เรียนรู้ความหมายในคำศัพท์ของโลกแฟชั่นที่เกี่ยวพันกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างมีนัยยะสำคัญ
เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นตกเป็นหนึ่งในจำเลยที่สร้างมลภาวะ และทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ ความผิดนี้หนักหนาและใหญ่หลวงไม่แพ้มลพิษที่เกิดจากธุรกิจพลังงาน
จึงกลายเป็นพันธกิจกลายๆ ของบุคลากรในวงการแฟชั่น ที่ต้องจับมือกันเดินหน้าหาวิธีดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรต่อโลกใบนี้ยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการเสาะแสวงหาวัตถุดิบใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อโลก สามารถรีไซเคิลได้ ไม่สร้างขยะเพิ่มเติม กรรมวิธีการผลิตก็ต้องก่อให้เกิดมลภาวะน้อยที่สุด ไปจนถึงการหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ถึงการดำเนินธุรกิจแฟชั่นเพื่อโลกที่ยั่งยืน
ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งหามาตรการใหม่ๆ ก็ยิ่งเกิดศัพท์แสงทางวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมขึ้นในโลกแฟชั่นมากมาย จน Condé Nast สื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่แห่งฝรั่งเศส เจ้าของนิตยสารแฟชั่นหัวยักษ์อย่าง Vogue, Vanity Fair และ Tatler ต้องทำการบันทึกอภิธานศัพท์เอาไว้ใน The Sustainable Fashion Glossary เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจนิยามของแต่ละคำที่ตรงกัน
ทั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือของ Condé Nast ร่วมกับ Centre for Sustainable Fashion (CSF) แห่งลอนดอน รวมถึงนักวิจัยด้านความยั่งยืนอีกหลายท่าน ที่ช่วยกันถกเถียงและกลั่นกรองความหมายของแต่ละคำ จนออกมาเป็นนิยามศัพท์เกี่ยวกับความยั่งยืนในโลกแฟชั่นจากตัวอักษร A-Z รวมมากกว่า 250 คำ
ในบรรดาศัพท์เกี่ยวกับความยั่งยืนในโลกแฟชั่นทั้งหมดนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ร่องรอยที่อุตสาหกรรมแฟชั่นทิ้งไว้ในสิ่งแวดล้อม ผลกระทบของแฟชั่นที่มีต่อสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ และกุญแจหลักในการมุ่งหน้าไปสู่การทำธุรกิจแฟชั่นอย่างยั่งยืน
แน่นอนว่าโลกหมุนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง อภิธานศัพท์แฟชั่นเพื่อโลกที่ยั่งยืนจึงต้องมีการทบทวนนิยาม หรือเพิ่มเติมศัพท์ใหม่ๆ เข้าไปอยู่เสมอ ดังนั้น ใครที่สงสัยความหมายของศัพท์ใหม่ๆ คำไหน ก็สามารถเข้าไปสืบค้นความหมายของอภิธานศัพท์ต่างๆ ได้ฟรีที่ condenast.com/glossary
ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Condé Nast ลุกขึ้นมาเริ่มต้นปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนแก่โลกใบนี้ โดยเฉพาะในแง่วาทศาสตร์สีเขียวที่อุตสาหกรรมแฟชั่นต้องออกมารับผิดชอบต่อผู้บริโภค
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดปรากฏหราอยู่บนปกนิตยสาร Vogue Italia ฉบับประจำเดือนมกราคม 2020 ที่ใช้การวาดภาพประกอบบนปก แทนภาพถ่ายแฟชั่นเซต ที่ถือเป็นการแหวกขนบของ Vogue โดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงออกถึงความตระหนักในค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง ทั้งในแง่ของเม็ดเงินและการทำลายสิ่งแวดล้อม ต่อการถ่ายแฟชั่นเซตปกแต่ละครั้ง
นอกจากนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา บรรณาธิการ 26 คนผู้กุมบังเหียนนิตยสาร Vogue ในทุกภูมิภาคทั่วโลก ได้ร่วมลงนามความเห็นชอบร่วมกันในการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางมนุษยชน และเพื่อร่วมถนอมรักษาโลกใบนี้ไว้ให้คนรุ่นถัดไป
นำไปสู่อีกหนึ่งโปรเจคท์ของ Vogue ที่ยังคงเดินหน้ามองหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง Global Sustainability Director เจ้าของวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจแฟชั่นอย่างยั่งยืนในอนาคต
เพื่อเป็นการทำความรู้จักวิสัยทัศน์ของคนในอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ Becommon ได้เลือกความหมายของ 5 คำ จากตัวอักษร A-D ใน The Sustainable Fashion Glossary มาบอกต่อ
เผื่อว่าคุณอยากจะค้นหาความหมายของคำศัพท์อื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งแต่ละคำจุไว้ด้วยสารพันเรื่องราวและความตั้งใจจริงในการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนแฟชัั่น ผ่านนิยามที่กินใจความมากกว่าความหมายตามพจนานุกรม
Anthropocene – ยุคแอนโทรโปซีน
แอนโทรโปซีน คือ ชื่อยุคทางธรณีวิทยาใหม่ล่าสุด ที่ได้รับการนิยามขึ้นเมื่อปี 2000 โดย Paul Crutzen นักเคมีชาวดัตช์เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้ค้นพบผลกระทบของสารประกอบที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ ที่นำมาสู่แนวคิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่เรารู้จักกันดี
ถ้าจะเปรียบเทียบกับการขุดเจอซากฟอสซิลที่ทับถมกันจนเกิดเป็นชั้นหิน ชั้นดิน ถ่านหิน ไปจนถึงปิโตรเลียมต่างๆ นานา อันเป็นผลจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์เมื่อหลายล้านปีก่อน
ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และผลผลิตทั้งหลายจากน้ำมือมนุษย์ ที่ทับถมอยู่ในมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อม ก็จะกลายเป็นซากทับถมของผลผลิตในยุคนี้ ที่จะถูกฝังอยู่กับโลกไปอีกหลายร้อยล้านปีข้างหน้า
และนี่คือความหมายของยุคแอนโทรโปซีน ยุคที่เกิดขึ้นจากซากนวัตกรรมที่มนุษย์ทยอยฝังลงในผืนดินมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 จนถึงปัจจุบัน ไล่มาตั้งแต่คอนกรีตในการก่อสร้าง มีเทนจากการปล่อยของเสียจากกิจกรรมปศุสัตว์ พลูโตเนียมจากการทดสอบนิวเคลียร์ คาร์บอนไดออกไซด์จากพาหนะทุกชนิด ฯลฯ
มองเป็นวิกฤตย่อมหนักหนา แต่ถ้าจะมองให้เป็นโอกาส อย่างน้อยเมื่อเรารู้ตัวว่ากำลังเป็นหนึ่งในผู้สั่งสมให้เกิดฟอสซิลแห่งยุคแอนโทรโปซีน
การสะกิดให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการกระทำในภาพรวมของมนุษย์ตั้งแต่อดีตกาล จนส่งผลให้เห็นชัดถึงสภาวะโลกร้อนในทุกวันนี้ น่าจะทำให้พวกเราและพวกเขาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกู้โลกให้ดีขึ้นกว่านี้
Bleaching – การฟอกสี
สารที่ใช้ในการฟอกสีอย่างโซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ โดยมีฤทธิ์ทำลายผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระคายเคืองดวงตาอย่างรุนแรง รวมถึงทำให้เกิดอาการไหม้ได้
Care – การเอาใจใส่
การเอาใจใส่ หมายถึง การแสดงความรับผิดชอบต่อสาเหตุและผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของเราทุกคน ที่จะเกิดขึ้นต่อโลกและมนุษย์ด้วยกันเอง
Victor Papanek ดีไซเนอร์และนักการศึกษาคนสำคัญ เคยเขียนไว้ในหนังสือ Design for the Real World (1971) ถึงการละเลยการเอาใจใส่ผ่านพฤติกรรม “ใช้แล้วทิ้ง” ที่เริ่มต้นจากการไม่ใส่ใจในวัตถุ แต่อาจลามไปสู่การละทิ้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองในที่สุด
“การทิ้งเฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ เสื้อผ้า ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาจนำพาพวกเราไปสู่การไม่เห็นคุณค่าของชีวิตคู่ ละเลยความสำคัญของเพื่อน และมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นเรื่องไร้ค่า ที่ขยายวงกว้างจากระดับประเทศไปสู่ระดับโลก เหมือนขยำกระดาษชำระทิ้งยังไงยังงั้น”
และเพราะวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกเกิดขึ้นเพราะวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง ที่เริ่มต้นจากซีกโลกเหนือ และกำลังแพร่กระจายไปสู่หลายภูมิภาคทางซีกโลกใต้นี่เอง ทำให้มุมมองด้าน “การเอาใจใส่” ของ Papanek ที่กินความหมายกว่าตั้งแต่อุตสาหกรรมแฟชั่นไปจนถึงความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัว ชัดเจนและเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบัน
Denim – ผ้ายีนส์
ลักษณะของเดนิมคือ ผ้าฝ้ายเนื้อหนาทอลายทแยงที่ผ่านการนำไปย้อมครามจนได้สีน้ำเงินเข้ม
เดนิมถูกมองว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ก็จากกระบวนการในการผลิตผ้าฝ้าย ที่ต้องผ่านการย้อมสีและฟอกสี ที่ก็มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฟอกสีด้วยหินภูเขาไฟ ฟอกสีด้วยกรด การสร้างลวดลายด้วยการยิงทรายอัดเข้าไป ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพของแรงงานที่ทำหนังที่ผลิตเดนิม เพราะใช้สารเคมีเยอะมากในทุกกระบวนการ นำไปสู่การใช้น้ำในปริมาณมากเช่นกัน และสำหรับโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานย่อมขาดการใส่ใจต่อการบำบัดน้ำทิ้ง ส่งผลให้เกิดการทิ้งน้ำเสียจากกระบวนการผลิตเดนิมสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณมหาศาล
แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตเดนิมอย่างมีความรับผิดชอบ ก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเสื้อผ้ายีนส์คุณภาพดี ที่ทนทาน และใช้งานได้ยาวนานหลายสิบปี
ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ว่าคุณจะสร้างคุณค่าให้เดนิมเป็นตัวแทนของแฟชั่นที่ยั่งยืน หรือเป็นตัวการใหญ่ในการทำลายสิ่งแวดล้อมกันแน่
End of life – สินค้าหมดอายุ
ทางออกในการกำจัดสินค้าหมดอายุอย่างยั่งยืน ควรผ่านการคิดอย่างเป็นระบบแบบองค์รวม มาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การผลิต การตลาด การขายปลีก ไปจนถึงบริการหลังการขาย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคยืดอายุการใช้งานเสื้อผ้าให้นานยิ่งขึ้น
เช่น แทนที่จะใช้แล้วทิ้ง ผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ขาด ดัดแปลงเป็นชุดใหม่ นำไปขายมือสอง นำไปบริจาค ฯลฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ผลิตเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ทนทาน ใช้งานได้อย่างยาวนาน และลดปริมาณของสินค้าหมดอายุได้อย่างเห็นผลที่สุด
อ้างอิง
- Sally Ho.Condé Nast Develops Sustainable Fashion Index Showcasing Key Eco Fashion Terms.https://bit.ly/3jB7RST