เรากำลังอยู่ในยุควิกฤต เพราะแนวคิดที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกำลังพามนุษยชาติไปผิดทาง
ดร.เคโบะ โออิวะ (Keibo Oiwa) นักคิดนักเขียนชาวญี่ปุ่น ที่เป็นนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม นักสิ่งแวดล้อม และผู้ก่อตั้ง the Sloth Club เชื่อว่ามนุษย์จะกลับมามีชีวิตที่ดี มีความสุข และพ้นจากวิกฤตได้ หากใช้ชีวิตแบบสลอธ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ดร.เคโบะ บอกว่า เพราะโลกในช่วงที่ผ่านมาถูกครอบงำด้วยแนวคิดที่เน้นการเติบโต ซึ่งบอกให้เราต้องเร็วขึ้น ใหญ่ขึ้น รวยขึ้น บริโภคมากขึ้น จนนำมาซึ่งปัญหาและความล้นเกินพอดีที่ไร้สุข
หลังจากตระหนักว่า “ญี่ปุ่นมาถึงก้นเหวของการพัฒนาแล้ว…” ดร.เคโบะก็ได้ค้นพบวิถีชีวิตที่ใช่จากการศึกษาชีวิตของสลอธในทวีปอเมริกากลางและใต้ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ในขณะที่สัตว์นักล่าที่เร็วกว่า แข็งแรงกว่า อย่างเสือดาวกลับมีจำนวนลดลง
“ช้า เล็ก เรียบง่าย” คนทั่วไปอาจมองว่าเหล่านี้คือจุดอ่อน แต่สำหรับ ดร.เคโบะ นี่คือวิถีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากสลอธ
‘ช้า’ คือก้าวหน้า ใช่ว่าล้มเหลว
สำหรับนักชีววิทยา ความเชื่องช้าของสัตว์ป่าอย่างสลอธ น่าจะหมายถึงความล้มเหลวของวิวัฒนาการ ซึ่งทวนกระแสกฎของป่าที่ต้องดิ้นรน ต่อสู้ แย่งชิงเพื่อเอาชีวิตรอด
“แต่รู้ไหมว่า ความช้ากลับทำให้สลอธมีชีวิตรอด” ดร.เคโบะพูดชวนคิด ก่อนตั้งคำถามว่า ทำไมสลอธถึงช้า และความช้าทำให้มันอยู่รอดได้อย่างไร?
ดร.เคโบะ เล่าว่าสลอธเป็นสัตว์ที่ใช้เวลา 3 ส่วน 4 ของชีวิต (ราว 15-20 ชั่วโมง) ไปกับการนอนบนต้นไม้ กินมังสวิรัติคือ ‘ใบไม้’ บนต้นที่อาศัยเป็นอาหาร และเคลื่อนไหวตัวน้อยมาก ระบบเผาผลาญจึงต่ำ ทำให้ไม่ต้องวิ่งหาอาหารมาเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย
“การเคลื่อนช้าคือยุทธศาสตร์ในการอยู่รอด” ดร.เคโบะเฉลย “เพราะสัตว์กินเนื้อ (นักล่า) จะมีตาคมมาก เพื่อจับความเคลื่อนไหว ดังนั้น ถ้าเจออะไรที่ไม่เคลื่อนไหว ก็จะมองไม่เห็น สัตว์ที่เคลื่อนตัวน้อยๆ หรือแทบไม่เคลื่อนตัวเลยอย่างสลอธจึงปลอดภัย”
นอกจากนี้ การใช้พลังงานน้อย เคลื่อนไหวน้อย และระบบเผาผลาญต่ำ ยังทำให้สลอธมีกล้ามเนื้อและน้ำหนักตัวที่น้อยพอจะช่วยให้มันอาศัยอยู่บนยอดไม้สูงๆ ซึ่งถือเป็นสถานที่ปลอดภัยในป่าได้
“สัตว์อื่นต้องแย่งกันหาอาหารที่มีโปรตีนเยอะๆ ทำให้ต้องใหญ่ แข็งแรง วิ่งเร็ว และยุ่งมาก (เน้นเสียง) คนสมัยใหม่ก็เป็นแบบนั้น”
(อึ) เล็กน้อย แต่ยั่งยืน
“ความอัศจรรย์อีกอย่างของสลอธคือ การอึ…” ดร.เคโบะ บอกว่าลิงจะอึจากบนต้นไม้ แต่สลอธซึ่งเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวน้อยและเชื่องช้า กลับปีนป่ายลงมาอึที่โคนต้นไม้
“ขุดแล้วเอาใบไม้กลบด้วย” ดร.เคโบะกล่าวอย่างอารมณ์ดี
คำถามคือทำไมต้องลงมาอึที่โคนต้น ทั้งๆ ที่อึข้างบนปลอดภัยกว่า
ดร.เคโบะอ้างอิงการค้นพบเมื่อปี 1980 ที่ระบุว่า กว่าสลอธจะถึงเวลาอึสักครั้งก็ราว 7-8 วัน การอึนานๆ ครั้งและการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้า นั่นทำให้มันปลอดภัยไปเปราะหนึ่ง
แล้วทำไมไม่อึจากบนต้นไม้? จากการค้นพบดังกล่าวเจอเหตุผลว่า การอึที่โคนต้นจะช่วยให้อาหาร (ปุ๋ย) กลับไปที่ต้นไม้ได้มากกว่าการปล่อยจากบนต้น
ดังนั้น การอึแบบสลอธจึงเป็นวิถีการปลดทุกข์ที่ช่วยรักษาต้นไม้ที่เป็น ‘บ้าน’ ของมันให้อยู่อย่างยั่งยืนไปในตัว
เร็วทำไม เติบโตทำไม กับความเรียบง่ายที่มนุษย์หลงลืม
สลอธดูจะรู้จักจัดการบ้านของมันเป็นอย่างดี แต่มนุษย์ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น เพื่อพูดถึงเรื่องนี้ ดร.เคโบะ เปิดสไลด์ที่มีคำว่า economy (เศรษฐกิจ) และ ecology (นิเวศวิทยา) โดยตั้งข้อสังเกตว่าสองคำนี้ใช้คำขึ้นต้นเหมือนกัน นั่นคือ ‘eco’ ที่มาจากภาษากรีก แปลว่า ‘บ้าน
ดร.เคโบะเล่าว่า แต่เดิม economy แปลว่า การจัดการบ้าน ขณะที่ ecology แปลว่า ความรู้เกี่ยวกับบ้าน
“ดั้งเดิมสองคำนี้โยงใยถึงกันอย่างใกล้ชิด” แต่ดูเหมือนทุกวันนี้ทั้งสองคำ (ระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศ) จะเดินสวนกันคนละทาง
“คนในโลกดูเหมือนจะพูดถึงศาสนาต่างๆ ไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ แต่สำหรับผมแล้ว เราทุกคนกำลังพูดถึงลัทธิเศรษฐศาสตร์เป็นใหญ่ เงินเป็นใหญ่ ที่ต้องการให้เราแสวงหาเงินมากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต แล้วเราก็ใช้การเติบโตตัดสินคุณค่าทุกอย่าง ถ้าไม่เติบโตเท่ากับเลว เติบโตเท่านั้นถึงดี ด้วยเหตุนี้ เราจึงทำลายธรรมชาติ ทำลายบ้านของเรา รวมทั้งทำลายอนาคตของลูกหลานของเรา เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ใหญ่ขึ้น เร็วขึ้น”
ดร.เคโบะบอกว่า มนุษย์กำลังหลงทาง เพราะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางในการวัดคุณค่าของสรรพสิ่ง จนทำให้ ‘บ้าน’ ซึ่งหมายถึงที่ที่เราอยู่และฐานแห่งชีวิต ที่มีความหมายลึกซึ้งกว่าแค่ตัวบ้าน แต่หมายถึงร่างกายของเรา ครอบครัว เพื่อนบ้าน ชุมชน ท้องถิ่นที่เราอยู่ ระบบนิเวศทั้งระบบ และโลกทั้งใบใกล้แตกสลาย
“การก่อการร้าย ปัญหาสิ่งแวดล้อม สงคราม ความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ข่มเหง ประชาธิปไตยที่อ่อนล้าลงทุกที… ที่สำคัญเรากำลังป่วยไข้ทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นของผม เมืองไทยก็เป็นไม่น้อยด้วย ชุมชนแตกสลาย ความแปลกแยก การฆ่าตัวตายของคนหนุ่มสาว ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงต่อผู้อื่นและตนเอง ทำงานหนักเกินไป เศร้าซึม…”
ดร.เคโบะบอกว่า เราต้องไปพ้นจากความคิดที่เศรษฐศาสตร์เป็นใหญ่ให้ได้ ด้วยการฉุกคิดว่า จะเติบโตทำไม จะเร็วไปทำไม จะยุ่งวุ่นวายไปทำไม
เพราะมนุษย์ไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ แต่มนุษย์คือมนุษย์
แล้วเราจะ ‘ช้า’ ลงได้อย่างไร
“จงเป็นความเปลี่ยนแปลง ที่เธอต้องการเห็นในปัจจุบัน” มหาตมา คานธี
ดร.เคโบะ พูดถึงประโยคข้างต้น ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาก่อตั้ง the Sloth Club ในปี 1999 เพื่อเคลื่อนไหวให้ผู้คนเดินออกจากกระแสหลัก หันมาใช้ชีวิตให้ช้าลง
“ทำอย่างไรดี?” ดร.เคโบะ ถาม ก่อนตอบว่าไม่มีทางอื่น นอกจากต้องเดินไปอีกทาง โดยใช้ชีวิตให้ช้าลง เล็กลง และเรียบง่าย เหมือนสลอธที่ใช้ชีวิตทวนกระแสสัตว์ต่างๆ ในป่า
“ฉะนั้น…ช้า เล็ก และเรียบง่าย ถ้าเราทำได้ เราจะสง่างาม” ดร.เคโบะย้ำ แล้วบอกว่าครูที่ดีที่สุดของวิถีชีวิตดังกล่าว ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล แต่อยู่ในรากเหง้าวัฒนธรรมของเราเอง
เพียงกลับไปหารากเหง้าเดิม ก็จะพบกับวิถีชีวิตที่ช้า เล็ก และเรียบง่าย.
หมายเหตุ: เรียบเรียงจากงานปาฐกถา Slow is beautiful : วิถีทางเลือกนั้นเป็นไปได้จริง โดย ดร.เคโบะ โออิวะ ณ เรือนร้อยฉนำ