคนที่ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงมากที่สุด
แต่ยังมีครูคนหนึ่งยืนยันว่า ‘การศึกษาไทยยังมีหวัง’ ครูพันธุ์ใหม่คนนี้ คือ ครูมะนาว–ศุภวัจน์ พรมตัน ครูมัธยมประจำโรงเรียนนครวิทยาคม โรงเรียนเล็กๆ ในจังหวัดเชียงราย ผู้ใช้เทคโนโลยีทั้ง 4.0 และ 0.4 สร้างกิจกรรมและการเรียนรู้ในห้องเรียน
ความหวังในการพัฒนาการศึกษาไทยของครูมะนาวไม่ได้ลอยมาตามลม เขาพูดคุยกับคุณครูทั่วไทยมานานกว่าเจ็ดปี ผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘อะไรอะไรก็ครู’ ซึ่งกลายเป็นคอมมูนิตี้และพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งถกเถียงถึงปัญหาที่อยากหาทางออกของครูไทย ทำให้เขาค้นพบว่า แท้จริงแล้วในความมืดมิดของการศึกษาไทย ยังมีแสงที่ปลายถ้ำ
และกำลังส่องสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต รวมทั้งปี 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้
อะไรคือปัญหาของการศึกษาไทยในตอนนี้
การศึกษาไทยตอนนี้จิ้มไปตรงไหนก็เป็นปัญหาหมดเลย ปัญหาเรื่องทรัพยากรครู ปัญหาเรื่องแรงบันดาลใจการทำงานของครู วิธีการสอนของครูก็อาจเป็นปัญหา นอกจากนี้ ยุคสมัยเปลี่ยนไป ทุกอย่างรอบตัวเราเปลี่ยนไป ทำให้นักเรียนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการเรียนมากขึ้น
แต่ถ้าให้ฟันธงปัญหาหลักเลย ผมมองว่าเป็นเรื่องของการบริหารและการจัดการทรัพยากรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยปกติจะมีการประเมินโรงเรียนและครู ครูจึงต้องทำงานเอกสารและรายงานมากขึ้น ส่วนนี้อาจทำให้ครูหลุดโฟกัสจากการสอนเด็ก แต่เราก็ไปโทษครูไม่ได้ เพราะครูก็ต้องมองถึงความก้าวหน้าทางวิชาชาชีพของตัวเองเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของแต่ละโรงเรียน ซึ่งเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ยังมีโรงเรียนที่จนมากกับโรงเรียนที่มีพร้อมทุกอย่าง แม้แต่โรงเรียนรัฐบาลด้วยกันเอง คุณภาพยังไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหาตามมา รวมทั้งเรายังเจอปัญหาเรื่องการขาดแคลนครูสอนวิชาเอกบางวิชาด้วย
การที่นักเรียนเริ่มรู้จักตั้งคำถาม เป็นปัญหาอย่างไร
จริงๆ ผมไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา มันเป็นโจทย์ให้ครูคิดว่าเราต้องสอนเด็กรุ่นใหม่อย่างไรมากกว่า แต่มันจะเป็นปัญหาแน่ๆ ถ้าครูยังคิดหรือสอนเด็กด้วยรูปแบบเดิมๆ การเรียนยุคนี้ถ้านักเรียนรู้จักตัวเอง ก็จะพบตัวตนเร็วมาก เขาจะไปทำสิ่งที่เขารักเลย แล้วเขาไปได้ไกลและเร็วมาก เช่น เป็นนักแคสต์เกม เป็นยูทูปเบอร์ การทำอาชีพที่ต้องเรียนให้จบมหาวิทยาลัย แล้วค่อยไปทำงานรับเงินเดือน อาจจะช้าไปแล้วสำหรับพวกเขา ตอนนี้อาชีพเปิดกว้างมาก บางคนอยู่มัธยมก็ขายของออนไลน์ มีรายได้ เป็นเจ้าของกิจการตัวเอง เทคโนโลยีและสื่อรอบตัวทุกวันนี้ ทำให้เด็กๆ หาความรู้ได้เองและหาได้ง่ายมาก
ครูต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรับสถานการณ์นี้
ครูควรเปลี่ยนการสอน เพราะการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย อาจไม่ใช่โจทย์ของนักเรียนทุกคนอีกต่อไป ถ้าครูสอนแบบป้อนเนื้อหาและพยายามดันให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว ครูอาจจะเหนื่อยมากขึ้น เราต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของเด็กด้วย เพราะบางทีสิ่งที่ป้อนให้เด็ก อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากได้หรืออยากเรียนรู้ แต่ถ้าเราพลิกอีกมุม รู้ว่าเด็กชอบด้านไหนหรือถนัดอะไร ควรเอาข้อมูลหรือเนื้อหาที่น่าจะเป็นประโยชน์กับเด็กป้อนให้แทน เช่น ถ้าเด็กบอกว่าเขาจบมัธยมแล้วจะไปเป็นชาวสวน เราก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาเป็นชาวสวนที่เก่งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเด็กที่อยู่ในชุมชนขายเห็ดและอยากขายเห็ดให้ได้กำไรมากๆ เราก็ต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมมาสอนเขา อาจไปอบรมอีคอมเมิร์ซ เรียนรู้เรื่องการขายของทางออนไลน์ เพื่อสอนให้เด็กขายของได้ดีขึ้น หรือครูอาจมอบหมายงานที่เด็กแต่ละคนถนัด เช่น เด็กคนไหนชอบพูด เราก็จัดให้เขาได้ฝึกพูด เด็กอีกคนชอบการอ่าน เราก็จัดกิจกรรมให้เขาได้อ่านมากขึ้น
เพราะการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย อาจไม่ใช่โจทย์ของนักเรียนทุกคนอีกต่อไป ถ้าครูสอนแบบป้อนเนื้อหาและพยายามดันให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว ครูอาจจะเหนื่อยมากขึ้น เราต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของเด็กด้วย
Posted by Supawat Promtun on Sunday, November 4, 2018
แล้วการศึกษาไทยปี 2019 ที่กำลังจะมาถึง แนวโน้มจะไปในทิศทางไหน
ถ้ามองระยะสั้น การเข้ามหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่คำตอบของเด็กๆ เขาจะเริ่มไม่ให้ความสำคัญกับการจบปริญญา เพราะมีการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น เพราะเด็กยุคนี้รีบค้นหาตัวตน หลายคนรู้สึกว่าการเรียนมหาวิทยาลัยสี่ปีมันช้าไป กว่าจะจบและทำงานมีรายได้
ในส่วนของทิศทางการศึกษาไทยระยะยาว ผมเพิ่งได้ฟัง รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ซึ่งเป็นคณบดีของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ท่านเล่าให้ฟังถึงแผนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่วางไว้ถึงปี พ.ศ.2030 ท่านบอกว่า การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในอนาคต ต้องเปิดกว้างให้ทุกคนและทุกวัยสามารถเข้าเรียนได้ ไม่จำกัดแค่เด็กเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกแบบทุกวันนี้ เพราะเทรนด์การเรียนรู้เปลี่ยนไปแล้ว คนอาจรู้สึกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมาเรียนเพื่อเอาวุฒิ และกลายเป็นว่าใครอยากได้ความรู้เรื่องไหน เขาจะตรงไปเรียนด้านที่อยากรู้โดยเฉพาะเลย ไม่มานั่งเรียนทุกวิชาแบบทุกวันนี้
พอทิศทางการศึกษาเปลี่ยนขนาดนี้ การเรียนและการสอนจะต้องเปลี่ยนไปอย่างไร
ในอนาคตหลักสูตรที่เป็นปริญญาน่าจะเปลี่ยนเป็นรายวิชา เป็นคอร์ส นอกจากนี้ ในอนาคตควรมีการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างสายศิลปะและวิทยาศาสตร์ด้วย ต้องเป็นการเรียนแบบบูรณาการ เพราะเทรนด์โลกมาทางนี้ เมื่อก่อนถ้าเราไปสัมภาษณ์งาน จะถูกถามว่าจบด้านไหนมา ในอนาคตคงไม่ถามกันแบบนี้แล้ว คำถามอาจจะเปลี่ยนเป็น “คุณทำอะไรได้บ้าง” สำหรับการสอน การบรรยายในมหาวิทยาลัยจะเน้นการทำงานและการลงมือปฏิบัติ มากกว่าการสอนทฤษฎี การสอนแบบเลคเชอร์น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนเป็นเน้นการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กได้เจอประสบการณ์การทำงานมากกว่า
เมื่อก่อนถ้าเราไปสัมภาษณ์งาน จะถูกถามว่าจบด้านไหนมา ในอนาคตคงไม่ถามกันแบบนี้แล้ว คำถามอาจจะเปลี่ยนเป็น “คุณทำอะไรได้บ้าง”
ภาพรวมการศึกษาไทยในปัจจุบันดีขึ้นจากอดีตไหม
ในความคิดของผม เป็นครูมา 9 ปี ผมทำเพจ “อะไรอะไรก็ครู” มา 7 ปี ผมมองเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของการศึกษาไทย โดยเฉพาะในช่วงสองถึงสามปีหลัง ครูหลายคนเริ่มมีการตื่นตัว ครูรุ่นใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในห้องเรียนตัวเอง และเมื่อรวมกลุ่มกับครูรุ่นใหญ่ที่อยู่ในระบบและอยากเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยมานานแล้ว มันกลายเป็นพลัง โดยผ่านโซเชียลมีเดีย ตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องไปประท้วงที่หน้ากระทรวง แต่เราลงมือเปลี่ยนแปลงในส่วนของเราได้เลย โดยไม่ต้องแคร์ว่าคนข้างบนจะสั่งอะไร คือเราไม่ได้ทำตัวต้านนโยบาย แต่เราปรับตัวให้ไม่เป็นทุกข์และพยายามไปกันได้ดีกับนโยบายการศึกษาที่เป็นอยู่ เรามักพูดกันเล่นๆ ในกลุ่มครูว่า “ยุคสมัยของเรามาถึงแล้ว”
แสดงว่าโซเชียลมีเดียมีผลกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย
ผมมองว่าโซเชี่ยลมีเดียมีผลมาก มันเป็นพื้นที่ให้กลุ่มครูได้แสดงความคิดเห็น อย่างการทำเพจ “อะไรอะไรก็ครู” ถ้าเราบ่นอย่างเดียวปัญหาก็ยังคงอยู่ ผมจึงลองจับประเด็นการศึกษาต่างๆ ขึ้นมา มาพูดถึงมันด้วยมุมมองใหม่ที่ไม่ใช่แค่การบ่น เกิดการร่วมกลุ่มของครูที่ไม่รู้จะคุยปัญหากับใครหรือครูรุ่นเก่าที่เขาตั้งใจทำเพื่อเด็กมาโดยตลอด พวกเขาเริ่มมีการแชร์เรื่องราวของกันและกัน เริ่มเห็นความหวังในการศึกษาไทย เพราะรู้ว่ามีครูอีกหลายคนกำลังทำอะไรสักอย่างเพื่อพัฒนาด้านนี้อยู่ บางคนมาคอมเมนต์ว่า บ่นไปข้างบนเขาก็ไม่ได้ยินเราหรอก แต่หลังๆ ผมเห็นว่ามีผู้ใหญ่ที่ยังฟังเรา เช่น เรื่องบ้านพักครูที่เราแซวกันเล่นๆ ว่า เหมือนบ้านผีสิง ตอนหลังก็มีงบประมาณลงมาให้พัฒนา หรือเมื่อเราเล่นประเด็นเรื่องการทำเอกสารที่เยอะเกินไป ตอนนี้ก็มีนโยบายจัดตั้งครูธุรการมาช่วยทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ ล่าสุดเรื่อง logbook ที่เราช่วยกันส่งเสียงไป ท่านรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์เองว่า เห็นด้วยกับที่ครูบ่น และสั่งให้ทบทวนนโยบายนี้
ดังนั้นผมมองว่าโซเชี่ยลมีพลัง แต่เป็นแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ที่สำคัญคือ เราต้องช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่ด่าอย่างเดียว
จริงหรือไม่ที่ว่า การพัฒนาการศึกษาต้องใช้เวลา และการศึกษาไทยจะเปลี่ยนแปลงได้จริงไหม
ใช่ครับ มันต้องใช้เวลา แต่ว่าตอนนี้เรารออะไรอยู่ เรารอนโยบายหรือรอให้มีรัฐมนตรีเข้ามาใหม่ แล้วออกนโยบายให้ตรงใจเราอยู่หรือเปล่า หรือ จริงๆ แล้วปัญหาการศึกษาคือนโยบายที่ไม่ตรงใจเรา หรือสิ่งที่เราทำทุกวันมันไม่ใช่เพราะนโยบายไม่ตรงใจเรา แต่เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้แหละที่ไม่ตรงกับใจเรามากกว่า จริงอยู่ว่าการเปลี่ยนแปลงการศึกษาต้องใช้เวลา อันนี้ผมเห็นด้วย แต่ครูเห็นว่าการศึกษาที่เป็นอยู่ควรถูกเปลี่ยน เราก็เปลี่ยน เราทำกันได้เลย โดยเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในห้องเรียนของเราก่อน แล้วถ้าทุกห้องเรียนเปลี่ยน ภาพรวมก็ต้องเปลี่ยน แล้วทำไมการศึกษาไทยจะไม่เปลี่ยน
ผมมองว่าเราเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยกันได้เลย.
อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีส์ common TOMORROW