The Writer’s Room
No. 18
ห้องโล่งที่ความตึงเครียดเข้าปกคลุมของ มุราตะ ซายากะ
นักเขียนผู้เผยร่องรอยตำหนิในความเป็นมนุษย์ที่ชวนให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ
เสน่ห์ที่ทำให้ผลงานของนักเขียนเลือดญี่ปุ่นน่าหลงใหลเสมอ และถือได้ว่าเป็นเสน่ห์ที่ผู้อ่านไม่อาจหาได้จากนักเขียนชาติอื่น คือ กลวิธีบอกเล่าเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันที่ดูอย่างผิวเผินแล้วไม่น่าสลักสำคัญอะไร แต่ถ้ามองอย่างตั้งใจให้ถี่ถ้วนจะพบว่า เรื่องธรรมดาแบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้ใจขอใครต่อใครสั่นสะทกไปถึงขั้ว
โดยเฉพาะผลงานเขียนของ มุราตะ ซายากะ (Murata Sayaka) แต่ละถ้อยคำที่เธอร้อยเรียงเป็นประโยคกลับรุกรานเข้าไปยึดทุกพื้นที่ในใจของผู้อ่านจนหมดสิ้น แล้วเร้าให้เกิดอารมณ์อ่อนไหวพร้อมกับบีบรัดมโนสำนึกเต็มแรง มุราตะไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่า ผู้อ่านได้เตรียมตัวเตรียมใจแบกรับความหนักอึ้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจากเรื่องราวของเธอมาก่อนหรือเปล่า
ไม่ว่าใครจะรู้สึกอย่างไรต่อผลงานของเธอ ทั้งตกใจสุดขีดเพราะไม่คิดฝันว่าเรื่องธรรมดาที่เริ่มต้นจากชีวิตเรียบง่ายของตัวละคร จะแฝงเร้นความแปลกแยกจนทำให้ทุกคนในเรื่องไม่อาจหวนคืนสู่กันและกันได้อีก หรือไม่ก็เป็นความรู้สึกขัดอกขัดใจไปเสียทุกอย่าง เพราะทนรับกับการกระทำงี่เง่าไม่ได้ดั่งใจจากความคิดผิดเพี้ยนของตัวละครไม่ไหว จนเผลอระบายความอัดอั้นด้วยการสบถคำหยาบออกมา
เรื่องราวทั้งหมดของมุราตะจึงพาผู้อ่านไปถึงจุดที่คงไม่มีคำนิยามอื่นใดจะเหมาะสมได้เท่ากับคำว่า ‘ฉิบหาย’ พานให้คิดย้อนกลับไปว่า ภายใต้ใบหน้ายิ้มแย้มดูอบอุ่นและเป็นมิตร มุราตะกำลังขบคิดถึงอะไรอยู่ เหตุใดเธอจึงเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สังคมตีตราว่าเบี่ยงเบนจากคนปกติ และกว่าจะสำเร็จเป็นวรรณกรรมหนึ่งเล่มให้ผู้อ่านรับรู้เนื้อหาเสมือนลิ้มลองอาหารโอชารสแต่กลับทิ้งความขมไว้ปลายลิ้นนั้น เป็นไปได้ไหมว่า เธออาจจงใจวางยาพิษในปริมาณที่ไม่ถึงกับตายแต่ก็มากเพียงพอที่จะทำให้ใจของผู้อ่านระคายเคืองจนเต้นไม่เป็นจังหวะ
มุราตะเริ่มต้นอาชีพนักเขียนเต็มตัวในปี 2003 หลังได้รับ Gunzo Prize for New Writers หรือรางวัลนักเขียนหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเรื่องสั้น 授乳 (ให้นมลูก) ผลงานเขียนเรื่องแรกที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือ แต่ชื่อเสียงนักเขียนของเธอยังจำกัดอยู่แค่ในประเทศ จนกระทั่งปี 2016 ผลงานเขียนลำดับที่ 10 อย่าง コンビニ人間 (มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ) ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้เส้นทางอาชีพของเธอ
หนังสือเล่มนี้ต้องพิมพ์ซ้ำร่วมสองล้านเล่ม และได้รับรางวัลอะคุตะงะวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลทรงคุณค่าแห่งวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นที่มอบให้แก่นักเขียนน่าจับตามองเจ้าของผลงานแนวสร้างสรรค์ ที่สำคัญยังถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลเป็นภาษาอื่นๆ มากกว่า 23 ภาษา กลายเป็นหมุดหมายให้เธอแจ้งเกิดในฐานะนักเขียนญี่ปุ่นที่ผู้อ่านทั่วโลกหันมาให้ความสนใจความพิลึกพิลั่นในวรรณกรรมของเธอ
เนื้อหาที่มุราตะเลือกมานำเสนอค่อนข้างสะเทือนอารมณ์ พลอยทำให้รู้สึกไม่สบายใจได้ ขนาดคนในครอบครัวยังไม่สะดวกใจหยิบมาเปิดอ่านสักเท่าไหร่ พ่อและแม่ยอมรับกับเธออย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขาไม่อยากอ่านเลยสักนิด พี่ชายก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักหากต้องแนะนำให้ใครสักคนอ่าน ส่วนเพื่อนๆ รู้สึกประหลาดใจกับเนื้อหาที่เธอถ่ายทอดออกมา เพราะไม่คิดว่าบรรดาตัวละครที่มุราตะเขียนขึ้น คือส่วนหนึ่งของตัวตนและความรู้สึกที่เป็นเธอ
แม้ตัวตนจริงๆ ของมุราตะจะไม่ได้สุดโต่งอย่างตัวละคร แต่เธอโปรดปรานความสงบและความเรียบง่ายยิ่งกว่าอะไร ท่ามกลางความจอแจและพลุกพล่านใจกลางกรุงโตเกียว เธอจึงเลือกใช้ชีวิตแบบสาวโสดโดยลำพังอย่างเงียบเชียบที่สุด
ภายในห้องเขียนงานของมุราตะว่างโล่งไม่มีของตกแต่งรกรุงรัง แม้กระทั่งบนโต๊ะก็มีแค่ของไม่กี่ชิ้นเท่าที่จำเป็นต้องใช้ คือ สมุดบันทึก เครื่องเขียน โน้ตบุ๊ก และแจกันใส่ดอกไม้ซึ่งเป็นของสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะมุราตะชอบธรรมชาติมาก ในสายตาของเธอมองเห็นดอกไม้เป็นตัวแทนความงามของธรรมชาติที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายขณะแต่งเรื่อง เพราะเนื้อหาที่เธอเขียนชวนให้เครียดและคิดหนัก
กระบวนการเขียนหนังสือทุกเล่มของมุราตะมีลำดับขั้นตอนชัดเจน เธอเริ่มต้นสร้างตัวละครเอกขึ้นมาก่อนเสมอ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน เธอจะวาดรูปตัวละครนั้นพร้อมเขียนรายละเอียดอื่นๆ กำกับช่วยให้ตัวละครสมจริงมากที่สุดราวกับเป็นมนุษย์คนหนึ่ง จากนั้นจะคิดประเด็นหลักที่อยากเล่าโดยอิงกับบุคลิกหรือนิสัยของตัวละคร แล้วปะติดปะต่อเป็นเรื่องราวด้วยวิธีการเล่าแบบ 起承転結 หรือ Kishōtenketsu คือ เกริ่นบทนำ ดำเนินเรื่องถึงจุดพลิกผัน และสรุปปิดท้าย
ก่อนหน้านี้ ระหว่างที่มุราตะยังทำงานเป็นพนักงานดูแลบัญชีในร้านสะดวกซื้อ ชีวิตในแต่ละวันจะเริ่มต้นตอนตีสอง เธอตื่นขึ้นมาเขียนงานเงียบๆ ในห้องไปเรื่อยๆ จนใกล้ถึงเวลาหกโมงเช้าจึงวางปากกาแล้วเตรียมตัวไปทำงาน เธอเข้างานตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงบ่ายโมง หลังงานเลิกเธอมักจะไปที่คาเฟ่ เพื่อพักกินข้าวและดื่มกาแฟยามบ่าย แล้วนั่งเขียนงานต่อจนถึงห้าโมงเย็นจึงค่อยกลับบ้าน ส่วนเวลาเข้านอนของเธอคือประมาณสามทุ่ม ทั้งหมดนี้คือรูปแบบชีวิตที่เธอเป็นคนกำหนดเอง
ระยะหลัง ถึงมุราตะจะออกมาเป็นนักเขียนเต็มเวลาและไม่ได้ทำงานในร้านสะดวกซื้อแล้ว แต่ด้วยความเคยชิน เธอยังเขียนงานเวลาเดิม ซึ่งแบ่งเป็นสองช่วง คือ ตีสองถึงหกโมงเช้า และบ่ายโมงถึงห้าโมงเย็น ส่วนวันหยุด หากต้องออกนอกบ้าน มุราตะจะพกสมุดโน้ตและกระเป๋าใส่เครื่องเขียนติดตัวไปด้วย เพื่อเขียนเรื่องต่อจากที่แต่งค้างไว้ เธอยังเขียนทุกสิ่งลงในสมุดเล่มนั้น ทั้งแรงบันดาลใจที่อยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นมาได้ ตัวละครที่อยากให้เป็น และเค้าโครงเรื่องจากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน
มุราตะถนัดเขียนทุกอย่างด้วยลายมือให้เสร็จก่อน แล้วค่อยนำไปพิมพ์ลงโน้ตบุ๊คเป็นขั้นตอนสุดท้าย โน้ตบุ๊คจึงมีบทบาทแค่ใช้เรียบเรียงต้นฉบับและตรวจทานคำผิดเท่านั้น สาเหตุที่มุราตะถนัดเขียนทุกอย่างด้วยลายมือมากกว่าเป็นเพราะว่าติดนิสัยสมัยเด็กๆ มา เธอเริ่มเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่เรียนชั้นประถม ขณะจับดินสอหรือปากกา เธอรู้สึกว่าความคิดในหัวทำให้มือขยับตามอย่างลื่นไหล แต่ถ้าลองให้เปลี่ยนมาใช้โน้ตบุ๊คพิมพ์แทน จะรู้สึกติดขัดขึ้นมาทันที
ชีวิตในวัยเด็กคือส่วนสำคัญที่ทำให้มุราตะเติบโตมาเป็นนักเขียนอาชีพและกรอบมุมมองของเธอให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ค่อยมีใครอยากเปิดเผย เธอจำได้แม่นว่าละแวกบ้านไม่มีร้านหนังสือเลย เพราะเป็นเมืองใหม่ในจังหวัดชิบะ แม้แต่ร้านหนังสือมือสองก็ไม่มี เธอต้องยืมหนังสือจากห้องสมุดของโรงเรียนแทน และอ่านหนังสือของพี่ชายและแม่ที่ซื้อมาเวลาออกไปต่างเมือง นั่นทำให้เธอก้าวเข้าไปในโลกของผู้ใหญ่ผ่านหนังสือ ซึ่งมีแต่เรื่องจริงจังของชีวิตที่ไร้ความเพ้อฝันโลกสวยอย่างหนังสือเด็ก แม้จะทำให้รู้สึกตื่นตะลึงไปบ้าง แต่กลับเป็นโลกใหม่ที่เธอชอบ
ความกระอักกระอ่วนใจที่มุราตะซึมซับจากหนังสือผู้ใหญ่ทำให้เธอสนใจบาดแผลและรอยตำหนิในความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะคนในสังคมญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกในใจจนกลายเป็นคนเก็บกด และความน่ากลัวจึงอยู่ที่ว่า ความอดทนของคนมีจำกัด หากหมดเมื่อไหร่ก็พร้อมระเบิดออกมาเป็นความชั่วร้ายที่ไม่มีใครคาดถึง
งานเขียนของมุราตะจึงเต็มไปด้วยการท้าทายศีลธรรมและบรรทัดฐานสังคม เพราะตีแผ่เรื่องต้องห้ามที่ทุกคนปกปิดไว้ไม่ให้คนอื่นรู้เพราะความละอายและกลัวจะดูไม่ดี หากพูดหรือทำลงไปแล้วย่อมกลายเป็นคนน่าขยะแขยงที่สังคมไม่ยอมรับและอยากเขี่ยทิ้งให้พ้นไป ทุกคนถึงเสแสร้งแกล้งเป็นคนปกติที่ใช้ชีวิตธรรมดา ทั้งที่ภายในกลับห่างไกลจากความเป็นคนปกติ
การอ่านงานเขียนของมุราตะแทบไม่ต่างกับการสำรวจความเป็นมนุษย์ที่เราต่างภูมิใจว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ทั้งที่จริงอาจเป็นสัตว์นรก หรือสัตว์ปีศาจในคราบมนุษย์เสียมากกว่า แต่ละหน้ากระดาษถือเป็นบททดสอบจิตใจของตัวเองว่าจะทนรับเรื่องราวที่มุราตะจงใจใช้กระชากหน้ากากและถลกเนื้อหนังมังสาให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้อ่านได้ในระดับไหน แต่ละประโยคทั้งกัดกินและเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่พร้อมแผดเผาใจให้มอดไหม้ได้อย่างเงียบงัน เป็นความฉิบหายในความเป็นมนุษย์ที่ต้องเหยียบทับไว้ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนย่อมไม่อยากแสดงพิรุธจนผิดสังเกต จึงพยายามคงความเป็นคนปกติไว้เหมือนเดิม
ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วมุราตะมองตัวเองเป็นมนุษย์แบบไหน เพราะความเข้าอกเข้าใจในความเป็นคนนอกที่ตกขอบจากความเป็นคนปกติในสังคมผ่านงานเขียนที่เธอเลือกถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมจริงและสมบูรณ์แบบเช่นนี้ ยิ่งชวนให้ผู้อ่านซึ่งเป็นฝ่ายที่ถูกเธอกระทำอยากตั้งคำถามกลับไปยังตัวเธอบ้าง คงไม่อาจเรียกว่าการต่อสู้กลับ แต่คือการหาพรรคหาพวกเมื่อรู้สึกถึงความแปลกแยกในตัวเองด้วยความหวังว่า อย่างน้อยเธอก็น่าจะเป็นมนุษย์ในแบบเดียวกันกับเรา
ผลงานเขียนเล่มสำคัญของ มุราตะ ซายากะ
しろいろの街の、その骨の体温の (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2012)
วัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความคึกคะนองและรู้เท่าไม่ถึงการณ์กลายเป็นแรงขับให้อยากรู้อยากลองทุกสิ่งอย่าง ‘ยูกะ’ หญิงสาววัยแรกแย้มก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกแบบนั้นอยู่ลึกๆ ในใจ นวนิยายในชื่อเชิงเปรียบเปรย ‘เมืองขาวโพลน ความเร้าร้อนในแก่นกายถึงกระดูกดำ’ จึงนำเสนอเรื่องราวความรักในวัยเรียนและความปรารถนาที่เร้าอารมณ์ตื่นเต้นของเด็กสาวในวัยเบ่งบานท่ามกลางเมืองที่กำลังเติบโตไม่ต่างจากตัวเธอ
Convenience Store Woman (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2016)
มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์อนิแม็ก)
งานเขียนที่ตั้งคำถามถึง ‘ความปกติ’ และ ‘การเป็นมนุษย์ปกติ’ ในสังคมที่เต็มไปด้วยบรรทัดฐานและความคาดหวังของผู้คนได้อย่างเจ็บแสบ ผ่านชีวิตประจำวันและตัวตนของ ‘ฟุรุคุระ เคโกะ’ หญิงสาววัยสามสิบหกที่เลือกทำแต่งานพิเศษในร้านสะดวกซื้อเป็นเวลา 18 ปี โดยไม่คิดหางานประจำทำ ที่สำคัญเธอไม่เคยคิดแต่งงานมีครอบครัว จนกระทั่งได้พบกับพนักงานหนุ่มคนใหม่ ความเป็นปกติที่เธอเคนคิดและเชื่อจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
Earthlings (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2018)
เรื่องราวแปลกประหลาดแต่กลับชวนให้รู้สึกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง จากความรู้สึกนึกคิดของ ‘นะสึกิ’ เด็กหญิงวัย 11 ขวบ ผู้มีเพื่อนสนิทเป็นตุ๊กตาเม่นพูดได้ เธอเข้าใจมาตลอดว่าตัวเองเป็นเอเลี่ยนจากดาวดวงไกลโพ้น ไม่ใช่มนุษย์โลกอย่างคนอื่นๆ จึงไม่เคยรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับครอบครัวได้อย่างสนิทใจ ทั้งหมดนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝันในวัยผู้ใหญ่ ทั้งหักมุม โหดร้าย และกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ชวนให้ตกใจและขำขื่นไปพร้อมๆ กัน
อ้างอิง
- Hikari Torisawa. 小説家を構成する感覚の記憶と言葉。村田沙耶香の小説作法. https://bit.ly/3eIgZEp
- Katy Waldman. Sayaka Murata’s Eerie “Convenience Store Woman” Is a Love Story Between a Misfit and a Store. https://bit.ly/36YL0Lz
- Leo Lewis. Sayaka Murata: ‘My parents don’t want to read my books’. https://on.ft.com/3zq8NAf
- TV asahi. 村田沙耶香: 小説家. https://bit.ly/3wTSvOr
- Yui Shimura. 小説の神様に向き合い続ける作家──物語をつくる人#02 村田沙耶香さん[前篇]. https://bit.ly/36UpPdE
- Yui Shimura. 物語の船で知らない世界にたどり着きたい──物語をつくる人#02 村田沙耶香さん[後篇]. https://bit.ly/3rqIdUS
- 葉怡慧. 你我都是「便利店人間」:訪芥川賞得主村田沙耶香. https://bit.ly/3iwdmCA